การเลี้ยงแมวระบบปิด คือการจำกัดบริเวณเลี้ยงนายท่านให้นั่งชม้อยชะม้ายชายตาอยู่แต่ในพื้นที่ที่เราเตรียมไว้ โดยทั่วไปก็คือในตัวบ้าน หรือในห้องคอนโดที่มีพื้นที่เพียงพอ (ไม่แอบเลี้ยงนะจ๊ะ) ส่วนการเลี้ยงแบบที่ปล่อยให้แมวเดินท่องเที่ยวไปไหนๆ ก็ได้ตามใจ หรือแม้แต่แบบลักปิดลักเปิดเลี้ยงเป็นบางเวลา เราจะเรียกว่าระบบเปิดทั้งหมด
แมวที่ถูกทิ้ง เตลิดหนีหรือพลัดหลงกับเจ้าของ แต่สุดท้ายก็สามารถอัพสกิลความป่าเถื่อนจนมีชีวิตรอดออกลูกออกหลานที่สู้ฟัดพอๆ กันมาได้นั้น ในบทความนี้เราจะเรียกพวกมันว่า ‘แมวจร’ หรือว่า feral cats ทั้งนี้ กลุ่มแมวจรและแมวที่เลี้ยงปล่อยในระบบเปิดมีชื่อเรียกแบบรวมๆ ว่า ‘free-roaming cats’ ซึ่งแปลได้ตรงตัวว่าพวกมันเป็นแมวที่สามารถจะไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระนั่นเอง
การเลี้ยงแมวในระบบปิดดีกว่าอย่างไร และทำไมแมวหาบ้านจำนวนมากจึงต้องเจาะจงเป็นระบบนี้ ทั้งที่อาจเป็นการลดโอกาสหาคนรับอุปการะ? ถ้าเราลองจินตนาการว่ามิติของการเลี้ยงแมวมี 3 ด้านด้วยกัน คือผลต่อตัวแมวเอง ผลต่อเรา และผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเลี้ยงแมวในระบบปิดนั้นเป็นผลดีต่อทั้งสามมิติเลยทีเดียว
ผลต่อตัวแมวเอง
การเลี้ยงแมวแบบเปิดคือการสร้างโอกาสให้แมวของเรากลายเป็นแมวจร คุณรู้หรือไม่ว่า แมวจรทั่วไปมีอายุขัยเพียงสามปีเท่านั้น[1] เนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งถูกยานพาหนะชน สุนัขกัด ยาเบื่อ ต่อสู้กับแมวตัวอื่น โรคติดต่อ หรือแม้แต่ถูกคนที่มีนิสัยชอบฆ่าและทรมานสัตว์ทำร้าย[2] ฯลฯ
แมวเพศเมียหนึ่งตัวสามารถมีลูกได้เกือบหนึ่งโหลต่อปี[3] และไม่ใช่ว่าทุกตัวจะสามารถรับเลี้ยงหรือหาบ้านให้ได้หมดทุกครั้ง ดังนั้นการคุมกำเนิดชนิดถาวรจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด นั่นคือการทำหมันแบบผ่าตัดเอาออกทั้งมดลูกและรังไข่ยังช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เมื่อแมวมีอายุมากขึ้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีตั้งแต่รังไข่อักเสบไปจนถึงมะเร็งมดลูก
แมวจรและแมวเลี้ยงเพศเมียที่ไม่ได้รับการทำหมัน (spay) อาจมีอาการติดสัด (heat) ได้นานถึงครั้งละ 10-14 วัน[4] ซึ่งในระหว่างนี้แมวจะ ‘หง่าว’ เสียงดังก่อกวนความสงบยามดึกของเราและเพื่อนบ้าน ซึ่งการหง่าวบ่อยครั้งนั้นทำให้ร่างกายของแมวเครียดและทรุดโทรมไวอีกด้วย
ส่วนการคุมกำเนิดชนิดชั่วคราวหรือการฉีดยาคุมให้แมวบ่อยๆ จะทำให้มดลูกของแมวอักเสบ[5] เป็นหนอง หรืออาจทำให้คลอดลูกไม่ได้ถ้าฉีดในเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต้องผ่าตัดเอาออก (อยู่ดี) เป็นสถานเบา หรือสถานหนักอาจถึงตาย
โดยแมวเพศผู้ก็ควรทำหมัน (neuter) เพราะนอกจากจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่ไม่พึงประสงค์[6] อย่างการแสดงอาณาเขตและการตบตีกับแมวตัวอื่นแล้ว ก็จะได้ไม่ไปทำสาวๆ ที่ไหนท้องอีกด้วย แผลจากการทำหมันในแมวเพศผู้นั้นเล็กกว่าแมวเพศเมียมาก และใช้เวลาไม่นานก็หายสนิท แน่นอนว่าการเลี้ยงแมวเพศผู้นั้นไม่มีปัญหาเรื่องแมวแบ่งตัวเป็นแบคทีเรียมากวนใจ แต่การทำหมันแมวหนุ่มในสังกัดนั้นจะช่วยควบคุมประชากรแมวจรส่วนรวมได้
ซึ่งในบางประเทศ แมวจรทุกตัวจากฝูงแมว (colony) ที่ได้รับการทำหมันและฉีดวัคซีนแล้วจะถูกขลิบปลายหูข้างหนึ่งไว้เป็นสัญลักษณ์ โดยหมู่แมวที่ได้รับการบริหารจัดการจากเจ้าหน้าที่อย่างเป็นระบบเหล่านี้จะได้รับการตรวจเช็คสุขภาพ รวมทั้งได้รับอาหารอย่างพอเพียงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม[7]
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า การจับ-ทำหมัน-ฉีดวัคซีน-ปล่อยคืน (Trap-Neuter-Vaccinate-Return หรือ TNVR) ไม่ใช่วิธีลดหรือควบคุมประชากรแมวจรที่ได้ผลเท่าใดนัก เนื่องมาจากอัตราการปฏิบัติงานจริงต่ำ (เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแมวจรโดยรวม), การติดตามตรวจเช็คทำได้ยากและไม่สม่ำเสมอ รวมถึงการย้ายเข้ามาใหม่ของแมวจรที่ยังไม่ได้รับการทำหมันและฉีดวัคซีน[8]
ผลต่อเรา
ในปี 2017 หญิงชาวญี่ปุ่นวัย 50 เสียชีวิตใน 10 วันหลังจากล้มป่วยเพราะถูกแมวจรที่มีเชื้อไวรัสกัด ซึ่งปกติแล้ว thrombocytopenia syndrome (SFTS) นี้มนุษย์จะติดจากเห็บที่เป็นพาหะเท่านั้น นี่จึงเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการบันทึกว่ามนุษย์ติดเชื้อนี้จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นอีกทอดหนึ่ง[9]
นอกจากปรสิตแมว Toxoplasma gondii ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis)[10] ซึ่งมีอันตรายเป็นพิเศษกับทารกในครรภ์มารดาและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องแล้ว ซึ่งแมวที่เลี้ยงปล่อยยังเป็นพาหะนำพาปัญหาเห็บ หมัด และโรคติดต่ออื่นๆ กลับมาที่บ้าน แต่การเลี้ยงแมวในระบบปิดนอกจากจะป้องกันปัญหาเหล่านี้แล้ว ยังช่วยการันตีว่าเราจะไม่ต้องเสียใจ เสียเงิน เสียเวลา เพราะแมวของเราจะไม่ไปประสบเหตุไม่คาดฝันนอกบ้านให้เราต้องช้ำใจ
ในสองสามปีที่ผ่านมานี้ โรคพิษสุนัขบ้ากลับมาระบาดเป็นหย่อมๆ บ่อยครั้ง โดยมีแมวจรเป็นหนึ่งในพาหะของเชื้อไวรัส rabies[11] (นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ค้างคาว วัว กระรอก กระแต มนุษย์ ฯลฯ ก็สามารถเป็นพาหะของเชื้อไวรัสนี้ได้เช่นกัน) จนเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2017 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศให้แมวเป็นสัตว์ควบคุมตามพระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ที่เจ้าของต้องพาไปฉีดวัคซีนเมื่อมีอายุครบ 2 เดือนขึ้นไป[12]
แต่อย่างไรก็ดี งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากสหรัฐอเมริกาในระหว่างปี 1997-2001 ได้สรุปผลว่า จากจำนวนสุนัขและแมวที่ติดเชื้อไวรัสจำนวน 264 ตัว และ 840 ตัวนั้น มีสุนัขติดเชื้อ 4.9% และแมวติดเชื้อ 2.6% ที่เคยมีประวัติฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน และในจำนวนนี้ มีสุนัข 2 ตัวและแมว 3 ตัวที่ได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดแล้วเสียด้วยซ้ำ (classified as currently vaccinated)[13] เพราะฉะนั้น ถึงฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่ควรเลี้ยงแมวและสุนัขแบบเปิด เพราะวัคซีนก็ใช่ว่าจะคุ้มกันโรคได้ 100% เสมอไป
ในท้ายสุดแล้ว การเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความรับผิดชอบ ทำวัคซีนป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงให้กับสัตว์เลี้ยง และจำกัดประชากรสัตว์จร คือสามข้อที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญในการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าและโรคอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด[14]
ผลต่อสิ่งแวดล้อม
แมวที่สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระหรือ free-roaming cats นั้นถือว่าเป็น cardinal sin ในกลุ่มคนที่รักและเข้าใจธรรมชาติเลยก็ว่าได้ (โดยเฉพาะในหมู่นักอนุรักษ์และคนดูนก ถ้าไปบอกว่าเลี้ยงแมวแบบปล่อยจะไม่มีใครคบ)
นักธรณีวิทยาชาวอเมริกันที่เคยพบระหว่างเดินทางในเม็กซิโกเล่าให้ฟังว่า ตัวเขาเอง ภรรยา และนักธรรมชาติวิทยา (naturalist) คนอื่นๆ ที่ทำงานด้วยกันต่างเคยผ่านหลักสูตรวิทยายุทธสิบแปดกระบวนท่า ‘ฆ่าแมวด้วยมือเปล่า’ มาแล้ว กล่าวคือบิดอย่างไรในกร๊อบเดียวให้แมวตายเร็วและสบายที่สุด
ฟังดูโหดร้าย แต่นอกจากมนุษย์แล้ว free-roaming cats คือภัยร้ายสิ่งแวดล้อมที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกจนติดอันดับท็อป 100 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่เลวร้ายที่สุด (invasive alien species)[15] ไม่แพ้หนอนตัวแบนนิวกินีแต่อย่างใด
ในสหรัฐอเมริกา นักวิจัยประมาณสถานการณ์ว่า free-roaming cats ฆ่านกป่าท้องถิ่นราว 1.3-4.0 พันล้านตัวต่อปี และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก 6.3-22.3 พันล้านตัวต่อปี (ยังไม่นับสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ขนาดเล็กอื่นๆ) มีข้อสันนิษฐานว่าพวกแมวคือสาเหตุการตายที่เป็นผลจากการกระทำหรือกิจกรรมของมนุษย์ (anthropogenic mortality) อันดับหนึ่งของนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในสหรัฐฯ เป็นตัวเลขประเมินที่สูงกว่า anthropogenic mortality ของนกจากการบินชนกระจก ยานพาหนะ และยาฆ่าแมลงเสียอีก[16]
ในพื้นที่เปราะบางทางชีวภาพ เช่น ตามเกาะที่เป็นแหล่งทำรังและวางไข่ของนกทะเลในรัฐฮาวายและทวีปออสเตรเลีย ฯลฯ free-roaming cats คือฆาตกรสังหารหมู่ที่ส่วนมากไม่ได้ฆ่าเพื่อเป็นอาหารเสียด้วยซ้ำ และยังเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคจากเมืองสู่ป่า และจากป่าสู่เมือง
ในรัฐฮาวาย ‘เมืองหลวงแห่งการสูญพันธุ์ของโลก’ (‘extinction capital of the world’, มากกว่า 90% ของชนิดพันธุ์ที่พบในหมู่เกาะขนาดเล็กแห่งนี้เป็นชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือ endemic species ท่ีไม่อาจพบได้ที่ไหนอีก และความหลากหลายทางชีวภาพนี้กำลังถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว) นอกจาก free-roaming cats จะเป็นตัวการล่าสังหารนกท้องถิ่นหายากไปเป็นจำนวนมากจนบางเกาะต้องจัดตั้งชุดเฉพาะกิจ Feral Cats Task Force ท่ีเป็นตัวแทนความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานด้านสิทธิสัตว์ และองค์กรอนุรักษ์ขึ้นมาเพื่อควบคุมประชากรแมวแล้ว[17] โรคติดเชื้อทอกโซพลาสโมซิสจากปรสิตในแมว Toxoplasma gondii ยังสามารถติดต่อสู่สัตว์พื้นเมืองหายากใกล้สูญพันธุ์และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ อีกาฮาวาย (Hawaiian crow หรือ ʻalalā, Corvus hawaiiensis)[18], ห่านฮาวาย (Hawaiian goose หรือ nēnē, Branta sandvicensis)[19], แมวน้ำมังค์ฮาวาย (Hawaiian Monk Seal, Neomonachus schauinslandi)[20] ฯลฯ จะต้องเผชิญในบ้านของพวกมันเอง
ปัญหาของการอนุรักษ์ที่ไปด้วยกันไม่ได้กับ free-roaming cats[21] ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียประกาศสงครามกับแมวในปี 2015[22] โดยแผนยุทธศาสตร์ห้าปีนั้นตั้งเป้าหมายที่จะกำจัดแมวจรให้ได้อย่างน้อย 2 ล้านตัวภายในปี 2020 รวมไปถึงสร้างแนวป้องกันแมวล้อมรอบพื้นที่เปราะบาง และมีการอนุมัติงบประมาณสนับสนุนมากกว่า 200 ล้านบาท (US$6.6 million) แลกกับการอนุรักษ์สัตว์ท้องถิ่น 124 ชนิด[23]
เคล็ดวิชาการุณยฆาตมือเปล่าที่คุณนักธรณีวิทยาเล่าให้ฟัง ก็มีไว้เพื่อจัดการแมวจรตามพื้นที่เสี่ยงในกรณีที่ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนั่นเอง ก็นับเป็นแง่ไม่งามของการทำงานในฐานะนักธรรมชาติวิทยาในต่างประเทศประการหนึ่ง แต่คุณนักธรณีวิทยาก็ได้ย้ำว่าทำเมื่อไม่มีทางเลือกแล้วเท่านั้น ไม่ใช่ฆ่าสุ่มสี่สุ่มห้า และไม่ใช่การตัดสินใจที่ใครจะรู้สึกดีได้
อย่างไรก็ตาม การทำสงครามกับแมวจร (culling of feral cats) นั้นมีประสิทธิผลกับพื้นที่ที่จำกัดอย่างตามเกาะแก่งเล็กๆ[24] แต่ในพื้นเปิดขนาดใหญ่ เช่น บนเกาะแทสเมเนียของออสเตรเลียนั้น ผลที่ได้กลับเป็นตรงกันข้าม
ในช่วงแรกของการ culling จำนวนประชากรแมวจรลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ภายในหนึ่งปี ประชากรแมวจรในพื้นที่นั้นกลับเพิ่มจำนวนมากกว่าเดิมเสียอีก คุณ Billie Lazenby และทีมงานวิจัยมีข้อสันนิษฐานว่าเมื่อแมวเจ้าถิ่นใหญ่ถูกนำออกไป แมวใหม่ในลำดับชั้นรองๆ จำนวนหนึ่งจึงสามารถย้ายเข้ามาแทนที่ อย่างที่เรียกกันว่า ‘vacuum effect’ และเสนอว่าการ culling นั้นจะมีประสิทธิภาพเมื่อทำต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ประชากรแมวจรฟื้นฟูตัวเองได้ ควบคู่ไปกับการลดผลกระทบจาก free-roaming cats ที่มีต่อสัตว์ท้องถิ่น เช่น การล้อมรั้วป้องกันแมวในพื้นที่เปราะบาง เป็นต้น[25] แน่นอนว่ามีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดจำนวนและผลกระทบจากแมวที่เลี้ยงแบบปล่อยอีกด้วย[26]
แต่ไม่ต้องถึงกับอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์มากติดอันดับโลกอย่างรัฐฮาวาย การปล่อยให้ free-roaming cats ได้แสดงความเป็นนักล่าตามใจชอบแม้แต่ในเขตรั้วบ้านและพื้นที่สวนของเราเองก็นับว่าทำอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ทาสแมวแบบเลี้ยงปล่อยบางคนอาจเคยได้ของฝากเป็นซากสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น นก งู กิ้งก่า และแมลงต่างๆ มาบ้าง แต่งานวิจัยของ Kerrie Anne Loyd จาก University of Georgia พบว่า ซากสัตว์ที่แมวเลี้ยงปล่อยฆ่าและนำกลับบ้านเป็นเพียงร้อยละ 23 จากทั้งหมดเท่านั้น[27] และอีกงานวิจัยของ Dr. Philip Roetman จาก University of South Australia ระบุว่า มากกว่า 90% ของแมวเลี้ยงปล่อยนั้นออกเตร็ดเตร่ไปไกลเกินกว่าที่เจ้าของแมวจะตระหนัก[28]
หลายคนอาจมีมุมมองว่า การเลี้ยงแมวแบบปล่อยเป็นการให้แมวได้ใช้ชีวิตแบบวิถีธรรมชาติสโลว์ไลฟ์ แต่ในความเป็นจริง แมวก็คือเอเลี่ยนสปีชีส์นักตบที่ออกไปหาความเพลิดเพลินสนองสัญชาตญาณ ก่อนจะกลับมากินอาหารมื้อหลักที่บ้านแบบไม่ได้แคร์ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ท้องถิ่นใดๆ ซึ่งการเลี้ยงแมวสักตัวให้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องลงทุนพอสมควร เมื่อตัดสินใจเลี้ยงโดยไม่พร้อม ก็จะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ที่จะตกกับแมวในท้ายสุด
สิ่งที่ดีที่สุดคือการจำกัดพื้นที่เลี้ยงแมวในระบบปิด ใส่ปลอกคอกับสายจูงและมีคนเฝ้าดูเมื่อให้แมวออกไปเล่นข้างนอกตัวบ้าน การใส่สายจูงยังช่วยป้องกันแมวของเราตกใจจากเหตุไม่คาดฝันแล้วเตลิดหนีหรือตกจากตึกสูง (กรณีสวนลอยตามคอนโด) ได้ด้วย ปลอกคอที่ใส่ให้แมวควรมีตัวล็อกนิรภัยที่สามารถหลุดได้เมื่อไปเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ และอย่าลืม pet tag กับ microchip ที่ระบุชื่อแมว ชื่อเจ้าของ รวมทั้งเบอร์โทรศัพท์สำหรับติดต่อกลับ
สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เรื่องแมว vs. สิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ทาง BBC เคยจัดทำสารคดีชุด “Secret life of the cat: What do our feline companions get up to?” ที่ติดตามแมวบ้านเลี้ยงปล่อยด้วย GPS และกล้องติดตามตัวขนาดจิ๋ว ซึ่งรายละเอียดดูได้ที่ www.bbc.com
Disclaimer: คนเขียนบทความนี้เป็นทาสแมว มีนายเป็นแมวเปอร์เซียหน้าตุ๊กตาเพศเมียที่ทำหมันแล้วอยู่ที่บ้านหนึ่งท่าน และเลี้ยงระบบปิด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[4] petmd.com/cat/care/evr_ct_cat-facts-how-long-are-cats-in-heat
[10] sc.mahidol.ac.th/usr/?p=178
[13] doi.org/10.2460/javma.235.6.691
[17] abcbirds.org/article/articleendangered-hawaiian-gallinules-killed-feral-cats-kauai
[20] abcbirds.org/wp-content/uploads/2015/06/2013.10-NOAA-Hawaiian-monk-seals-and-toxo.pdf
[21]smh.com.au/technology/endangered-cape-york-alwal-olkola-struggle-to-rescue-goldenshouldered-parrots-20160915-grgqky.html
[23] smh.com.au/national/war-on-feral-cats-australia-aims-to-cull-2-million-20170214-gucp4o.html
[25] publish.csiro.au/wr/WR14030
[26] smh.com.au/national/nsw/councils-to-introduce-cat-curfews-to-limit-prowling-at-night-20170208-gu876v.html
[27] abcbirds.org/kittycam-reveals-high-levels-of-wildlife-being-killed-by-outdoor-cats/
[28] smh.com.au/national/nsw/councils-to-introduce-cat-curfews-to-limit-prowling-at-night-20170208-gu876v.html
Illustration by Waragorn Keeranan