ช่วงที่ผ่านมา มีสองข่าวที่ผมรู้สึกว่ามีความคล้ายคลึงกัน ข่าวแรกคือข่าวระดับโลกที่หลังจากสารคดี Leaving Neverland เปิดโปงเบื้องหลังการล่วงละเมิดทางเพศของ Michael Jackson ต่อเยาวชนสมัยที่เขายังมีชีวิตอยู่ออกฉายทางช่อง HBO ทำให้เริ่มมีกระแสการต่อต้านผลงานของ Michael Jackson ขึ้น แม้ผลงานที่เผยแพร่ในเว็บ Music Streaming ต่างๆ จะยังคงอยู่ แต่ผลงานอื่นก็เริ่มได้รับผลกระทบ เช่น ทีมงานการ์ตูน The Simpsons ก็ตัดสินใจถอดตอนที่เขาร่วมพากย์เสียงออกจากการฉาย และคิดว่าต่อไปก็คงจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก
ส่วนที่ญี่ปุ่น คืนวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา นักแสดงและศิลปิน Pierre Taki (ชื่อจริง Taki Masanori) ก็ถูกตำรวจจับที่บ้านของตัวเอง ข้อหาเสพและมีโคเคนในครอบครอง ซึ่งกลายเป็นข่าวดังของญี่ปุ่น เพราะว่าในสังคมญี่ปุ่น เรื่องยาเสพติดก็ถือเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ว่าเราไม่ค่อยได้พบข่าวแบบนี้เท่าไหร่ และที่เรื่องนี้สำคัญมากขึ้นไปอีกเป็นเพราะเขาก็เป็นนักแสดงและศิลปินที่เป็นที่รู้จักทั่วไปและอยู่ในวงการมานาน มีผลงานดังๆ มากมายทั้งในฐานะนักแสดง และในฐานะนักร้องนำวงซินธ์ป็อบชื่อดัง ‘Denki Groove’ ที่อยู่ในวงการเพลงญี่ปุ่นครบ 30 ปี ซึ่งในปีนี้ หลังจากถูกจับ เขาก็ได้ยอมรับว่าใช้โคเคนมาตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี หรือพูดอีกอย่างคือ เสพโคเคนมาเกือบตลอดอาชีพศิลปิน
แน่นอนว่าข่าวยาเสพติดในสังคมญี่ปุ่นเป็นเรื่องใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่าสองข่าวนี้มีความคล้ายคลึงแต่ก็ต่างกันคือ ในญี่ปุ่นนั้น ถ้าเป็นกรณียาเสพติด สื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะระงับการเผยแพร่ผลงานของบุคคลดังกล่าว ซึ่งในตะวันตกเราไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้เท่าไหร่นัก แต่ถ้าเป็นเรื่องของคดีเกี่ยวกับผู้เยาว์ ในโลกตะวันตกนั้นมักจะไม่รอดครับ ตัวอย่างนอกจาก Michael Jackson ก็ยังมีกรณีของ Kevin Spacey ที่มีการระงับประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์ของเขาที่กำลังจะฉายในตอนนั้น (ส่วนกรณี #MeToo ดูจะเกิดผลกระทบจะน้อยกว่า)
สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การกระทำเช่นนี้มีชื่อเรียกว่า 自粛 (Jishuku)
หรือจะแปลให้ใกล้เคียงคงมีความหมายว่า ‘การเซนเซอร์ตัวเอง’
ซึ่งสังคมญี่ปุ่นจัดว่าเข้มงวดกว่าเยอะครับ ตัวอย่างของกรณี Pierre Taki นี่เริ่มตั้งแต่ต้นสังกัดคือโซนี่ประกาศยกเลิกคอนเสิร์ตยังไม่พอ ยังประกาศเก็บแผ่น CD และ DVD ของวงทั้งหมดคืนจากร้าน รวมไปถึงคอนเทนต์ที่เผยแพร่ทางออนไลน์ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอหรือสตรีมมิ่งทั้งหมด เรียกได้ว่าต่อไปใครอยากฟังคงต้องหาแผ่นมือสองหรือไม่ก็ของเถื่อนนั่นแหละครับ
เท่านั้นยังไม่พอ ในส่วนของงานแสดง ผลงานที่เขากำลังแสดงอยู่ในตอนนี้คือละครพีเรียด ที่เป็นหน้าเป็นตาของช่อง NHK มาโดยตลอด โดยปีนี้ เขาร่วมแสดงในผลงานเรื่อง Idaten ซึ่งก็ทำให้ต้องเปลี่ยนตัวนักแสดงกลางคันแล้วค่อยเริ่มถ่ายทำต่อ เพราะละครเรื่องนี้เพิ่งฉายไปได้ไม่ถึงครึ่งทางเลย เช่นเดียวกับทาง Walt Disney ที่ประกาศว่าจะหานักพากย์เสียงญี่ปุ่นมาพากย์บทโอลาฟ ใน Frozen ที่เขาเคยพากย์ไว้แทน
เท่านั้นยังไม่พอ เกม PS4 ที่ชื่อ Judgement Eyes ที่ให้นักแสดงต่างๆ มารับบทเป็นตัวละครในเกม ซึ่ง Pierre Taki ก็มารับบทเป็นยากูซ่าในเรื่อง และวางขายเมื่อปลายปีก่อน ก็ถูกระงับการขายทั้งแบบแผ่นและแบบออนไลน์ กลายเป็นเกมในตำนานไปอีกเกม เพราะถ้าใครอยากหาเล่นก็คงลำบาก แต่จริงๆ แล้วยอดขายเกมก็แผ่วลงมามากแล้ว จนเรียกได้ว่าต่อให้เลิกขายก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่ายเกมเท่าไหร่นัก แต่คนที่ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ คงเป็น Kimura Takuya ที่ได้มาแสดงนำในเกมเป็นครั้งแรกจนเป็นข่าวใหญ่ เพราะหลังจากที่ SMAP ยุบวงเขาก็ได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อพิสูจน์ตัวเอง แต่ผลงานกลับต้องปิดตัวลงแบบนี้ก็น่าเสียดายแทนจริงๆ
เท่านั้นยังไม่พอ ไม่ใช่แค่กับของที่กำลังวางขายหรือกำลังฉายอยู่
แต่การเซนเซอร์ตัวเองของญี่ปุ่นก็ลามไปถึงผลงานเก่าๆ อีกด้วย
อย่างเช่น จากที่ NHK กำลังพิจารณาเอาเรื่อง ‘Amachan’ ละครรอบเช้าชื่อดังกลับมาฉายใหม่ ก็อาจจะต้องยกเลิกไปเพราะ Pierre Taki ก็แสดงในเรื่องนี้ แถมจากเดิมที่จะเอาเรื่อง Always Sunset on the Third Street มาฉายในช่อง ก็ต้องยกเลิกไปเพราะเหตุผลเดียวกัน แต่ที่น่าตลกกึ่งสังเวชคือ เรื่องที่เอามาฉายแทนคือ Indiana Jones ภาค The Last Crusade ที่ตอนต้นเรื่องได้ River Phoenix มารับบทเป็น Indiana Jones ช่วงวัยรุ่น ซึ่งทาง NHK คงไม่ทันคิดว่า เขาก็ตายเพราะเสพโคเคนเกินขนาดตั้งแต่ยังหนุ่ม
ตรงจุดนี้ก็คล้ายๆ กับกรณีของ Narimiya Hiroki (ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในบทความชื่อ สื่อศาล) ตั้งแต่เขาโดนสงสัยว่าเสพโคเคนแล้วถูกสื่อ Friday แฉ จนตัดสินใจลาออกจากวงการแล้วไปอยู่ต่างประเทศแทน ละครชุด Aibou ที่เขามารับบทตัวเอกได้ 3 ฤดู ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย แม้จะไม่ได้ร่วมแสดงแล้ว แถมจากเดิมที่มีกำหนดการณ์นำตอนเก่ามาฉายทางโทรทัศน์อีกครั้ง ก็กลายเป็นว่าถูกเรื่องอื่นเข้ามาฉายแทน และแน่นอนว่าเขาถูกยกเลิกสัญญาโฆษณาต่างๆ ไปด้วย
นี่แหละครับ คือการเซนเซอร์ตัวเองสไตล์ญี่ปุ่น ดูเหมือนพอใครมีคดีอะไรขึ้นมา แล้วก็จะพยายามตัดทิ้งออกให้หมด ที่ผ่านมาก็มีกรณีแบบนี้อีกไม่น้อย หลายต่อหลายเรื่องก็กลายเป็นละครหรือตอนที่มีชื่อเรียกว่า ‘Maboroshi’ หรือ ‘มายา’ คือทำราวกับว่าไม่เคยมีเรื่องเหล่านี้มาก่อน หรือถ้าไม่ได้ออกฉายตั้งแต่แรกก็เรียกว่า ‘Kura Iri’ หรือ ‘เก็บเข้ากรุไป’ เพราะดูเหมือนว่าวงการบันเทิงเขาจะอ่อนไหวกับเรื่องพวกนี้มาก
ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการโวยวายของคนดูว่า
เอาคนแบบนี้มาออกอากาศให้ดูทำไม
เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน
คือส่วนหนึ่งก็เป็นการตัดหางปล่อยวัด ตัดให้ออกห่างจากตัวเองไปจะได้สบายกว่า ส่วนคนที่ซวยสุดคงเป็นเพื่อนร่วมแสดงในผลงานนั้นๆ เพราะการเอามาฉายซ้ำแต่ละครั้ง นักแสดงก็ได้รับส่วนแบ่งจากค่าโฆษณาที่ได้ใหม่ด้วย สำหรับนักแสดงบทรอง ตัวประกอบบางคน นี่คือแหล่งเงินในการใช้ชีวิตเลยทีเดียวครับ (ส่วนของ NHK ที่ไม่มีค่าโฆษณานี่ไม่แน่ว่าได้ผลตอบแทนอย่างไร) หรือกรณีสมาชิกวงไอดอลโดนยกเลิกสัญญากับค่าย พอทำ DVD รวมรายการวาไรตี้เก่าๆ ก็จะสังเกตได้ว่า ฉบับฉายทีวี กับฉบับ DVD สมาชิกตัวปัญหาก็จะโดนตัดบทบาทออกไปเท่าที่จะทำได้เลยทีเดียว
ส่วนหนึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าทำไม เพราะปัจจุบัน เมื่อมี Social Network ก็มีคนที่มีความสุขกับการได้ไล่ล่าหาคนที่ ไม่ยอมเซนเซอร์ตัวเอง แล้วเข้าไปก่อดราม่า ตัวอย่างเช่นเวลาเกิดภัยพิบัติใหญ่ๆ เช่นแผ่นดินไหวในคุมาโมโต้เป็นต้น แล้วมีคนดังที่ไม่ได้แสดงข้อความเสียใจ หรือทำตัวใช้ชีวิตลั้นลา อัพรูปของกินอร่อย หรือกระทั่ง ‘ยิ้ม’ ในสถานที่สาธารณะ ก็ตกเป็นเป้าของนักปั่นดราม่าเหล่านี้ ไม่แปลกใจว่าทำไมวงการบันเทิงถึงได้ยอมตัดหางเพื่อเอาตัวรอดเหมือนกันครับ (แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้เวลาเกิดภัยพิบัติแล้วเขาจะลดรายการตลกโปกฮาตามมารยาท อันนี้ที่ไหนก็คงเหมือนกันครับ)
แต่ถึงจุดหนึ่งก็คงมีคนเริ่มรู้สึกว่ามันชักจะไปกันใหญ่ โดยกรณีของ Pierre Taki ที่ถึงขนาดยกเลิกการวางขายผลงานเพลงทุกช่องทาง ก็ทำให้ศิลปินรายอื่นเดือดดาลไม่น้อย โดยหัวหอกที่ออกมาพูดเรื่องนี้ตรงๆ ก็คือ Sakamoto Ryuichi รุ่นใหญ่ของวงการเพลงอิเล็กโทรนิกส์ ที่ทวีตออกมาตรงๆ เกี่ยวกับการยกเลิกการขายงานเพลงทั้งหมดว่า “จะเซนเซอร์ตัวเองไปทำไม? เพลงของ Denki Groove ขายได้แล้วมีใครลำบากเหรอ? คนที่ไม่อยากฟังผลงานเพลงของคนที่ใช้ยาเสพติด ก็ไม่ต้องฟังไป ดนตรีไม่ได้มีความผิดอะไร” นอกจากนี้ก็ยังมีศิลปินรายอื่นๆ ที่ออกมาต่อต้านเรื่องนี้ ทั้งสมาชิกวง Rin toshite Shigure หรือ Soul Flower Union ที่บอกตรงๆ ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำกับงานเพลงแบบนี้ บางคนก็ให้ความเห็นว่า ควรแยกผลงานกับตัวผู้สร้างมันหรือไม่
ถ้าจำไม่ผิดนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่การเซนเซอร์ตัวเอง
ของวงการบันเทิงญี่ปุ่นถูกตั้งคำถามขนาดนี้
เพราะโลกก็เปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อย
ชาวเน็ตญี่ปุ่นก็เสียงแตกเหมือนกันครับ หลายๆ คนก็ให้ความเห็นว่า นี่ไม่ได้เป็นความผิดแบบที่มีผู้เสียหายชัดเจน ถ้าไปทำร้ายคน หรือขับรถโดยประมาทจนคนเสียชีวิตก็ว่าไปอีกเรื่อง แต่นี่คือเสพยาเสพติด ไม่น่าจะต้องทำขนาดนั้น โอเค แน่นอนว่าการเสพยาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้วงจรค้ายาอยู่ต่อได้ มีผลต่อคนอื่นแน่นอนครับ
แต่ในความคิดของผมเอง ถ้าเป็นผู้เสพ ก็ไม่ควรโดนขนาดนั้นน่ะครับ ถึงเรื่องเสพยาจะเป็นเรื่องร้ายแรงในสังคมญี่ปุ่น แต่การผลักผู้เสพยาเข้าไปจนมุมอีกก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรมันดีขึ้นเลย และก็อย่างที่ศิลปินหลายท่านคิดนั่นแหละครับว่า ควรจะแยกผลงานกับตัวศิลปินหรือเปล่า ถ้าเสพยาแล้วต้องยกเลิกการขายเพลงนี่ คอลเลคชั่นเพลงสากลคงหายกันไปแบบมหาศาลเลยล่ะครับ โดยเฉพาะวงร็อคต่างๆ
ถ้าไม่ได้กระทำผิดร้ายแรงแบบละเมิดผู้เยาว์ (แบบกรณีของ R. Kelly ที่กลับมาเป็นข่าวตอนนี้อีกที) ก็ควรให้คนเสพผลงานตัดสินกันเองเถอะครับว่าอะไรควรหรือไม่ควร ล่าสุดบริษัทโทเอ ก็ตัดสินใจฉาย Shin Godzilla ที่มี Pierre Taki แสดงร่วมในเรื่องในเทศกาลภาพยนตร์ที่กำลังจะจัดขึ้น โดยไม่ตัดอะไรออกเลย และให้เหตุผลว่าการทำลายผลงานเก่าๆ ก็เหมือนกับการทำลายวัฒนธรรมนั่นเอง ทางโทเอตัดสินใจแค่ขึ้นหมายเหตุล่วงหน้าเท่านั้นว่านักแสดงถูกจับในข้อหาต้องสงสัยว่าใช้ยาเสพติด ก็น่าสนใจดีครับ
หมายเหตุ : กรณีของ Narimiya Hiroki แม้จะออกจากวงการไปแล้ว แต่เมื่อ Aibo กลับมาฉายในปีล่าสุด ตอนเปิดฤดู ก็มีคลิปส่วนที่เขาแสดงปรากฏอยู่ในตอนนั้น ทำให้แฟนๆ หลายคนโล่งใจว่าอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้ถูกแบนแบบลาลับ และยังลุ้นกับโอกาสกลับมาสู่วงการบันเทิงของเขา
อ้างอิงข้อมูลจาก