เพจหมอดูชื่อดังเพจหนึ่งเพิ่งจะออกมาบอกกับใครต่อใครว่า ประติมากรรมรูป ‘พระตรีมูรติ’ หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ใครต่อใครพากันไปกราบไหว้ขอให้สมหวังในรักกันนั้น ไม่ใช่พระตรีมูรติเสียหน่อย แต่เป็นรูปพระศิวะ 5 เศียร ที่เรียกว่าปาง ‘ปัญจมุขี’ ต่างหาก
และก็เป็นเพราะการไม่ใช่รูปพระตรีมูรตินี่แหละครับ ที่ทำให้คุณพี่หมอดูท่านนี้ฟันธงลงไปว่า ไหว้กันให้ตายก็ไม่ได้อะไรนอกจากความนก เพราะพระปัญจมุขีท่านเป็นเทพเจ้าผู้ขจัดโรคร้าย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรักเอาซะเล้ยยยย
แน่ยิ่งว่าแช่แป้ง (ว่าแต่แช่แป้งนี่มันแน่ตรงไหนน่ะ?) เลยด้วยว่า ในสังคมอุดมความเชื่อ อะไรอย่างนี้จึงต้องถูกกระหน่ำทั้งยอดแชร์ และยอดไลก์ ซึ่งที่คุณพี่หมอดูท่านบอกมาก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกนะครับ เพราะประติมากรรมรูปที่ว่าก็ไม่ใช่พระตรีมูรติจริงๆ นั่นแหละ แต่เป็นรูปพระศิวะ 5 เศียร ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในจารึก และคัมภีร์ทางศาสนาพราหมณ์ว่า ‘พระสทาศิวะ’
แต่ที่คุณพี่หมอดูท่านนี้ไม่ได้บอกต่อเราก็คือ พระสทาศิวะ (หรือที่คุณพี่เค้าเรียกว่า ปัญจมุขี) เป็นที่นับถือของคนในอารยธรรมขอมเรื่อยมาจนถึงสมัยอยุธยาในฐานะเทพเจ้าอันสูงสุด ไม่ต่างอะไรไปจากรูปพระตรีมูรติ ซึ่งก็คือเทพเจ้าสูงสุดทั้งสามองค์ในศาสนาฮินดู ได้แก่ พระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม
ที่สำคัญก็คือ ต่อให้รูปเทพเจ้าที่ประทับยืนหว่องๆ อยู่หน้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นรูปพระตรีมูรติจริงๆ เทพเจ้าองค์นี้ก็ไม่ได้มีพลานุภาพอันใดเกี่ยวข้องกับเรื่องความรักในเชิงหนุ่มสาวเลยเสียนิด
อันที่จริงแล้วเรื่องของพระทาศิวะ ในนามของพระตรีมูรติอย่างที่มักจะเข้าใจผิดกันองค์นี้ มีประวัติ และเรื่องราวอันชวนปวดกะโหลกกว่านี้มากเลยนะครับ เรื่องของเรื่องมันเริ่มมาจากการที่พื้นบริเวณเซ็นทรัลเวิลด์นั้นคือ ‘วังเพ็ชรบูรณ์’ เดิม ที่มักจะเล่าขานต่อกันมาในชุดความเชื่ออะไรทำนองนี้ว่า เป็นวังที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
แค่เริ่มต้นก็ไม่น่าเชื่อถือแล้วนะครับ
รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างวังเอาแถวนี้แห่งหนึ่งก็จริง แต่นั่นคือพระราชวังประทุมวัน โดยโปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณนาหลวงทุ่งบางกะปิ ทางด้านใต้ของคลองแสนแสบ เล่ากันว่าแถวนั้นมีบึงบัวอยู่มาก พระองค์จึงโปรดให้ขุดสระบัวขึ้นให้สวยงามอีกสระหนึ่ง พระราชวังแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘วังสระประทุม’ ติดอยู่กับห้างสยามดิสคัฟเวอรีในปัจจุบันต่างหาก
ส่วนวังเพ็ชรบูรณ์ สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสพระองค์ที่ 72 ในรัชกาลที่ 5 แต่กว่าวังนี้จะเริ่มสร้างขึ้นจริงๆ ก็ปาเข้าไปในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากที่สมเด็จฯ ท่านสำเร็จการศึกษาแล้วเสด็จกลับมาจากประเทศอังกฤษโน่นเลย
วังเพ็ชรบูรณ์ ที่ก็ได้ชื่อตามพระราชอิสริยยศของเจ้าฟ้าฯ พระองค์นี้ จึงถูกปลูกขึ้นบริเวณที่เป็นห้าง เซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ณ บัดนั้นเป็นต้นมา ต่างไปจากความตั้งใจแต่ดั้งเดิมของพระราชบิดาของพระองค์ คือรัชกาลที่ 5 ซึ่งหนังสือตำนานวังเก่า ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ระบุว่า มีพระราชดำริจะปลูกวังให้พระองค์ที่แถบพื้นที่ระหว่างพระราชวังสวนจิตรลดา กับพระราชวังสวนดุสิต แต่ก็ทรงสวรรคตไปเสียก่อน
ดังนั้น ถึงแม้ว่าในระหว่างที่ปลูกวังเพ็ชร์บูรณ์อยู่ เจ้าฟ้าจุฑาธุชฯ จะทรงพำนักอยู่ที่วังสระปทุม และก็พำนักอยู่จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ที่วังแห่งนั้นเลยเสียด้วย แต่วังเพ็ชรบูรณ์ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรัชกาลที่ 4 เลยสักนิด
และถึงแม้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม แต่เรื่องเข้าใจผิดกันอย่างนี้ ก็ยังคงดำเนินเรื่องราวของมันต่อไปอยู่ดีนะครับ
เมื่อปี พ.ศ. 2507 พื้นที่บริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน ได้เปิดเป็นห้างไทยไดมารู แต่ต่อมาก็ต้องย้ายออกไปอยู่ยังฝั่งตรงข้าม อีกฟากถนนหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 พระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช พระสวามีองค์ที่ 2 ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงเป็นเจ้าของวังเพ็ชรบูรณ์ในขณะนั้น ได้ขายวังไปให้แก่เตชะไพบูลย์ไปในราคา 25 ล้านบาท แล้วเสด็จไปอยู่ต่างประเทศจนทิวงคต
นักธุรกิจชื่อดังท่านหนึ่งได้สร้างห้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ขึ้นบนพื้นที่วังเพ็ชรบูรณ์นั่นเอง และเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2533 แต่มีประวัติเล่าต่อๆ กันมาว่า ด้วยเพราะผลประกอบการไม่เป็นไปตามคาดหวัง อุปสรรคต่างๆ และอาถรรพ์จากค่ำเล่าลือจำนวนมาก ทำให้กลุ่มตระกูลของนักธุรกิจคนนั้นเชื่อถือในคำบอกเล่าที่ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงเคยนำรูปพระตรีมูรติ ที่สร้างในสมัยพระนเรศวร มาประดิษฐานไว้ที่พบวังแห่งนี้ แต่สุดท้ายได้สูญหายไปในที่สุด
แต่ก็อย่างที่ผมได้เล่าให้ฟังไปข้างต้นนะครับว่า วังเพ็ชรบูรณ์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่รัชกาลที่ 4 จะทรงนำรูปพระตรีมูรติ สมัยอยุธยามาประดิษฐานไว้บนที่รกร้าง อย่างบริเวณเขตนาหลวงกลางทุ่งบางกะปิในสมัยนั้น
อย่างไรก็ตาม กลุ่มตระกูลนักธุรกิจท่านนั้นก็ไปควานหารูปพระตรีมูรติองค์ที่ว่ากลับมาจนได้ ซ้ำยังได้จำลองเทวรูปองค์นี้ประดิษฐานไว้ที่หน้าห้างสรรพสินค้าของตนเองอย่างที่คนไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ล้วนแล้วแต่รู้จักกันเป็นอย่างดี
น่าเสียดายนะครับ ที่เทวรูปองค์ที่เราเห็นอยู่ไม่ใช่พระตรีมูรติอย่างที่ตระกูลเตชะไพบูลย์เข้าใจ (และทำให้คนไทยเข้าใจผิดตามๆ กันไปอีกเป็นโขยง) แต่เป็นรูป ‘สทาศิวะ’ ที่นิยมทำกันในยุคเมืองพระนคร ก่อน พ.ศ. 1800 ในประเทศกัมพูชา แล้วส่งต่อมาให้ยังอาณาจักรอยุธยาของไทยเราทำตาม อย่างที่ผมได้บอกเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้น
ถ้าพื้นที่รกร้างแถบทุ่งบางกะปิในสมัยรัชกาลที่ 4 จะเคยมีรูปพระตรีมูรติประดิษฐานอยู่ ผมเกรงว่าตระกูลเตชะไพบูลย์ก็คงจะตามหาจนได้มาผิดองค์แล้วอย่างแหงแซะ
พูดง่ายๆ ว่าสิ่งที่ควรถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกัน ของรูปเทพเจ้าที่ยืนอยู่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์องค์นี้ จึงไม่ใช่เรื่องที่ว่า ถ้าท่านไม่ใช่พระตรีมูรติแล้วเราจะไปขอให้ท่านไล่นกไปจากตัวเรากันทำไม? แต่เป็นเรื่องที่ว่า สังคมแบบไหนที่ปล่อยให้อะไรๆ ที่ไม่สมเหตุสมผลมาตั้งแต่เริ่มต้นขนาดนี้ กลายเป็นเรื่องที่ต้องมาถกเถียงและทำความรู้จักกันใหม่ว่า “ท่านไม่ใช่พระตรีมูรติอะตัวเอง ท่านไม่ช่วยให้สมหวังในความรักหรอกนะ แล้วถ้าอย่างนั้น เราจะขอพรท่านในเรื่องอะไรถึงจะได้ผลดี ต้องตรงตามอิทธิฤทธิ์ของท่านกันดีอะ?”