ความเข้าใจอย่างหนึ่งอันแพร่หลายในหมู่เราๆ ท่านๆ ทุกวันนี้คือ ผู้หญิงในอดีตเมื่อ 100 ปีก่อนนั้นมีสถานะผูกติดอยู่กับเหย้าเฝ้าอยู่กับเรือน พวกเธอไม่สามารถประกอบอาชีพนอกบ้านได้เฉกเช่นผู้ชาย แต่สิ่งที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องของผู้หญิงรุ่นทวดที่สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยการจัดแสดงมหรสพประจำท้องถิ่นภาคใต้อย่างหนังตะลุง
ถูกแล้วครับ เธอคือนักเชิดรูปเงาบนจอผ้าขาว ซึ่งถ้าเป็นผู้ชายคงเรียก ‘นายหนังตะลุง’ แต่พอเป็นผู้หญิง ผมจึงขออนุญาตถือวิสาสะเรียก ‘นางหนังตะลุง’ ก็แล้วกัน
หลับ ร่วงแก้ว คือชื่อจริงๆ ของนักเชิดรูปเงาผู้หญิงที่ผมเกริ่นไว้ คุณทวดคนนี้เป็นชาวตำบลเขาพังไกรในเขตหัวไทร เมืองนครศรีธรรมราช บุตรของนายพลอยและนางทองไหม เธอลืมตาดูโลกครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช 2431 มูลเหตุที่ทำให้ทวดหลับได้คลุกคลีกับหนังตะลุงและใฝ่ฝันอยากจะเชิดตัวหนังตะลุงมาตั้งแต่เด็กๆ สืบเนื่องจากคุณตาของเธอครองสถานะนายหนังตะลุงลือนามจนชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘หนังเพ็งจันทร์’ ครั้นเล็งเห็นหลานสาวของตนชอบเหลือเกินที่จะเอาใบไม้มาแทนตัวหนังชักเชิด ขยับปากร้องเล่นกลอนต่างๆ นายหนังเพ็งจันทร์จึงตัดสินใจสอนวิธีการเล่นหนังตะลุงให้ จวบกระทั่งเธอเติบโตเข้าสู่วัยสาวสะพรั่งอายุ 15 -16 ปี ฝีมือการเชิดหนังก็เข้าขั้นสามารถออกโรงทำการแสดงต่อสาธารณะได้ ทวดหลับเลยเข้าพิธีครอบมือกลายเป็นนักเชิดหนังตะลุงเต็มตัว คณะของเธอตระเวนไปจัดแสดงในหลายจังหวัดภาคใต้ทั้งนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยผู้ชมเทความนิยมมาให้อย่างล้นหลาม
แม้เป็นเพียงผู้หญิงซึ่งในยุคสมัยนั้นอาจจะมิได้มีบทบาทสถานะทางสังคมทัดเทียมผู้ชาย ที่แน่ๆ คือการไม่ได้เรียนหนังสือ ยิ่งในสังคมชาวบ้านด้วยแล้ว เพศหญิงถูกจัดวางยึดโยงความเป็นแม่และความเป็นเมีย ภาพลักษณ์พวกเธอผูกพันต่อพื้นที่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรรอบๆ บ้านเสียมากกว่า แต่คณะหนังตะลุงของผู้หญิงนามว่า หลับ ร่วงแก้ว ได้สำแดงความเป็นหญิงที่สามารถประกอบกิจกรรมเฉกเช่นเพศชายอย่างมิครั่นคร้าม เธอผ่านการประชันกับคณะหนังตะลุงฝ่ายชายมาหลายครั้งหลายหน นายหนังที่เคยแข่งขันได้แก่ นายหนังโขง นายหนังพลอย และนายหนังปานบอด
กรณีที่ส่งผลให้กิตติศัพท์ของคณะหนังตะลุงหลับ ร่วงแก้วโจษขานเกรียวกราวมากคือการเอาชนะยอดนายหนังตะลุงภาคใต้ ชื่อ นายปาน ชีช้าง หรือ ‘ปานบอด’
แท้แล้ว ปานบอดเป็นคนบ้านเดียวกันกับ หลับ ร่วงแก้ว เพราะภูมิลำเนาก็อยู่ที่เขาพังไกร เพียงแต่นายปานอายุอ่อนกว่าสัก 2 ปี (เกิดปีพุทธศักราช 2433) ฉายา ‘ปานบอด’ ได้มาจากการที่เขาตาพิการทั้งสองข้าง แต่มีปฏิภาณไหวพริบเฉียบแหลม เชี่ยวชาญพิเศษทั้งการเล่นหนังตะลุงและเพลงบอก สิ่งที่ทำให้ปานบอดโด่งดังสุดๆ เห็นจะไม่พ้นการประชันเพลงบอกครั้งสำคัญกับศิลปินรุ่นน้าอย่าง ‘รอดหล่อ’ (ชื่อนายรอด แต่หน้าตาหล่อเหลา คำว่า ‘หล่อ’ ในเสียงภาคใต้จะฟังได้เป็น ‘หลอ’ ยังมีความหมายในเชิงการมีโวหารลื่นไหลพลิกแพลงด้วย) ชาวปากพนัง ในงานแห่สลากภัต ณ วัดท่าเสริม เขตหัวไทร เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีพุทธศักราช 2452 ตอนนั้นนายปานอายุเพียง 19 ปี ขณะรอดหล่อคงน่าจะอายุราวๆ 40 ประสบการณ์โชกโชนกว่า หากท้ายสุดนายปานคือฝ่ายชนะการประชัน
การแข่งขันโต้เพลงบอกคล้ายๆ การโต้วาทีแบบที่เราๆ ท่านๆ อาจเคยทดลองโต้กันมาบ้างในคาบเรียนวิชาภาษาไทย ใครหลายคนก็อาจเคยเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันด้วย เพียงแต่โต้วาทีนั้นโต้ตอบเป็นคำพูด ส่วนเพลงบอกโต้ตอบเป็นบทเพลงมีฉันทลักษณ์ ท่วงทำนองลีลา การขับขานให้เข้าจังหวะเสียงดนตรี รวมถึงเอกลักษณ์และไหวพริบเฉพาะตัวของพ่อเพลง
อ้อ! กรณีการประชันระหว่างปานบอดกับรอดหล่อนั้นมักจะชวนให้ผมนึกถึงกรณีประชันระนาดเอกระหว่างหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ตอนหนุ่มๆ อายุ 19 ปี กับพระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) วัยสามสิบปลายๆ ซึ่งถ้าใครเคยชมภาพยนตร์โหมโรงก็จะเห็นฉากการประชันนี้ผ่านตัวละครจางวางศรกับขุนอินนั่นเอง
วกกลับมายังหนังหลับ ร่วงแก้วกันต่อ ฝีมือของเธอสามารถเอาชนะนายหนังตะลุงระดับตัวพ่อเยี่ยง ‘ปานบอด’ มาได้ ย่อมไม่ธรรมดา อื้อหือ ไม่ธรรมดา สำหรับเรื่องราวที่หนังหลับหยิบยกมาแสดงก็จำพวกรามเกียรติ์ และนิยายจักรๆ วงศ์ๆ ต่างๆ นานา มิหนำซ้ำ มนต์เสน่ห์สำคัญของนักร้องกลอนหนังตะลุงหญิงผู้นี้อยู่ตรง ‘บทสมห้อง’
คุณผู้อ่านเริ่มผูกโบว์ตรงหัวคิ้ว ‘บทสมห้อง’ คืออะไรกัน? ถ้าอยากทราบคำตอบ คุณได้สิทธิ์นั้นเดี๋ยวนี้ครับ
‘บทสมห้อง’ นับเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเล่นหนังตะลุง หากจะเทียบเคียงกับเนื้อหาอันปรากฏในวรรณคดีไทยภาคกลางก็ย่อมไม่แคล้วเข้าข่ายแบบที่เรียกขานว่า ‘บทอัศจรรย์’ หรือเนื้อหาพฤติกรรมร่วมเพศของตัวละครถ้อยนิยามของ ‘สมห้อง’ ตามที่ปรากฏในพจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2550 ได้แก่ “บทอัศจรรย์ในวรรณกรรมและกลอนหนังตะลุง”ทางด้านพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542 ให้ความหมาย ‘บทอัศจรรย์’ ว่า “บทร้อยกรองตามธรรมเนียมนิยมในวรรณคดี พรรณนาเพศสัมพันธ์ของชายหญิง มักกล่าวให้เป็นที่เข้าใจโดยใช้โวหารเป็นสัญลักษณ์หรืออุปมาอุปไมย เป็นต้น” กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าบทอัศจรรย์หรือ ‘บทสมห้อง’ ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญเพื่อบอกเล่าการร่วมประเวณีของตัวละคร นับแต่เกี้ยวพาราสี คลึงเคล้าเล้าโลม สอดใส่เครื่องเพศ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกาย ไปจนกระทั่งถึงจุดสุดยอดของกามกิจและความพึงพอใจในเพศรสที่ได้รับ
‘สมห้อง’ ยังมีความหมายในแง่ความเหมาะสมของคู่รักที่จะครองชีวิตผัวเมียร่วมกัน เหมาะสมขนาดที่พวกเขาพวกเธอจะร่วมนอนหอห้องเดียวกันได้ด้วย กระนั้น ตามข้อสังเกตของผม ส่วนใหญ่แล้ว ‘บทสมห้อง’ ในกลอนหนังตะลุงมักพรรณนาสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในห้องหับรโหฐาน แต่กลับไปให้รายละเอียดภาพพจน์ความเคลื่อนไหวในอาณาบริเวณกลางแจ้งต่างๆ นานาเสียมากกว่า ทั้งๆ ที่ความจริงการสังวาสบังเกิดขึ้นในห้องนั่นแหละ
เอ๊ะ! ทำไมผมจึงเน้นๆ เนื้อหา ‘บทสมห้อง’ ล่ะเนี่ย ? ก็เพราะช่างน่าแปลกที่กลอนหนังตะลุงส่วนนี้มักตราตรึงอยู่ในควาทรงจำผู้ชมทั้งหลายอย่างมิรู้ลืมเลือน แทบจะกล่าวได้ว่า พอมีการพรั่งพรูถึงชีวประวัตินักเชิดรูปเงาคนไหนขึ้นมาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ถูกละเลยเอ่ยถามย่อมมิแคล้วสำบัดสำนวนลีลากลอนที่เผยภาพพจน์การเข้าห้องหอของตัวละคร ผู้ชายนำเสนอเรื่องเพศคงไม่ท่าไหร่ แต่ผู้หญิงเมื่อเกือบร้อยปีก่อนอย่างทวดหลับขับขานกลอนสะท้อนการเสพสมต่อพื้นที่สาธารณะ ถือเป็นของชวนตื่นเต้นมิใช่น้อย แม้จะใช้สัญลักษณ์และกลวิธีวรรณศิลป์ช่วยอำพรางก็ตามเถอะ มัวช้าอยู่ไย งั้นลองสัมผัส ‘บทสมห้องรอกเจาะพร้าว’ ของนางหนังตะลุงกันเลย
อัศจรรย์ฉันจะบอกรอกเจาะพร้าว ตื่นแต่เช้าลัดเลาะเสาะแสวง
ออกจากรังโดดเต้นแล่นตามแรง พบพร้าวแดงลูกดกรกรอบคอ
กำลังอยากจะกินเหลืออนาถ พอปรับหราดตีนตรันหัวหันผรอ
ทั้งสองตีนปีนป่ายไม่ย่อท้อ ทั้งปัดคอปัดตีนขึ้นปีนทาง
ก้มลงกัดหดหัวเสียวถึงหาง สองมือปัดปีนตีนตรันทาง
ให้แวะวางดิ้นบอบหอบแอ็กแอ็ก หยุดหายเหนื่อยเมื่อยล้าไม่ช้านัก
นอนสักพักให้มีแรงแข็งขึ้นแผ็กแผ็ก ยกขึ้นย้ายตัวหัวฮกแฮ็ก
เสียงดังแกร็กดังกรกพรกพร้าวอ่อน ปล้ำพอลุพอจุกับหัวรอก
ปล้ำกันหวางน้ำอี้ออกหัวหลอนหลอน ฯลฯ
เนื้อกลอนข้างต้น แม้จะส่อสำเนียงภาษาใต้ แต่หาได้เป็นอุปสรรคต่อจินตนาการกระมัง การที่กระรอกพยายามเจาะมะพร้าว พร้อมทั้งเคลื่อนไหวอากัปกิริยาต่างๆ มีหรือจะไม่บ่งชี้ให้เราๆ ท่านๆ เข้าใจเลศนัยบางอย่าง
ไม่เป็นที่สงสัยถึงความโดดเด่นมีชื่อเสียงของนักแสดงหนังตะลุงผู้หญิงท่ามกลางสังคมซึ่งผู้ชายครองอำนาจ นั่นเพราะเธอหาญกล้าใช้ความสามารถพิเศษของตนกระทำในสิ่งแหวกแนวออกไปจากผู้หญิงคนอื่นๆ ขณะเดียวกันชวนให้พิจารณาว่าสังคมภาคใต้ยุคสมัยนั้นเองก็ค่อนข้างใจกว้างและเปิดรับบทบาทของผู้หญิงพอควร อย่างไรก็ดี ในที่สุดหนัง หลับ ร่วงแก้ว ต้องยุติการจัดแสดงคณะหนังตะลุงลงด้วยภาระครอบครัว ใช่ครับ ผู้หญิงยุคนั้นมิอาจละทิ้งสถานะความเป็นแม่และความเป็นเมียไปได้เลย
หลับ ร่วงแก้ว แต่งงานครั้งแรกเมื่ออายุ 19 สามีของเธอคือโนราห์เงิน (นักรำมโนราห์ชื่อนายเงิน) ครั้นสามีคนแรกสิ้นสุดลมหายใจ ผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายยก ก้าวเข้าสู่ชีวิตในฐานะสามีคนที่สอง การเป็น ‘นางหนังตะลุง’ รวมถึงเมียผู้ใหญ่บ้าน ถัดต่อมาภายหลังชาวบ้านจึงพากันเรียกขานเธอว่า ‘หนังยกหลับ’ โดยเติมชื่อสามีเข้าไปด้วย
ปัจจุบัน คณะหนังตะลุงที่นักเชิดรูปเงาร้องขับขานกลอนเป็นผู้หญิงมีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่าลืมนะครับว่าเมื่อ 100 ปีก่อน ผู้หญิงจะออกจากพื้นที่บ้านไปตระเวนแสดงหนังตะลุงตามหลายแหล่งแห่งหนคงมิใช่สิ่งที่พบเห็นโดยง่าย บทบาทของผู้หญิงอย่างหนังหลับ ร่วงแก้วจึงมีความสลักสำคัญในฐานะหมุดหมายแรกๆ อายุขัยของเธอยืนยาวมาเกือบ 100 ปีเช่นกัน แต่นั่นก็เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ในปีพุทธศักราช 2561 หนังหลับอาจหลับใหลไปเสียนานแล้วในความทรงจำของใครหลายคน
แน่นอน หลายบรรทัดที่สาธยายมาแล้วมิพ้นความจงใจใคร่ปลุกเรื่องราวของเธอให้มาโลดแล่นประหนึ่งการเชิดรูปเงาเฉิดฉายบนหน้าจอสีขาว
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ชวน เพชรแก้ว. บทอัศจรรย์ (บทสมห้อง) ของหนังตะลุง. นครศรีธรรมราช:ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช,2523
- ชวน เพชรแก้ว (หัวหน้าโครงการ). “เพลงบอกปานบอดโต้ตอบกับรอดหลอ” ใน วรรณกรรมทักษิณ : วรรณกรรมคัดสรร เล่ม 7. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2548
- นครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยราชภัฏ. พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ พุทธศักราช 2550. พิมพ์ครั้งที่ 5. สงขลา: มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกับมูลนิธิร่วมพัฒนาภาคใต้ และสถาบันทักษิณคดีศึกษา, 2551
- ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2542. กรุงเทพฯ:บริษัทนานมีบุคส์ จำกัด, 2546
- อานันท์ นาคคง, อัษฎาวุธ สาคริก. หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) มหาดุริยกวีลุ่มเจ้าพระยาแห่งอุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2544
- อุดม หนูทอง. “หลับ ร่วงแก้ว.” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 17.จัดพิมพ์เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542, หน้า 8468 และ 8473