‘ทศกัณฐ์’ ไม่ใช่ยักษ์ไทย เพราะเป็นยักษ์ที่เราอิมพอร์ตเข้ามาจากอินเดีย (หรือใครจะเถียง?) พร้อมกับมหากาพย์เรื่อง ‘รามายณะ’ ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอีกทอด เรียกได้ว่า เป็นยักษ์มือสอง ไม่ใช่ของมือหนึ่งที่พี่ไทยเราหยิบเอามาใช้เป็นคนแรก
เช่นเดียวกับในอีกหลายๆ วัฒนธรรมที่อิมพอร์ตเอาทศกัณฐ์เข้าไปด้วยเหมือนกัน ทศกัณฐ์จึงมีบุคลิกที่หลากหลายไปในแต่ละวัฒนธรรม และสังคม ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ แล้วชี้นิ้วบอกคนอื่นได้ว่า นี่ใช่ทศกัณฐ์ นั่นไม่ใช่ทศกัณฐ์
แถมในเมื่อกระทั่งชื่อมหากาพย์ที่ว่า ‘รามายณะ’ ยังไม่ถูกใจพี่ไทยของเราจนต้องเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘รามเกียรติ์’ อย่างที่คุ้นๆ กันมากกว่า แล้วคิดว่า ทศกัณฐ์ของพี่ไทย จะมีบุคลิกลักษณะเหมือนอย่างทศกัณฐ์ในอินเดียกันไหมล่ะครับ?
ชาวอินเดีย และถิ่นที่อยู่ของทศกัณฐ์ตามท้องเรื่องอย่าง กรุงลงกา (ก็เกาะศรีลังกานั่นแหละ!) รู้จัก ‘ทศกัณฐ์’ ในชื่อ ‘ราวณะ’ เพราะชื่อจริงในใบแจ้งเกิดที่อำเภอของ ทศกัณฐ์ ท่านชื่อ ราวณะ ต่างหาก ส่วนคำว่า ทศกัณฐ์ อย่างที่พี่ไทยคุ้นหูกัน เป็นเพียงสมญานามหนึ่งในอีกสารพัดสมญานามของยักษ์พี่เบิ้มตนนี้ที่หมายถึงว่า ท่านเป็นยักษ์ที่มี 10 คอ (คือมี 10 เศียร) เท่านั้นเอง
คำว่า ‘ราวณะ’ ก็คือคำเดียวกันกับที่บางทีเราเรียก ทศกัณฐ์ ว่า ‘ท้าวราพณ์’ นั่นแหละครับ พี่ไทยเราแค่แผลงรูปอักษร ‘ว’ เปลี่ยนเป็น ‘พ’ ตัดสระ ‘-ะ’ ข้างหลังทิ้งแล้วเต็มไม้ทัณฑฆาต หรือตัว ‘-์’ เข้าไปจนกลายจาก ราวณะ เป็น ท้าวราพณ์ แต่ชื่อนี้ก็ยังชิคไม่พอในหมู่พี่ไทยอยู่ดี ด้วยอาจจะฟังแล้วรู้สึกจั๊กจี๊จั๊กจี๋ หรือถึงยังไงก็รู้สึกไม่เอ็นจอยรูหูเหมือนกับชื่อ ทศกัณฐ์ ดังนั้นแม้แต่ชื่อจริงของยักษ์ใหญ่ตนนี้ พี่ไทยเรายังไม่ค่อยจะเรียกกันให้ถูกเลยด้วยซ้ำ
แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเสียหน่อย ไม่ว่านิทาน ตำนาน หรือเรื่องเล่าใดๆ ในโลก เมื่อส่งผ่านจากที่หนึ่ง ไปยังอีกที่หนึ่ง สำนวน รายละเอียด และอะไรต่อมิอะไรก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมหรือตัดทอน คือบิดไปจากถ้อยกระทงความเดิมไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเล่าผ่านจากปาก ไม่ใช่ตัวอักษร แถมเนื้อหาต่างๆ ยังต้องถูกตีความผ่านความเข้าใจของแต่ละวัฒนธรรม และแต่ละช่วงสมัยอีกต่างหาก (ดังนั้น ในข้อเขียนชิ้นนี้จึงขออนุญาตใช้คำว่า ทศกัณฐ์ เพื่อความเอ็นจอยรูหูผู้อ่านแบบไทยๆ)
สารที่ส่งมาจากอินเดีย เมื่อตกทอดมาถึงไทยแล้ว จึงไม่เหมือนกับสำเนาที่ถ่ายถอดออกมาจากต้นฉบับจนทุกกระเบียดแน่ เรื่องของทศกัณฐ์เองก็เช่นกัน แต่ความยูนีคดังกล่าวก็ไม่ได้จำกัดกันอยู่เฉพาะทศกัณฐ์ของไทยเท่านั้น เพราะว่าทศกัณฐ์ในอินเดียแต่ละท้องที่เขาก็ต่างกันไปตามแต่ละความเชื่อ และสำนวน อีกต่างหาก
แน่นอนว่า แค่อินเดียประเทศเดียว ก็ใหญ่แทบจะเท่ากับอุษาคเนย์เราทั้งภูมิภาคอยู่แล้วนะครับ และในเมื่อรามายณะของภูมิภาคเราเอง ยังแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม เช่น รามายณะฉบับลาว ที่เรียกว่า พระลักพระลาม นั้นพระรามทรงต้องกระทำพระองค์เยี่ยงฮิปเตอร์ สโลว์ไลฟ์ด้วยการทำนาที่ไม่มีในรามาณะฉบับอื่นแน่ ไฉนเลยทศกัณฐ์ แต่ละท้องที่ ในอินเดีย จะแตกต่างกันออกไปไม่ได้?
ในอินเดียทศกัณฐ์ก็ไม่ได้จะประพฤติตนเป็นอันธพาลร้านถิ่น ชอบฉุดลูกเขาเมียใคร (เอิ่มม.. ก็เมียพระรามไงครับ) ไปซะทั้งหมด อันที่จริงแล้วเรื่องเล่าเกี่ยวกับทศกัณฐ์ โดยเฉพาะเรื่องที่แพร่หลายอยู่ทางตอนใต้ของอินเดีย ให้ภาพทศกัณฐ์ที่มีความประพฤติดีงาม จนชวนให้นึกภาพว่าเป็นยักษ์คนละตนกับพี่ยักษ์ตนที่ลักเอานางสีดาไปเสียด้วยซ้ำ
เรื่องหนึ่งที่ชวนให้สงสัยใจอย่างนั้น ก็คือเรื่องของทศกัณฐ์ในศาสนาเชน ที่เขียนขึ้นโดย เหมจันทร์ เมื่อ พ.ศ. 546 คือเมื่อสองพันกว่าปีเศษที่แล้วโน่นเลย
นิทานเรื่องนี้เล่าว่า ทศกัณฐ์ และรากษส (ก็อสูรประเภทหนึ่งนั่นแหละ!) ผู้น้องทั้งสองของตนคือ พิเภก และกุมภกรรณ หมายใจว่าจะแย่งกรุงลงกา มาจากพวกยักษ์ ที่มี ‘ท้าวกุเวร’ เป็นหัวหน้า (อ้าว! ไหนใครว่าทศกัณฐ์ครองกรุงลงกามาแต่อ้อนแต่ออก?) จึงพากันไปบำเพ็ญตบะบารมี ทรมานกายใจอยู่ในป่าร่วมกันทั้งสามพี่น้อง และแน่นอนครับว่า การบำเพ็ญภาวนาอย่างนี้ก็ต้องมีพวกผู้ร้ายมาผจญ ไม่อย่างนั้นนิทานมันจะไปสนุกได้ยังไง?
พวกยักษ์บางตัว (อย่างที่บอกนะครับว่า พวกยักษ์ในนิทานเรื่องนี้ เป็นบรรดาลูกกระจ๊อกของท้าวกุเวร ไม่ใช่ของลูกสมุนของทศกัณฐ์อย่างที่เราคุ้นเคยกัน) ก็จึงต้องมาเร้าหรือให้เสียตบะ ด้วยการแปลงเป็นสาวสวยบ้าง พ่อบ้าง แม่บ้าง น้องสาวบ้าง มาอ้อนนั่น วอนนี่ โดยหวังให้ทศกัณฐ์แอนด์ฮิสโบรทั้งสองเสียสมาธิจนตบะหลุด แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สำเร็จนะครับ
ท้ายที่สุดแล้วพวกยักษ์จึงได้สร้างให้เกิดภาพหลอนว่า บรรดาพี่น้องที่บำเพ็ญตบะอยู่ด้วยกันนั้น ถูกฟันคอหลุดกลิ้งหลุนๆ ลงไปต่อหน้าต่อตา แน่นอนว่าเป็นใครก็ตกใจนะครับ ทั้งพิเภก และกุมภกรรณเอง ต่างก็ต๊กกะใจในดีกรีที่แตกต่างกันออกไป แต่ไม่ใช่สำหรับยักษ์จริงใจนิ่งระดับพี่เบิ้มทศกัณฐ์ (ง่อววววว) ทศกัณฐ์จึงได้รู้แจ้งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา (อ้าว! ตกลงพี่ไม่ไปยึดกรุงลงกาแล้วหรือครับ?)
เรื่องที่ทศกัณฐ์ เป็นยักษ์ใจหล่อระดับฮิวโก้ จุลจักร ก็ไม่ได้มีอยู่เฉพาะนิทานในศาสนาที่พี่ไทยเราไม่ค่อยรู้จักอย่างศาสนาเชน แต่พระสูตรในพุทธศาสนา อย่าง ลงกาวตารสูตร ก็ได้กล่าวถึง ทศกัณฐ์ ว่าเคยทูลถามข้ออรรถธรรมอันลึกซึ้งต่อพระพุทธเจ้า ส่วนอำมาตย์ (เอ่อ! ผมไม่ได้หมายถึงใครในสังคมอันเวรี่แตกแยกสังคมหนึ่งในปัจจุบันนะครับ) ของทศกัณฐ์อย่าง ศูกระ และสารณะ (รามเกียรติ์ไทยจับสองตนนี้ขยำเข้าด้วยกันกลายเป็น สุกระสาร ตนเดียวโด่เด่) ก็ถูกกล่าวถึงว่ามีความรู้อันสุขุมนุ่มลึกเสียจนพอที่จะฟันธงลงไปได้ว่า ในทัศนะของชาวพุทธในอินเดีย ทศกัณฐ์ไม่ได้กักขฬะเลวทราม อย่างในรามายณะของพวกพราหมณ์ และรามเกียรติ์ของพี่ไทย
แถมยังมีหลักฐานอีกด้วยว่า พระเถระในพุทธศาสนามหายานองค์สำคัญองค์หนึ่ง ในอินเดียใต้อย่าง พระธรรมกีรติ โกรธเคืองที่นิยายอย่าง รามายณะ ของพวกพราหมณ์ ทำให้ทศกัณฐ์ ซึ่งถือเป็น ‘ธรรมิกราชา’ ในศาสนาพุทธ เสื่อมเสียชื่อเสียง และเกียรติคุณเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้นแม้แต่ในดินแดนที่ทำคลอดตัดสายสะดือให้กับทศกัณฐ์ อย่างอินเดีย ทศกัณฐ์ยังแตกต่างกันไปในแต่ละศาสนา และความเชื่อ เช่น ศาสนาพุทธ และศาสนาเชนเห็นทศกัณฐ์เป็นผู้ทรงศีล แต่ในศาสนาฮินดู ยกตำแหน่งผู้ร้ายใจทรามฉุดคร่าสตรีที่ดีงามอย่าง นางสีดา พรากจากอกสามีของนางคือ พระราม มันเสียอย่างนั้น แถมนี่ยังไม่นับว่าในศาสนาเดียวกัน ก็มีเรื่องเล่าที่แตกต่างกันไปด้วยอีกต่างหาก
แน่นอนว่าไทยเรารู้จักทศกัณฐ์มาจากฝั่งพวกพราหมณ์ฮินดู เราจึงไม่ค่อยมีภาพความทรงจำในแง่มุมดีๆ เกี่ยวกับยักษ์พี่เบิ้มตนนี้มากนัก
จึงไม่แปลกอะไรที่รามเกียรติ์ของไทย จะแต่งเสริมเติมความให้ทศกัณฐ์รบแพ้ลิงบ้างล่ะ (เอิ่มม.. แต่เจ้าลิงที่ว่าคือ พาลี ที่ได้รับพรจากเทพเจ้าว่า เวลาสู้รบกับใครแล้วฝ่ายตรงข้ามกำลังจะหายไปครึ่งหนึ่ง แล้วใครจะไปสู้ชนะพี่ลิงท่านนี้ได้ล่ะนั่น?) โดนลิงลักเอาเมียคือ นางมณโฑไป แถมยังท้องป่องกลับมาบ้างล่ะ (แต่ลิงที่ว่านี่ ก็เป็นพี่พาลีขาโหดคนเดิมนะ) โดนหนุมานแกล้งเอาผมนางมณโฑมาผูกติดกับพระเศียรของตนเอง และเขียนคำสาปไว้ที่พระนลาฏ (หน้าผาก) ว่า ถ้าจะแกะผมของนางมณโฑหลุดออกจากพระเศียรได้ ต้องให้นางมณโฑตบหัวสามทีเท่านั้น (แน่นอนว่า ช็อตนี้ทศกัณฐ์โดนเมียโบกหัวสามทีเน้นๆ)