1
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์อัตโนมัติ (automation) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ได้พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปทดลองใช้จริงอย่างได้ผลได้หลายอุตสาหกรรม
ตั้งแต่ Tesla ของ Elon Musk ที่สร้างรถยนต์ไร้คนขับ (driveless car) ที่ใช้ได้จริงบนท้องถนนและมีความปลอดภัยเหนือกว่ารถที่ขับโดยมนุษย์ Foxconn บริษัทสัญชาติไต้หวันผู้รับเหมาประกอบ iphone และโทรศัพท์ Samsung ก็เพิ่งจะนำเครื่องจักรอัตโนมัติมาใช้ในสายพานการผลิต หรือแม้แต่เจ้า ‘Little orange’ หุ่นยนต์ขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติที่เพิ่งถูกนำไปใช้ในโกดังสินค้าในประเทศจีน (ดูวิดีโอที่นี่)
เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ความต้องการใช้แรงงานที่เป็นมนุษย์ลดลงอย่างมหาศาล อย่างกรณีของ Foxconn การเอาหุ่นยนต์มาใช้ในสายพานการผลิตได้ลดจำนวนคนงานลงมากกว่าครึ่ง จากเดิมกว่า 110,000 คน เหลือเพียงประมาณ 50,000 คนเท่านั้น ส่วนการจินตนาการถึงโลกที่รถยนต์ส่วนใหญ่ไร้คนขับก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป รวมถึงโกดังสินค้าที่ต้องบริหารจัดการสินค้าหลายร้อยล้านชิ้น แต่ใช้พนักงานเพียงหยิบมือเดียวทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ก็เกิดขึ้นจริงแล้วที่ Amazon
ดังนั้นคำถามจึงไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมาทดแทนแรงงานมนุษย์หรือไม่ เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้ว
แต่สิ่งที่เราต้องถามคือว่า การทดแทนนี้รุนแรงแค่ไหน และเราต้องปรับตัวอย่างไร ทั้งในฐานะปัจเจกและในระดับสังคม เพื่อรองรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเหล่านี้
บริษัทที่ปรึกษา McKinsey ได้ออกรายงานเรื่อง A future that works: automation, employment, and productivity มาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยได้ประเมินงานต่างๆ กว่า 2,000 งานในกว่า 800 สายอาชีพว่ามีโอกาสที่จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มากน้อยแค่ไหน แถมยังทำการศึกษาเปรียบเทียบในกว่า 46 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
และผลที่ออกมา ก็ไม่น่าจะใช่ข่าวดีสำหรับแรงงานไทย
McKinsey วิเคราะห์ว่างานกว่า 55% ที่แรงงานไทยทำอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสที่จะถูกทดแทนได้ด้วยหุ่นยนต์ (มีแค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นที่แรงงานอาจถูกทดแทนได้มากกว่าที่ 56%) ถ้าลองเทียบเป็นจำนวนตำแหน่งงานที่ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานอยู่ทั้งหมดประมาณ 38 ล้านคน นั่นหมายความว่างานที่คนไทยจะโดนแย่งโดยเครื่องจักรจะเทียบได้กับตำแหน่งงานกว่า 21 ล้านตำแหน่ง
แรงงานในภาคอุตสาหกรรมยิ่งน่าห่วงเป็นพิเศษ ด้วยปัจจุบันส่วนใหญ่ทำงานที่ใช้ทักษะค่อนข้างต่ำ จึงทำให้มีโอกาสถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์ได้ง่าย ข้อมูลจากรายงานของ McKinsey ระบุว่างานในภาคอุตสาหกรรมของไทยกว่า 68% อาจถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ นั่นเทียบได้กับตำแหน่งงานกว่า 4 ล้านตำแหน่งที่จะหายไป
และงานที่น้อยลง ย่อมหมายถึงเงินในกระเป๋าที่น้อยลงด้วย
2
แต่ตลาดแรงงานไม่เคยหยุดนิ่ง
ถ้าประวัติศาสตร์จะบอกอะไรซักอย่างกับเราในเรื่องนี้ มันคงบอกกับเราว่า ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีขนานใหญ่ และทำให้เกิดสิ่งที่ John Maynard Keynes นักเศรษฐศาสตร์เจ้าสำนักเคนเซียนเรียกว่า ‘การตกงานจากเทคโนโลยี’ (technological unemployment) มนุษย์สามารถปรับตัวและหางานใหม่ๆ มาทำทดแทนได้เสมอ
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ ATM ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก เป็นที่คาดการณ์กันว่ามันจะมาทดแทนพนักงานหน้าเคาท์เตอร์ และทำให้คนในภาคการธนาคารตกงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การมี ATM ทำให้ต้นทุนในการเปิดสาขาใหม่ลดลงอย่างมาก เนื่องจากจำนวนพนักงานที่ต้องใช้ในแต่ละสาขาลดลง (เพราะงานบางอย่างถูกถ่ายโอนไปให้ตู้ ATM เช่นการฝาก-ถอน) ส่งผลให้ธนาคารสามารถเปิดสาขาในเพิ่มขึ้น ในสหรัฐฯ การนำ ATM มาใช้ทำให้ธนาคารในสหรัฐฯ เปิดสาขาเพิ่มขึ้นถึง 43% ในช่วงปี 1988-2004 ส่งผลให้โดยรวมแล้วการนำ ATM มาใช้ทำให้การจ้างงานในภาคธนาคารเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ลดลง
หรือแม้แต่การเกิดขึ้นของรถยนต์ ซึ่งทำให้คนที่ทำงานเกี่ยวกับรถม้า (ทั้งคนขี่รถม้า รวมไปถึงคนเก็บขี้ม้าในเมืองด้วย) หายไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ทั้งคนขับรถแท็กซี่ คนขับรถบรรทุก ไปจนถึงงานที่ให้บริการคนขับรถพวกนี้อีกที เช่น พนักงานบริการในโรงแรม หรือพนักงานในร้านอาหารระหว่างเมืองซึ่งเน้นให้บริการคนขับรถทางไกล
นั่นหมายความว่า ในอดีตที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีตามมาด้วยการเกิดขึ้นของงานขนิดใหม่ๆ เสมอ
สิ่งที่แตกต่างออกไปก็คือ การเปลี่ยนผ่านไปสู่งานชนิดใหม่ที่เกิดจากเทคโนโลยีในครั้งนี้ มีแนวโน้มจะราบรื่น ‘น้อยกว่า’ การเปลี่ยนผ่านในครั้งก่อนๆ
Martin Ford ผู้เขียนหนังสือ Rise of the Robots ได้แสดงความเห็นเอาไว้ว่า ในสมัยก่อน แรงงานสามารถเปลี่ยนงานจากงานที่ใช้ทักษะน้อยงานหนึ่ง (เช่น การขี่รถม้า) ไปสู่อีกงานหนึ่งที่ก็ไม่ได้อาศัยทักษะมากไปกว่ากัน (เช่น การขับแท็กซี่) แต่ระลอกการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในปัจจุบัน แรงงานต้องย้ายจากงานที่ใช้ทักษะน้อย (เช่น การเป็นแรงงานในสายพานการผลิต) ไปสู่งานที่ต้องใช้ทักษะสูงกว่ามาก (เช่น การเป็นผู้ควบคุมคอมพิวเตอร์สั่งการเครื่องจักร)
นั่นหมายความว่าแรงงานจำนวนมากจะไม่สามารถย้ายงานได้ทันทีแบบที่เคยเป็นมา อาจตกงานเป็นเวลานาน รวมถึงความเสี่ยงที่จะร่วงหล่นไปสู่วงเวียนความยากจนด้วย
แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้น
เพราะในระดับสังคม เราสามารถช่วยกันประคับประคองให้การเปลี่ยนผ่านนี้ราบรื่นขึ้นได้
ในประเทศแถบนอร์ดิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดนมาร์กและเนเธอร์แลนด์ มีแนวคิดที่เรียกว่า ‘flexicurity’ ซึ่งมาจากคำว่า ‘flexible’ ที่แปลว่ายืดหยุ่น บวกกับคำว่า ‘security’ ซึ่งแปลว่าความมั่นคง/ปลอดภัย แนวคิดนี้อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า ถ้ารัฐสามารถการันตีได้ว่าประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย รวมถึงการศึกษาและการฝึกหัดทักษะใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ โดยไม่เกี่ยงว่าเขาจะมีงานทำหรือไม่ ประชาชนก็จะไม่กลัวการตกงานหรือเปลี่ยนงาน รวมถึงการต้องเว้นวรรคจากการทำงานเพื่อฝึกฝนทักษะใหม่ด้วย
เมื่อมีตาข่ายทางสังคม (social safety net) เช่นนี้รองรับ การเปลี่ยนผ่านไปสู่งานใหม่ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วเช่นปัจจุบันก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวนัก
3
แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าแรงงานไม่มีอำนาจต่อรองเพียงพอที่จะไปเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากรัฐแต่ต้น
และทางเดียวที่จะทำให้พวกเขามีพลังต่อรองมากพอเพื่อให้นโยบายเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็มีแต่ระบอบที่ทุกคนมีสิทธิส่งเสียงเท่ากัน รวมถึงสามารถรวมกลุ่มเรียกร้องได้อย่างเปิดเผยและถูกกฎหมาย
ผมกลัวแต่ว่าด้วยภาวะการเมืองไทยยุคนี้ สุดท้ายแรงงานบ้านเราก็คงค่อยๆ ทยอยกันตกงาน
อย่างไม่มีอำนาจต่อรอง
อย่างไม่มีสิทธิเรียกร้อง
อย่างที่ไม่มีแม้แต่หนทางให้ส่งเสียงความทุกข์ยากแม้เพียงกระบิออกมา
อ้างอิงข้อมูลจาก
1. รายงานของ McKinsey เรื่อง A future that works: automation, employment, and productivity ดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่ www.mckinsey.com
2. ดูรายละเอียดการวิเคราะห์ของ McKinsey เป็นรายประเทศ รวมถึงของประเทศไทยได้ที่ public.tableau.com
3. อ่านแนวคิดเรื่อง flexicurity เพิ่มเติมได้ที่ www.foreignaffairs.com