ไม่ว่าโลกกำลังถลำเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ สมองกล ดิจิทัล ฯลฯ ลึกลงเพียงใด คนนับล้านทั่วโลกรวมทั้งผู้เขียนเองด้วยก็ยังคงหลงใหลในนิยาย ภาพยนตร์ และเกมแนว ‘รหัสคดี’ หรือ ‘นิยายนักสืบ’ ที่เน้นความเก่งกาจในการใช้เหตุผลและความช่างสังเกตชนิดหาตัวจับยาก ปะติดปะต่อเชื่อมโยงเรื่องราวเพื่อคลายปริศนาฆาตกรรม มากกว่าจะใช้อุปกรณ์ทันสมัยไฮเทคใดๆ
ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหนึ่งที่สื่อแนวรหัสคดียังได้รับความนิยม และน่าจะได้รับความนิยมไปอีกนาน ก็คือมันช่วย ‘ลับสมอง’ ของเราระหว่างเสพ และทำให้โลกจริงซึ่งหลายเหตุการณ์ดูจะไร้เหตุผลมากขึ้นเรื่อยๆ ดูมีระบบระเบียบ มีความเป็นเหตุเป็นผลขึ้นอีกนิด อย่างน้อยก็ระหว่างที่เรากำลัง ‘อิน’ กับเนื้อเรื่อง หรือมิฉะนั้นสื่อแนวนี้ก็ช่วยปลอบใจเราได้เล็กน้อยว่า ตรรกะและความเป็นเหตุเป็นผลยังคงสำคัญในโลกที่ไร้เหตุผล อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เราอธิบายบางส่วนเสี้ยวของเหตุการณ์บางเหตุการณ์ และจับคนผิดมาลงโทษได้ แม้จะไม่อาจเผยความจริงทั้งหมดได้ก็ตาม
Return of the Obra Dinn เกมไม่ฟรีเกมที่สองของ ลูคัส โป๊บ (Lucas Pope) นักออกแบบเกมในดวงใจของผู้เขียน สุดยอดไม่แพ้ เกมอินดี้สุดเจ๋ง Papers, Please เกมไม่ฟรีเกมแรกของเขา) เป็น ‘เกมนักสืบ’ ที่ผู้เขียนเห็นว่าเจ๋งที่สุดในประวัติศาสตร์เกม เพราะ ‘กลั่น’ แก่นสารที่สำคัญที่สุดของเรื่องราวแนวสืบสวนสอบสวน นั่นคือ ความช่างสังเกต ทักษะการใช้เหตุผลแบบนิรนัย (deduction) และความรู้รอบตัว ลงมาเป็นเกมสไตล์มินิมอล (minimal) หรือ ‘น้อยแต่มาก’ ซึ่งเขาโด่งดังมาตั้งแต่ Papers, Please ได้อย่างกลมกล่อมราวกับงานศิลปะชิ้นประณีต
Return of Obra Dinn เล่าเรื่องราวเหลือเชื่อของ โอบรา ดินน์ (Obra Dinn) เรือสินค้าของบริษัท อีสต์ อินเดีย (East India) โดยเรารับบทบาทเป็นเจ้าหน้าที่ประเมินสินไหมของบริษัท เรือลำนี้หายสาบสูญไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1802 ระหว่างที่ตามกำหนดจะแล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮป ต่อมาหลังจากนั้นห้าปี ในปี 1807 จู่ๆ โอบรา ดินน์ ก็ลอยมาเกยตื้นปริศนาที่ท่าเรือในทวีปแอฟริกา ไร้วี่แววลูกเรือและผู้โดยสารซึ่งมีทั้งหมด 60 ชีวิต จากหลากหลายเชื้อชาติ บริษัท อีสต์ อินเดีย ส่งเราขึ้นเรือลำนี้ มอบหมายให้มาสืบสวนว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อประเมินค่าชดเชยจากกรมธรรม์ประกันสำหรับลูกเรือและผู้โดยสารแต่ละคน (ในกรณีที่เราคิดว่าควรจ่ายค่าชดเชย)
สิ่งที่ทำให้เราสามารถสืบสาวเหตุการณ์ระหว่างการเดินทางของ ‘เรือผี’ ลำนี้ ก็คือ ‘นาฬิกาพกวิเศษ’ ที่เราได้รับจากแพทย์ประจำเรือ โอบราห์ ดินน์ ชายผู้ประสบเหตุเพียงคนเดียวที่รอดชีวิตจากเรือลำนี้ เขาส่งนาฬิกาพร้อมกับบันทึกการเดินทางมาให้ แต่ทั้งเล่มว่างเปล่า มีเพียงข้อมูลเบื้องต้น อาทิ ภาพสเก๊ตช์และรายชื่อลูกเรือและผู้โดยสารทั้งหมด รวมถึงตำแหน่งบนเรือ (เช่น กัปตัน สรั่งเรือ ต้นหน ผู้โดยสาร พ่อครัว ช่างไม้ ช่างภาพ ฯลฯ) และภูมิลำเนาของแต่ละคน
แพทย์ผู้รอดตายอยากให้เราคลี่คลายปริศนาของโอบราห์ ดินน์ ด้วยพลังวิเศษของนาฬิกาพก ซึ่งถ้าเรากดปุ่มตอนยืนอยู่หน้าศพ (ตอนเริ่มเกมเราจะพบศพเพียงศพเดียวเท่านั้นบนเรือ) นาฬิกาจะพาเราย้อนเวลากลับไปในอดีต เราจะได้รับรู้วาระสุดท้ายของผู้ตาย โดยจะได้ยินเสียงที่เขาหรือเธอได้ยินในช่วง 1-2 นาทีสุดท้ายของชีวิต จากนั้นจะได้เห็นฉากสุดท้ายก่อนที่เขาหรือเธอจะสิ้นลมหายใจ
เราจะเดินสำรวจรอบๆ ฉากสามมิติจากอดีตนี้นานเท่าไรก็ได้ หลายครั้งสามารถเดินไปดูห้องและชั้นอื่นๆ ในเรือได้ด้วย ก่อนที่จะเดินเข้าประตูวิเศษย้อนเวลากลับมาปัจจุบัน ระหว่างที่อยู่ในอดีต เราสามารถเปิดดูสมุดบันทึกได้ทุกเมื่อเพื่อจับคู่คนในรูปสเก็ตช์กับคนที่อยู่ในฉากนั้นๆ และดูตำแหน่งที่คนแต่ละคนในฉากปรากฏตัว (เท่าที่เรามีข้อมูล ณ ขณะนั้น)
กลไกที่สำคัญคือ ถ้าหากมีศพอื่นปรากฎในฉากอดีตด้วย เราก็สามารถกดนาฬิกาวิเศษ นาฬิกาจะ ‘ดูด’ ร่องรอยวิญญาณ (หรือข้อมูล) ของศพใหม่ พาเรากลับมาปัจจุบัน พ่นร่องรอยของวิญญาณนั้นออกมาเป็นทางยาวไปยังจุดที่คนคนนั้นตาย ศพใหม่จะปรากฎให้เห็น และเราก็จะสามารถกดนาฬิกาเพื่อย้อนดูวาระสุดท้ายของคนใหม่นี้ได้อีก
การเดินหาศพใหม่ๆ ในฉากอดีต จึงเป็นวิธีหลักที่เราจะได้เจอเบาะแสใหม่ๆ และขยับเส้นเรื่องไปข้างหน้า
หน้าที่ของเราคือค้นหา(หรือเดาอย่างมีหลักการ) ว่าลูกเรือและผู้โดยสารแต่ละคน 1) ชื่ออะไร (จับคู่หน้าตากับชื่อ) 2) ตายอย่างไร (เช่น ถูกยิงด้วยปืน, ถูกแทง, ไฟคลอก, ไฟช็อต, ระเบิด, จมน้ำ ฯลฯ) และ 3) ใครเป็นคนฆ่า (ในกรณีที่คนคนนั้นถูกฆาตกรรม) หรือ ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน (ในกรณีที่คนคนนั้นรอดชีวิต) โดยบันทึก (คลิกเลือกช้อยส์ต่างๆ) ในสมุดบันทึก
ความยากซึ่งก็เป็นความสนุกมากด้วยก็คือ เราไม่มีทางรู้คำตอบทั้งหมดแบบตรงไปตรงมา มีเพียงศพแรกๆ เท่านั้นที่คลี่คลายตัวตนและสาเหตุการตายได้ค่อนข้างชัดเจน เพราะผู้ตายถูกเรียกชื่อและเห็นชัดว่าตายอย่างไร (เป็นวิธี ‘สอน’ กลไกเกมโดยไม่ต้องสอน) ส่วนใหญ่เราต้องสังเกตและนิรนัยเอาเองจากเบาะแสหลากหลายชนิดเท่าที่ได้ยินและมองเห็น หลายครั้งต้องใช้วิธีเดาอย่างมีเหตุมีผล ประกอบการใช้สามัญสำนึกและความรู้รอบตัวเล็กน้อย ยกตัวอย่างเช่น ชายคนนี้ใส่ชุดยูนิฟอร์มเดียวกันกับชายคนที่เรารู้แล้วว่าเป็นคนรับใช้ของกัปตัน ดังนั้นเขาก็น่าจะเป็นคนรับใช้เหมือนกัน หรือ ชายคนนี้ดูจากหน้าตาและเสื้อผ้าน่าจะเป็นคนอินเดีย ฉะนั้นจึงน่าจะเป็นคุณ ก. เพราะคนอินเดียคนอื่นเรารู้ชื่อหมดแล้ว หรือ จากการแต่งกายและการที่มือถือค้อน ค่อนข้างชัดว่าน่าจะเป็นช่างไม้ประจำเรือ เป็นต้น
โป๊บตั้งใจออกแบบ Return of Obra Dinn มาอย่างมินิมอลสุดๆ ด้วยการใช้เฉพาะกลไกเท่าที่จำเป็นต้องใช้ ฉากทุกฉากในเกมถูกวางแผนและจัดตำแหน่งมาให้เบาะแสชนิดไม่มีขาดไม่มีเกิน และเหนือสิ่งอื่นใด ทั้งเกมใช้กราฟิกสองสี(!) ย้อนยุคกลับไปกว่าสามทศวรรษ ถึงยุคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเครื่องแรกๆ กันเลยทีเดียว (เลือกได้ว่าจะให้เป็นสองสีแบบยี่ห้อ PC, Apple II, Macintosh หรือ Commodore ยุคแรก) แต่ความมินิมอลนี้ก็เหมาะสมแบบเหมาะเหม็งกับเกมนี้ เพราะสื่อว่าเราในฐานะนักสืบจำเป็นจะต้องมองหาเฉพาะเบาะแสที่สำคัญที่สุด และเกมก็แสดงเฉพาะเบาะแสสำคัญจริงๆ ในฉากอดีตแต่ละฉาก อาทิ รอยสัก แหวนแต่งงาน เลขบนป้ายติดเปลใต้ท้องเรือ เส้นแสดงวิถีกระสุน และแบบรองเท้า
อยู่ที่เราเท่านั้นว่าจะสังเกตเห็นเบาะแสเหล่านี้มากน้อยขนาดไหน และเมื่อสังเกตเห็นแล้ว เราจะนิรนัยใช้เหตุผลเชื่อมโยงหาคำตอบได้หรือไม่
กลไกที่ผู้เขียนชอบมากก็คือ เกมนี้มอบ ‘ตัวช่วย’ หลายแบบ แต่ละแบบถูกออกแบบมาอย่างพอเหมาะพอดี ไม่มากหรือน้อยไป ยกตัวอย่างเช่น ลูกเรือและผู้โดยสารทุกคนปรากฏในรูปสเก็ตช์ในสมุดบันทึก (ช่างภาพก็อยู่บนเรือด้วย) และรูปซูมของแต่ละคนก็จะปรากฏใบหน้าเฉพาะของเขาหรือเธอซึ่งบันทึกวาระสุดท้าย (ถ้าเราพบศพของเขาหรือเธอแล้ว) แต่ว่ารูปซูมจะคมชัด หรือพร่ามัวก็ได้ ถ้ายังพร่ามัวอยู่แสดงว่า เกมคิดว่าเรายังไม่เจอเบาะแสมากพอที่จะนิรนัยตัวตนของเขาหรือเธอได้ เราจะลองเสี่ยงเดาดูก็ได้ แต่เกมจะขึ้นข้อความเตือนว่าเราควรสืบสวนให้พบเบาะแสมากกว่านี้ก่อน
อีกตัวอย่างของ ‘ตัวช่วย’ ที่เหมาะเจาะก็คือ เกมจะไม่ยืนยันทันทีที่เราให้ข้อมูลคนหนึ่งคนถูกต้องทั้งสามข้อ (ชื่อ, สาเหตุการตาย, และชื่อฆาตกร(กรณีถูกฆ่า) หรือทวีปที่อยู่ปัจจุบัน(กรณีรอดชีวิต)) แต่จะยืนยันก็ต่อเมื่อเราใส่ข้อมูลครบถ้วนทั้งสามข้อสำหรับ คนทุกสามคน ก่อน กติกานี้แปลว่าเราจะต้องคอยเชื่อมโยงตัวละครและเหตุการณ์จำนวนมากตลอดเวลา พลิกสมุดบันทึกกลับไปกลับมาหลายครั้งเพื่อตรวจสอบ ทดสอบ และทดลองสมมติฐานของเรา ไม่ต่างจากนักสืบในโลกจริง
เรื่องราวที่แท้จริงของ โอบราห์ ดินน์ ว่าเกิดอะไรขึ้นในการเดินทางเที่ยวสุดท้าย จะเผยให้เราเห็นผ่านวาระสุดท้ายของลูกเรือและผู้โดยสารทั้ง 60 คน ซึ่งเมื่อนำมาเรียงต่อกันแล้วก็เป็นโศกนาฏกรรมที่เต็มไปด้วยความกลัว ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความรัก ความหวัง และแน่นอน สัตว์ประหลาดและพลังเร้นลับ ไม่ต่างจากนิยายดีๆ หนึ่งเรื่อง
แต่ Return of the Obra Dinn ก็เก็บบางบทตอน (ไม่ใช่บทสุดท้ายของเรือด้วย แต่บทก่อนหน้านั้น) และวาระสุดท้ายของตัวละครสองตัวสุดท้ายเอาไว้เป็นการหักมุมตอนจบ ซึ่งเราจะได้พบก็ต่อเมื่อเราปะติดปะต่อวาระสุดท้ายของคนที่เหลืออีก 58 คน ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่งสมุดบันทึกที่เติมข้อมูลเต็มแล้วกลับไปหาแพทย์ผู้รอดชีวิต ได้รับสารจากบริษัท อีสต์ อินเดีย ถึงผลการประเมินสินไหมชดเชยสำหรับผู้เคราะห์ร้ายแต่ละคนแล้วเท่านั้น
คำถามที่เกมไม่ได้ตอบแม้หลังจากที่ปิดฉากสุดท้าย คือ ‘ทำไม’ ตัวละครแต่ละตัวถึงได้ทำในสิ่งที่เราค้นเจอ แต่เราก็สามารถพยายามตอบคำถามนี้เองได้จากการคิดต่อจากข้อมูลในเกม ซึ่งแน่นอนว่ามีได้หลากหลายทฤษฎี เพราะ ‘แรงจูงใจ’ ในการทำสิ่งต่างๆ ของมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง และอาจไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเหมือนกับการหาเพียงคำตอบว่า เกิด ‘อะไร’ ขึ้นบนเรือ
Return of the Obra Dinn สามารถเสกชีวิตคนหลายเชื้อชาติในศตวรรษที่ 19 นับจาก ไอริช อังกฤษ จีน อินเดีย สวีเดน ฝรั่งเศส รัสเซีย ฯลฯ ให้มีชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อด้วยกราฟิกสองสี ดีไซน์มินิมอล และคลิปเสียงสั้นๆ รวมกันไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ตรึงเราอยู่หมัดนานหลายชั่วโมงด้วยปริศนาแสนประณีตและ ‘พอดีเป๊ะ’ ไร้ซึ่งรายละเอียดใดๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการคลี่คลายปริศนา
ในเมื่อมันให้รางวัลกับทั้งความฉลาดและความเฉลียว ลับทักษะการใช้เหตุผลแบบนิรนัยได้อย่างแหลมคม Return of the Obra Dinn จึงไม่เพียงแต่คู่ควรกับสมญา ‘เกมนักสืบที่ดีที่สุด’ เท่านั้น แต่ผู้เขียนเห็นว่ามันยังเหมาะมากที่จะใช้เป็นเครื่องมือประกอบการเรียนการสอนวิชาตรรกวิทยาเบื้องต้น และวิชาใดก็ตามที่สอนทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์