ก่อนจะพูดพล่ามทำเพลงอะไรมากกับเนื้อหาตามหัวข้อข้างต้น ผมอยากออกตัวอย่างชัดเจนก่อน (ใครจะว่าผมรีบออกตัวแรงไว้ก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มเขียนอะไรเลย เป็นความขี้ขลาดหวาดกลัวเกินเหตุก็เชิญนะครับ เพราะก็ถูกอยู่ เขียนๆ นี่ก็กลัวอยู่) คือ ผมทราบดีว่าหัวข้อที่จะเขียนนี้มันอยู่ในกระแสดราม่าที่ร้อนแรงมาพักหนึ่งแล้ว และเมื่อเขียนออกมาก็มีสิทธิจะโดนลูกหลงเอาด้วยได้ง่ายๆ ทั้งคนที่เกี่ยวข้องก็อาจลำบากใจที่อาจจะต้องโดนลูกหลงฟรีด้วย ผมจึงขอเปิดด้วยหมายเหตุใหญ่ๆ 2 ข้อก่อนครับ คือ
- ที่จะเขียนทั้งหมดนี้เป็นข้อสังเกต และ/หรือความคิดเห็นส่วนตัวของผมเองในฐานะคนเขียน ไม่ได้เกี่ยวกับทีมงาน หรือใครคนอื่น ฉะนั้นหากอ่านแล้วไม่พอใจ ก็ไม่ต้องไปว่าทางเว็บเขานะครับ
- ผมอยากจะบอกให้ชัดถ้อยชัดคำแต่แรกเลยว่า (กรุณาอ่านช้าๆ ชัดๆ) ผม-เป็น-คน-ที่-ไม่-ได้-มี-ความ-รู้-เรื่อง-ดารา-นักร้อง-ไอดอล-อะไร-มาก-มาย-เลย ครับ เพราะฉะนั้นที่ผมจะเขียนในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องข้อคิดเห็นต่อดารานักร้อง หรือไอดอลคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะ (แม้อาจจะต้องมีการยกชื่อมาเป็นตัวอย่างบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าจำเพาะเจาะจงพูดถึงคนๆ นั้นไป) แต่ผมตั้งใจจะเขียนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในฐานะบทวิเคราะห์ที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคมแบบหนึ่งในระยะที่ไกลออกมา ในระดับองค์รวมนะครับ (นี่ เน้นคำมันทั้งตัวหนา ตัวเอียง และขีดเส้นใต้เลย)
โอเค จบพาร์ต disclaimer ประสาคนขี้ขลาดหวาดกลัวแต่อยากพูดแล้ว ผมก็ขอเข้าเรื่องเลยครับ คิดว่าหลายคนอ่านชื่อหัวข้อก็คงพอจะเดาออกอยู่แล้ว ว่ามันคือเรื่องที่มีเซเลบแห่งโลกบันเทิงหลายคนไปร่วมดำเนินรายการ ‘เดินหน้าประเทศไทย’ ของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น มิว-นิษฐา ไปจนกระทั่งเฌอปรางแห่งวง BNK48 หรือย้อนไปไกลหน่อยก็ได้ถึง ณเดชน์ คูกิมิยะ เป็นอย่างน้อย และคงปฏิเสธได้ลำบากมากว่านอกจากเป็นกระแสพูดถึงในโลกโซเชียลหนักสุดแล้ว เคสของเฌอปรางนั้นก็ดูจะนำมาซึ่งดราม่าปานจะฆ่ากันตายที่หนักหน่วงสุดๆ ด้วยระหว่าง 3 ฝ่ายหลักๆ ด้วยกันคือ
- ลิเบอรัลที่เฉยๆ หรือไม่อินกับไอดอล/เซเลบนัก
- โอตาคุ (และติ่งเซเลบอื่นๆ) ผู้ภักดีต่อ BNK48
- ลิเบอรัลที่เป็นโอตะด้วย (กลุ่มนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็น ‘รัฐกันชน’ ที่ทั้งปะทะในดราม่านี้เอง และพยายามผ่อนคลายข้อถกเถียงด้วย)
แน่นอนว่า เมื่อมีเซเลบระดับแม่เหล็กมาประดับอยู่ด้วยในรายการ รายการจืดๆ ที่เรตติ้งต่ำแสนต่ำ เป็นสุญญากาศของชีวิตคนไทยมาเกือบ 4 ปี กระทั่งคนพากันแซวว่าเป็นช่วงเวลาประหยัดไฟของบ้าน ก็มีเรตติ้งกระฉูดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะนับตั้งแต่คิวเทปของ มิว-นิษฐา ที่มียอดคนติดตามมากถึง 6 ล้านคน (แหมะ ก็นะ รอยยิ้มของเธอนั้นมันช่างตรึงตาใจเสียเหลือเกิน) แต่เรื่องเรตติ้งพุ่งอาจจะไม่ใช่ความสำเร็จเดียวของการเชิญเซเลบโลกบันเทิงมาร่วมเท่านั้น การทำให้ลิเบอรัลไปตีกันเอง ไม่มีเวลามาสนใจรัฐบาลนัก ก็ดูจะนับเป็นอีกความสำเร็จได้ด้วยกระมัง
ในกรณีเรตติ้งที่พุ่งสูงขึ้นนั้น ก็มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นเรตติ้งที่เพิ่มขึ้นแบบฉาบฉวยบ้าง หรือที่เค้าแห่กันมาดู ก็แค่มาดูดาราในทีวี ไม่ได้สนใจอะไรที่นายกและพวกอยู่ดีจะนับเป็นความสำเร็จได้อย่างไร อะไรทำนองนั้น แต่ประเด็นนี้เองผมจะไม่ไปแตะ ไปยุ่งนัก เพราะการประเมินในส่วนนี้มันค่อนข้างลำบากและไร้เกณฑ์ที่ชัดเจน เช่น ขนาดไหนนับว่าฉาบฉวย พ้นจากจุดไหนไป หรือเรตติ้งต้องพุ่งนานแค่ไหนจึงจะไม่นับว่าฉาบฉวยแล้ว หรือ การมาดูดาราก็จริง แต่ถ้าดาราเซเล็บพูดในสิ่งที่รัฐบาลบอกให้พูด มันก็เท่ากับได้ฟังได้ดูในสิ่งที่รัฐบาลทหารอยากให้ดูหรือเปล่า เป็นต้น ว่าง่ายๆ เกณฑ์การวัดพวกนี้มันขึ้นอยู่กับวิธีการมอง และวิธีการนำเสนอมากๆ สามารถเขียนให้เป็นแบบไหน โทนเสียงอย่างไรก็ได้ ผมจึงจะไม่ยุ่งด้วย แค่อยากระบุไว้สั้นๆ ว่า เออ คิดถึงเรื่องนี้อยู่ และมันมีการพูดถึงอยู่นะจ๊ะ
เมื่อเราตัดประเด็นเรื่องความสำเร็จหรือไม่ออกไปแล้ว ประเด็นหลักที่เหลือต้องมาพิจารณากันในดราม่านี้หลักๆ ก็คือ ดารา เซเลบที่ให้การสนับสนุนการเมืองฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือแสดงจุดยืนทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่งอย่างเปิดเผยนั้น มันทำได้หรือไม่ อย่างไร และเราควรจัดการกับความคาดหวังที่เราเองมีต่อเซเลบเหล่านี้อย่างไรไหม?
ผมคิดว่าเรื่องว่าดาราในต่างประเทศ ล้วนแสดงจุดยืนทางการเมืองของตนเองออกมาได้อย่างชัดเจนนั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนที่คลอเคลียหรือติดตามในดราม่าเรื่องนี้พอจะรู้หรือนึกได้อยู่แล้ว เรามีดารามากมายที่ประกาศตัวชัดเจนว่าให้การสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ในระหว่างที่เขาหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เช่น Clint Eastwood, Mike Tyson, Roseanne Barr และอื่นๆ อีกมาก เรามี Meryl Streep ที่กล่าวสปีชกลางงานลูกโลกทองคำ (Golden Globe) ด่าทรัมป์ชนิดฟังแล้วขนลุกขนพอง หรือกระทั่งเซเลบที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองเองเลยก็ไม่น้อย อย่าง Arnold Schwarzenegger ที่เคยเป็นถึงผู้ว่าการรัฐเท็กซัส หรือ Ronald Reagan อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเอง ก็เคยเป็นผู้ประกาศข่าวและนักแสดงมาก่อน
หรือไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงฝั่งฮอลลีวู้ด เอาฝั่งนาฏราชของเราก็พอ เราเห็นความเห็นทางการเมืองชัดเจนมาโดยตลอดครับ ไม่ว่าจะเป็นสปีช ‘บ้านของพ่อ’ ของพงษ์พัฒน์ ไปจนถึงการประกาศตัวสนับสนุนม็อบพันธมิตรมากมายของดารานักแสดงไทย อย่างตั้ว-ศรันยู หรือ เกลือ เป็นต่อ ที่เชื่อว่าจีนจะมาสร้างรถไฟความเร็วสูงให้เราฟรี ไปจนถึงอริสมันต์ที่ประกาศตัวเป็นเสื้อแดงอย่างเต็มตัว
การแสดงออกทางการเมืองของดารานักแสดงเป็นเรื่องปกติครับ และการวิจารณ์ข้อคิดเห็นที่แสดงออกมาในทางสาธารณะนั้นก็เป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน อย่างกรณีรถไฟความเร็วสูง กับเกลือ เป็นต่อนั้น ผมก็ยังคิดว่าเราควรจิกถาม เราควรวิจารณ์ต่อไปเรื่อยๆ หรือกรณีอย่างนิติพงษ์ ห่อนาคที่ออกมาโพสต์ความเห็นประหลาดๆ เราก็สามารถวิจารณ์โต้ตอบได้เป็นธรรมดา
ผมไม่คิดว่าจะมีดารานักร้องคนไหนที่ ‘ปฏิเสธไม่ได้’ ด้วย แบบปฏิเสธแล้วจะโดนทหารสั่งยิงอะไรแบบนี้ ผมคิดว่าไม่มีเป็นแน่แท้ ทางเลือกมันมีอยู่เสมอ มันอยู่ที่ว่าจะเลือกทางเลือกไหน ไม่เพียงเท่านั้น ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงเสมอก็คือ ความคิดเห็นและการกระทำใดๆ ของเราที่ทำไปในทางสาธารณะนั้น มันมีราคาของความรับผิดชอบอยู่ด้วยเสมอนั่นแหละครับ ไม่เกี่ยงกับว่าคุณเป็นเซเลบหรือไม่เลยด้วยซ้ำ
หลักการที่ว่านี้คือเรื่อง Power with accountability หรืออำนาจต้องมาคู่กับความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนนั่นเองครับ
Power อะไร? สิทธิคือ ‘อำนาจ’ ประเภทหนึ่งในระบบคิดของการเมืองแบบประชาธิปไตยครับ สิทธิคือ ‘อำนาจซึ่งเราอาจ/เลือกที่จะทำได้’ หรือก็คือ ‘อำนาจของปัจเจกในกรอบที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้’ และความรับผิดชอบนี้เองก็มาคู่กันกับเราตั้งแต่ระดับปัจเจกแล้ว อย่างเรามีสิทธิ (อำนาจ) ที่จะดื่มเหล้า ดูดบุหรี่ได้นะ (ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต) แต่ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงกับการเป็นโรคจากอำนาจของการกระทำของตนเองไป ว่าง่ายๆ ก็คือ การใช้อำนาจกับความรับผิดชอบนั้นมันแฝงอยู่กับเราตลอดเวลาแม้แต่ในระดับปัจเจก ฉะนั้นแล้ว ยิ่งเป็นการเลือกจะใช้อำนาจในทางสาธารณะหรือส่งผลในวงกว้างแล้ว ก็ยิ่งต้องยอมรับว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำหรืออำนาจที่เราเลือกจะใช้นั้น ย่อมมีมากขึ้น ขยายวงมากขึ้นจากเฉพาะแค่ตัวเราเอง เมื่อตัดสินใจจะใช้อำนาจออกไป ก็เลยต้องมี accountability หรือสำนึกรับผิดชอบต่อคนอื่นๆ ที่อยู่ในขอบข่ายของผลพวงจากอำนาจของเราด้วย ทั้งทางตรง หรือทางอ้อม ทั้งทางการ หรือทางใจ
ฉะนั้นการแสดงออกทางการเมือง การเลือกข้างทางการเมือง จะของดารา นักร้อง หรือไอดอลคนไหนก็ตามเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ทำได้ พอๆ กับที่การวิพากษ์วิจารณ์ การด่าประณาม การไม่เห็นด้วยต่อการแสดงออกหรือการกระทำทางการเมืองนั้นๆ จะเกิดขึ้นได้ และหากว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว ระบอบประชาธิปไตยเองนี่แหละครับที่เรียกร้องให้มีการเลือกข้าง มันไม่เคยเรียกร้องความเป็นกลาง ความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจากใคร ระบอบประชาธิปไตยทำงานผ่านกลไกสำคัญคือการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ ‘กลไกในการเลือกข้างทางการเมืองของตนเองอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ’ กันเลยทีเดียว ไม่ต้องนับไปถึงแนวคิดเบื้องหลังของตัวระบอบ ที่วางฐานอยู่บนการสร้างพื้นที่ให้ความแตกต่างสามารถอยู่ไปพร้อมๆ กันได้ โดยไม่ต้องฆ่าใครตายหรือสั่งหุบปากใครไปข้างใดข้างหนึ่ง ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา เฌอปรางจะเชียร์ทักษิณ เชียร์สุเทพ หรือเชียร์ประยุทธ์ เธอก็ย่อมทำได้ และคนจะเห็นด้วยหรือไม่กับการเลือกนั้นของเธอก็ย่อมทำได้เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อเธอทำอย่างเปิดเผยและทำในทางสาธารณะ
แต่สิ่งที่ยิ่งต้องระวังขึ้นไปอีก คือ เราต้องเข้าใจด้วยว่า การแสดงออกว่าทำงานให้ หรือสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการนั้น มีโอกาส มีแนวโน้มที่จะมีราคาของความรับผิดชอบต่อการกระทำที่สูงเสียยิ่งกว่าการประกาศตัวหรือแสดงความคิดเห็นในระบอบประชาธิปไตย เพราะคุณกำลังทำงานให้กับระบอบซึ่งโดยกลไกแล้วมัน ‘กดขี่ทุกคนในรัฐอยู่’ การตัดสินใจของคุณมันจึงส่งผลกระทบต่อทุกคนในรัฐไปพร้อมๆ กันด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ หากพิจารณาให้ลึกลงไปอีกสักนิด ผมคิดว่า ‘บทบาท’ ณ ช่วงเวลาของการใช้อำนาจเองก็ส่งผลต่อระดับของการโดนวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่น้อยทีเดียวครับ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงในโลกปรัชญาและวิชาการมานานแล้ว ถึงการแยกบทบาทของคน ว่า เราสามารถแยกตัวเองในฐานะปัจเจก ออกจากตัวตนของเราตามบทบาทของสังคมได้ไหม? อย่างเช่น นาย A เป็นนักแสดงเวลาอยู่หน้าจอ เวลาจัดงานแฟนมีตติ้ง ว่าง่ายๆ คือ เวลาที่เขาทำงานตามตารางของเขา แต่นอกจากนั้นเล่า เขาเป็น ‘ดารา A’ ตลอดเวลาหรือเปล่า หรือนอกจากนั้นแล้ว เขาก็เป็นเพียง ‘นาย A’ ธรรมดาๆ เป็นปัจเจกคนหนึ่ง เหมือนผมหรือคุณ?
คำถามนี้สำคัญตรงไหน? มันก็คือการย้อนกลับไปมองการใช้จุดยืนของเซเลบต่างๆ ในด้านการเมืองนั่นแหละครับว่า ‘ณ ช่วงเวลาของการกระทำ’ (แสดงออกว่าสนับสนุนแนวคิดทางการเมืองแบบไหน หรือใคร) เขากระทำมันในสถานะใด บทบาทใด? ในฐานะปัจเจกธรรมดา เหมือนผมเหมือนคุณ เหมือนพนักงานออฟฟิศคนหนึ่งที่ทำงาน 9 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็นก็หมดสถานะการเป็นพนักงานบริษัท แล้วเดินขึ้นเวทีพันธมิตร เป็นแค่ปัจเจกที่แยกขาดจากงานของเขาแล้วไหม? หรือเขาก็ยังคงเป็น ‘ดาราที่ขึ้นพูดสนับสนุนพันธมิตร หรือ นปช. อยู่ ณ เวลานั้น?’ คำถามแบบเดียวกันนี้ไม่ได้หยุดอยู่แค่กับดารานักแสดงหรอกนะครับ แต่รวมไปถึง สส. รวมไปถึงนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย
ผมคิดว่าคำตอบเรื่องหัวโขน หรือตำแหน่งสถานะ ‘ณ เวลาที่ใช้อำนาจ’ นั้นเป็นเรื่องที่อาจจะพอถกเถียงกันได้ ว่าอีกแบบก็คือ ดารานักแสดงที่ไปขึ้นเวทีพันธมิตรบ้าง นปช. บ้าง หรือประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองของตนเองบ้างนั้น ก็ยังอาจจะพอพูดได้บ้างในระดับหนึ่งว่าทำในฐานะปัจเจก ไม่ใช่การทำในฐานะหน้าที่การงานของตนไปอีกได้
แต่กรณีแบบรายการเดินหน้าประเทศไทยนั้น ผมคิดว่ามันชัดเจนทีเดียวว่าเป็นการทำงานในฐานะ ‘ดารานักแสดง’ คือ เป็นการเลือกใช้อำนาจในฐานะ ‘อาชีพ’ และแน่นอนความเป็น ‘อาชีพ’ โดยตัวมันเองมีกลไกที่เชื่อมโยงกับสังคมหรือภาพรวมมากกว่าฐานะของ ‘ปัจเจก’ อยู่แล้วด้วย การเลือกใช้อำนาจในเชิงอาชีพ ในรายการของรัฐบาลที่กดขี่ประชาชน ยึดอำนาจโดยมิชอบอยู่ ไม่พองบประมาณรายการเองก็ขูดรีดไปจากภาษีของประชาชนทุกคนอีกนั้น ผมจึงคิดว่ามันไม่มีทางจะปฏิเสธความเชื่อมโยงต่อ ‘สังคมโดยองค์รวม’ ได้เลย และไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมา ‘ห้ามการวิจารณ์ต่อตัวการใช้อำนาจนั้น’ ไม่ว่าจะระดับใดก็ตามครับ
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าปัญหาอีกอย่างก็คือ หลายๆ ครั้งการวิจารณ์กรณีที่เกิดขึ้นนี้ในทางสาธารณะเอง ก็ไม่ได้วิจารณ์ที่ตัวอำนาจ หรือก็คือ การทำงานให้รัฐบาลอย่างชัดเจนนัก แต่กลับไปให้น้ำหนักอยู่ที่ความผิดหวังที่มีต่อตัวบุคคลเป็นคนไป ซึ่งกรณีนี้เอง ผมก็คิดว่าตัวคนหวังเองนี่แหละครับที่ผิด!
คือ เราต้องไปคาดหวัง “ความเป็นการเมือง หรือรสนิยมทางการเมืองที่ก้าวหน้าจากดารานักแสดงหรือไอดอลเป็นพิเศษหรือ?” ผมคิดว่าไม่ เราไม่ควรไปคิดเช่นนั้นแต่แรก พวกเขาพวกเธอ ก็เช่นเราทุกคน มีสิทธิมีรสนิยมในทางการเมืองแบบของตัวเอง มีสิทธิเลือก มีสิทธิล้าหลัง หรือก้าวหน้าตามแบบของพวกเขาทั้งสิ้น ก็แค่ต้องพร้อมรับผิดชอบต่อการกระทำของตนไม่ว่ามันจะโง่หรือฉลาดในสายตาใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบ
นอกจากเราไม่ควรไปคาดหวังอะไรแบบนี้จากไอดอลหรือใครก็ตามแล้ว ผมก็คิดว่าไอดอล ดารา หรือเซเลบที่ไหน หรือใครก็ตามไม่ได้มีภาระหน้าที่ในฐานะปัจเจกในการจะต้องมาตอบสนองความคาดหวังอะไรให้กับเราหรือใครอื่นด้วย นอกจากความต้องการของตัวเขาเอง และนี่เองไม่ใช่หรือที่เป็นพื้นฐานแนวคิดที่พวกท่านๆ ลิเบอรัลยกยอนับถือกันอยู่ด้วย? ฉะนั้นหากจะด่า จะวิจารณ์ ก็พึงทำให้ถูกที่เถอะครับ อย่ามาด่ากันไปมาเพียงเพราะไม่ตรงความคาดหวังเลย เสียดายคำว่า ‘ลิเบอรัล’ หมด
สรุปคือ โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหาเลยไงที่ดารา เซเลบ หรือจะไอดอล ไปทำหน้าที่อะไรแบบนั้น อย่างมากก็บ่นจิกไปตามที่เห็นควร (ซึ่งจริงๆ ยังไม่ได้ทำเลย) หรือชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ชอบธรรมในการประณามเรื่องแบบนี้
คือ การที่เรา 1) ด่าชุดเหตุผลที่ปกป้องหรือลดทอนความชอบธรรมในการประณาม กับ 2) พยายามอธิบายว่าการที่ถูกประณามนั้นมันมีความชอบธรรมในเชิงคำอธิบายอยู่
มันเป็นคนละเรื่องกับการบอกว่า “ฉันเห็นว่าคนนี้ผิด คนนี้เลว” น่ะนะครับ