ถึงแม้ว่า ‘งานพระเมรุมาศ’ ในพระราชพิธีบรมศพ จะเป็นการนำเอาปรัมปราคติในพระศาสนา ไม่ว่าจะพุทธ หรือจะพราหมณ์-ฮินดู ก็ดี เข้ามาเป็นแกนหลักในพระราชพิธี ดังจะเห็นได้จากการตั้งเขาพระสุเมรุ ซึ่งก็คือ ‘พระเมรุ’ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตามมติในพระศาสนา ขึ้นเพื่อให้เป็นที่สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้นก็ตาม แต่ประเพณีการสร้างพระเมรุมาศเพื่อถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์นั้น กลับไปมีในอินเดีย ที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดของเทพนิยายเหล่านี้
ผู้เชี่ยวชาญในศิลปะ และวัฒนธรรมอินเดียเป็นที่สุดอย่าง รศ.ดร. เชษฐ์ ติงสัญชลี แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้กล่าวไว้ในข้อเขียนที่ชื่อ ‘เมรุในศิลปะอินเดีย’ ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ ‘เสด็จสู่แดนสรวง : ศิลปะ ประเพณี และความเชื่อในงานพระบรมศพและพระเมรุมาศ’ เอาไว้ว่า
“…‘เมรุ” ในวัฒนธรรมอินเดีย มีความเกี่ยวข้องกับ ‘ภูเขา’ ‘สวรรค์’ อันเป็นที่ประทับของเทพเจ้า ‘เทวาลัย’ แต่กลับไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอาคารเผาศพ (crematorium) หรือที่ในวัฒนธรรมไทยปัจจุบันเรียกว่า ‘เมรุเผาศพ’ เลย เนื่องจากการเผาศพในวัฒนธรรมอินเดีย ย่อมเป็นการเผาศพกลางแจ้ง ไม่มีการเผาศพหลังคาคลุมแต่อย่างใด…
…แม้ว่าปัจจุบันอาจมีการสร้างที่เผาศพแบบที่มีหลังคาคลุมบ้างในประเทศอินเดีย แต่อาคารคลุมเหล่านั้นก็ไม่ได้เรียกว่า ‘เมรุ’ แต่อย่างใด หากสร้างขึ้นเพื่อป้องกันฝนในขณะที่เผาศพในฤดูฝนเท่านั้น…”
ดังนั้นงานพระเมรุ จึงไม่เคยมีที่อินเดีย ถึงแม้ว่าจะนำเอาเสื้อผ้าหน้าผมของความเป็นพุทธ หรือพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาปรุงแต่งเสียจนถ้วนทั่ว โดยเนื้อแท้แล้ว งานพระเมรุยังคงมีร่องรอยของคติความเชื่อที่เป็นพื้นเมืองของภูมิภาคอุษาคเนย์
ในจักรวรรดิของพวกขอม (ซึ่งก็คือ ‘เขมร’ หรือ ‘แขมร์’ ไม่ใช่ใครอื่น อย่างที่นักลัทธิคลั่งชาติพยายามบิดพลิ้ว) ชวา รวมไปถึงชาวจามในสมัยโบราณ มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่เพื่อเป็น ‘พระเมรุ’ ในความหมายของการเป็นศูนย์กลางจักรวาล เพื่อใช้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระบรมศพเหมือนกัน เพียงแต่ไม่ได้มีการถวายพระเพลิงบนยอดของพระเมรุมาศเหมือนอย่างในปัจจุบันก็เท่านั้น
ในกรณีของจักรวรรดิเมืองพระนคร (Angkor) ที่ตั้งของนครวัด และสืบทอดมาเป็นเมืองนครธมในภายหลัง กษัตริย์ของพวกขอมโบราณจะสร้างเทวาลัยขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพ ที่พระองค์จะกลับเข้าไปรวมกับเทพเจ้าพระองค์นั้น เมื่อสวรรคตไปแล้ว โดยมักจะตั้งชื่อรูปเคารพนั้นโดยการผสมพระนามของพระมหากษัตริย์เข้ากับพระนามของเทพเจ้านั่นเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งก็คือ ปราสาทพนมบาแค็ง ซึ่งตั้งอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของเมืองพระนคร ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1432-1443) ผู้ทรงสร้างเมืองพระนคร โดยตัวปราสาทนอกจากจะสร้างอยู่บนยอดเขาที่กลางเมืองแล้ว ยังมีฐานพีระมิดอันเป็นสัญลักษณ์ของภูเขา (พีระมิด ในที่นี้คือ step pyramid ที่มีฐานซ้อนกันเป็นชั้นๆ ไม่ใช่ พีระมิดอย่างอียิปต์) มีนัยสะท้อนถึงเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของจักรวาลตามคติความเชื่อในปรัมปราคติจากชมพูทวีป จึงอาจกล่าวได้ว่า เมืองพระนครเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ที่มีปราสาทพนมบาแค็งเป็นเขาพระสุเมรุจำลอง
ประเพณีดังกล่าวยังถูกผลิตซ้ำต่อมาเรื่อยๆ ด้วยการสร้างปราสาทขนาดใหญ่บนฐานพีระมิดโดยพระมหากษัตริย์แห่งเมืองพระนคร อีกหลายปราสาท ซึ่งก็รวมถึงปราสาทที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่าง นครวัด ด้วย
คติดังกล่าวยังซ้อนทับอยู่กับเขาไกรลาศ ที่ประทับของพระอิศวร (หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า พระศิวะ) ซึ่งจำลองแทนด้วย ‘ศิวลึงค์’ อันเป็นรูปเคารพประธานของปราสาทแห่งนี้
(ในศิลาจารึกของพวกขอม มีการเรียกชื่อ ‘เขาไกรลาศ’ ว่า ‘มเหนทรบรรพต’ ซึ่งแปลตรงตัวว่า ‘ผาหลวง’ หรือ ‘เขาหลวง’ ซึ่งก็ย่อมหมายถึง เขาลูกที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลคือ ‘เขาพระสุเมรุ’ นั่นเอง แต่ธรรมเนียมการยกย่องเขาไกรลาศ อย่างทับซ้อนกับเขาพระสุเมรุอย่างนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้นจักรวรรดิของพวกขอมเท่านั้น แต่มีมาก่อนในปกรณัมทางตอนใต้ของอินเดีย ที่ผูกพันอยู่กับพวกขอมโบราณอย่างใกล้ชิด)
และก็เป็นรูปศิวลึงค์นี้เองที่ทำหน้าที่หลอมรวมกษัตริย์ผู้สร้าง คือพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 เข้ากับพระอิศวร หลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว พระนามของศิวลึงค์องค์นี้คือ ‘ยโศธเรศวร’ ตามพระนามของพระมหากษัตริย์ผู้สถาปนาศิวลึงค์ กับพระอิศวร
ศิวลึงค์องค์นี้ยังถูกสถาปนาเป็น ‘เทวราชา’ หรือ ‘กมรเตง ชคต ราชะ’ ตามศัพท์เขมรโบราณ ซึ่งหมายถึง ‘ราชาของหมู่เทพเจ้าทั้งหลาย’ ซึ่งหมายความว่า เมื่อพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 สวรรคตแล้ว จะไปรวมเข้ากับพระอิศวร ในฐานะที่เป็นราชาของหมู่เทพเจ้าอีกด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ ปราสาทเหล่านี้คือสถานที่ ที่ใช้สำหรับให้พระมหากษัตริย์ทรงกลับเข้าไปรวมเข้ากับเทพเจ้าที่พระองค์เคารพศรัทธา หลังจากที่เสด็จสวรรคตไปแล้วนั่นเอง
และการหลอมรวมตัวเองเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือบรรดาเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่อย่างนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่มีมาก่อนในวัฒนธรรมแม่แบบของพราหมณ์ในอินเดีย แต่เป็นคติพื้นเมืองอุษาคเนย์ ที่พบได้ทั้งในอารยธรรมขอม จาม ชวา และแม้กระทั่งในไทย ตัวอย่างที่ชัดๆ ก็อยู่ในงานพระเมรุมาศนี่แหละครับ
ถูกต้องแล้วนะครับ ในอินเดียไม่มีธรรมเนียมความเชื่อในทำนองที่ว่า กษัตริย์จะกลับไปรวมเข้ากับเทพเจ้า เมื่อพระองค์สวรรคต ก็อาจจะเสด็จไปเกิดเป็นเทวดาอีกองค์หนึ่งบนสรวงสวรรค์ แต่ไม่ใช่ไปรวมเข้ากับพระอิศวร หรือพระนารายณ์แน่
ในตำราของพวกพราหมณ์ มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นชนในวรรณะใดก็ตาม จะกลับเข้าไปรวมเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกับเทพเจ้าได้ก็ต่อเมื่อบรรลุ ‘โมกษะ’ (คลับคล้าย แต่ก็ต่างกันในรายละเอียดกับ นิพพาน ในศาสนาพุทธ) จึงจะได้กลับไปรวมเข้ากับ ‘ปรมาตมัน’ หรือ ‘พรหมัน’ ซึ่งก็คือ ‘พรหม’ นั่นเอง
การกลับไปรวมเข้ากับเทพเจ้าหรือความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ของกษัตริย์ในอุษาคเนย์จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนำเอาปกรณัมปรัมปราของพราหมณ์ หรือพุทธ มาสวมทับเข้ากับธรรมเนียมความเชื่อพื้นเมืองแต่เดิมที่ว่า กษัตริย์จะกลับไปเข้ากับพลังความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบรุษ และจะคอยปกปักรักษาผู้คนที่ยังมีชีวิตอยู่
ความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษแต่ดั้งเดิม จึงถูกสวมทับภายใต้หน้ากากของความเป็นเทพเจ้าต่างๆ จากปรัมปราคติของอินเดียนั่นเอง
หลักฐานสำคัญอยู่ในหนังสือนครกฤตาคม ตำนานเก่าแก่ที่บันทึกเอาไว้ตั้งแต่เมื่อก่อน พ.ศ. 2000 ของชวา ทางฟากตะวันออกของเกาะใหญ่แห่งนี้ กล่าวถึงพิธีสารท ซึ่งก็คือพิธีไหว้บรรพบุรุษเอาไว้ว่า เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงกษัตริย์ผู้ทรงเสด็จสวรรคต แล้วรวมเข้ากับเทพเจ้าผ่านรูปเคารพภายในวัด (ชวาเรียก วัด หรือเทวาลัย และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทำนองนี้ว่า ‘จันทิ’ ซึ่งก็มีความหมายเกี่ยวข้องกับความตายอย่างชัดเจน) หลังจากที่สิ้นพระชนม์ไปแล้ว 12 ปี สำหรับให้เป็นหลักประกันว่าลูกหลาน (ซึ่งหมายถึงเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย รวมถึงกษัตริย์ผู้ครองราชย์ต่อมาด้วย) จะสมบูรณ์พูนสุข อย่างที่ไม่เคยปรากฏธรรมเนียมอย่างนี้ในอินเดีย
งานพระเมรุจึงเป็นร่องรอยของความสืบเนื่องของความเชื่อ และธรรมเนียมดั้งเดิมของอุษาคเนย์ ที่พระมหากษัตริย์จะกลับไปรวมเข้ากับความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนรูปไปจากบรรพบุรุษตามความหมายแต่ดั้งเดิม มาเป็นเทพเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ไปตามยุคสมัย ที่จะปกปักรักษาประเทศไว้ให้เจริญรุ่งเรือง