‘รักพี่จงหนีพ่อ’ เป็นเพลงที่ยงยุทธ เชี่ยวชาญชัยขับร้อง ส่วนผ่องศรี วรนุชเอื้อนน้ำเสียงออกมาเป็นเพลง ‘รักน้องต้องหนีแม่’ แต่ที่ผมจะบอกเล่าต่อไปนี้ ไม่ปรากฏว่าเด็กหญิงเธอมีพ่อ เพราะอยู่บ้านกับแม่ พร้อมทั้งหนีตามผู้ชายไปเสียจากแม่ และบางที ถ้าผู้ชายคนนั้นถูกจับได้ ก็อาจเข้าทำนองเพลงศรเพชร ศรสุพรรณ “ไอ้หวังตายแน่ ตายแน่ไอ้หวัง ไอ้หวังตายแน่ ตายแน่ไอ้หวัง…”
ผมคงเพ้อหนักในอารมณ์คนไทยหัวใจลูกทุ่ง ขณะเขียนสิ่งที่ทุกท่านกำลังจะได้อ่าน มัวช้าทำไมกันล่ะ วาร์ปไปทันทีเลยสู่ทศวรรษ 2470
เด็กหญิงกิมเองผ่านร้อนผ่านหนาวมาเพียงแค่ 13 ขวบปี เล่าเรียนในโรงเรียนการฝีมือซิงเกอร์ตลาดน้อย เมื่อวันอังคารที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2474 (เทียบกับการนับศักราชปัจจุบันย่อมตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พุทธศักราช 2475) เธอตัดสินใจหนีตามหะยีหวัง ชายหนุ่มอายุ 32 ปี เป็นแขกมลายูในบังคับอังกฤษ ซึ่งน่าจะเคยไปประกอบพิธีฮัจญ์ (Haj) ณ นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบียมาก่อน เพราะถูกเรียกขาน ‘หะยี’
ถิ่นฐานบ้านเรือนของหะยีหวังตั้งอยู่แวถตำบลมหานาค หาเลี้ยงชีพในฐานะลูกจ้างขับรถยนต์ของนางชุนไน้ ผู้พำนักบ้านเลขที่ 1241 ก. ตรอกวัดบรมนิวาส นางชุนไน้มิใช่ใครอื่นที่ไหนหรอก ก็มีลูกสาวชื่อว่ากิมเองนั่นล่ะ
การหนีแม่ไปกับผู้ชายนั้น กิมเองหาได้ออกจากบ้านมือเปล่า เธอยังลักทองทองรูปพรรณและเงินประมาณ 8,000 บาทพกติดตัว (โอ้โห! แปดพันบาทยุคสมัยนั้นมิใช่เงินจำนวนน้อยๆ เชียวนะครับ) พอนางชุนไน้ทราบเรื่องก็เร่งรีบไปแจ้งความไว้ที่โรงพักปทุมวัน ขึ้นชื่อว่าแม่ ถึงจะโกรธกริ้วลูกสาวตนมากมายปานใด ความรักและผูกพันใช่จะตัดให้ขาดเลย ชับ ชับ ชับ ง่ายดายเหมือนอย่างเพลงเจมส์ เรืองศักดิ์ นางชุนไน้เพียรติดตามเด็กหญิงกิมเองหลายแหล่งแห่งหนเพื่อจะรับตัวกลับมาเลี้ยงดูต่อไป หากช่างน่าเศร้าที่ไม่เคยพบเจอสักครา
กาลเวลาปลิดปลิวไปสามปีกว่า ล่วงผ่านเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช 2475 กระทั่งราวๆ ปลายเดือนพฤษภาคมเรื่อยมาถึงกลางเดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2478 นางชุนไน้จึงทราบข่าวคราวจากคนรู้จักกันว่าได้พบกิมเองเป็นนางเต้นรำอยู่ที่อีโปห์ (Ipoh) ในสหรัฐมลายู ซึ่งขณะนั้นเธอมิแคล้วโตเต็มสาวอายุย่าง 17 ปี
สายตาและทัศนคติของนางชุนไน้มองว่า การประกอบอาชีพนางเต้นรำได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่ครอบครัวและประเทศสยาม มิหนำซ้ำ ยังเชื่อมั่นอย่างแน่นหนักอีกว่าหะยีหวังต้องทอดทิ้งกิมเองไปแล้วแน่ๆ เธอเลยตกระกำลำบากจนมาทำงานที่ไม่ดีไม่งาม ครับ ค่านิยมยุคนั้น พวกเต้นกินรำกินมักถูกจัดวางในสายตาหมื่นแคลนมากกว่าความเป็นศิลปิน ด้วยเหตุนี้ นางชุนไน้จึงเขียนจดหมายถึงรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวลานั้นคือนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือนำตัวกิมเองกลับคืนมาบ้านเกิดเมืองนอน ดังเนื้อความจดหมายตอนหนึ่งว่า
“ฉะนั้นดิฉันขอกราบเท้าได้โปรดสั่งให้กงสุลสยาม ณ เมืองสิงคโปร์ ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสหรัฐมลายู เพื่อจัดการส่งตัวนางสาวกิมเอง บุตรีของดิฉันกลับคืนมากรุงเทพฯ ดิฉันยินดีจะใช้ค่าพาหนะเดินทางและค่าใดๆ ให้ทั้งสิ้น ในเมื่อได้ตัวนางสาวกิมเอง…”
รอคอยมาจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน นางชุนไน้ก็ได้รับตอบกลับจากกระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังกงสุลสยาม ณ สิงคโปร์ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองอิโปห์ช่วยตามสืบสวน จนในที่สุดจึงพบเบาะแสว่านางสาวกิมเองที่คณะละคอนไทยชื่อ ‘นารี ไซแอมมีส โอเปอรา’ (Naree Siamese Opera) ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ Wembley Park ณ เมืองปีนัง และนางสาวกิมเองก็พำนักอาศัยอยู่ในปีนังเช่นกัน นั่นคือที่ถนนแม็กกาซีน (Magazine Road) บ้านหลังหมายเลข 138
อย่างไรก็ดี ทางกงสุลสยาม ณ สิงคโปร์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าการที่จะให้กงสุลจัดการส่งตัวนางสาวกิมเองกลับกรุงเทพพระมหานครเมื่อพบตัวแล้วนั้นเป็นการยากที่จะปฎิบัติได้ เว้นเสียแต่หญิงสาวจะยินยอมกลับบ้านเกิดเมืองนอนเองด้วยความสมัครใจ ฉะนั้น ควรให้นางชุนไน้หรือผู้ปกครองผู้ใดผู้หนึ่งที่นางสาวกิมเองเคยรู้จักและมีแนวโน้มน่าจะเกรงใจเดินทางไปรับตัวเธอมาจากปีนังเสียเองเลย เพราะ ไหนๆ นางชุนไน้ก็ยินดีจะเสียค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อยู่แล้ว
น่าเสียดายที่ผมยังสืบค้นไม่กระจ่างว่า ท้ายสุดมีใครเดินทางไปตามนางสาวกิมเองถึงปีนังรึเปล่า และเธอได้หวนย้อนกลับมาพบหน้ามารดาคือนางชุนไน้ที่ประเทศสยามหรือไม่
การที่ผู้หญิงหนีตามผู้ชายไปเสียจากแม่พร้อมขโมยทรัพย์สินไปด้วยดังสาธยายมาทั้งหมด มองเผินๆ ประหนึ่งจะมาจากในนวนิยายประโลมโลก ทว่ากลับกลายเป็นสิ่งเกิดขึ้นจริงๆ ซ้ำบ่อยในอดีตของไทยช่วงทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 มิหนำซ้ำ ก็เกิดขึ้นเรื่อยมาแทบทุกยุคทุกสมัยตราบปัจจุบัน
อ้อ! ผมใคร่ขอย้อนไปยกกรณีตัวอย่างในราวๆ ปีพุทธศักราช 2465 เหตุเกิดที่พระนครศรีอยุธยา นายเภาผู้มีภรรยาแล้ว หากได้เจรจาเกี้ยวพาราสีนางเซาะซึ่งเป็นหญิงหม้ายและชักชวนเธอหนีตามเขาไปจากเสียแม่ของเธอ นางเซาะแอบคว้าสายสร้อยไปด้วย 4 สาย ตีราคาเป็นเงิน 400 บาท นายเภาออกอุบายให้แม่ชู้รักฝากสายสร้อยให้เขาเก็บรักษาไว้ ชายหญิงทั้งสองเสพสมร่วมอภิรมย์ด้วยกันราวๆ 14-15 วัน แม่ของนางเซาะก็มาตามตัวเธอกลับบ้านและเธอยินยอมโดยดี แต่ปัญหาอยู่ตรงที่นายเภาไม่ยอมคืนสายสร้อย 4 สายให้ อ้างว่านางเซาะไม่เคยฝากอะไรไว้กับเขาเลยสักนิด พอเข้าทำนองนี้ คดีความจึงปรากฏ เพราะทางฝ่ายหญิงไปฟ้องศาล
ประเด็นในการพิจารณาคดีอันพึงสนใจยิ่งคือข้อที่ว่า จากอุทาหรณ์นี้ นายเภากับนางเซาะได้เป็นผัวเมียกันตามกฎหมายบ้านเมืองแล้วหรือยัง?
ศาลชั้นแรกคือศาลจังหวัดตรวจดูสำนวนเสร็จสิ้น ได้พิจารณาว่านางเซาะในฐานะโจทก์เป็นภรรยาจำเลยอย่างนายเภาชอบด้วยกฎหมาย นางเซาะจึงฟ้องสามีตนมิได้ ให้ยกฟ้อง ทางฝ่ายหญิงยื่นอุทธรณ์
คราวนี้ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้นายเภาคืนทรัพย์ตามที่นางเซาะเรียก หรือถ้าคืนมิได้ก็ชดใช้เงินแทนจำนวน 400 บาท นั่นเพราะศาล “…ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทย์จำเลยไม่เปนผัวเมียกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เปนแต่เพียงโจทย์รักใคร่และติดตามจำเลยไปในฐานชู้สาว เพราะจำเลยไม่ได้ตั้งใจเลี้ยงโจทย์เปนภรรยา เที่ยวพาโจทย์ไปเร่ร่อนร่วมรสสังวาสตามที่ต่างๆ สุดแต่โอกาส แลฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่าโจทย์ได้ฝากทรัพย์ไว้แก่จำเลยแลยังไม่ได้คืนให้แก่โจทย์จริงฯ”
นายเภาไม่ยินดีต่อคำพิพากษา เขาจึงสู้คดีต่อจนถึงชั้นศาลฎีกา แต่ทางศาลสูงสุดก็พิจารณาว่าศาลอุทธรณ์ตัดสินมาถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะแม้นายเภาจะได้ร่วมประเวณีกับนางเซาะ แต่มิได้จัดพิธีแต่งงานสมรส และผู้ชายก็ไม่เลี้ยงดูผู้หญิงฉันภรรยา ดังนั้น จะเอ่ยอ้างความเป็นผัวเมียกันย่อมมิได้ นายเภาไม่เพียงแต่ต้องคืนทรัพย์สินให้นางเซาะเท่านั้น กลับต้องเสียค่าทนายความแทนฝ่ายหญิงด้วยอีก 50 บาท
โดยแก่นสาร เรื่องราวผู้หญิงหนีตามผู้ชายเรื่องความเป็นผัวเมียในโฉมหน้าประวัติศาสตร์ยังเต็มไปด้วยประเด็นอะไรต่อมิอะไรให้ศึกษาค้นคว้าและขบคิดอีกเยอะแยะ เท่าที่หยิบยกมานี้เพียงแค่น้ำจิ้ม โปรดรอคอยติดตามชิมรสชาติอื่นๆ ในคราวหลังกันอีกเถิดขอรับ นายท่าน!
อ้างอิงข้อมูลจาก
หจช. กต 38/57 นางชุนไน้ อังจันทร์เพ็ญ ขอความช่วยเหลือให้จัดการให้นางกิมเองซึ่งเป็นนักเต้นรำอยู่ที่
เมืองอิโปกลับกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2478)
ธร์๎มสาร เล่ม ๖ คำพิพากษาฎีกา พ.ศ. ๒๔๖๕. พระนคร: โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2465