เราได้กล่าวถึงงานศิลปะแปลกๆ ที่ออกจะเข้าถึงและเข้าใจยากกันไปหลายครั้งแล้ว ตอนนี้เราเลยขอกล่าวถึงงานศิลปะที่เข้าถึงและเข้าใจง่ายอย่างงานศิลปะเหมือนจริงกันบ้าง แต่งานศิลปะเหมือนจริงที่เราจะกล่าวถึงก็ไม่ได้เป็นงานศิลปะเหมือนจริงแบบธรรมดาทั่วไป หากแต่เป็นงานศิลปะที่เรียกได้ว่า ‘โคตรเหมือนจริง’ เลยก็ว่าได้ โดยผลงานที่ว่านั้นเป็นของศิลปินผู้มีชื่อว่า รอน มิวอิค (Ron Mueck)
ศิลปินชาวออสเตรเลียผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมรูปคนสไตล์ไฮเปอร์เรียลลิสม์* ที่มีความเหมือนจริงจนเกินขีดสุด เขาใช้เวลานับร้อยชั่วโมงในการสร้างสรรค์ประติมากรรมที่เลียนแบบรายละเอียดร่างกายมนุษย์จนเหมือนจริงแทบจะไม่ผิดเพี้ยน ทั้งสีผิว ริ้วรอยยับย่น เส้นผมแต่ละเส้น ไปจนถึงรูขุมขน จนออกมาเป็นประติมากรรมรูปคนที่เหมือนจริงอย่างเหลือเชื่อ
ก่อนหน้าที่จะเป็นศิลปิน มิวอิคเริ่มต้นอาชีพการเป็นประติมากรของเขาในวงการบันเทิง โดยทำงานเป็นนักเชิดหุ่นกระบอก และนักทำหุ่นกระบอกรวมถึงสร้างโมเดลต่างๆ สำหรับหนังเด็กและรายการทีวี ซึ่งผลงานที่โดดเด่นของเขาในช่วงนั้นคือการทำหุ่นชักให้กับหนัง Labyrinth (1986) ของ จิม เฮนสัน (ที่มี เดวิด โบวี กับ เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี ตอนยังเอ๊าะๆ แสดงนำนั่นแหละ) แถมยังพากย์เสียงตัวละครหุ่นกระบอกในหนังชื่อ ลูโดอีกด้วย และในซีรีส์ของ จิม เฮนสัน อย่าง The Storyteller เขาก็ทั้งทำหุ่นกระบอกและพากย์เสียง
ต่อมา มิวอิคย้ายไปตั้งบริษัทของตัวเองในลอนดอน ที่ผลิตพร็อพและหุ่นยนต์แอนิเมโทรนิกส์สำหรับถ่ายหนังในอุตสาหกรรมโฆษณาที่มีรายละเอียดและความสมจริงสูง แม้ว่าโดยทั่วไป พร็อพและหุ่นยนต์เหล่านั้นจะถูกออกแบบให้ถูกถ่ายภาพจากมุมใดมุมหนึ่งโดยเฉพาะเท่านั้น (ซ่อนเครื่องยนต์กลไกอันยุ่งเหยิงเอาไว้อีกด้านที่กล้องมองไม่เห็น) แต่มิวอิคมีความพยายามอย่างมากในการผลิตหุ่นเหมือนจริงที่ดูสมบูรณ์แบบในทุกมุมมองขึ้นมา
ในปี 1996 เขาผันตัวมาทำงานศิลปะอย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นด้วยการช่วยงานของ พอลลา รีโก (Paula Rego) จิตรกรร่วมสมัยชื่อดังชาวโปรตุเกส ผู้เป็นแม่ยายของเขา ในการผลิตประติมากรรมรูปคนตัวเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่เธอแสดงในนิทรรศการเดี่ยวที่หอศิลป์ Hayward ในลอนดอน ต่อมารีโกก็แนะนำมิวอิคให้รู้จักกับนักสะสมงานศิลปะและนักโฆษณาผู้ทรงอิทธิพลอย่าง ชาร์ลส์ ซาทชี่ (Charles Saatchi) ที่ประทับใจผลงานของมิวอิคในทันทีทันใด ซาทชี่เริ่มสะสมงานของเขา รวมถึงว่าจ้างให้เขาผลิตผลงานศิลปะขึ้นมา
นั่นเป็นโอกาสที่นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานสร้างชื่อชิ้นแรกที่ร่วมแสดงในนิทรรศการ Sensation (1997) อันสุดอื้อฉาวร่วมกับศิลปินกลุ่ม YBAs หรือ Young British Artists (กลุ่มศิลปินรุ่นเยาว์ชาวอังกฤษ) ที่รอยัลอะคาเดมีออฟอาตส์ ในลอนดอน อย่าง Dead Dad (1996 – 1997)
ประติมากรรมซิลิโคนระบายด้วยสีอะคริลิค รูปศพชายชราเปลือยกายล่อนจ้อนร่างซีดเซียว และศพที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีแบบมาจากใครที่ไหนไกล หากแต่เป็นพ่อของมิวอิคเองนั่นแหละ ประติมากรรมชิ้นนี้ถูกทำออกมาในขนาดเล็กกว่าคนจริงๆ หากแต่มีรายละเอียดเหมือนที่จริงจนน่าขนลุก ซึ่งตัวมิวอิคกล่าวว่า เขาสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นจากจินตนาการและความทรงจำ โดยไม่ได้ดูแบบจากพ่อของเขาเลยแม้แต่น้อย แถมเขายังใช้เส้นผมจริงๆ ของตัวเอง มาทำเป็นผมของประติมากรรมชิ้นนี้ด้วย ผลงานประติมากรรมรูปร่างกายไร้ชีวิตของพ่อศิลปินชิ้นนี้ สร้างความตื่นตะลึง อึ้ง ทึ่ง เสียวให้กับผู้ชมไม่แพ้ผลงานฉาวๆ ช็อกๆ ชิ้นอื่นของศิลปินอังกฤษรุ่นเยาว์สุดแสบที่อยู่ในนิทรรศการนั้นเลย
มิวอิคใช้เวลายาวนาน บางครั้งมากกว่าปี ในการสร้างผลงานประติมากรรมที่จำลองรายละเอียดแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในร่างกายมนุษย์ออกมาอย่างสมจริง แต่เขามักจะทำประติมากรรมเหล่านั้นออกมาในสัดส่วนที่ผิดไปจากความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นในขนาดเล็กจิ๋ว หรือใหญ่โตมโหฬาร ซึ่งส่งผลให้ผู้ชมงานเกิดความรู้สึกอึดอัดขัดข้องยากจะอธิบาย โดยสีหน้าท่าทางของประติมากรรมรูปคนเหล่านั้นมักอยู่ในอารมณ์ครุ่นคิด ตกอยู่ในภวังค์ และแสดงออกถึงความคิดและความรู้สึกอันยากจะบรรยาย ราวกับต้องการให้ผู้ชมเป็นประจักษ์พยานของการบันทึกห้วงขณะอันเป็นส่วนตัวในชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นเอาไว้ก็ปาน
ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Boy (1999) ประติมากรรมรูปเด็กหนุ่มเปลือยท่อนบน นั่งยองๆ ขนาดมหึมา ความสูง 5 เมตร ที่จัดแสดงในมิลเลนเนียม โดม ในลอนดอน ก่อนนำไปจัดแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ครั้งที่ 49 ในปี 2001 ซึ่งตัวประติมากรรมก็สูงจนแทบจะชนเพดานห้องแสดงงานเลยทีเดียว
หรือในผลงานชิ้นเด่นๆ ของเขาอย่าง Mother and Child (2001), Pregnant woman (2002), Man in a Boat (2002) และ A Girl (2006-2007)) ที่ทำออกมาได้อย่างสมจริงจนน่าทึ่ง และเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก บางครั้งก็รุนแรงจนสั่นสะเทือนจิตใจผู้ชมอย่างมาก
ในปี 2017 มิวอิคแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ฮูสตัน, เท็กซัส, สหรัฐอเมริกา รวมถึงร่วมแสดงในนิทรรศการ SKIN ที่หอศิลป์ Ferens เมือง Hull ประเทศอังกฤษ ร่วมกับผลงานของศิลปินชั้นครูอย่าง ลูเซียน ฟรอยด์ (Lucien Freud), เอดูอาร์ มาเนต์ และศิลปินภาพถ่าย สเปนเซอร์ ทูนิค (Spencer Tunick)
ล่าสุดเขาแสดงผลงานศิลปะจัดวางขนาดมโหฬาร ในหอศิลป์แห่งชาติวิกตอเรีย (NGV) กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในชื่อ Mass (2017) ด้วยรูปแบบที่แปลกไปจากเดิม จากที่เคยจำลองเนื้อหนังร่างกายมนุษย์อย่างเหมือนจริงทุกรูขุมขน ในคราวนี้เขากลับจำลองสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาแทน
ผลงานประติมากรรมจัดวางรูปกะโหลกศีรษะมนุษย์ขนาดยักษ์จำนวน 100 หัว วางซ้อนเป็นกองพะเนินเทินทึก กระจัดกระจายไปทั่วห้องแสดงงาน ประติมากรรมหัวกะโหลกเหล่านี้ทำขึ้นจากไฟเบอร์กลาสและเรซิน โดยมีความสูงถึงสามฟุต บางจุดของห้องแสดงงานมีกะโหลกวางซ้อนกันถึงห้าหัว ซึ่งผู้ชมสามารถเข้าไปชมประติมากรรมกะโหลกแต่ละหัวได้อย่างใกล้ชิด
ท่ามกลางภาพจิตรกรรมยุคโบราณในกรอบทองที่แขวนบนผนังในหอศิลป์ ผลงานชุดนี้นำเสนอความเป็นจริงอันน่าหดหู่และหม่นมัวของความตาย อันเป็นสัจธรรมแห่งความเสื่อมสลายของสังขารที่มนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลีกหนีพ้น
ผลงานชุด Mass เป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Triennial ที่จัดขึ้นในทุกๆ สามปี ของหอศิลป์แห่งชาติวิกตอเรีย โดยมิวอิคเป็นหนึ่งในศิลปินนานาชาติจำนวน 100 คน ที่เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการนี้ ที่ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2017 ไปจนถึงวันที่ 18 เมษายน 2018 ที่ผ่านมานี่เอง
*ไฮเปอร์เรียลลิสม์ คือประเภทของงานจิตรกรรม, ประติมากรรม ที่จำลองความเหมือนของภาพถ่ายความละเอียดสูงด้วยการใช้มือคนสร้างสรรค์ขึ้นมา ศิลปะกระแสนี้เริ่มแพร่หลายในยุโรปและอเมริกาตั้งแต่ต้นปี 2000
มันพัฒนามาจากงานศิลปะ โฟโต้เรียลลิซึ่ม (Photorealism) ที่ใช้กล้องถ่ายรูปบันทึกข้อมูลที่จะนำเสนอ อัดออกมาเป็นรูป และผลิตซ้ำ/คัดลอกออกมาเป็นงานจิตรกรรมที่เหมือนกับภาพถ่ายจนแยกไม่ออก ศิลปะกระแสนี้พัฒนามาจากศิลปะแนวป๊อป (Pop Art) เริ่มแพร่หลายในอเมริกาตั้งแต่ปลายปี 1960 และต้นปี 1970
โฟโต้เรียลลิซึ่ม เป็นกระแสศิลปะที่สะท้อนทัศนคติด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ (ในสมัยนั้น) อย่างการถ่ายภาพ ที่เคยทำให้จิตรกรภาพเหมือนที่เคยเป็นผู้บันทึกและถ่ายทอดความจริงออกมาแต่เพียงผู้เดียวหมดความหมายลง ซึ่งศิลปินหรือจิตรกรโฟโต้เรียลลิซึ่มเองก็สามารถใช้สองมือ (หรือมือเดียว) ถ่ายทอดความ ‘เหมือนจริง’ ได้ไม่แพ้กล้องถ่ายรูปหรือภาพถ่าย (หรือในอีกแง่หนึ่ง กลายเป็นภาพถ่ายไปเลย) แต่ในขณะเดียวกัน หากไม่มีภาพถ่าย ก็ไม่มีงานศิลปะประเภทนี้ เพราะไม่รู้จะไปก็อปปี้อะไร จริงไหม?
ในขณะเดียวกัน ไฮเปอร์เรียลลิซึ่ม จะยกระดับการก๊อปปี้ความเหมือนจริงขึ้นไปอีกด้วยการใส่รายละเอียดที่ปกติตามนุษย์แทบจะสังเกตไม่เห็น (ถ้าไม่เพ่งเข้าไปมองใกล้ๆ หรือใช้แว่นขยายส่องดู) เช่น รูขุมขน ริ้วรอยเล็กๆ บนผิวหนังหรือรายละเอียดบนพื้นผิวของวัสดุต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือรายละเอียดที่ถูกถ่ายทอดออกมาโดยกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง เพื่อขับเน้นความเป็นจริงให้แจ่มชัดจนล้นเกิน
อนึ่ง ศิลปินไฮเปอร์เรียลลิซึ่มบางคนใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการช่วยสร้างผลงาน อาทิ การใช้สไลด์หรือโปรเจ็กเตอร์ฉายแล้ววาดตาม หรือใช้แม่พิมพ์หล่อจากคนจริงๆ แล้วขึ้นรูป ก็ไม่ถือเป็นการผิดกติกาแต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลจาก