หลักฐานจากบันทึกการเดินทางเรื่อง ‘The Travels, Voyages and Adventures of Ferdinand Mendaz Pinto’ หรือที่มีแปลเป็นภาษาไทยในชื่อว่า ‘การท่องเที่ยว การเดินทาง การผจญภัย ของเฟอร์ดินานด์ เมนเดซ ปินโต’ ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2080-2101 ได้บันทึกถึงงานถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2077-2089) เอาไว้ ซึ่งก็ทำให้เราทราบว่า ในงานพระบรมศพแต่เดิม ไม่มี ‘พระเมรุมาศ’
(คำว่า ‘เมรุ’ ถ้าอยู่ท้ายคำอื่นหรืออยู่โดดๆ อ่านว่า ‘เมน’ ถ้าอยู่ต้นคำเพราะมีคำอื่นต่อท้าย อ่านว่า ‘เม-รุ’ เช่น พระเมรุมาศ ส่วนคำว่า ‘มาศ’ ในที่นี้เป็นสร้อยคำ แปลว่า ‘ทอง’)
การใช้ ‘พระเมรุ’ สำหรับถวายพระเพลิงพระบรมศพจึงเป็นธรรมเนียมที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างน้อยก็หลังสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2089
‘พระเมรุ’ เป็นคำเรียกอย่างย่อๆ มาจากคำเต็มคือ ‘เขาพระสุเมรุ’ ที่เป็นแกนกลางของจักรวาล ตามคติในศาสนาพุทธ
บนยอดของจอมเขาพระสุเมรุเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี ‘พระอินทร์’ เป็นจอมจักรพรรดิราช ปกครองอยู่ ผู้มีบุญมากเมื่อตายไปแล้วย่อมไปอุบัติบนสวรรค์แห่งนี้ แต่ผู้มีบุญมากยิ่งกว่าย่อมไปอุบัติเป็นตัวพระอินทร์ ผู้ปกครองสวรรค์นี่เอง
ก่อนจะมีธรรมเนียมการสร้าง ‘พระเมรุมาศ’ มีพิธีกรรมที่จำลอง ‘เขาพระสุเมรุ’ มาก่อน ตามข้อมูลในหนังสือเก่าอย่างกฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงเรียก ‘ชักนาคดึกดำบรรพ์’
แต่ ‘ดึกดำบรรพ์’ ในที่นี่ไม่ได้แปลว่า เก่าแก่ หรือโบร่ำโบราณ แต่เพี้ยนมาจากคำว่า ‘ตึ้กตะบัล’ ในภาษาเขมร
‘ตึ้ก’ แปลตรงตัวว่า ‘น้ำ’ ส่วน ‘ตะบัล’ แปลว่า ‘ตำ’ รวมความแปลว่า ‘ตำน้ำ’ การชักนาคดึกดำบรรพ์คือการ ‘ชักนาคตำน้ำ’ เป็นการจำลองเรื่องเล่าเทพปกรณ์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเรื่อง ‘การกวนเกษียรสมุทร’ ที่เทวดา และอสูรมาช่วยกันกวนทะเลน้ำนม (คือเกษียรสมุทร) เพื่อให้ได้ น้ำอมฤต หรือน้ำที่ดื่มแล้วไม่ตาย คือเป็นอมตะ
ในอินเดียเรื่องเล่าตอนนี้ พวกเทวดา และอสูรเอาตัวพญานาควาสุกรีแทนเชือก มาพันรอบ ‘เขามันทระ’ แล้วช่วยกันชักนาค เพื่อกวนน้ำนมในทะเล
แต่นิทานตอนเดียวกันในอุษาคเนย์นั้น ว่าตรงกันทั้งในตำราเรื่อง อาทิบรรพ ของเกาะชวา ที่แต่งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 1600 และในกฎมณเฑียรบาล ยุคต้นอยุธยาว่า ในการชักนาคของพวกเทวดา และอสูรนั้นมี ‘เขาพระสุเมรุ’ เป็นแกนกลาง (ตำราชวาเรียก เขาเมรุ) ไม่ใช่เขามันทระ อย่างในอินเดีย ดังนั้นเรื่องเล่าเดียวกัน ในราชสำนักกัมพูชาโบราณ สมัยที่สร้างนครวัด นครธม อันเป็นสะพานเชื่อมโยงวัฒนธรรมชวา เข้ามาสู่สยาม โดยเฉพาะในยุคอยุธยา ก็ควรเชื่อว่า ในการชักนาคดึกดำบรรพ์ อย่างเช่นภาพสลักรูปการกวนเกษียรสมุทรขนาดมหึมาที่ปราสาทนครวัดนั้น ต้องตั้งเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง (ก็คำว่า ชักนาคดึกดำบรรพ์ ยังมาจากภาษาเขมรเลยนี่ครับ) ด้วยเช่นกัน
พิธีชักนาคดำบรรพ์ ในกฎมณเฑียรบาลจึงเป็นพระราชพิธีจำลองการกวนเกษียรสมุทร มีการเกณฑ์เจ้าพนักงานฝ่ายต่างๆ มาแต่งกายเป็นยักษ์ เป็นเทวดา ตามเทพปกรณ์ เหมือนอย่างเป็นการแสดงละคร (คำว่า ‘ละคร’ นี้ชวาเรียก ‘เลกอง’ เขมรเรียก ‘ละโคน’ หรือ ‘ละโคนพระกรุณา’ ไทยเรียก ‘ละคร’ หรือ ‘โขน’ ทั้งหมดหมายถึง การแสดง) ดังนั้นจึงต้อง มีการตั้งเขาพระสุเมรุ และมีนาคสำหรับให้ตัวละครชัก เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘น้ำอมฤต’ ที่กษัตริย์ผู้ทรงประกอบพิธีนั้นจะเสวยเพื่อเป็นอมตะ พร้อมกับที่ประทับเป็นผู้ปกครองเหนือเหล่าเทวดาทั้งหลาย ในฐานะของ ‘พระอินทร์’ พระราชพิธีนี้จึงรู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งด้วยว่า ‘อินทราภิเษก’
แต่ ‘เขาพระสุเมรุ’ ในพิธี ‘ชักนาคดึกดำบรรพ์’ จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือน ‘พระเมรุมาศ’ หรือเปล่า? เรื่องนี้ดูเหมือนจะตอบได้ยาก เพราะในกฎมณเฑียรบาล ไม่ได้พรรณนาถึงรูปร่างหน้าตา เพียงแค่บอกว่า “ตั้งเขาพระสุเมร์สูงเส้น 5 วาไว้กลางสนามนั้น” แล้วตบแต่งโดยรอบตามคติจักรวาลในเทพปกรณ์เพียงเท่านั้น
ผู้รู้ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีรุ่นใหญ่อย่าง คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เพิ่งจะชี้ให้ผมเห็นถึงประเด็นสำคัญเกี่ยวกับรอยต่อของประเด็นนี้ไปที่ ‘พิธีลบศักราช’ ของพระเจ้าปราสาท (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2172-2199)
เรื่องของเรื่องก็คือ ในสมัยของพระเจ้าปราสาททองครองราชย์นั้น ตรงกับช่วงที่จุลศักราชจะล่วงเข้าสู่ จ.ศ. 1000 ซึ่งมีคำนายเก่าแก่ไปในทางอัปมงคลพอดี พระองค์จึงโปรดให้มีพระราชพิธีลบศักราชนี้ขี้น
แต่ใครที่ไหนจะสามารถลบศักราช หรือละเมิดกฎของกาลเวลากันได้ล่ะครับ? นอกเหนือจากคนผู้นั้นจะทรงไว้ซึ่งมหิทธานุภาพที่สุดในจักรวาลนี้ และในศาสนาพุทธแล้ว ใครคนนั้นก็คือ ‘พระพุทธเจ้า’
ถึงแม้ ‘พระเจ้าปราสาททอง’ จะไม่ใช่ ‘พระพุทธเจ้า’ แต่ในทางปรัมปราคติแล้วก็ทรงมีฐานะที่ใกล้เคียงอยู่มากทีเดียว เพราะในพุทธศาสนาเชื่อว่า ผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาเพียงพอที่จะตรัสรู้ได้นั้น สามารถเลือกได้ว่าจะเป็น ‘พระพุทธเจ้า’ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในทางธรรม หรือ ‘พระจักรพรรดิราช’ ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในทางโลก และกษัตริย์ในสมัยอยุธยาก็มีพระราชพิธีที่จะสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระจักรพรรดิราชได้ผ่านทาง พระพิธีอินทราภิเษก หรือชักนาคดึกดำบรรพ์นี่แหละ
ข้อความใน ‘ฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง’ แสดงให้เห็นว่า พิธีลบศักราชนั้น ก็คือการสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นองค์พระจักรพรรดิราช ด้วยการอินทราภิเษก แล้วลบศักราชไปในคราวเดียวกัน ดังความในตอนท้ายพระราชพิธีที่ว่า
“เถลิงศกขึ้นวารจันทา เสด็จการอินทรา-
ภิเษกเจ้าจอมกษัตริย์”
จากข้อความข้างต้นจะเห็นได้ว่า ‘พิธีลบศักราช’ ของพระเจ้าปราสาททองนั้นก็คือ ‘พระราชพิธีอินทราภิเษก’ นั่นเอง
ถึงแม้ว่าพระราชพิธีอินทราภิเษกของพระเจ้าปราสาททอง ตามที่ฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ ข้างต้นได้ให้รายละเอียดไว้จะไม่มีการชักนาคดึกดำบรรพ์เลยก็ตาม แต่ก็มีหลักใหญ่ใจความสำคัญคือการตั้งเขาพระสุเมรุ อันเป็นแกนกลางของจักรวาล และเป็นที่ประทับพระอินทร์ในฐานะของราชาแห่งเทวดาทั้งหลาย บนยอดเขาพระสุเมรุแห่งนั้น
ประเด็นสำคัญของการอินทราภิเษกเปลี่ยนจากการชักนาคเพื่อให้ได้น้ำอมฤต มาเป็นการที่พระองค์เสด็จขึ้นไปกระทำพิธีบน ‘พระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์’ (ในฉันท์สรรเสริญพระเกียรติฯ เรียก จักรพรรดิ์ไพชยนต์) ซึ่งเป็นชื่อที่ประทับของพระอินทร์บนสวรรค์บนยอดเขาพระสุเมรุ (ชื่อพระที่นั่งองค์นี้ถูกเปลี่ยนมาจากชื่อเดิมว่า ‘พระที่นั่งศิริยโสธรมหาพิมานบรรยงก์’ เมื่อราว พ.ศ. 2175 คือก่อนหน้าที่จะทำพิธีลบศักราช 6 ปี) มาเป็นการตบแต่ง ‘เทวมณเฑียร’ คือเขาพระสุเมรุ เพื่อใช้เสด็จขึ้นไปกระทำการ ‘ลบศักราช’ บนนั้นแทน
ดังนั้นอะไรที่อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์ จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าตัวเขาพระสุเมรุที่ใช้กวนน้ำอมฤตในพิธีมาก่อน
เราไม่มีหลักฐานเอกสารที่ยืนยันได้ว่ามีการทำพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ หรือแม้กระทั่งการทำพระราชพิธีอินทราภิเษกด้วยการตบแต่งเทวมณเฑียรอีกเลยในช่วงหลังจากนั้น (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทำอีก เพียงแต่ไม่มีบันทึกไว้พอจะให้อ้างถึงได้) สิ่งเดียวที่ยังมีการจำลองเขาพระสุเมรุเหลืออยู่ก็คือ ‘งานพระเมรุ’ ซึ่งก็คือการถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือพระศพเจ้านายชั้นสูงบนที่ประทับของพระอินทร์เหมือนกัน
จนอาจจะกล่าวได้ว่า ‘งานพระเมรุมาศ’ นี่แหละที่เป็นร่องรอยสำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมการประกาศพระองค์เป็น ‘พระจักรพรรดิราช’ ในพระราชพิธีอินทราภิเษกที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปจากเดิม