1.
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คำว่า Start-up ได้กลายเป็นคำฮิตที่สุดคำหนึ่งในแวดวงธุรกิจ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ที่อยากสร้างกิจการในฝันของตัวเอง หลายคนหวังว่าสักวันหนึ่งบริษัทที่ตัวเองสร้างจะกลายเป็นยูนิคอร์น ที่เติบโตเร็วกว่ากามนิตหนุ่ม และมีมูลค่ามหาศาลแบบ facebook, Snapchat, Uber หรือ Airbnb
ในประเทศไทยเอง วงการ Start-up ก็คึกคักไม่น้อย เราเห็นบริษัท Start-up หน้าใหม่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ งานสัมมนาเกี่ยวกับ Start-up รวมถึงเวทีแข่งขันระดมเงินทุนก็มีจัดให้เห็นอยู่บ่อยๆ
มิหนำซ้ำ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ทั้งจากไทยและต่างประเทศก็หันมาเปิดกองทุน Start-up เพื่อสนับสนุนธุรกิจเกิดใหม่ในไทยกันอย่างพร้อมหน้า เช่น 500 Tuk Tuk ซึ่งมีเงินทุนรวมกว่า 500 ล้านบาท ฝั่งธนาคารพาณิชย์ไทยหลายเจ้าก็ไม่น้อยหน้าตั้งกองทุนลักษณะนี้ขึ้นมาเช่นกัน (เช่น Digital Ventures ของไทยพาณิชย์) ส่วนบริษัทมือถือรายใหญ่ของไทยทั้ง 3 เจ้าก็ล้วนมีกองทุนเพื่อการลงทุนใน Start-up เกิดใหม่ทั้งสิ้น
หันไปดูภาครัฐไทยเอง ก็หนีไม่พ้นกำลังเดินตามกระแสนี้เช่นกัน เมื่อปี 2558 เราเห็นการตั้งกองทุนใหม่ผ่านธนาคารของรัฐสามแห่งด้วยเงินทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยมีจุดประสงค์เพื่อลงทุนในกิจการเกิดใหม่ นอกจากนั้นแล้วยังมีนโยบายยกเว้นภาษีให้กับ Start-up หน้าใหม่ด้วย
ภาคเอกชน ‘หวัง’ ว่า Start-up เหล่านี้จะเป็นขุมกำไรแหล่งใหม่ ส่วนภาครัฐเองก็คง ‘หวัง’ ว่ากิจการเกิดใหม่พวกนี้จะสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตและเดินไปข้างหน้าได้
แต่ในความเป็นจริง ความหวังเหล่านี้อาจเป็นได้แค่ม้ายูนิคอร์นที่มีอยู่เพียงในตำนาน เพราะประสบการณ์จากหลายประเทศทั่วทุกมุมโลกล้วนชี้ไปในทางเดียวกันว่า การส่งเสริมให้เกิด Start-up หน้าใหม่จำนวนมากๆ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้า อีกทั้งตัวกิจการ Start-up ส่วนใหญ่เองก็มักไม่สร้างกำไรและไม่เติบโต
คำตอบของ ‘ความหวัง’ ข้างต้น จึงไม่ได้อยู่ที่ Start-up แต่อยู่ที่การสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ทั้งหลายที่ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้แล้ว ให้เติบโตและขยายขนาดขึ้นไปอีก
หรือที่ฝรั่งเรียกว่าการ Scale Up นั่นเอง
2.
รายงานเรื่อง Leveraging Entrepreneurial Ambition and Innovation ของ World Economic Forum ซึ่งสำรวจเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลกกว่า 44 ประเทศพบว่า ประเทศที่มีผู้ประกอบการหน้าใหม่จำนวนมากๆ มักเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยตามไปด้วย
พูดอีกอย่างก็คือ ประเทศที่มี Start-up มากๆ มักเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อย
ในขณะเดียวกัน ถ้าเราหันไปดูกลุ่มผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์จะขยายบริษัทให้ใหญ่ขึ้นในอนาคต หรือก็คือผู้ประกอบการที่ตั้งใจจะ Scale Up นั่นเอง ยิ่งประเทศไหนมีผู้ประกอบการแบบนี้มากๆ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้นๆ ก็มักมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นแล้ว ประเทศจะมีความสามารถในการแข่งขันสูงหรือไม่ ไม่ได้เกิดจากการมี Start-up มากๆ แต่เกิดจากการมีบริษัทที่พร้อมจะ Scale Up จำนวนมากต่างหาก
มิหนำซ้ำ เมื่อดูเรื่องการจ้างงาน ก็ดูเหมือนว่าบริษัทที่เรียกตัวเองว่าเป็น Start-up จะไม่ใช่เครื่องยนต์ที่ช่วยสร้างงานได้มากนัก
ตัวอย่าง Start-up ที่ลงทุนและลงเงินไปมหาศาล แต่ไม่สามารถสร้างงานให้เกิดขึ้นได้ มีให้เห็นอยู่ทั่วโลก
ในประเทศชิลี Start-up แห่งหนึ่งซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐกว่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 2 ปี กลับจ้างพนักงานได้เพียง 3 คน
ส่วนในประเทศเดนมาร์ก ซึ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ได้มีการปรับปรุงนโยบายด้านเศรษฐกิจขนานใหญ่ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของกิจการเกิดใหม่จำนวนมาก การประเมินผลในภายหลังพบว่า บริษัทส่วนใหญ่หยุดโตและจ้างพนักงานได้เพียงไม่กี่คน และมีบริษัทเพียงไม่ถึง 1% เท่านั้นที่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จและเติบโต
นอกจากนั้นแล้ว บริษัทเกิดใหม่ยังมีศักยภาพในการเติบโตต่ำกว่าด้วย
ประสบการณ์จากทั่วโลกล้วนชี้ไปในทางเดียวกันว่า บริษัทที่มีความสามารถในการเติบโตสูง หรือที่เรียกว่า HGFs (High Growth Firms) นั้น มักเป็นบริษัทที่ดำเนินการมาแล้วระยะหนึ่ง ไม่ใช่บริษัทเกิดใหม่
ในสหราชอาณาจักร กว่า 70% ของบริษัทที่มีความสามารถในการเติบโตสูง ล้วนดำเนินการมาแล้วอย่างต่ำ 5 ปี ส่วนในสหรัฐอเมริกาเอง งานสำรวจอีกชิ้นก็พบว่า บริษัทที่มีความสามารถในการเติบโตสูงสุดโดยเฉลี่ยแล้วคือบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมาแล้วประมาณ 25 ปี
ทั้งหมดนี้ไม่ได้ขัดกับคอมมอนเซนส์เลยแม้แต่น้อย เพราะบริษัทที่สามารถอยู่รอดได้ในโลกธุรกิจอันดุเดือด รวมถึงได้สั่งสมประสบการณ์ในการทำธุรกิจมายาวนานกว่า ย่อมต้องสามารถเติบโต สร้างงานและจ้างงาน รวมถึงมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าบริษัทเกิดใหม่หรือ Start-up ทั้งหลายอยู่แล้ว
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในไทยในขณะนี้กลับกลายเป็นว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้เกิดกิจการใหม่ๆ หรือ Start-up มากกว่าที่จะผลักดันธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีอยู่กว่า 2.7 ล้านบริษัทในไทยให้เติบโตยิ่งๆ ขึ้น
3.
ข้อเท็จจริงที่ว่าการ Scale Up เป็นหนทางไปสู่ความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ที่ได้ผลกว่าการส่งเสริมให้เกิด Start-up ก็ทำให้ในปัจจุบันเริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันนโยบายและวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจไปสู่การ Scale Up มากขึ้นในหลายประเทศ
อย่างในสหราชอาณาจักร มีการตั้งสถาบันที่ชื่อ ScaleUp Institute ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้สหราชอาณาจักรเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับธุรกิจที่ต้องการจะ Scale Up ซึ่งคาดการณ์กันว่าภายในช่วง 20 ปีระหว่าง 2015-2034 การมุ่ง Scale Up จะทำให้เกิดการจ้างงานในสหราชอาณาจักรมากขึ้นถึง 150,000 ตำแหน่ง และทำให้ GDP เพิ่มขึ้นมากกว่า 225,000 ล้านปอนด์
ดังนั้นแล้ว หนทางรอดข้างหน้าของประเทศไทย หากเราอยากเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการสร้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ การมุ่งส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ ที่เรียกว่า Start-up เป็นจำนวนมากคงไม่ใช่คำตอบ
เราควรหันไปมุ่งส่งเสริมธุรกิจที่ยืนด้วยลำแข้งตัวเองได้แล้ว บริษัทที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถอยู่รอดได้ในโลกธุรกิจที่การแข่งขันสูง ให้สามารถ Scale Up และเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไป
ปรมาจารย์ด้านธุรกิจ Daniel Isenberg แห่ง Babson College ได้เคยพูดไว้บนเวที World Economic Forum ไว้ว่า “ผู้กำหนดนโยบายควรเลิกส่งเสริมการก่อตั้งธุรกิจใหม่ๆ เสียที แล้วหันไปให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือธุรกิจทั้งเก่าใหม่ ในทุกภาคส่วน และทุกขนาด ให้เติบโตขึ้น”
ผมขอเสริมทิ้งท้ายนิดเดียวว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้กำหนดนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ว่าเป็นเรื่องของพวกเราทุกคนด้วย