“Cometh the hour, cometh the man”
“เมื่อถึงเวลา วิกฤตจะสร้างวีรบุรุษ”
คือสำนวนอังกฤษโบราณที่มักใช้อธิบายแนวคิดที่ว่า ผู้นำที่เหมาะสมจะถูกเผยออกมาในช่วงวิกฤต โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ในรูปแบบใหม่ ชนิดที่ว่าไม่เคยมีใครเคยรับมือมาก่อน การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในห้วงเวลานี้ กำลังทดสอบภาวะผู้นำรัฐบาลทั่วโลกอย่างหนัก ทั้งในแง่ของนโยบายและการสื่อสาร ขณะที่ประชาชนเองก็หันมาพึ่งรัฐบาลของตนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในช่วงระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา เราเริ่มได้เห็นตัวอย่างผู้นำที่ได้รับคำชื่นชมถึงภาวะผู้นำที่ดี ไม่ว่าจะเป็น จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน และโดยเฉพาะ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี หลังแถลงการณ์ของเธอเกี่ยวกับการรับมือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้รับการยกย่องว่าเป็นแถลงการณ์ที่ดีที่สุดแห่งปี
ขณะเดียวกัน เราก็เห็นตัวอย่างผู้นำที่ล้มเหลวในการจัดการวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ ไม่ว่าจะล้มเหลวทั้งในแง่นโยบายการจัดการหรือการสื่อสารกับประชาชนก็ตาม นั้นได้สร้างความโกลาหลและความสับสนในหมู่ประชาชนขนาดไหน และได้ทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลไปจนหมดสิ้น
Arjen Boin นักวิชาการจาก Leiden University ได้ทำการศึกษาท่าทีและแถลงการณ์ของผู้นำทั่วโลก และได้ร่วมเขียนหนังสือชื่อ The Politics of Crisis Management เพื่อตอกย้ำความสำคัญของภาวะผู้นำที่ดีและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤต
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นั้นเป็นวิกฤตที่ไม่มีผู้นำบนโลกคนไหนเคยเผชิญมาก่อน และเป็นวิกฤตที่มีความท้าทายสูง ทั้งในแง่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น การได้เห็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ผิดพลาดหรือการสื่อสารที่ล้มเหลวของผู้นำหลายคนทั่วโลกย่อมเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้อยู่
แต่คงไม่มีใครอยากเจอวิกฤตผู้นำล้มเหลวและการสื่อสารไร้ประสิทธิภาพในช่วงเวลาวิกฤติแบบนี้อีกใช่ไหม ลองจินตนาการ (หรือไม่ต้องจินตนาการก็ได้) ดูว่าในภาวะที่อะไรๆ ก็ดูเลวร้ายไปเสียหมด คุณต้องการผู้นำแบบไหนกันแน่ คนที่ทำความเข้าใจกับปัญหาและพร้อมจะอยู่เคียงข้างคุณ หรือคนที่เอาแต่ชี้นิ้วโบ้ยความผิดให้คนอื่นและพร้อมจะสละเรือได้ทุกเมื่อ อย่างไรก็ดี การเป็นผู้นำที่เหมาะสมในช่วงวิกฤตเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องของซูเปอร์ฮีโร่หรือพลังวิเศษ เพียงแต่ต้องอาศัยเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
เริ่มต้นด้วย ‘ความรวดเร็ว’ กันก่อน ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญมากในการสื่อสารกับประชาชนท่ามกลางวิกฤต ยิ่งปล่อยให้ประชาชนอยู่กับ ‘ความไม่รู้’ นานเท่าไร ความสับสนและความไม่เชื่อใจต่อรัฐบาลก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การตอบสนองอย่างเร่งด่วนจะช่วยให้ประชาชนรับรู้ได้ว่า ผู้นำของเขาไม่ได้ทอดทิ้งพวกเขาไปไหน และกำลังให้ความสนใจกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤตไวรัส COVID-19 ที่ ‘เวลา’ เป็นปัจจัยสำคัญ การประวิงเวลาเพื่อรอข้อมูลที่แน่ชัดก่อนการตัดสินใจอาจไม่ใช่ความคิดที่ดีเท่าไรนัก การตัดสินใจปิดน่านฟ้าช้าไปหนึ่งวันอาจหมายถึงหลายพันชีวิตที่ต้องจบลง
ตัวอย่างในนิวซีแลนด์ เมื่อปลายเดือนมีนาคม รัฐบาลสั่งปิดพรมแดน ห้ามบุคคลที่ไม่ใช่พลเมืองหรือผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรเข้าประเทศทั้งหมด อาร์เดิร์นออกแถลงการณ์ความยาว 8 นาทีเพื่อสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และประกาศระบบเตือนภัยระดับชาติสำหรับโรคนี้ (The National Four Stage Alert System for COVID-19) พร้อมทั้งคำอธิบายและข้อแนะนำต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แม้ว่าช่วงเวลานั้นผู้ติดเชื้อในนิวซีแลนด์ขณะนั้นจะมีจำนวนเพียงหลักร้อยเท่านั้น
การตัดสินใจอย่างรวดเร็วในวันนั้น ส่งผลให้นิวซีแลนด์
ถูกยกย่องให้เป็นประเทศที่มีมาตรการการรับมือกับการแพร่ระบาด
ของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพสูงแห่งหนึ่งในโลก
ขณะที่ภาคประชาชนก็ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างดี จนสามารถจัดการและควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้อยู่ในจำนวนที่น่าพอใจได้
ต่อมาคือ ‘ความโปร่งใส’ ในภาวะวิกฤตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเครียด สิ่งที่ผู้นำและรัฐบาล ‘ต้อง’ ทำ คือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ชี้แจงในสิ่งที่ตัวเองรู้และยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ เพราะการพูดอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยจะช่วยให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า รัฐบาลไม่ได้ปกปิดข้อมูลหรือบิดเบือนสถานการณ์แต่อย่างใด
ดั่งเช่น ตอนที่แมร์เคิลออกแถลงการณ์ยอมรับว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นหนักหนาที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจบลง และขอให้ประชาชนจริงจังกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันมีความท้าทายรออยู่ แต่เธอเชื่อว่า ทุกคนจะผ่านมันไปได้ด้วยดีด้วยความสามัคคีของคนในชาติ หรือตอนที่รุตเตอ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ แถลงการณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า จะมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และขอให้ประชาชนเตรียมรับมือไว้
ขณะที่อาร์เดิน ไช่ อิงเหวิน และแมร์เคิล ต่างยอมรับอย่างตรงไปตรงมากับประชาชนด้วยว่า พวกเธอไม่รู้ว่ามาตรการทั้งหมดเพื่อระงับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จะต้องถูกใช้ไปนานเท่าไร แต่ร้องขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก และชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อและข้อปฏิบัติเพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมืออยู่เสมอ
การพยายามดั้นด้นว่าตัวเองเข้าใจสถานการณ์อย่างดี ตัวเองสามารถจัดการได้ ตัวเอง ‘เอาอยู่’ นั้นไม่ช่วยให้ภาพลักษณ์ของผู้นำดีขึ้น จะมีแต่ช่วยทำลายความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของรัฐบาลในการรับมือกับภาวะวิกฤต
เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในอังกฤษ เมื่อ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรี เคยสัญญากับชาวอังกฤษว่า รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการรักษาระยะห่างในช่วงเทศกาลคริสต์มาสเป็นเวลา 5 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางกลับไปหาครอบครัวได้ แต่หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายลงและเริ่มเหนือการควบคุม รัฐบาลจึงจำต้องผิดสัญญา ยกเลิกช่วงผ่อนปรน และสั่งล็อกดาวน์ใหม่ทางตอนใต้ของประเทศไม่กี่วันก่อนเทศกาลคริสต์มาส ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก และรัฐบาลเองก็สูญเสียความเชื่อมั่นและความไว้ใจจากประชาชนไปหมดสิ้น
นอกจากนี้ การไม่พูดอย่างตรงไปตรงมาหรือการปกปิดข้อมูล จะนำไปสู่ความยากลำบากในการขอความร่วมมือจากประชาชนในการใช้มาตรการต่างๆ เมื่อสถานการณ์อาจเลวร้ายลงกว่าเดิม
สุดท้าย ‘สำนึกร่วมกันของสังคม’ คือ การกำหนดบรรยากาศความเข้าใจต่อวิกฤตร่วมกันระหว่างประชาชนและรัฐบาล ซึ่งต้องอาศัยการสื่อสารที่ชัดเจนและภาวะผู้ที่เด็ดขาดอย่างมาก เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีความซับซ้อนและความท้าทายสูง แถมยังเป็นวิกฤตที่ไม่เคยมีใครเผชิญมาก่อน สิ่งแรกที่ผู้นำควรทำ คือ การไม่ตำหนิและกล่าวโทษผู้ใดสำหรับวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่มุ่งคิดหาทางรับมือกับปัญหาอย่างเร็วที่สุด เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงสร้างความเข้าใจว่าปัญหานี้จะถูกแก้ไขไปได้ด้วยการร่วมมือของทุกฝ่าย
ขณะเดียวกัน ผู้นำจะต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจตรงกันว่า วิกฤตที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ มีความร้ายแรงขนาดไหน เพื่อกำหนดการรับรู้และการปฏิบัติตัวในสถานการณ์นี้ ยกตัวอย่างในเกาหลีใต้ เมื่อประธานธิบดี มุน แจอิน ออกแถลงการณ์ให้การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นภาวะฉุกเฉินระดับชาติ มีประกาศตามโทรทัศน์ วิทยุ และระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายและความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันในวิกฤตนี้
ขณะที่ผู้นำทางโลกตะวันตกหลายคน กลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสร้างสำนึกร่วมกันของสังคมตั้งแต่แรกเริ่ม โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ผู้นำทั้งสองชาติกลับมาท่าทีที่ ‘มองโลกในแง่ดี’ ต่อวิกฤตมากจนเกินไป จนส่งผลให้ประชาชน ‘ชะล่าใจ’ และมีความใจที่ผิดเกี่ยวกับวิกฤตไป นอกจากนี้ยังส่งผลไปสู้การตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลด้วยเช่นกัน เช่น เมื่อรัฐบาลอังกฤษประกาศใช้ ‘Herd Immunity’ (ภูมิคุ้มกันหมู่) ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกและหันไปใช้มาตรการอื่นๆ แทน เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มเหนือการควบคุมของรัฐบาล
หรือแม้แต่ไทยเอง ก็มีรัฐมนตรีที่มองว่าโรค COVID-19 เป็นแค่ ‘ไข้หวัดธรรมดา’ และมีผู้นำที่มักเอาแต่โทษประชาชนว่าเป็นต้นเหตุแห่งการระบาดใหม่ในหลายพื้นที่ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะก่อให้เกิดความสับสนและการแบ่งแยกในหมู่ประชาชนด้วยแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาล การขอความร่วมมือจากประชาชนในอนาคตจึงจะเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพผู้นำของแต่ละประเทศมีท่าทีต่อการจัดการวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการตอบสนองของภาคประชาชนที่มีต่อนโยบายของรัฐที่แตกต่างกันออกไป ทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากวิกฤตครั้งนี้ก็คือ ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญความไม่แน่นอนและความท้าทายของวิกฤตใหม่ๆ การมีผู้นำที่เหมาะสมและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพนั้นช่วยให้สังคมสามารถรับมือและจัดการวิกฤตไปด้วยกันมากเพียงใด นอกจากนี้ เรายังได้เรียนรู้อีกว่า ผู้นำแบบไหนที่เราต้องการจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก