ไม่ว่าจะเรียก ‘กะหรี่’ ‘โสเภณี’ ‘นางกลางเมือง’ ‘หญิงโคมเขียว’ ‘นางทางโทรศัพท์’ ‘ไซด์ไลน์’ ‘เด็กนวด’ ‘ผู้หญิงหากิน’ ‘พริตตี้รับงาน’ ‘ไก่’ ‘ขายตัว’ หรืออะไรอีกร้อยแปดนาม ก็จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการทางเพศ ซึ่งไอ้ความหลากชื่อของอาชีพนี้สะท้อนให้เห็นถึงความอยู่ยั้งยืนยงของโสเภณี มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดำรงอยู่ทุกมิติพื้นที่โครงสร้างสังคม ทุกเทคโนโลยี ทุกแพลตฟอร์ม หลากหลายตลาดช่องทางการค้า และความพยายามดิ้นรนหลีกหนีจากการความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และการกดขี่เหยียดหยาม ด้วยการแสวงหาคำศัพท์คำเรียกใหม่ๆ มาทดแทน รวมทั้งวิวัฒนาการทางสังคมในการยอมรับอาชีพให้บริการทางเพศ
‘กะหรี่’ สันนิษฐานว่ามาจากภาษาฮินดี ‘โฉกกฬี’ (Chokari) ซึ่งแปลว่าเด็กผู้หญิง ถูกใช้ในโลกภาษาไทยเมื่อทหารอินเดียของอังกฤษเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทย เมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
‘พริตตี้รับงาน’ มาจากการแตกรายละเอียดฟังชั่นของพริตตี้ เป็นสายอาชีพย่อยออกไปอีก จากเดิมที่เป็นอาชีพบริการสร้างสีสันแนะนำสินค้าส่งเสริมการขายในงานยนตรกรรม ลานเบียร์ มาสู่เอนเตอร์เทนเนอร์ทางเพศในโลกชายเป็นใหญ่
‘โสเภณี’ มาจาก ‘นครโสเภณี’ เป็นคำบาลีสมัยโบราณชมพูทวีป ความหมายเดียวกับ ‘หญิงงามเมือง’ หมายถึงผู้หญิงที่ประกอบอาชีพที่ยังเมืองให้งาม ‘หญิงนครโสเภณี’ ในโลกภาษาไทยเป็นคำที่ใช้และความหมายหญิงผู้ให้บริการทางเพศเป็นหลัก ประโยคที่ว่า ‘รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ’ ก็ปรากฎในอยุธยาและกฎหมายตราสามดวง
ในโลกชายเป็นใหญ่ อาชีพที่เกิดขึ้นนี้ก็ดูเหมือนว่าจะมีเพื่อตอบสนองความต้องการทางเพศของผู้ชายที่มีเสรีภาพมากกว่า ชื่อเรียกอาชีพจึงมักมีภาพจำและรากศัพท์ที่เป็นผู้หญิง ต่างจากอาชีพแพทย์ วิศวกร นักการเมือง ผู้พิพากษา ตำรวจ ทหาร นักบวช นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี ที่มักมีภาพจำเป็นผู้ชายมากกว่า และมักถูกให้คุณค่ามากกว่า หากจะมีผู้หญิงประกอบอาชีพนี้ก็มักจะ suffix หญิงพ่วงท้ายเช่น แพทย์หญิง นักการเมืองหญิง ทหารหญิง
โสเภณีก็เช่นกันที่ผู้ชายจะหันมายึดอาชีพนี้บ้างก็มักจะต้องห้อยคำว่าชายท้ายอาชีพ เป็น ‘โสเภณีชาย’
เมื่อเทียบกับ ‘ขายตัว’ ‘เด็กนวด’ ที่เป็นคำกลาง ๆ ไม่ว่าเพศใดก็สามารถประกอบอาชีพนี้ได้ อย่างไรก็ตามอาชีพนี้ก็ยังคำถูกจัดวางให้ผู้ขายบริการต่ำกว่าผู้ซื้อบริการ ที่เป็นการรับใช้กึ่งพึ่งพิงมากกว่าการให้บริการ เหมือนกับที่ไปเรียกเค้าเป็น ‘อีหนู’ ‘โฉกกฬี’ ‘เด็กนวด’
ขณะเดียวกัน การใช้คำว่า ‘ขายตัว’ ก็ไม่ตรงกับ
การประกอบอาชีพนี้สักเท่าไร ต่อให้จะมีเซ็กส์แลกเงิน
สักกี่ครั้ง เราก็ยังมีกรรมสิทธิ์ในนาผืนน้อยของเรา
ยังคงเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของเราเอง ไม่ได้สูญเสียอะไร เพราะร่างกายไม่ใช่ทรัพยากรทางธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไปเหมือนถ่านหิน น้ำมันก๊าซ นำกลับมาใช้อีกไม่ได้ ต่อให้เรามีเซ็กซ์สักกี่ครั้ง คิดเงินหรือไม่คิดเงิน เราก็ไม่ได้เปลืองตัวอะไร
ขณะที่คำว่า ‘sex worker’ (ซึ่งถูกเรียกร้องให้ใช้แทนคำอื่นๆ ในโลกภาษาอังกฤษตั้งแต่ปลาย 1970’s ) เป็นคำกลางๆ ไม่ถูกใช้เป็นคำด่าเหมือนกะหรี่อีตัว เป็นคำเพศกลางๆ สะท้อนถึงอำนาจของผู้ประกอบอาชีพมากกว่า คำนี้มีความพยายามใช้เทียบเคียงภาษาไทยว่า ‘พนักงานบริการ’ หรือ ‘พนักงานบริการทางเพศ” ที่เป็นคำเพศกลางๆ เหมือนกันเหมาะกับทุกเพศสรีระเพศสภาพเพศวิถี ประกาศตรงๆ ว่าขายก็คือขาย มีความเป็นมืออาชีพ สร้างความภาคภูมิใจในงาน ไม่ต้องไปแฝงกับบริการอื่นเช่น นักร้องคาเฟ่ พริตตี้ หมอนวด
เหมือนกับคำเรียก ด้วยความพยายามยกระดับสถานภาพทางสังคมของอาชีพนี้ ก็นำไปสู่การอ้างประวัติศาสตร์ การดำรงอยู่คู่กับอารยธรรมของมนุษยชาติ ตั้งแต่กรีกโรมัน พุทธกาล ยันอยุธยา ว่าร่วมสร้างอารยธรรมสร้างบ้างแปงเมืองด้วยภาษีโสเภณี
เช่นในยุคสยามเริ่มสร้างถนนแทนขุดคลองสัญจร เช่น เจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร การค้าประเวณีมีระบบจดทะเบียนและเสียภาษี ในนาม ‘ภาษีบำรุงถนน’ ซึ่งสามารถเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนโสเภณีได้ 50,000 บาท และในปีพ.ศ. 2450 สามารถเก็บภาษีจากอาชีพนี้ได้ถึง 39,540 บาท
กระทั่งปี พ.ศ.2451 รัฐก็ได้ออก ‘พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก 127’ เพื่อจัดเก็บภาษีเองโดยตรง ที่ทำให้โสเภณีเป็นสถาบันมากขึ้น กำหนดให้ผู้ที่ประกอบอาชีพหญิงนครโสเภณี ต้องมาจากความสมัครใจไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญล่อลวง เสียค่าธรรมเนียมลงทะเบียนและตรวจสุขภาพโรคภัยไข้เจ็บ 3 เดือนครั้ง ซ่องเองก็ต้องจดทะเบียน บันทึกรายชื่อประชากรหญิงงามเมืองในสังกัด เจ้าหน้าที่รัฐก็มาตรวจตราสม่ำเสมอ และถ้ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เจ้าของซ่องก็ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีกฎระเบียบมากมายที่นายโรงหญิงนครโสเภณีหรือเจ้าของซ่องจะต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ก็เพื่อสุขอนามัยที่ดี ความปลอดภัยทั้งผู้ซื้อ ผู้ให้บริการ และเจ้าของซ่อง ที่กฎหมายกำหนดด้วยว่าต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น นำไปสู่การเรียกว่า ‘แม่เล้า’ ภายหลัง
และจากการสำรวจการค้าประเวณีหญิงในพระนครและหัวเมืองรอบนอกในปี พ.ศ.2451 ที่รัฐเพิ่งเริ่มเก็บภาษีเองพบว่า มีสถานประกอบการค้าประเวณี 319 แห่ง มีโสเภณีหญิง 2,500 คน มีทั้งหญิงไทย จีน และชาติอื่นๆ ลำพังค่าจดทะเบียน 3 เดือนครั้งก็ฉบับละ 12 บาท เท่ากับว่าในปีนี้ เฉพาะค่าลงทะเบียนโสเภณีรัฐก็ได้เงินมาแล้ว 120,000 บาท นี่ยังไม่นับภาษีจากนายโรงหญิงนครโสเภณีอีกนะ[1]
กว่าอาชีพโสเภณีและธุรกิจบริการทางเพศ
จะกลายเป็นอาชญกรรมก็เมื่อปี พ.ศ.2531
ที่มีพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 และย้ำอีกครั้งในหลายทศวรรษกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าประเวณีมีประวัติศาสตร์มายาวนาน และมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถเรียกเก็บภาษีที่สามารถนำมาสร้างบ้านแปงเมืองสร้างถนนหนทางความเจริญให้กับประเทศ มีจำนวนเม็ดเงินที่สร้างรายได้เข้าประเทศจากอาชีพจำนวนมหาศาลเช่น ในปี พ.ศ. 2558 เว็บไซต์ Havocscope พบว่าธุรกิจค้าประเวณี มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 6,400,000,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นจากการสำรวจในปี พ.ศ. 2545 ในงานวิจัยของ Rosalind C. Morris ประมาณการไว้ที่ 2,500,000,000 – 4,000,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ[2]
อันที่จริง ไม่ว่าอาชีพนี้จะเพิ่งเกิดขึ้น จะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับรัฐหรือไม่ก็ตาม ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องมาพิสูจน์ว่าโสเภณีมีประวัติศาสตร์มายาวนานเพื่อให้ได้รับการยอมรับทางสังคม ตั้งแต่ก่อนพระเยซูจะประสูติ ก่อนพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน หรือเชื่อมโยงกับรัฐและสาธารณประโยชน์ รับใช้ชาติช่วยสร้างชาติอย่างนั้นอย่างนี้ มีถึงขั้นไปอ้างว่าโสเภณีก็บรรลุโสดาบันได้ เงินจากอาชีพนี้ก็สามารถสร้างวัดวาอารามได้
เพราะไม่ว่าใครก็เป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของเขาเอง
สามารถตัดสินใจจัดการร่างกาย อวัยวะเพศ
และความต้องการทางเพศของพวกเขาและเธอได้เอง
หากเขาหรือเธอจะเลือกประกอบอาชีพให้บริการทางเพศ ก็ย่อมไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านต้องไปเดือดร้อนแทน อาชีพให้บริการทางเพศเป็นคนละเรื่องการกับค้ามนุษย์ เพราะใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย
ทว่าเพราะพรบ.ที่ออกมาภายหลังนี้ ทำให้ผู้ที่ยึดสัมมาอาชีพนี้ถูกผลักออกนอกพื้นที่ทางกฎหมาย ต้องลักลอบให้บริการ และนอกสายตาของรัฐที่แกล้งมองไม่เห็น
จากการสำรวจปี พ.ศ. 2558 ทั่วโลกมี sex worker ประมาณ 13,828,700 คน นับเฉพาะในไทยเป็นอันดับ 8 ของโลกที่มีประชากรผู้ประกอบอาชีพนี้ 250,000 คน และมีแนวโน้มจะมากขึ้น[3] เฉพาะในพัทยา จากข้อมูลปี พ.ศ. 2563 ของมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) พบว่ามี sex worker 9,000 คนเฉพาะในระบบสำรวจและอีกหลายพันคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการสำรวจ[4] หากแต่เมื่อภาครัฐสนธิกำลังเข้าตรวจสอบแหล่งสถานบันเทิงเหล่านี้กลับไม่พบการขายบริการทางเพศเลย
การไม่มีตัวตนในสายตารัฐและผลักไสให้ไปเป็นแรงานในตลาดมืด ไม่มีสิทธิเสมอภาคกับแรงงานอื่นๆ ไม่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เข้าถึงสิทธิและบริการด้านสาธารณสุขก็ยากกว่าแรงงานอื่น ทำให้สถานภาพของอาชีพนี้ย่ำแย่ลงกว่าสมัยถูกกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกนายจ้างแมงดาเอารัดเอาเปรียบ ถูกทารุณกรรมใช้ความรุนแรงและเลือกปฏิบัติ เหมือนกับที่พริตตี้รับงานเอ็นจำต้องดื่มกินอัพยาในปาร์ตี้ถึงตาย sex worker บางคนโดนแขกทุบตีเชิดเงิน ถูกแบล็กเมล์ จะไปร้องเรียนกับใครก็ไม่ได้อีก แถมบางครั้งตำรวจก็ล่อซื้อจับกุม
หนำซ้ำ เมื่อCOVID-19 ระบาด อาชีพนี้ก็ถูกกันออกไปจากโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ชวดเงินเยียวยา
การดำรงอยู่ของการค้าประเวณีในฐานะอาชญากรรมนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมที่ไม่มีผู้เสียหาย (victimless crime) ไม่มีใครคิดว่าเป็นผู้เสียหายมาร้องทุกข์ เพราะเป็นการกระทำโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย หากแต่ปัญหาเกิดจากรัฐบัญญัติกฎหมายที่มากเกินความจำเป็น กำหนดมาตรฐานทางศีลธรรมสูงเกินไป จนแทรกแซงละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล บังคับความประพฤติปฏิบัติด้านศีลธรรมของปัจเจกบุคคล[5] เหมือนกับพวกต่อต้านอาชีพค้าบริการทางเพศมักชอบอ้างว่าเป็นนี่เป็นเมืองพุทธ ที่สุดแสนจะคนละประเด็นผิดฝาผิดตัว เพราะโสเภณีมีทุกที่ มีทุกเมือง ไม่เกี่ยงลัทธิศาสนา และความเป็นเมืองก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปสังกัดหรือสังฆกรรมกับศาสนา กติกาบ้านเมืองกฎหมายก็ไม่ควรอยู่ภายใต้ศีลธรรมความเชื่อที่ควรจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
มากไปกว่านั้นการเรียกร้องสิทธิของพนักงานบริการ
ให้ยกเลิกโทษทางอาญา (decriminalization) เพื่อช่วยให้
ผู้ที่ประกอบสัมมาอาชีพนี้ไม่ใช่ผู้ละเมิดกฎหมายอีกต่อไป
ทำให้ได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็คนละเรื่อง
กับการทำให้โสเภณีถูกกฎหมาย (legalization)
คือการที่รัฐเข้ามาจัดการควบคุมกำกับอาชีพนี้ ซึ่งการที่จะให้รัฐเข้ามาจัดระเบียบในฐานะสัมมาอาชีพหนึ่งก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ พอๆ กับความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ของรัฐในเรื่องสวัสดิการต่างๆ เพราะก็มีหลายกิจการที่รัฐเข้ามาจัดระเบียบเพื่อเอื้อการผูกขาดของนายทุนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งก็เป็นกลุ่มนายทุนที่ใหญ่มากพอที่จะเข้าถึงและรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับอำนาจรัฐมาตลอด และการที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐก็ยังคงทำให้ผู้ให้บริการทางเพศที่ไม่ได้อยู่ในมาตรการของรัฐ ยังคงผิดกฎหมายและถูกปฏิบัติในฐานะอาชญากรอยู่
เพราะการให้บริการทางเพศมีทั้งทำประจำและอิสระเป็นฟรีแลนซ์ และมันไม่เสมอไปที่จะขายแล้วจะขายไปตลอด มันสามารถทำเมื่อไหรก็ได้ ตามโอกาส สภาพคล่องทางการเงิน
มากไปกว่านั้นการทำให้ธุรกิจขายบริการทางเพศไม่ผิดกฎหมาย มันก็คนละเรื่องกับประเด็นว่ากำลังสนับสนุนอาชีพนี้ เรื่องของเรื่องอยู่ที่รัฐจะต้องคุ้มครองสวัสดิภาพความปลอดภัยประชาชนทุกกลุ่มอัตลักษณ์และอาชีพต่างหาก ยิ่งรับงานในที่รโหฐานมิดชิด รองรับความกระสันกำหนัดที่หลากหลายเพศวิถี อาชีพที่ถึงเนื้อถึงตัว สัมพันธ์กับสุขอนามัยยิ่งต้องได้รับความใส่ใจเรื่องสวัสดิภาพเป็นพิเศษ
เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาถามว่า ยกเลิกป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เท่ากับสนับสนุนการค้าบริการทางเพศหรือไม่ หรือการที่ออกมาเรียกร้องสิทธิพนักงานบริการทางเพศเป็นการสนับสนุนส่งเสริมอาชีพนี้หรือไม่
ขอตอบแบบนางงามพร้อมใช้เลยนะว่า ขอสนับสนุนทุกอาชีพให้ได้รับสิทธิสวัสดิภาพอย่างเท่าเทียม มีศักดิ์ศรีคุณค่าเสมอหน้ากัน และสนับสนุนให้ทุกคนมีสิทธิเลือกที่จะประกอบอาชีพที่ชอบและตามความถนัด ส่วนรัฐก็ไม่ต้องมาแทรกแซงยุ่มย่ามกิจการกะหรี่หรอกค่ะ แค่ไม่ละเมิดไม่กีดกันสิทธิขั้นพื้นฐานให้ได้ก่อนเถอะ…ขอบคุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. (2531). โสเภณีกับนโยบายของรัฐบาล พ.ศ.2411-2503. วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[2] https://prachatai.com/journal/2015/01/57488
[3] https://havocscope.com/number-of-prostitutes/
[4] https://www.bbc.com/thai/52253353
[5] สุจิรา เชื่อมไพบูลย์. (2560). การค้าประเวณีโดยชอบด้วยกฎหมาย. วิทยานิพนธ์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.