เพราะชีวิตมีเรื่องราวมากมายให้ค้นหาเล่าเรียนและทำ การขี่ม้าก็เป็นอีกสิ่งที่น่าลอง เพราะการควบคุมสัตว์ขนาดประมาณ 360-450 กิโล สูง 145-155 เซนติเมตร ให้พาเราไปไหนต่อไหนมันช่างดูยากและท้าทาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงก็ยิ่งยากเข้าไปอีก ภายใต้โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่กว่า
แต่ผู้หญิงขี่ม้าก็มีมายาวนานแล้วในหลายเขตวัฒนธรรมและอู่อารยธรรมกรีก โรมัน อเมซอน เอเชีย พวกนางควบม้าไปไหนต่อไหนในฐานะพาหนะอย่างหนึ่ง กระทั่งเมื่อเริ่มมีสำนึกหญิงสาวต้องรักษาความบริสุทธิ์ก่อนแต่งงาน ให้คุณค่ากับเยื่อพรหมจารีว่าเป็นสิ่งสลักสำคัญที่ลูกผู้หญิงต้องเก็บรักษา ไม่ใช่เก็บเพื่อตัวเธอเอง หากแต่เพื่อความสบายใจและพึงพอใจของผู้ชายที่มีเสรีภาพทางเพศมากกว่า
และการขี่ม้าแบบนั่งคร่อมก็เชื่อว่าจะไปกระเทือนส่วนที่อ่อนโยนตรงนั้นของสุภาพสตรี เป็นท่านั่งที่ไม่ถูกสุขลักษณะ สุ่มเสียงต่อร่างกายให้เสียเยื่อพรหมจารี ซ้ำการนั่งขี่ม้าแหกแข้งแหกขาถ่างแบบนั้นก็ไม่งามไม่เป็นผู้ดี โดยเฉพาะหญิงชนชั้นสูงที่ขัดต่อธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงไม่ว่าซ้อนหรือควบม้าเอง พวกนางจึงไม่นั่งคร่อม หากแต่นั่งไพล่แทน (นั่งไพล่เป็นยังไง คิดสภาพผู้หญิงนุ่งกระโปรงซ้อนมอไซค์ นั่งเข่าติดกันสองขาชิดอะ)
ไม่เพียงผู้หญิงต้องบิดดัดร่างกายตนเองเวลาขี่ ยังต้องปรับสมดุลบนหลังม้า และด้วยท่านั่งบังคับนี้จึงนำไปสู่ประดิษฐกรรมที่เรียกว่า sidesaddle หรืออานม้าสำหรับสตรีให้นั่งไพล่ได้สะดวก ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 ในโลกของคริสเตียนผิวขาวชาวตะวันตก
ด้วยสำนึกหวงแหนพรหมจรรย์ของหญิงสาวพวกชนชั้นสูงจึงมีเรื่องเล่าว่า sidesaddle เริ่มมีในคราวที่เจ้าหญิงแอนน์แห่งโบฮีเมียต้องเดินทางด้วยการนั่งบนหลังม้าไปเสกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ ในปี 1382 เพื่อรักษาความเป็นพรหมจรรย์ทางกายภาพเธอต้องนั่งอานม้าที่ทำพิเศษขึ้นเป็นตั่งที่มีอาสน์ขนาดใหญ่พร้อมที่พักเท้าเพื่อไม่ให้นั่งคร่อมม้า เดินทางข้ามยุโรปจากแคว้นโบฮีเมีย (หรือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน) มายังอังกฤษ
การที่ผู้หญิงต้องนั่งไพล่ก็ทำให้เธอไม่สามารถควบม้าได้เอง เพราะลำพังควบคุมตนเองไม่ให้ตกม้าก็ยากพออยู่แล้ว พวกเธอจึงได้แต่เป็นผู้นั่งซ้อนท้าย sidesaddle ก็ถูกออกแบบมาให้พวกเธอเป็นผู้ตามให้ผู้ชายเป็นคนควบม้าเท่านั้น แต่ sidesaddle ก็มีพัฒนาการมาตลอด จากหมอนกันกระแทกมาสู่อานที่คล้ายเก้าอี้เล็กๆ มีโกลนไม้วางเท้าเฉพาะข้างซ้าย (เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ว่าเพศใดก็ขึ้นลงม้าทางด้านซ้าย) มาสู่อานผู้หญิงที่สามารถนั่งบนม้าได้โดยไม่ได้ซ้อนหลังผู้ชาย หากแต่ก็ไม่ได้ควบม้าไปไหนต่อไหนตามความต้องการของเธอเอง เพราะท่าบังคับเช่นนั้น พวกเธอจึงได้แต่เพียงนั่งสวยๆ ประคองไม่ให้ร่วงลงมาขณะม้าเคลื่อนไหวก็พอ โดยมีผู้ชายเป็นคนคอยจูงไปไหนต่อไหน
จนกระทั่งใน ศตวรรษที่ 16 Catherine de’ Medici ได้ออกแบบท่านั่งขี่ม้าที่ผู้หญิงจะหันตรงไปทางเดียวกับม้าได้
ด้วยการยกขาขวาไว้บนอานคล้องไปกับส่วนที่ยื่นออกมาบนอานม้าเพื่อไม่ให้ตกม้า ส่วนเท้าซ้ายก็เหยียบโกลนไว้ ทำให้เธอสามารถบังคับม้าได้เอง แต่ก็ไม่ได้ควบม้าได้เร็ว ด้วยท่านั่งเช่นนี้นำไปสู่การประดิษฐ์อานม้าสตรีที่ติดตรึงต้นขาขวาและประคองขาซ้ายได้ในช่วง 1830s โดย Jules Pellier เพื่อความปลอดภัยไม่ให้ตกม้าเวลาควบเร็วๆ หรือกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง กลายเป็นการปฏิวัติการขี่ม้าของผู้หญิง ให้พวกเธอสามารถควบคุมม้าได้ด้วยตนเองอย่างปลอดภัย
ขณะที่ผู้หญิงที่ควบม้าคร่อมจะถูกประณามดูหมิ่นอย่างไร้เกียรติ แต่ก็มีหญิงชั้นสูงบางคนพยายามจะปฏิวัติ Catherine the Great จักรพรรดินีรัสเซีย นารีผู้เรืองอำนาจในช่วง 1762-1796 ไม่เพียงปลดพระสวามีออกจากบัลลังก์ แต่ยังก้าวข้ามโครงสร้างและบรรทัดฐานปิตาธิปไตย โดยได้ออกพระราชโองการให้ทุกคนในราชสำนัก รวมทั้งหญิงรับใช้ขี่ม้าแบบคร่อมแทน ซ้ำยังสั่งวาดภาพของเธอกำลังคร่อมม้าขี่ในเครื่องแบบผู้ชายอย่างสง่าผ่าเผย
สังคมปิตาธิปไตยที่มักจะหมกมุ่นกับการกำกับเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง ราวกับคุมบังเหียนม้า ชีวิตของผู้หญิงก็ลำบากเสียเช่นนี้ แม้แต่การเดินทางไปไหนมาไหน การขี่ม้าไพล่จึงเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของการกดขี่ทางเพศที่ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเรื่องเพศ
ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 อานม้าผู้หญิงก็คลายความนิยมเพราะสังคมเริ่มจะยอมรับผู้หญิงนุ่งกางเกงขี่ม้านั่งคร่อมควบม้าได้ และหลังจากการเคลื่อนไหวสิทธิสตรีโดยเฉพาะหลัง 1920 เป็นต้นมา ที่การขี่ม้าของผู้หญิงสัมพันธ์กับสิทธิทางการเมือง
ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษ 1910 บรรดาผู้หญิงจำนวนมากทั้งนักคิดนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ดารานักแสดง นักกิจกรรม ต่างเคลื่อนไหวเพื่อให้มีสิทธิพลเมืองสามารถเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับผู้ชาย และในปี 1913 เพียง 1 วันก่อน Woodrow Wilson เข้าพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดี พวกผู้หญิงจำนวนมหาศาลมากกว่า 5,000 คน ต่างเดินพาเหรดเรียกร้องสิทธิในการออกเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตลอดข้างทางคลาคล่ำไปด้วยผู้คนมืดฟ้ามัวดินประมาณ 500,000 คน หนึ่งในพาเหรดนั้น Inez Milholland คือ ‘นารีขี่ม้าขาว’ เธอมีอาชีพเป็นทนายแรงงานและเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนตั้งแต่ปี 1911 ในวันนั้นเธอควบคร่อมม้าที่ชื่อ Gray Dawn ออกนำขบวนอย่างสง่างดงาม ที่ขี่ม้าแบบผู้ชายก็เพราะต้องการจะประกาศว่าผู้หญิงก็ขี่ม้าได้แช่นกัน และเพื่อสื่อถึงว่าการขี่ม้าก็เสมือนการเลือกตั้งที่ผู้หญิงกับผู้ชายต้องได้รับความเสมอภาค
ขณะที่พวกผู้หญิงเดินขบวนเคลื่อนอย่างสันติก็มีกลุ่มอันธพาลเข้ามาคุกคามโจมตีด่าทอด้วยคำหยาบโลน ผู้หญิงหลายคนถูกรุมทึ้ง ผลักให้ล้มและลวนลาม หลายนางในขบวนประมาณ 300 คน บาดเจ็บ และต้องการความช่วยเหลือทางแพทย์ ขณะที่ตำรวจชายยืนดูอย่างดูดาย Inez Milholland จึงควบม้าขับไล่อันธพาลพวกนั้นไป
จากการจลาจลในครั้งนั้น ประวัติศาสตร์จึงได้บันทึกให้เธอเป็นวีรสตรี เป็นนารีขี่ม้าขาว ไม่ใช่นารีขี่ม้าสับขาหลอก เพราะเธอไม่เพียงปลดปล่อยตัวเองออกจากการถูกกดขี่ ต่อสู้เพื่อให้ประชาชนผู้คนจำนวนมาก ไม่ใช่เพื่อให้ตัวเองเป็นที่หนึ่งเดียว แต่เมื่อเกิดวิกฤตการณ์จริงๆ ก็พร้อมเผชิญหน้า ต่อสู้ไปพร้อมกับคณะของเธอ ไม่ได้ควบม้าชิ่งหนี