โดยไม่เกี่ยวข้องกับกระแสอันร้อนแรงใดๆ จู่ๆ ผมก็เกิดอยากเขียนเรื่องการล้อเลียน หรือที่เรียกว่า Parody ขึ้นมาซะอย่างนั้นครับ ก่อนที่จะหลุดทะเลไปไกลตามสไตล์บ้าๆ บอๆ ของผมก็คิดว่ามาทำความรู้จักกับคำๆ นี้กันก่อนสักนิดจะดีกว่า
คำว่า Parody นี้มีความหมายคร่าวๆ คือ “การสร้างผลงานเพื่อเลียนแบบ, ทำให้ขำขัน, หรือวิพากษ์วิจารณ์งานต้นฉบับ” ซึ่งก็มักจะทำโดยอาศัยกลวิธีการเขียน สไตล์การพูด ฯลฯ มาเป็นแบบแผนหลักในการสร้างผลงานเพื่อล้อเลียน เพราะฉะนั้นแม้จะไม่ได้มีการ ‘เอ่ยถึงตัวผู้ล้อเลียนโดยตรง’ ผู้อ่านหรือเสพผลงานนั้นๆ ก็จะสามารถระลึกได้ว่า ‘นี่กำลังล้อใครอยู่’ นั่นเอง
ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า Parody นี้สามารถย้อนสืบกลับไปได้ไกลถึงยุคกรีกโบราณกันเลยทีเดียว ด้วยรากศัพท์ของคำนี้เป็นภาษากรีกโบราณ คือคำว่า Para + Oide คำว่า Para นั้นแปลว่า counter หรือ against ที่แปลว่า ‘(ต่อ)ต้าน, ตรงข้าม’ ครับ ส่วนคำว่า Oide แปลว่า song หรือเพลง เพราะรูปแบบของ Parody ในสมัยกรีกโบราณนั้นมักจะออกมาในรูปกลอนเพลงที่ล้อเลียนเรื่องเล่าของวีรบุรุษหรือเทพเจ้านั่นเอง ฉะนั้นโดยรวมแล้วตั้งแต่รากของคำเลยจึงพอจะแปลได้ว่า Counter song ซึ่งมีนัยยะของการเป็นเพลงกลอนที่ ‘ต่อต้านเรื่องเล่ากระแสหลักหรือเรื่องเล่าที่กำลังกดขี่วิธีการเล่าแบบอื่นๆ อยู่’
ด้วย Counter song หรือ Parody แบบของกรีกโบราณนี้เองที่ทำให้แม้แต่การ ‘ล้อเลียนเทพเจ้า’ ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำได้ขึ้นมา หากว่ากันตามอริสโตเติ้ล (ในหนังสือของเขาชื่อ Poetics) แล้ว คนแรกๆ ที่เป็นผู้เริ่มประดิษฐกรรมทางการเมืองที่เรียกว่า Parody นี้ก็คือ เฮเกมอน แห่งธาซอส (Hegemon of Thasos) โดยเฮเกมอนได้แปลงกลอนที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่งให้ออกมากลายเป็นที่ขำขันและเนียนมากๆ หลังจากนั้นการใช้ Parody ก็เป็นสิ่งที่ถูกใช้ต่อเนื่องเรื่อยมาในทางประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตามการล้อเลียน หรือ Parody ในยุคเก่า (Old Parody) นี้มักจะมีเป้าหมายที่การสร้างความขบขันหรือต่อต้านต่อ “ต้นแบบที่นำมาล้อเลียนโดยตรง” เป็นหลัก และยังคงเป็นรูปแบบที่ใช้กันอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งเวลาพูดถึงคำๆ นี้โดยหลักแล้วก็ยังนึกถึงรูปแบบนี้ของการล้อเลียนเป็นหลัก แต่ว่าในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีรูปแบบวิธีการใช้ Parody แบบใหม่ขึ้นมา ที่เรียกกันว่า Recontextualizing Parody หรือการล้อเลียนโดยปรับปริบทใหม่ การล้อเลียนแบบนี้เป็นการนำเอา “ต้นแบบของการล้อเลียน” มาทำการล้อ แต่ไม่ได้มี “เป้าหมายของการล้อเลียนอยู่ที่ตัวต้นแบบโดยตรง” แต่เป็นการนำต้นแบบมาล้อเลียนเพื่อ “ต่อต้านกระแสการกดขี่หรือครอบงำอื่นๆ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดขี่ที่ยากจะต่อสู้ด้วยวิธีการธรรมดา หรือตรงไปตรงมาได้
ตัวอย่างล่าสุดของ Recontextualizing Parody ที่อาจจะพอเห็นได้ก็คือแคมเปญที่ชื่อว่า The Prisoners ของทางสำนักข่าวออนไลน์ชื่อดังอย่างประชาไทที่เกาะกระแสความสนใจของสังคมไทยในตอนนี้ ด้วยการล้อเลียนเพจในเฟซบุ๊กเพจหนึ่ง แต่เป้าหมายของการล้อเลียนหลักนั้นดูจะไม่ได้อยู่ที่ ‘ตัวเพจต้นฉบับที่นำมาล้อเลียนเอง’ หากแต่เป็นการล้อเลียนต่อโครงสร้างระบบความยุติธรรมที่ดูจะดำมืดยิ่งของสังคมไทย แต่พร้อมๆ กันไปก็ยากเหลือเกินที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่โดนดำเนินคดีได้[1]
โดยสรุปแล้วสิ่งที่เรียกว่า Parody นั้น แม้ในทางหนึ่งมันจะคือความ ‘กวน teen’ แต่มันแฝงไว้ด้วยจุดยืนของการลุกขึ้นสู้, การต่อต้าน, การประท้วง, และ/หรือการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเสมอ ถ้าพูดอย่างถึงที่สุดแล้ว เราอาจจะเรียกได้ว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของ ‘การต่อต้านที่เข้ารหัสทางการเมืองไว้’ (Politically Encrypted Resistance) ที่มีต่อโครงสร้าง, อำนาจ หรือเรื่องเล่าบางอย่างที่กำลังครอบงำหรือกดขี่สังคมในเวลานั้นๆ
ในสังคมที่วาทกรรมแห่งการครอบงำและกดขี่มีมาก การต้องหากลวิธีในการพูดเรื่องอันไม่อาจจะพูดได้ด้วยหนทางต่างๆ นานาจึงดูจะมีการพัฒนาที่น่าสนใจ และก้าวหน้าเสมอมา
ในอีกทางหนึ่งการเกิดขึ้นของ Parody ทั้งแบบดั้งเดิมที่มุ่งเน้นในการล้อเลียน ‘ต้นฉบับ’ และแบบใหม่ที่ล้อเลียนนอกเหนือปริบทต้นฉบับนั้น มันจึงเป็นการถามท้าหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อคำอ้าง, เจตนารมณ์ หรือจุดยืนส่วนบุคคลของต้นฉบับนั้นๆ ด้วย ว่าสรุปแล้ว “จะเอาอย่างไรกันแน่?” จุดยืนดังกล่าวนี้เป็นข้อสังเกตของนักสังคมวิทยาภาษาชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์คอย่าง Mary Louise Pratt ดังที่นางได้กล่าวไว้ว่า “การล้อเลียนนั้นเป็นศิลปะของพื้นที่การสื่อสาร ซึ่งกลุ่มคนชายขอบหรือถูกกดขี่ เลือกที่จะเลียนแบบและล้อเลียนวัฒนธรรมที่ครอบงำหรือกดขี่อยู่”[2]
ลักษณะที่ว่ามานี้เอง มันคือการบอกกับเราอีกแง่หนึ่งว่า ภายใต้เงื่อนไขของการกดขี่นั้น การนิ่งเฉย หรือปฏิบัติกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่กดขี่และถูกกดขี่อย่างเท่ากันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป เพราะพร้อมๆ กันไปกับการเลือกที่จะปฏิบัติอย่างเท่าเทียมหรือให้โอกาสอย่างเท่าเทียมกันทั้งฝ่ายที่กดขี่และถูกกดขี่ มันคือ ‘ความเท่าเทียมที่ยอมรับในเงื่อนไขของความไม่เท่าเทียม’ อีกทีหนึ่งนั่นเอง ซึ่งจุดนี้ก็อาจจะเป็นดีเบตที่ไปต่อได้อีกยาวเหมือนกับเรื่องภาษีแบบ Flat Rate หรืออัตราเดียว เป็นความเท่าเทียมที่ยอมรับในความไม่เท่าเทียมหรือไม่ เพราะคนรวยมีอำนาจสูงกว่าในทางปฏิบัติและมีศักยภาพในการเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าคนจนหรือผูถูกกดขี่ในทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นการเก็บภาษีในอัตราเดียวกัน ‘อย่างเท่าเทียม’ นี้ ดูจะเป็น ‘ความเท่าเทียมที่ไปตอกย้ำและยอมรับสถานะของความจริงอันไม่เท่าเทียม’ หรือไม่? เรื่องนี้ผมคงจะปล่อยให้ลองตั้งคำถามกับจุดยืนของตนเองต่อไป เพราะเอาเข้าจริงๆ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงวิชาการโดยเฉพาะสาย ‘สื่อมวลชน’ กับนักสิทธิมนุษยชน ก็มีดีเบตนี้ไม่น้อย ถึงจุดยืนของการเปิดพื้นที่อย่างเท่าเทียม
อย่างไรก็ดีที่อยากจะบอกก็คือ ‘การล้อเลียน’ มันเข้ามาทำหน้าที่ในการท้าทายต่อสถานะของ ‘ความไม่เท่าเทียม’ ที่ถูกกดอยู่ภายใต้วาทกรรมของความเท่าเทียมนี้ด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้หากเราพูดในเงื่อนไขหรือระบบตรรกะของโลกทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ ที่เงินหรือทุนถูกให้คุณค่าอย่างสูงในฐานะตัวแทนของการตอบแทนจากการทำงานและลงมือลงแรงแล้ว เราจะพบว่าเพจล้อเลียนต่างๆ มากมายในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คที่มักจะเป็นการทำงานโดยปราศจากผลตอบแทนเป็นทุน (อย่างน้อยๆ ก็ในระยะเริ่มแรก) นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการทำงานที่บริสุทธิ์ผุดผ่องเสียยิ่งกว่า NGO ใดๆ เสียอีกหากมองตามวิธีคิดแบบระบอบทุนนิยมเป็นแกนกลางนี้ ฉะนั้นคงจะไม่ผิดนักหากจะจะมองการล้อเลียนในฐานะการเคลื่อนไหวของพลังหรือฝ่ายต่อต้านที่เป็นพลังบริสุทธิ์อย่างเต็มที่…บริสุทธิ์กระทั่งจากระบอบทุน คิดดูสิครับ
นั่นคือเรื่องราวของ Parody แบบสั้นๆ ซึ่งมันคือคนละเรื่องกับ ‘การหมั่นไส้’ เลย คำว่าหมั่นไส้ เมื่อไปดูความหมายในพจนานุกรมแล้วจะพบความหมายประมาณนี้ ‘ชังน้ำหน้า, รู้สึกขวางหูขวางตา’ (ราชบัณฑิต), ‘เกลียด, ไม่ชอบใจ’ (เปลื้อง ณ นคร) ซึ่งเมื่อนำมาเทียบในภาษาอังกฤษแล้วเราจะพบว่ามันคือคำว่า dislike, hate, หรืออาจจะเลยไปถึง jealousy ก็ยังอาจจะพอได้ (คือหมั่นไส้ในเชิงริษยา) อย่างไรก็ดี การหมั่นไส้ มันไม่ได้มีพื้นที่ของการต่อสู้ต่อต้านกับอำนาจครอบงำแบบที่การล้อเลียนหรือ Parody มี
ฉะนั้นสำหรับผมแล้ว การคิดว่า ‘การขายไม่ออก หรือโดนโจมตี’ โดยเฉพาะจากการล้อเลียนนั้น เป็นการ ‘บริหารจัดการความหมั่นไส้ของชาวเน็ตที่ผิดพลาด’ จึงเป็นจุดตั้งต้นของความผิดที่ผิดตั้งแต่แรก หรือว่ากันตรงๆ คือ ‘หยิ่งผยอง’ (Arrogant) นั่นเอง เพราะวิธีการคิดว่าคนอื่นหมั่นไส้ตนนั้น มันมาจากฐานคิดแบบส่วนตัวมากๆ ว่า ‘เป็นความเกลียดขี้หน้าโดยส่วนตัว หรือริษยาเป็นการส่วนตัว’ หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ ‘เพราะฉันดีกว่าแกมาก แกเลยไม่พอใจฉัน หมั่นไส้ฉัน’ การคิดแบบนี้ นอกจากจะเป็นการหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นราชินีแห่งทางช้างเผือกแล้ว ยังเป็นการลดทอน Parody ที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์แห่งการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะบนฐานของการพยายามต่อสู้กับฝ่ายที่แอบอิงอยู่กับอำนาจที่ครอบงำสังคม ให้เหลือเพียงความรู้สึกไม่พึงใจส่วนบุคคลของดาวพระศุกร์ไป
ปัญหามันอยู่ที่ว่า หากสังคมเราลดทอนการล้อเลียน ซึ่งเป็นกลวิธีในการต่อสู้ทางการเมือง ให้เหลือเพียงความหมั่นไส้ ความเกลียดส่วนตัว หรือความอิจฉาริษยาชั่วขณะจิตนี้ มันเท่ากับเรากำลังลดตัวเลือกหรือช่องทางในการต่อต้านอำนาจที่ครอบงำ และกดขี่ทางสังคมลงไปอีก จากที่มีน้อยแสนน้อยอยู่แล้ว (แหม่ กินแซนด์วิช, ยืนอ่านหนังสือ หรือกดไลก์กดแชร์นี่คุกกันมาหมดแล้วนะครับ ไม่นับว่าไปนั่งประท้วงตรงๆ ยังอาจจะโดนยิงตายได้อีก) ผมไม่คิดว่าเราสมควรจะนำเอา ‘ความสำคัญตัวเองผิด’ ของคนบางประเภท ที่พยายามจะลดทอนวิธีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างการล้อเลียน ให้เหลือเพียงความเกลียดชังส่วนตัว เพียงเพื่อจะยังคงรักษา ‘ความจริงลวงๆ’ ในหัวของตนอยู่ได้ ว่าตนนั้นดีเด่เกินกว่าใคร ใครๆ จึงเฝ้าฝันจะเป็นเยี่ยงฉันเหลือเกิน
อย่าจำกัดทางเลือกในการต่อสู้ที่แสนจะจำกัดอยู่แล้วของเราเลยครับ การล้อเลียนมันคือการต่อสู้ มันไม่ใช่ความหมั่นไส้ส่วนตัวของใครต่ออีกคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ ฉะนั้นอย่ายอมรับ อย่ารับรอง อย่าลดทอนการล้อเลียนให้เหลือเพียงการจัดการบริหารความหมั่นไส้ที่ผิดพลาด เพียงเพื่อจะตอบสนองความสำคัญตัวผิดของคนบางคน
เราควรจะเหลืออาวุธที่เรียกว่า ‘ช่องทางในการต่อต้านอำนาจนิยม’ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะเราคงจะหนีมันไม่พ้นไปอีกนานแสนนาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู https://www.prachatai.com/journal/2017/06/71850
[2] โปรดดู Mary Louise Pratt (1991) “Arts of the Contact Zone” in Profession. New York: MLA. 91: 33 – 40.