ด้วยคุณูปการของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21 ทำให้ไม่ว่าจะทำอะไรที่ไหน กำลังโหนรถเมล์ วิ่งบนลู่วิ่งในยิม กินข้าว รีดผ้า นั่งเบ่งอยู่ในส้วม ก็ดูทีวีผ่านมือถือได้ แถมเรายังสามารถเสพละคร (แม้แต่บางเรื่องที่ผู้กำกับประกาศว่าสร้างเพื่อดูจอทีวีเท่านั้น) และรายการวาไรตี้ใหม่ๆ จากต่างประเทศที่ไม่เคยมีมาก่อนในประเทศได้อีก
และเมื่อ Line TV นำ RuPaul’s Drag Race มาฉายพร้อมแปลภาษาอังกฤษมีซับภาษาไทย ก็ทำให้รายการนี้เริ่มเป็นที่รู้จัก และถูกพูดถึงในโลกที่ใช้ภาษาไทยทันทีตั้งแต่ต้นปี 2017
และต้นปี 2018 นี้ก็ได้ฤกษ์ออกฉายรายการทีวี Drag Race Thailand แล้วนะคะซิส ซึ่งเป็นการซื้อลิขสิทธิ์มาจาก RuPaul’s โดยค่ายกันตนา
เหมือนกับที่ประเทศไทยเพิ่งรู้จัก ‘เกย์’ จากสื่อกระแสหลักเมื่อทศวรรษ 1950 ปี 2018 นี้ก็น่าจะเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะทำให้ไทยทำความเข้าใจ ‘แดร็ก’ จริงๆ จังสักที ต้อนรับรายการแข่งขันประกวดแดร็กแห่งแรกของไทย
แดร็กควีน หรือ Drag Queen คือใครก็ได้ที่เกิดมามีเพศสรีระชาย แล้วจำแลงตัวเองทั้งเนื้อตัวร่างกาย เสื้อผ้าหน้าผม อากัปกิริยา บุคลิกให้เป็นอีกร่างอวตารหนึ่งในเวอร์ชั่นผู้หญิง ดังนั้น ในบริบทของการแสดง แดร็กจึงไม่ใช่เพศสภาพเกย์กะเทย เพราะไม่ว่าเก้งกวางกะเทยหรือผู้ชาย ก็เป็น Drag Queen ได้
หากแต่แดร็กเป็นอะไรที่อลังการดาวล้านดวงกว่าจะมานิยามแค่ชายแต่งหญิง ตรงที่ขับเน้น ‘ความเป็นญิ๊งหญิง’ ด้วยการใส่ศิลปะและอาว็อง-การ์ด (avant-garde) ลงไป
ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมที่ต้องจัดเต็มอย่างวิจิตรบรรจง ดัดแปลงร่างกาย แต่งหน้า ใส่วิก วาดนม เสริมนมปลอม สะโพกปลอม แว็กซ์ขนไปจนถึงแต็บ เป็นงานฝีมือที่ต้องอาศัยทักษะ ความละเอียดละออ พิถีพิถัน และ performance อากัปกิริยาจริตจะก้านที่ต้องอาศัย inner และการฝึกซ้อม
drag queen บางนางก็ไม่นิยามว่าตัวเองเป็นคนข้ามเพศ (transsexual) เพราะไม่ต้องการแปลงเพศ ไม่ได้ต้องการเป็นผู้หญิงตลอดเวลา หรือเรียกตัวเองว่าเป็นคนแต่งกายข้ามเพศ (cross-dresser) เพราะไม่ได้แต่งชุดผู้หญิงเพื่อแสวงหาเรื่องเพศ สำหรับพวกเธอแล้ว ชีวิตบนเวทีใต้แสงสปอตไลต์คือพื้นที่โชว์ตัวในฐานะแดร็ก และกิจกรรมหลักบนเวทีก็คือลิปซิงก์ เอนเตอร์เทนผู้ชม ด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่เพียงจำลอง ‘ความเป็นหญิง’ เท่านั้น แต่ยังแสดงบทบาทสมมติเป็นศิลปินหญิงชื่อดัง เช่น Madonna, Britney Spears, Lada Gaga, Cher[1] ซึ่งแดร็กมักถูกนำไปรวมอยู่ในวัฒนธรรมเควียร์ และเป็นมิตรกับเก้งกวางกะเทย
ในโลกสากลมีเซเลบแดร็กควีนตัวแม่มากมาย เช่น Lady Bunny นักแสดง นางโชว์ ดีเจไนท์คลับ และ RuPaul เองก็เช่นกัน นางเป็นทั้งนักแสดง นักร้อง นักแต่งเพลง นางแบบ ที่ถือว่าเป็นแดร็กควีนผิวดำผู้ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน
อันที่จริง รายการ RuPaul’s เริ่ม Season 1 ในปี 2009 เป็นรายการเรียลลิตี้แข่งขันเฟ้นหาแดร็กควีนซูเปอร์สตาร์ ซึ่ง Drag Race เป็นการเล่นคำที่มาจากการแข่งขันขับรถ อย่าง auto racing สุดแสนจะแมน ให้มาเป็นการแข่งขันประชันความสาวความสวย ในการแข่งขันมีทั้งประกวดแฟชั่น, เดินแบบ ถ่ายโฆษณา, ลิปซิงก์, Snatch game เลียนแบบเซเลบดาราดัง, เล่นละคร, ร้องเพลงแทนลิปซิงก์เพื่อก้าวออกมาจากเงาคนอื่น, ตัดเย็บออกแบบเสื้อผ้า, แข่งขันจิกกัดด่าทอขำๆ รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกย์ กะเทย คนข้ามเพศ และแดร็กควีน ซึ่ง RuPaul เป็นทั้งเมนเทอร์และกรรมการตัดสิน
รายการ RuPaul’s Drag Race กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเควียร์และการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องสิทธิทางเพศ สิทธิสีผิว ชาติพันธุ์ เพราะในแต่ละ season มีผู้แข่งขันจำนวนมากที่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ เอเชีย แอฟริกัน ละติน ที่ต่างหอบวัฒนธรรมตนเองมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการแข่งขัน
แน่นอน RuPaul’s Drag Race จึงไม่ใช่รายการหัวโปกกะหล่งป๊ง สักแต่จะต้อน LGBT เข้าฉากให้พูดเจื้อยแจ้วอะไรก็ได้ระหว่างไฟส่องหน้า ขอแค่มีประชากรเกย์กะเทยยัดใส่ในรายการให้คนดูหัวเราะก็พอ หรือแค่ตั้งชื่อรายการให้มีความหลากหลายทางเพศ แล้วอ้างว่าเป็นความเท่าเทียมทางเพศ
ในการแข่งขัน ระหว่างแต่งหน้าทาปาก ติดขนตาปลอม ลบคิ้วจริงวาดคิ้วใหม่ ผู้เข้าแข่งขันไม่เพียงช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พวกนางยังทำให้ผู้ชมได้เรียนรู้ประเด็นสิทธิคนรักเพศเดียวกัน การสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศ และการยุติความรุนแรง เพราะพวกนางมักเมาท์มอยบอกเล่า ประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นอันเนื่องมากจากเพศสภาพเพศวิถี และชาติพันธุ์ตนเอง บางนางโดนใช้ความรุนแรง ถูกทำร้ายกลั่นแกล้งตั้งแต่ประถม เพียงเพราะเธอรู้ตัวว่าเป็นเกย์แล้วเปิดตัว แดร็กบางนางมีลูกมีครอบครัว ที่เข้าประกวดก็สู้เพื่อลูก บางนางหนีออกจากบ้าน บางนางอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV บางคนอยู่ในกลุ่มนักกิจกรรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนรักเพศเดียวกัน บางคนเป็นเกย์ที่ผูกพันกับพ่อมาก มีไปจนถึงผู้เข้าแข่งขันที่ที่บ้านยังไม่รู้เรื่องเพศสภาพเพศวิถี ซึ่งเธอเลือกใช้เวทีนี้เพื่อสร้างการยอมรับจากคนรอบข้าง ผู้เข้าแข่งขันมีกี่คน เรื่องราวก็ทวีมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้ขายดราม่า ประกวดความสามารถล้วนๆ
เท่ากับว่า RuPaul โกยเอาตัวตน ตำแหน่งแห่งที่ชายขอบ และวัฒนธรรมย่อยทั้งเกย์ กะเทย แดร็ก ชาวเอเชีย แอฟริกันอเมริกัน และลาตินอเมริกันต่างช่วงวัยในสหรัฐ ขึ้นมาจากพื้นที่ที่คนมองข้ามมาสู่รายการสื่อมวลชนกระแสหลัก โดยไม่เพียงเผยให้เห็นประสบการณ์ ตัวตนและวัฒนธรรมย่อย ทั้งท่าเต้น ภาษาสำนวน แสลง ศัพท์เฉพาะ มุกตลกจกเปรตทะลึ่งตึงตัง และเหน็บแนมจิกกัดโครงสร้างสังคมรักต่างเพศนิยมปิตาธิปไตย แต่ยังทำให้ชุมชนแดร็กควีนเข็มแข็งขึ้น เหมือนกับที่บรรดาแดร็กใช้ภาษาและมุกร่วมตามกันในรายการ ซึ่งก็เป็นการประกาศถึงชุมชนและการมีภคินีภาพ (sisterhood) เพราะมีรหัสภาษาเดียวกัน[2]
แม้รายการจะช่วยให้ทำให้โลกได้รู้จักและเข้าใจหัวอกแดร็กมากขึ้น ทว่าก็เป็นการแนะนำให้โลกรู้จักในมุมมองและการเลือกอย่างตั้งใจของผู้ผลิตรายการ
เพราะว่าเป็นเวทีคัดแดร็กตัวแม่ที่ปังที่สุดแห่งซีซัน ซึ่งมีกิจกรรมเงื่อนไขและการคัดลูกสาวออกแต่ละสัปดาห์โดยคุณแม่ RuPaul รายการจึงเป็นการแสวงหาความหมายของแดร็กควีนและสร้างมาตรฐานกลายๆ ว่า แดร็กทำอะไรได้บ้าง ใครสามารถเป็นแดร็กได้บ้าง คุณสมบัติแดร็กที่ดีไม่ดีเป็นอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่ากำลังเลือกสร้างความหมายให้กับแดร็กในแบบฉบับแม่ Ru โดยคัดบางคุณสมบัติออกไปและสลายความหลากหลายของบรรดาแดร็กควีน เหมือนกับที่แม่ Ru แสดงความกังวลใจใน episode หลังๆ ของ season 8 ว่า “Bob the Drag Queen” (เป็นชื่อในวงการ) แดร็กตัวแรงศักยภาพเจนจัดรอบด้าน แต่ดูเป็นสก๊อยไปหน่อย ยังไม่ gorgeous พอที่รับมง America’s Drag Superstar ทำให้ Bob ต้องลดทอนความเป็นตัวเองลง และในที่สุดนางก็เป็นผู้ชนะของซีซัน เช่นเดียวกับ Chi Chi DeVayne ในซีซันเดียวกัน ที่ถูกคณะกรรมการวิจารณ์ว่ามีรูปร่างเหมือนผู้ชายเกินไปบนรันเวย์ อันเนื่องมาจากนางไม่ยอมใส่นมปลอม ไม่เมคอัพให้เป็นร่องนม ไม่รัดสายคาดท้องเพื่อให้มีหุ่นชะนีๆ หรือ Ongina ในซีซันแรกที่ไม่ยอม ‘แต๊บ’ และดูเหมือนเด็กชายหัวโปกแต่งหญิงมากกว่าแดร็ก จนทำให้เธอถูกคัดออก
ดีที่ว่า RuPaul ยังไม่ได้ถึงขั้นชี้นำ สร้างบรรทัดฐานของการเป็น ‘กุลแดร็ก’ เหมือนที่เกิดการสร้าง ‘กุลเกย์’ ในไทย
ในทัศนคติของ Judith Butler แล้ว แดร็กจึงไม่ใช่การแสดงเพศสภาพตรงกันข้ามกับเพสสรีระ หากแต่เป็นโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จของร่างกายในทั้ง 3 มิติ ระหว่างเพศตามกายภาพ, อัตลักษณ์ทางเพศ และการแสดงทางเพศสภาพ ซึ่งแดร็กควีนได้เผยให้ 3 มิตินี้โดดเด่นแตกต่างกัน และปฏิบัติการให้ไม่ประสานกันก็ยังได้ จากที่ต้องเป็นเพศสภาพที่ชัดเจนแน่นิ่ง เพราะถูกควบคุมบังคับให้เป็นเพียงหน่วยเดียวโดยโครงสร้างรักต่างเพศ[3]
เหมือนกับที่ Jerick Hoffer หรือ Jinkx (ชื่อตอนที่แต่งแดร็ก) ผู้ชนะใน season 5 ที่นิยามตัวเองขณะยังไม่แต่งแดร็กว่าเป็น transgender หรือ nongendered แต่ในฐานะ Jinkx นางก็สามารถโชว์อัตลักษณ์ต่างๆ มากมายที่นางแสร้งเป็นได้อย่างเลิศเลอ การจะมาบอกว่า Jerick เป็นชายแต่งหญิงจึงเป็นการละเลยมองข้ามความซับซ้อนในปฏิบัติการของมิติทั้ง 3 และความลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ของบุคลิกอัตลักษณ์ปัจเจกบุคคล ดังนั้น เนื้อตัวร่างกายและการแสดงออกของ Jinkx จึงไม่ประสานกันตามความคาดหวังและมาตรฐานของความเป็นรักต่างเพศ เนื่องจากนางไม่ได้เดินตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ผู้ชายต้องมี ‘ความเป็นชาย’ ผู้หญิงต้องมี ‘ความเป็นหญิง’ พอๆ กับที่ไม่สามารถนิยามว่าเธอเป็นเพียงชายแต่งหญิงอย่างเดียว[4]
การแปลงโฉมของเหล่าแดร็กก็ทำให้ ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ ถูกตัดขาดจากเพศสรีระร่างกายหญิงชาย ขณะเดียวกันแดร็กก็ไม่ใช่การปลอมตัวแบบมธุสรปลอมตัวเป็นริต้า แต่เป็นการแสดงเพื่อนิยามความหมายใหม่ให้กับ ‘ความเป็นหญิง’ ที่ไม่ผูกติดกับเพศสรีระใดเพศสรีระหนึ่ง และการที่จะบอกว่าแดร็กบ่อนเซาะโครงสร้างรักต่างเพศก็ดูจะเป็นอะไรที่เกินไปหน่อย เพราะขณะที่บรรดาแดร็กกำลังโชว์บนเวทีอยูนั้น เป็นการแสดง ‘ในฐานะผู้หญิง’ ตามที่โครงสร้างรักต่างเพศได้กำหนดไว้ นางยังคงจำลองเลียนแบบ ‘ความเป็นหญิง’ ประกอบสร้างตัวตนของพวกเธอตามเพศสรีระของผู้หญิง เพศสภาพหญิง และการแสดงของเพศสภาพหญิง ตามที่โครงสร้างสังคมรักต่างเพศกำหนด แม้จะเบ่งขับ ‘ความเป็นเพศ’ ออกมาให้เวอร์วังกว่าเดิมจนเป็น hyper-feminine และ hyper-sexual[5] เพื่อล้อเลียนโครงสร้างของรักต่างเพศ แต่ก็เป็นการยืนยันอำนาจนำของโครงสร้างเดิม ไปพร้อมกับทำให้โครงสร้างนั้นไม่มั่นคง[6]
ผู้ชมจึงเห็นได้ว่า มาตรฐานอัตลักษณ์ทางเพศยังคงเป็นสาระสำคัญในการแข่งขันในรายการ[7]
งงเด้… งงในงง… ไม่ต้องงง เพราะไม่ว่าอย่างไร จะเป็นแดร็กหรือมีเพศสภาพใด การนิยามมันก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของตัวตนหรือตัวเราเอง
แม้ว่าแดร็กจะเป็นอีกเสี้ยวนึงของวัฒนธรรมเควียร์ ทว่าแดร็กเองก็ไม่ค่อยจะได้รับการพูดถึงหรือถูกมองเห็น ซ้ำบางครั้งยังตกเป็นเป้าโจมตีในสังคมเควียร์ วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผู้ผลิตซ้ำวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ และ Heteronormativity
แต่บางครั้งก็เป็นที่รักใคร่ปลาบปลื้ม เพราะสถานภาพของพวกนางที่ทั้งกำกวมและคลุมเครือ ทำให้ยากจะนิยามและทำความเข้าใจ พวกแดร็กจึงกลายเป็นชนกลุ่มน้อยของชนกลุ่มน้อยอีกที เปรียบเสมือนลูกเมียน้อยในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBTI แม้ว่าจะเป็นแถวหน้าของขบวนการเคลื่อนไหว เช่นแดร็กควีนอย่าง Marsha P. Johnson ที่เริ่มตอบโต้เจ้าหน้าตำรวจด้วยการปาหินเป็นคนแรก จากการปราบปรามใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนรักเพศเดียวกันและกะเทยที่สโตนวอล์บาร์ จนนำไปสู่การลุกฮือและต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศของเกย์กะเทย โดยเรียกเหตุการณ์จลาจลในครั้งนั้นว่า Stonewall Riots
RuPaul’s Drag Race จึงไม่ใช่แต่เพียงรายการทีวี แต่เป็นการปฏิวัติ และเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ด้วยการนำวัฒนธรรมย่อยในเควียร์มาประดิษฐานบนสื่อกระแสหลัก เอามาวางไว้บนพื้นที่สาธารณะให้เป็นที่มองเห็น เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งสารคดี Paris Is Burning (1990) ของ Jennie Livingston เคยเผยให้เห็นถึงวัฒนธรรมย่อยของชุมชนเกย์ กะเทย แดร็กแอฟริกันอเมริกัน ละติน ในนิวยอร์ก และยังพูดถึง HIV, ความยากจน, การขายบริการทางเพศ, เหยียดสีผิว, เกลียดคนรักเพศเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Kevin D. Nixon. Are Drag Queens Sexist? Female Impersonation and the Sociocultural Construction of Normative Femininity. A thesis, Master of Arts in Public Issues Anthropology, University of Waterloo, Ontario, Canada, 2009, p. 7.
[2] Nathaniel Simmons.2014. Speaking Like a Queen in RuPaul’s Drag Race: Towards a Speech Code of American Drag Queens. Sexuality & Culture 18, pp. 630–648.
[3] Butler, J. 1999. Gender Trouble: Feminism and the Subversion of Identity. 10th anniversary ed. New York: Routledge, pp. 175-177.
[4]Ver Descripción. 2015. “It’s Not Personal, It’s Drag”: The Sassy Politics of RuPaul’s Drag Race. MLitt Film and Television Studies, University of Glasgow, p. 8.
[5] Kevin D. Nixon. 2009.
[6] Judith Butler, 1999, pp. 175-177.
[7] Ver Descripción. 2015.