‘ไตรภูมิพระร่วง’ ไม่เพียงเป็นนิทานศาสนาและจักวาลวิทยา ที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อแบบจารีตเมื่อครั้งยังเชื่อว่าโลกแบน และมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางจักรวาล แม้ไม่ได้เก่าแก่ถึงขั้นสุโขทัย เพราะเพิ่งแต่งขึ้นในช่วงปลายอยุธยา ธนบุรี หรือไม่ก็กรุงเทพด้วยซ้ำ[1] แต่ยังเป็นคู่มือควบคุมผู้คนที่มีอิทธิพลต่อการปกครอง แม้ว่ารัฐนั้นจะเรียนรู้แล้วว่าโลกไม่แบนและรู้จักประชาธิปไตย แต่ก็ยังคงเป็นอุดมการณ์ และใช้สร้างความชอบธรรมทางการเมืองได้อยู่ เช่นคติ ‘ธรรมราชา’ ตำแหน่งจักรพรรดิที่ได้มาเพราะสะสมแต้มบุญมาเมื่อชาติปางก่อน[2] ไปจนถึงสถาปัตยกรรมและพิธีกรรมทางการเมือง แม้แต่รัฐสภาแห่งใหม่ที่กำลังสร้างอยู่ ‘สัปปายะสภาสถาน’
ผลผลิตอื่นๆ ของไตรภูมิพระร่วงที่ยังหลงเหลือในยุคปัจจุบันก็คือ นรก สวรรค์ หรือแม้แต่ป่าหิมพานต์ก็ยังมีคนอ้างถึงในศตวรรษที่ 21 เช่น ดาราดังนาธาน โอมาน เธอเล่าว่าสมัยเด็ก ต้องเดินผ่านป่าหิมพานต์ทุกวันไปโรงเรียน เคยเห็นและครั้งหนึ่งเอาก้อนหินปาใส่มักกะลีผล จนตกใจกรีดร้องลั่นป่า[3]
หากเชื่อตามไตรภูมิพระร่วง ในป่าหิมพานต์เป็นที่อยู่ของอมนุษย์ มนุษย์ที่พิเศษกว่าพวกเรา และสรรพสัตว์ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ จากจินตนาการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะสัตว์ชนิดหนึ่งมาปะติดปะต่อกับสัตว์อีกชนิดหนึ่ง เช่นท่อนบนเป็นคนท่อนล่างเป็นนก ตัวเป็นปลาหัวเป็นช้าง สัตว์ปีกประเภทครึ่งไก่ครึ่งนก สัตว์น้ำประเภทปลาผสมเสือ ครึ่งหน้าเป็นช้างครึ่งหลังเป็นปลา ผสมกันอีรุงตุงนังไปจนถึงลำตัวและหัวเป็นคนมีปีกครึ่งล่างเป็นปลา สัตว์พวกนี้อยู่ร่วมทวีปกับเรา คือชมพูทวีป เพียงแต่อยู่คนละโซนกัน [4]
ขณะที่มนุษย์ขี้เหม็นอยู่ทางใต้ของชมพูทวีป มนุษย์วิเศษอยู่ทางตอนเหนือในป่าหิมพานต์ เช่นนักสิทธิ์วิทยาธร นักสิทธิ์คือผู้สำเร็จด้านจิตวิญญาณ เพราะมีศรัทธาศาสนาแรงกล้าและคุณธรรมสูง เหาะเหินเดินอากาศได้ เหม็นเบื่อกลิ่นสาปพวกมนุษย์อย่างเรา จึงเหาะมาอาศัยในป่าหิมพานต์ ส่วนวิทยาธรก็คือนักสิทธิ์ที่พัฒนาแล้วในป่าหิมพานต์ อมนุษย์ทั้ง 2 ประเภทนี้ไม่มีวันแก่ เป็นหนุ่มเหน้าเสมอ และตามจิตรกรรมฝาผนังก็มีแต่ผู้ชาย และอาศัยทางตะวันออกของป่า[5]
และทางทิศตะวันออกของป่าหิมพานต์มีพืชชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่ออกผลเป็นหญิงสาววัยโตเต็มที่ เปลือยกาย มีกลิ่นหอม ห้อยย้อยเป็นระย้า เรียกว่านารีผลหรือมักกะลีผล ซึ่งในไตรภูมิพระร่วงกล่าวว่า
“ถัดนั้นไปมีป่าไม้นารีผล แลว่าลูกไม้นั้นงามนัก ดั่งสาวอันพึ่งใหญ่ได้ ๑๖ ปี แลฝูงผู้ชายได้เห็นก็มีใจรักนัก ครั้นว่าหล่อนตกลง ฝูงนกกลุ้มกินดั่งหมีกินผึ้ง”
ที่นาธานเธอเคยเขวี้ยงหินใส่ แต่กลายเป็นผลหมากรากไม้ที่นักบวชหนุ่ม นักสิทธิ์วิทยาธร เด็ดมา ‘กิน’ จนกระทั่งแย่งทึ้งกัน บริโภคคนละนางไม่พอ ซ้ำมักกะลีผลก็เหมือนผลไม้ทั่วๆ ไป มีอายุเพียง 7 วันก็เน่าเสีย
ผู้หญิงจึงกลายเป็นไม้ดอกไม้ผล ทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วหมดสิ้นไป แต่ก็มีใหม่ได้เรื่อยๆ ไว้เชยชมดมดอมชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ผูกพัน บริโภคมีวันหมดอายุ เหี่ยวเฉาได้ และรองรับความต้องการทางเพศผู้ชายที่ยังคงหนุ่มและมีพลังงานทางเพศไม่หมดสิ้น ซ้ำยังเป็นเพศผู้มีวิทยาความรู้ มีพัฒนาการเป็นขั้นๆ
การที่ผู้หญิงเป็นทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายก็เป็นเรื่องที่ปรากฏทั่วไปในวรรณกรรม นิทาน วรรณคดีไทย
ยิ่งสัตว์หิมพานต์ตัวเมียชนิดครึ่งคนครึ่งสัตว์ที่มักเปลือยอกตามจิตรกรรม ก็ถูก eroticize บ่อยๆ เช่นเงือก กินนรกินรี ขณะที่สัตว์เพศผู้ที่พอจะ eroticize ได้เช่นนาคตัวผู้ หรือกุมภีนิมิตร ที่ท่อนบนเป็นเทวดา ท่อนล่างเป็นจระเข้ หรือแม้แต่ครุฑที่อาศัยนอกป่า ตีนเขาพระสุเมรุ ก็ถูกวาดภาพให้เต็มไปด้วยพละกำลัง ดุดันดุร้าย ทำให้มนุษย์เจ็บตัวได้มากกว่าอ่อนช้อย หรือจะเอามาสนองความต้องการทางเพศ
เพราะในขณะที่ป่าหิมพานต์เป็นดินแดน exotic ในจินตนาการสำหรับมนุษย์ การได้พิชิตหรือครอบครองสาวงามจากดินแดนมหัศจรรย์ ก็ช่วยสนองสำนึกการผจญภัยท่องโลกของชายหนุ่ม
เช่นเดียวกับที่การพรรณนาคุณลักษณะมนุษย์ในตอนมนุสสภูมิ และเทวดานางฟ้าในสวรรคภูมิ ก็เน้นอธิบายเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงสะละเอียดละออ จนกลายเป็นวัตถุให้จับจ้อง เช่นทวีปเพื่อนบ้านกับชมพูทวีป ‘อุตตรกุรุทวีป’ ที่เป็น utopia ตามคติพุทธไตรภูมิ ผู้หญิงก็ถูกพรรณนาอุปมาว่าผิวสีสมบูรณ์งามดั่งทองอันสุกเหลืองเรือง นิ้วมือนิ้วตีนกลมงาม เล็บก็แดงดั่งน้ำครั่ง หน้านวลเกลี้ยงเกลาราวพระจันทร์วันเพ็ญ (สมัยนั้นยังเชื่อว่าพระจันทร์มีผิวเรียบเนียบไม่ขรุขระ) ตาดำงามเหมือนนัยน์ตาเนื้อทรายอายุ 3 วัน ขนคิ้วดำสนิทโก่งราววาด ฟันขาวเหมือนสังข์ขัดใหม่ ริมฝีปากแดงเหมือนลูกฟักข้าวที่สุกงอม ลำแข้งเรียวงามดั่งลำกล้วยทองฝาแฝด ท้องราบเรียบ ลำตัวอ้อนแอ้นเกลี้ยงกลม ผมดำขลับดั่งปีกแมลงภู่ พูดจาน้ำเสียงแจ่มใสไร้เสมหะ เป็นสาวงามอายุ 16 ปี และจะคงเช่นนั้นไปที่ไม่แก่ลง ขณะที่ผู้ชายถูกอธิบายไว้นิสนึง ว่าไม่แก่เฒ่าคงที่ที่ 20 ปี ชอบแต่งตัวพิถีพิถัน ร้องรำทำเพลง กันตามสบายแค่นั้น ไม่ได้ถูกจับจ้องอธิบายรูปพรรณสัณฐานเหมือนผู้หญิง แต่อย่างไรไรชาวอุตตรกุรุทวีปก็ถูกระบุไปแล้วว่าสวยหล่อเท่ากัน หุ่นสมส่วนหน้าเหลี่ยมเหมือนกัน
ขณะเดียวกัน ก็เผยให้เห็นว่าเซ็กซ์ในอุดมคติว่าเป็นเช่นไร ใน utopia แห่งนี้ ชาวอุตตรกุรุทวีป มีอายุขัย 1,000 ปี หญิงชายจะเพศร่วมรักกันเพียง 7 วันเท่านั้นแล้วแยกย้าย ลูกที่เกิดออกมาจากผู้หญิงก็ไม่ได้เจ็บปวดหรือมีกลิ่นคาวอะไร คลอดแล้ววางไว้ริมทางพอ เดี๋ยวมันก็โตได้ด้วยตัวมันเอง เพราะมีกล้วยอ้อยผุดขึ้นมาให้กินทุกวัน ใครผ่านมาให้ดูดนิ้วเดี๋ยวก็บังเกิดน้ำนมไหลออกมา เด็กจึงไม่จำเป็นต้องรู้จักพ่อแม่ เพราะยังไงทุกคนก็หน้าตาเหมือนกันหมด แต่ไม่ต้องห่วงว่าพ่อแม่กับลูกจะได้กันเอง เพราะเค้าระบุไปแล้วว่ามนุษย์ในทวีปนี้มีบุญกุศล และมีเทวดาคอยป้องกันไว้ให้แล้ว… เอาซี้
ทั้งนี้ก็เพราะไตรภูมิพระร่วงที่เป็นภาพสะท้อนอุดมการณ์อุดมคติทางเพศของสังคม[6] การสร้างสำนึกการมี ‘อิตถีรัตน’ หรือ ‘นางแก้ว’ หญิงผู้มีบุญอันสั่งสมมาเมื่ออดีตชาติ จนเกิดมาในชนชั้นกษัตริย์ ผิวพรรณรูปร่างหน้าตางดงาม เหมาะจะเป็นมเหสีกษัตริย์ เสริมบารมีจักรพรรดิราชที่เป็นชายผู้มีบุญเพราะสะสมแต้มบุญมาเมื่อชาติปางก่อนไว้เยอะแล้วเช่นกัน ก็เป็นการกำหนดให้ผู้ชายเท่านั้นที่จะได้เป็นผู้ปกครองแบบปิตาธิปไตย ผู้หญิงเป็นเพียงอุปกรณ์ประดับบารมีเท่านั้น เสมือนช้างม้าอัญมณีสมบัติและทหารรับใช้ ก็เป็นมรดกจากไตรภูมิกถา
เช่นเดียวกับคติความเชื่อที่ว่าเกิดเป็นกะเทยเพราะมีกรรมเป็นทางศาสนา ก็เป็นอิทธิพลจากจักรวาลวิทยาไตรภูมิพระร่วงที่บันทึกว่า ผู้ใดกระทำบาปเป็นชู้กับภรรยาผู้อื่น จะต้องตกนรกสิมพลี ถูกลงโทษให้ปีนป่ายต้นงิ้วมีหนามเป็นเหล็กยาวแหลมคมมาก มีเปลวไฟลุกโพลงตลอดเวลา ฝูงยมบาลก็คอยเอาหอกทิ่มแทงได้รับความทุกข์ทรมานยาวนาน ก่อนจะไปเกิดเป็นกะเทย 1,000 ชาติ (ขณะที่จักรวาลวิทยาที่อื่น กะเทยเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เช่นปฐมมูลมูลีของล้านนา เมื่อแรกสร้างโลก และได้สร้างมนุษย์ 3 คนแรก คือ ชาย หญิง และ ‘นปุสกะ’ ที่หมายถึงไม่ใช่ทั้งชายและหญิง[7] )
คำอธิบายเกี่ยวกับสาวประเภทสองและคนข้ามเพศว่าเป็นเวรเป็นกรรม ทำบาปเมื่อชาติที่แล้ว จึงไม่ต่างไปจากความคิดความอ่านที่ว่า มีสระอโนดาตบ่อน้ำใหญ่หล่อเลี้ยงสัตว์ป่าหิมพานต์ หรือโลกมนุษย์แบนเป็นทรงหลังเต่า ดีที่มีปลาอานนท์ ปลาขนาดใหญ่ 1,000 โยชน์ (เป็นหน่วยวัดขนาดของชาวไตรภูมินะฮะ) ค้ำหนุนโลกไว้ไม่ให้จมน้ำ ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวก็เพราะปลาอานนท์พลิกตัว
ขณะเดียวกัน เซ็กซ์และสำนึกทางเพศของหิมพานต์ก็ยังคงอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ตั้งแต่ ‘พล นิกร กิมหงวน’ ของ ป. อินทรปาลิต ตอน ‘ป่าหิมพานต์’ ที่หนุ่มๆในเรื่องถอดจิตไปเที่ยวป่าหิมพานต์และเกี้ยวพาราสี ฝูงกินรีสาวสวยเปลือยท่อนบน แสนเหงาใจอยากมีผัวเป็นชายหนุ่มจากโลกมนุษย์ จนเกือบจะเข้าได้เข้าเข็ม[8] ไปจนถึงหนังแผ่นเรทอาร์ ‘กินรี นางในวรรณคดี’ ‘เสน่ห์นางเงือก’ และแน่นอนไม่พลาดที่จะมีเรื่อง ‘นารีผล คนพฤกษา’
ไปหาวาร์ปกันเอาเองนะฮะ…
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สุจิตต์ วงษ์เทศ.ไตรภูมิพระร่วง เป็นของสมัยอยุธยา, ธนบุรี, กรุงเทพฯ. มติชนรายวัน ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน 2554
[2] ชลธิรา กลัดอยู่.ไตรภูมิพระร่วง: รากฐานของอุดมการทางการเมืองของไทย. วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (2517), น. 106-121.
[3] นาธาน โอมาน (นามปากกา). นาธาน โอมาน ผมมันเด็กหลังเขา (หิมาลัย).กรุงเทพฯ : โพเอม่า บุคส์, 2547.
[4] อ่านเพิ่มเติม พิษณุ ศุภนิมิตร. ปริศนาแห่งหิมพานต์. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2551.
[5] เรื่องเดียวกัน.
[6] ชลธิรา (กลัดอยู่) สัตยาวัฒนา. ไตรภูมิพระร่วง : คุณค่าเชิงวิชาการเรื่องเพศ, ใน วิจารณ์รื้อวิจารณ์ : ตำนานวรรณคดีวิจารณ์แนวรื้อสร้างและสืบสาน. มหาสารคาม : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2550.
[7] อนาโตล โรเจอร์ เป็ลติเยร์. ตำนานเค้าผีล้านนา : ปฐมมูลมูลี. กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2534.
[8] ปรีชา อินทรปาลิต. พล นิกร กิมหงวน. ตอน ป่าหิมพานต์ ; และ, โรคกลัวน้ำ. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2550.