‘เซ็กซ์เวิร์กเกอร์’ หรืออาชีพขายบริการทางเพศนับเป็นประเด็น ‘ช้างที่อยู่ในห้อง’ ของไทย เพราะทุกคนต่างรับรู้ว่ามีอยู่จริง บางคนเป็นลูกค้าขาประจำ และอีกจำนวนไม่น้อยที่อยากรู้อยากลองสัมผัสประสบการณ์เสียวข้ามคืนกับหญิงสาวหรือชายหนุ่มแปลกหน้า สนนราคาหลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท
เพื่อนชาวต่างชาติต่างแปลกใจเมื่อผมเล่าให้ฟังว่าการค้าบริการทางเพศในประเทศไทยเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวของไทยมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับที่คนไทยรู้ ทั่วโลกรู้ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่รู้ ทั้งที่เพียงเปิดกูเกิลแล้วเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ด ‘ส่งการบ้าน’ ก็สามารถรวบรวมรายละเอียดตั้งแต่พิกัดร้าน หน้าตา ทรวดทรง กระทั่งเทคนิกลีลาของเหล่าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์อย่างละเอียด เรียกได้ว่าสามารถบุกไป ‘บังคับใช้กฎหมาย’ ได้อย่างไม่ยากเย็น
สิ่งที่ชวนให้ฉงนสงสัยคือ ถ้ารัฐไม่ต้องการปราบปราม แถมยังเปิดทางให้ค้าบริการทางเพศแบบโจ่งแจ้งขนาดนี้ ทำไมไม่ปรับแก้กฎหมายแล้วเปิดทางให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์กลายเป็นสัมมาชีพ เฉกเช่นในประเทศอย่างเยอรมัน เนเธอร์แลนด์ หรือนิวซีแลนด์ ให้มันรู้แล้วรู้รอด
คำตอบก็เพราะว่า…
ถ้าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย ผู้หญิงจะปลอดภัยมากขึ้น
เจตนารมณ์ของกฎหมายห้ามค้าประเวณีจะมุ่งเป้าไปที่การปกป้องคุ้มครองผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อองค์กรค้ามนุษย์ อีกทั้งยังมองว่าอาชีพโสเภณียังขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นี่คือสาเหตุที่องค์กรสหประชาชาติเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงหลักเพื่อผลักดันให้ประเทศสมาชิกร่วมขจัดการค้าประเวณีให้หมดไปตั้งแต่เมื่อ 70 ปีก่อน ไทยในฐานะประเทศสมาชิกก็รับแนวคิดดังกล่าวแล้วนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายห้ามการค้าประเวณีจวบจนปัจจุบัน
แต่ท่าทีขององค์การสหประชาชาติเปลี่ยนไปมาก เรียกว่าหักจนแหกโค้ง เพราะในรายงานฉบับหนึ่งซึ่งเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2555 ที่สำรวจด้านกฎหมายและการค้าบริการทางเพศของประเทศในแถบเอเชียมีข้อสรุปว่า หากเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมายจะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพในอุตสาหกรรมค้าบริการทางเพศ สนับสนุนให้มีการร่วมเพศอย่างปลอดภัย อีกทั้งยังไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่าการปลดล็อคเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ให้เป็นสัมมาชีพไม่ได้ส่งเสริมให้มีผู้ขายบริการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
ที่สำคัญกฎหมายที่ห้ามการค้าประเวณีของแถบเอเชียแปซิฟิกยังไม่ช่วยลดการระบาดของโรคเอดส์ในหมู่เซ็กซ์เวิร์กเกอร์และผู้ใช้บริการ แต่ในทางกลับกัน ประเทศที่เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ถูกกฎหมายกลับพบว่ามีการระบาดของโรคเอดส์ต่ำกว่าและมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยสูงกว่า อีกทั้งช่วยลดอัตราการถูกทำร้ายของเซ็กเวิร์กเกอร์อีกด้วย (ชวนไปอภิปรายประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนกับโสเภณี สามารถอ่านต่อได้ในบทความโดยคุณชานันท์ ยอดหงษ์นะครับ)
งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งเกิดจากความไม่ตั้งใจของผู้ตรากฎหมายของรัฐโรดไอแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เปิดช่องว่างจนเปิดทางให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ถูกกฎหมายตราบใดที่มีการซื้อขายบริการในเคหะสถาน เกิดเป็นงานวิจัยชิ้นสำคัญที่แสดงหลักฐานสนับสนุนว่าถ้าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมายจะช่วยให้ผู้หญิงปลอดภัยมากขึ้น เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนคดีข่มขืนมีจำนวนลดลงถึง 31 เปอร์เซ็นต์
ถ้าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น
เมื่อการค้าประเวณีในไทยผิดกฎหมายก็ย่อมเป็นการปิดประตูโอกาสในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปโดยปริยาย ซึ่งนับว่าน่าเสียดายไม่น้อยเพราะอุตสาหกรรมขายบริการน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี
มีการศึกษาหลายต่อหลายชิ้นพยายามหามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการค้าประเวณีในไทย แต่ในเมื่อธุรกิจดังกล่าวผิดกฎหมายนักวิจัยก็ทำได้เพียงใช้เครื่องมือและข้อมูลเท่าที่มีในการประมาณการ ผมขอเลือกตัวเลขจากงานวิจัยของนักการเมืองเจ้าพ่ออ่างอย่างชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ที่ประมาณการว่าธุรกิจค่าบริการทางเพศคิดเป็นสัดส่วนราว 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี โดยมีการจ้างงานกว่าแสนคน
มองเผินๆ อาจจะน้อย แต่ตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ในประเทศไทย
แล้วเงินที่ควรจะเป็นภาษีเข้ากระเป๋ารัฐบาลหายไปไหน? แน่นอนว่าไม่ใช่กระเป๋าสตางค์ของเซ็กซ์เวิร์กเกอร์หรือเจ้าของสถานบริการ แต่กลายเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่รัฐสำหรับค่า ‘เอาหูไปนาเอาตาไปไร่’ เสมือนหนึ่งว่าธุรกิจค้าบริการทางเพศนั้นไม่มีอยู่จริง
ถ้าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย ท่อน้ำเลี้ยงเจ้าหน้าที่รัฐที่หากินกับเซ็กซ์เวิร์กเกอร์จะหายไป
ตามแบบจำลองเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมขั้นพื้นฐาน เราจะบรรลุความสุขสูงสุดในสังคมได้ก็ต่อเมื่อเกิดธุรกรรมระหว่างผู้ซื้อที่ยินดีจะซื้อและผู้ขายที่ยินดีจะขาย แต่หากธุรกรรมไม่เกิด ทั้งสองฝ่ายก็คงได้เดินเศร้าๆ กอดของหรือกำเงินกลับบ้านด้วยความผิดหวัง
กฎหมายห้ามค้าประเวณีก็คือการบังคับห้ามทำธุรกรรมแม้ว่าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างยินยอมพร้อมใจ สถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิด ‘ตลาดมืด’ ที่เหล่าผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำธุรกรรมกันแบบหลบๆ ซ่อนๆ ส่งผลให้ราคาในการซื้อขายเพิ่มขึ้นโดยปริยาย เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากความเสี่ยงที่จะโดนจับหรือโดนปรับ รวมถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้องจำยอมจ่ายเงินก้อนใหญ่ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำเสมือนหนึ่งธุรกิจผิดกฎหมายไม่มีอยู่จริง
การทำให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมายจึงเท่ากับการตัดท่อน้ำเลี้ยงขบวนการใต้ดิน เตะตัดขาเหล่าผู้มีอิทธิพล อีกทั้งเป็นการดัดหลังข้าราชการที่ร่ำรวยจากการคอร์รัปชัน
พอเห็นภาพหรือยังครับ ว่าทำไมการผลักดันประเด็นนี้ถึงเป็นเรื่องที่แสนจะยากเย็นและยังไม่มีใครทำสำเร็จ?
หากใครมีโอกาสได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ในประเทศไทย ทั้งมิติเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ จะพบว่ามีการศึกษาจำนวนไม่น้อยส่งเสียงสนับสนุนให้ยกเลิกความผิดจากการค้าประเวณี โดยนักการเมืองไทยคนล่าสุดที่หยิบยกประเด็นนี้มาทบทวนคือทักษิณ ชินวัตร แต่กลับไม่ได้เดินหน้าต่อตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้
โชคดีที่ผมได้อยู่ทันเห็นกระแสคนรุ่นใหม่ที่ใจเปิดกว้างกับประเด็นเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ในประเทศไทย แม้ว่าจะมีฝั่งอนุรักษ์นิยมจำนวนไม่น้อยยังพยายามคัดง้างด้วยการสวมหน้ากากศีลธรรม แต่โปรดระลึกไว้เถอะครับว่า การบังคับใช้กฎหมายที่อิงหลักศีลธรรมแต่ไม่อิงกับสภาพความเป็นจริงอาจกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี
ถ้าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย มีอะไรน่ากังวลอีก?
สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันคือการทำให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย ไม่ได้หมายถึงการเปิดเสรีเซ็กซ์เวิร์กเกอร์โดยไม่มีการควบคุมใดๆ เพราะรัฐบาลสามารถออกกฎหมายฉบับพิเศษที่มากำกับดูแลธุรกิจโสเภณีเสมือนธุรกิจประเภทหนึ่ง ซึ่งหัวใจสำคัญคือเซ็กซ์เวิร์กเกอร์จะต้องเป็นผู้ที่บรรลุนิติภาวะและทำอาชีพนี้โดยสมัครใจ โดยรัฐอาจเพิ่มเติมมาตรการเชิงป้องกัน เช่น การตรวจสุขภาพและอบรมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยเป็นประจำทุกปี หรือกฎหมายที่บังคับให้ผู้ซื้อบริการต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยไม่เช่นนั้นจะมีความผิด เป็นต้น
อย่างไรก็ดี เอ็นจีโอข้ามชาติจำนวนไม่น้อยค้านแนวคิดดังกล่าวแบบหัวชนฝา โดยมองว่าหากเปิดทางให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมายจะทำให้เครือข่ายลักลอบค้ามนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงที่หญิงสาวหรือชายหนุ่มจะถูกหลอกลวงให้เข้ามาขายบริการทางเพศอย่างไม่สมัครใจ
แต่ไม่เป็นไรครับ ผมมีทางเลือกที่สามสำหรับคนที่ยังกังวลกับประเด็นข้างต้น นั่นคือโมเดลปราบปรามการขายบริการทางเพศแบบสวีเดน นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์ ซึ่งเซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมายแต่จะไปเอาผิดกับผู้ซื้อบริการแทนเพื่อเป็นการลดความต้องการซื้อ ขณะเดียวกันรัฐก็ดำเนินโครงการหนุนเสริมเซ็กซ์เวิร์กเกอร์อย่างเข้มข้น ทั้งการจัดหาที่อยู่อาศัยและการฝึกอาชีพเพื่อให้เหล่าเซ็กซ์เวิร์กเกอร์มีทางเลือกที่มากกว่าการขายบริการ
แนวคิดดังกล่าวก็คล้ายกับกฎหมายที่กำหนดให้การค้าประเวณีผิดกฎหมาย แต่เปลี่ยนฝั่งผู้กระทำผิดเป็นผู้ซื้อบริการ โดยมีปลายทางเหมือนกันคือขจัดธุรกิจค้าบริการทางเพศให้หมดไป
ผมคงไม่สามารถให้คำตอบประชาชนชาวไทยได้นะครับว่าเราควรเดินหน้าไปทางไหน แต่สิ่งหนึ่งที่คงพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำคือกฎหมายห้ามค้าประเวณีของไทยมีผลเสียมากกว่าผลได้ และไร้ประสิทธิผลหากเจตนารมย์ของกฎหมายฉบับดังกล่าวต้องการปราบปรามการค้าบริการทางเพศในไทย จุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหาคือการทำให้เซ็กซ์เวิร์กเกอร์ไม่เป็นงานที่ผิดกฎหมาย ส่วนไทยจะทดลองเดินตามโมเดลประเทศไหนหรือคิดค้นแนวทางใหม่ขึ้นมา คงต้องฝากเป็นการบ้านไว้ให้ผู้อ่านไปคิดต่อแล้วกันนะครับ
อ่านเพิ่มเติม
ธุรกิจการค้นประเวณีในประเทศไทย
เศรษฐกิจใต้ดิน: การค้าประเวณีแฝงในสถานบริการนวดแผนโบราณในประเทศไทย
Sex Work and The Law In Asia And The Pacific
Why decriminalising sex work is a good idea
What the Swedish Model Gets Wrong About Prostitution