Trigger Warning: Sexual Harassment
1.
“ศาสนา ควรเป็นสถานที่ปลอดภัย ต่อการล่วงละเมิดทางเพศ เพราะมีคำสอนบัญญัติไว้ แต่เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้น มันเลยสร้างความตกตะลึงกับเหยื่อ เหมือนพวกเธอถูกหักหลัง”
แอนเดรีย มิเชล วินน์ (Andrea Michelle Winn) เติบโตในชุมชนศาสนาพุทธ ประเทศแคนาดา มีรากเหง้าสืบทอดมาจากทิเบต เธอได้รับการสอนสั่งให้รู้จักกับคำว่า ‘ชัมบาลา’ ซึ่งเป็นอาณาจักรความเชื่อโบราณของทิเบต ดินแดนอันสงบสุข เปรียบได้กับยุคพระศรีอาริย์
อย่างไรก็ดี ที่ชุมชนแห่งนี้ ตัวหญิงสาวกลับพบเจอฝันร้ายสุดสยอง เมื่อเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศจากครูที่สอนนั่งสมาธิ วินน์บอกว่า มีผู้นำระดับสูงของชุมชนแห่งนี้ร่วมก่อเหตุด้วย
เธอเก็บงำความเจ็บปวดนี้ไว้ ไม่ยอมพูด ไม่เล่าให้ใครฟัง ระหว่างนั้นก็เป็นพยาน เห็นการล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวในชุมชนแห่งนี้มากมาย จวบจนเติบโตขึ้น และตระหนักว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ
นั่นทำให้ในปี 2000 เธอได้แจ้งแก่ชุมชนให้หาทางป้องกันและจัดการเรื่องนี้โดยเร็วด้วย
ผลลัพธ์แห่งความกล้าหาญ ทางวินน์ จึงถูกขับไล่ออกจากนิกายนี้ทันที
แม้จะกลายเป็นคนนอก แต่หญิงสาวยังคงปฏิบัตินั่งสมาธิ ศึกษาพระธรรม และดื่มด่ำกับความหมายอันงดงามของชัมบาลา แต่ผ่านไป 16 ปี วินน์ก็ละทิ้งแนวทางนี้ และหันไปศึกษาที่มหาวิทยาลัย เน้นเรื่องเยียวยาบาดแผลทางจิตใจแทน
เพราะดูเหมือนว่าท้ายที่สุดแล้ว พุทธศาสนาแบบทิเบต จะกลายเป็นเส้นขนานที่ไม่มีวันบรรจบในชีวิตเธออีกต่อไป
“ตอนแรก ฉันอยากเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี พยายามหาความสงบทางจิตใจต่อเนื่อง”
แต่ไม่สำเร็จ ความว้าวุ่น และความเจ็บปวดจากคำสอนที่ชวนนึกถึงบาดแผลในอดีต มันยังคงค้างคาและเวียนว่ายอยู่ในความทรงจำ
ไม่ยอมไปไหน
นั่นทำให้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 วินน์ตัดสินใจด้วยตัวเอง ก่อตั้งองค์กร ทำเว็บไซต์ และลงมือสอบสวน ทั้งที่ไม่มีพื้นฐานตำรวจหรือนักข่าว แต่เธอก็เจาะลึก และมุ่งเน้นเพื่อจะตีแผ่การล่วงละเมิดทางเพศในชุมชนชัมบาลา แดนสุขีแห่งนี้ให้ได้
ทว่าไม่มีเหยื่อรายใดกล้าพูดออกมา ทุกคนปฏิเสธ ที่จะให้สัมภาษณ์ ถึงกระนั้น หญิงสาวผู้รอดจากการล่วงละเมิดทางเพศ ก็ยังคงมุ่งมั่นเขียนรายงานหาข้อมูลต่อไป
“แม้จะรู้ว่ามันล้มเหลว แต่ฉันก็ยังจะทำ”
จวบจนในปี 2018 เมื่อโลกเกิดอุบัติการณ์ กลุ่มเคลื่อนไหวที่ชื่อว่า #Metoo ขึ้นมา
ความหวังของวินน์ก็เกิดขึ้น
2.
ขบวนการมีทู (Metoo) คือการเคลื่อนไหวสำคัญ เมื่อผู้หญิงที่เคยตกเป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศ ในวงการภาพยนต์ วงการโทรทัศน์ ไม่ยอมจำนน และกล้าออกมาพูดแฉความจริง ทำให้ผู้ชายมีอำนาจทั้งหลาย ซึ่งมากชื่อเสียง มากบารมี ถึงคราตกกระป๋อง ตกงาน ถูกจับกุม ถูกดำเนินคดี ติดคุก กลายเป็นไฟลามทุ่ง ส่งความสว่างไสวให้กับเหยื่อที่โดนย่ำยีหลายวงการ ให้กล้าพูดเล่าความจริงออกมา
วินน์ติดตามการเคลื่อนไหวของขบวนการนี้ด้วยความสนใจ เมื่อเห็นว่าผู้ถูกก่อเหตุหลายราย ออกมาเล่าความเจ็บปวดมากมาย หญิงสาวจึงตัดสินใจ ติดต่อไปยังเหยื่อในชุมชนชัมบาลาแห่งนี้อีกครั้ง โดยเชื่อว่ากระแสสังคม จะช่วยผลักดันความกล้าหาญให้กับพวกเธอเหล่านี้ได้เปิดปากเล่า
และแล้วในที่สุด ก็มีผู้กล้า 5 ราย ออกมาเล่าเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในชุมชนนิกายนี้ ซึ่งมีสาขากว่า 150 แห่ง ใน 30 ประเทศทั่วโลก มีสาวกทางพุทธศาสนานับพัน มาเข้าเรียนฝีกสอนการนั่งสมาธิ
พลันที่วินน์ตีพิมพ์รายงานฉบับนี้ ลงเว็บไซต์ของตัวเอง มันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที ตอนแรกทางชุมชนปฏิเสธจะพูดถึงมัน เพราะขณะนั้นสื่อเองก็มัวไปสนใจแต่ประเด็นล่วงละเมิดทางเพศในวงการภาพยนตร์มากกว่า
ความกล้าหาญของวินน์ ที่ตัดสินใจเปิดหน้าแลกกับองค์กรศาสนาที่มีอำนาจมหาศาล ทำให้เธอถูกระดมด่าจากสาวก มีถ้อยคำเหยียดหยาม ขู่ฆ่ามากมาย หาว่าเธอทำลายชุมชนแห่งนี้
แต่เมื่อเรื่องอื้อฉาวนี้ ถูกส่งเข้าไปในโลกออนไลน์ มีผู้เสียหายหลายคนที่เก็บงำความเงียบจากการถูกย่ำยี ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากนิกายนี้ ตัดสินใจส่งข้อความและติดต่อกับวินน์ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ทนายความหญิง ซึ่งรับว่าความเกี่ยวกับพฤติกรรมอื้อฉาวในที่ทำงานเห็นข้อมูลเหล่านี้ ได้ขอพบวินน์ทันที พร้อมให้คำแนะนำว่า
“คุณต้องมีข้อมูลมากกว่านี้ ถ้าอยากจะให้ประชาชนเชื่อจริงๆ”
และนี่เอง คือจุดเริ่มต้นระหว่างอดีตเหยื่อที่ลุกมาทวงความยุติธรรมกับทนายความสาว ทั้งคู่ร่วมมือกันติดต่อหาผู้เสียหายมากขึ้น จนนำไปสู่การตีพิมพ์รายงานฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 จนทำให้สื่อหันมาให้ความสนใจ หยิบไปนำเสนอ เขย่าไปทั้งวงการศาสนาพุทธในโลกตะวันตก
เนื้อหาของเรื่อง แฉว่ามีอาจารย์สอนพระธรรมระดับอาวุโส ล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงมากมาย ไม่เพียงเท่านั้นเจ้าหน้าที่ในชุมชนแห่งนี้ ยังรู้เห็นเป็นใจ แต่กลับปิดปากเงียบอีกด้วย
แต่สิ่งที่สั่นสะเทือนไปทั่วโลก นั่นก็คือ มีเหยื่อออกมาแฉว่า เจ้าของลัทธิที่ชื่อว่า มิแฟม รินโปเช (Mipham Rinpoche) ก่อเหตุย่ำยีผู้หญิงในนิกายแห่งนี้เป็นว่าเล่น โดยที่ไม่มีใครห้ามปรามอะไรเลย
ผู้เสียหายคนหนึ่งเล่าเหตุการณ์ที่รินโปเชย่ำยีว่า “เขาลูบคลำ และพยายามจะเปลื้องผ้า ฉันบอกว่า อย่า อย่าค่ะ ฉันมีแฟนแล้ว”
แต่เจ้าสาวกรายนี้ ก็พูดออกมาว่า
“ผมไม่สนใจหรอก”
3.
เดิมนั้น นิกายชัมบาลา ถูกก่อตั้ง โดยเจ้าลัทธินามว่า เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช (Chögyam Trungpa) ซึ่งลี้ภัยออกจากทิเบต พร้อมกับองค์ดาไล ลามะ เมื่อจีนคอมมิวนิสต์บุกยึดเมือง โดยทางตรุงปะไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) และก่อตั้งนิกาย สอนการนั่งสมาธิในยุค 70 ขึ้นมา
ตอนนั้นเป็นยุคบุปผาชน เหล่าฮิปปี้ทั้งหลายต่างมุ่งหาความสงบในจิตใจ และหลงใหลศาสตร์ของพุทธศาสนาแบบตะวันออก ทำให้ตัวเชอเกียม มีสาวกมากมายในโลกตะวันตก เจ้าตัวได้ก่อตั้งชุมชนขึ้นที่แคนาดา และที่นั่นเอง คือจุดกำเนิดแห่งเรื่องอื้อฉาวมากมาย
เอาเข้าจริงแล้ว องค์กรศาสนาแห่งนี้ มีรูปแบบเหมือนอาณาจักร มีประมุขคุมอำนาจสูงสุด แม้จะเน้นคำสอนแบบพุทธ แต่กลับไม่มีกฎห้ามว่า เจ้าลัทธิห้ามมีเมีย และไม่ได้ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นที่รู้กันดีในหมู่สาวกว่า เชอเกียมติดเหล้างอมแงง จนไตวาย และเสียชีวิตในปี 1987
หลังจากนั้นทางองค์กรก็ได้แต่งตั้งสาวกชาวตะวันตกขึ้นเป็นผู้ดูแลชุมชน ระหว่างที่รอลูกชายของเชอเกียม สะสมอำนาจบารมีและเรียนรู้งาน
อย่างไรก็ดี ความฉาวขององค์กรนี้ ก็เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เพราะดูเหมือนผู้ดูแลฝรั่งรายนี้ จะมีอะไรกับหญิงสาว จนติดเชื้อ HIV ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1990
นั่นทำให้รินโปเช ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำของนิกายนี้ ตามรอยพ่อของตัวเองแทน แต่ก็มีสาวกหลายคน รวมถึงอดีตรปภ.ของเชอเกียม บอกกับสื่อว่า ชายคนนี้ ดูเงียบๆ และไม่เหมาะจะเป็นผู้นำองค์กรนี้เลย
“เขาดูเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเองมากๆ”
ถึงอย่างนั้น ด้วยความเป็นสายเลือดเจ้าลัทธิ ชายหนุ่มตัดสินใจโกนหัว แต่งตัวเหมือนพระทางเอเชียตะวันออก ก่อนเปลี่ยนชื่อใหม่ และพยายามสืบทอดมรดกของพ่อ เพื่อขับเคลื่อนชุมชนทางศาสนาแห่งนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป
ช่วงเวลานั้น มีสาวกมากมาย โดยเฉพาะผู้หญิง อยากแต่งงานกับรินโปเช ซึ่งไม่ได้เป็นข้อห้ามที่ผู้นำของนิกายนี้จะไปมีเพศสัมพันธ์ หรือแต่งงานกับใคร เขาได้เลือกแต่งงานกับหญิงทิเบตด้วยกัน และดำรงตนราวกับเจ้าลัทธิผู้ยิ่งใหญ่ มีการสอนนั่งสมาธิ ออกไปพูดให้ความรู้ เชิญชวนให้ผู้สนใจในศาสตร์แห่งพุทธแบบตะวันออก เข้าร่วมชุมชนแห่งนี้
ภาพลักษณ์ภายนอก รินโปเช เหมือนพระหนุ่มรูปงาม มีบารมี ความน่าเชื่อถือ และดูสำรวม ชวนศรัทธา แต่เหยื่อได้ออกมาแฉ ทำลายสิ่งเหล่านี้ลงไปในทันที เพราะเอาเข้าจริง รินโปเชคนนี้ก็ขี้เมาเหมือนพ่อ
“ครั้งหนึ่ง ฉันต้องคอยลูบหลังเขา ตอนอ้วกด้วย”
ผู้เสียหายหลายราย กล่าวในรายงานของวินน์ว่า เคยถูกเจ้าลัทธิ ลูบคลำ แตะเนื้อต้องตัว ทีแรกหลายรายคิดว่า มันเป็นการกระทำของอาจารย์ต่อศิษย์ แต่หนักเข้า มันรุนแรงมากขึ้นกว่านั้น
เหยื่อรายหนึ่งเล่าว่า เธอถูกกระชาก ให้ไปอยู่ในอ้อมแขนของรินโปเช แล้วโดนกด คุกเข่า หน้าเธอไปอยู่ตรงอวัยวะเพศชายของเจ้าลัทธิ เขาพยายามบังคับให้หญิงสาวทำโอษฐกามพร้อมพูดจาสุดหยาบคาย
ไม่เพียงเท่านี้สมาชิกบางคนที่เป็นเลสเบี้ยน ยังเคยเห็นพระหนุ่มรูปนี้ เปลือยกาย โชว์เรือนร่าง และใช้ถ้อยคำเชิญชวนให้มาลูบคลำ เพื่อจะได้เข้าถึงหลักศาสนาด้วย
ความอื้อฉาวที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ สร้างความตกตะลึงอย่างมากแก่สังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งสาวกที่ปฏิบัติธรรมตามลัทธินี้มาอย่างยาวนาน ถึงกับส่ายหน้าด้วยความเสียใจ
นอกจากนี้ ความเลวร้ายยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เพราะมีข้อมูลชัดแจ้งว่า ผู้เสียหายหลายรายได้เข้าร้องเรียนกับทางคณะกรรมการของชุมชนแห่งนี้ แต่ผลที่ได้คือความเงียบ บางคนถูกขับไล่ออกไป บางรายถูกสั่งให้หุบปาก และอดทนกับความอื้อฉาวนี้ หรือให้โกหกแก่สังคมภายนอกว่า ไม่มีเรื่องแย่ๆ แบบนี้เกิดขึ้น
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชัมบาลา ไม่ใช่พฤติกรรมของรินโปเชเท่านั้น แต่มันยังพูดถึงสถาบันที่ทรยศต่อสาวก และร่วมปกปิดความเลวร้ายนี้ไว้ด้วย”
บทสรุปของรายงานนี้ จึงชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายที่มีอำนาจ ได้ใช้ความฉ้อฉลบิดพลิ้วคำสอน และกดขี่หญิงสาวมากมาย อันผิดหลักการของศาสนาอย่างชัดเจน
เมื่อสื่อโหมกระหน่ำนำเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง และผู้เสียหายหรือเหยื่อ ต่างออกมาพูดให้วินน์เก็บข้อมูลเรื่อยๆ ในที่สุด ฝันร้ายที่หญิงสาวถูกกระทำในวัยเด็ก บัดนี้แม้มันจะไม่หาย แต่ก็เหมือนได้ชะล้างไป เพราะมันคือการเขย่าชุมชนที่คนมองว่าเรียบง่าย น่าศรัทธา ให้ราบคาบสูญสิ้น ด้วยพลังของตัวเธอคนเดียว
หลังปรากฏเป็นข่าวใหญ่ สนั่นโลก คณะกรรมการของชุมชนแห่งนี้ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส่วนพระหนุ่มที่ซ่อนความขี้เมาและความเลวร้ายไว้ ก็ลงจากตำแหน่งประมุขของนิกายนี้ พร้อมเดินทางออกจากแคนาดา กลับสู่เนปาล โดยถูกตัดขาดห้ามยุ่งเกี่ยวกับนิกายชัมบาลาแห่งนี้อีกต่อไป
พลันที่วินน์รู้ข่าวนี้ เธอก็พูดออกมาว่า “ฉันโล่งใจเป็นอย่างยิ่ง เหมือนได้รับการเยียวยาบาดแผลในอดีตแล้ว”
4.
แม้เหตุการณ์นี้จะไม่นำไปสู่การดำเนินคดีต่อพระหนุ่ม และพระอาจารย์ทั้งหลายที่ก่อเหตุในอดีต เนื่องจากไม่มีหลักฐานแน่ชัด และกฎหมายไม่อาจเอาผิดได้ ทุกวันนี้รินโปเช ยังเดินสายสอนพระธรรม แม้จะมีราคีเจือปนแค่ไหน ก็ยังมีลูกศิษย์ที่ศรัทธาอยู่เป็นจำนวนมาก
ท้ายที่สุดถึงจะเอาผิดพระหนุ่มไม่ได้ แต่เหยื่อหลายคนก็โล่งอกที่อย่างน้อยได้แฉความจริง อันจะเป็นชนักติดหลังรินโปเช ที่แม้จะออกมาขอโทษขอโพยแค่ไหน ก็ไม่อาจปิดหรือลบล้างความอื้อฉาวนี้ได้ ตลอดชีวิตอย่างแน่นอน
ด้านชุมชนชัมบาลา หลังเกิดเรื่องก็มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พร้อมสั่งสอบสวนเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในอดีต และออกกฎเกณฑ์ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก โดยได้ผุดมาตรการมากมาย เพื่อให้เหยื่อได้ร้องเรียน และสั่งห้ามการเข้าหาลูกศิษย์แบบผิดวิธี
พูดง่ายๆ ว่าถ้าลวงด้วยคำสอน แล้วล่วงละเมิดด้วยการอ้างความเป็นพระ เป็นอาจารย์ ก็จะโดนดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างแน่นอน
ความก้าวหน้าตรงนี้เกิดขึ้นได้ เพราะความไม่ยอมแพ้ของวินน์ ซึ่งเธอเองก็ยืนหยัดต่อหน้าสื่อไม่ยอมให้ชื่อผู้เสียหายแก่นักข่าว เพื่อจะไปสัมภาษณ์ต่อ เพราะมองว่าเหยื่อหลายราย อาจไม่พร้อมจะปรากฏตัวต่อสังคม และเลือกจะอยู่เงียบๆ เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเองต่อจากนี้
นี่เอง คือจุดที่เธอแตกหักกับนักข่าว เพราะสื่อเองก็อยากรู้หน้าค่าตาและชื่อจริงของผู้เสียหาย เนื่องจากการเอารายงานไปเขียนเพียวๆ มีแต่ชื่อนิรนาม มันจะไม่มีความน่าเชื่อถือตามหลักการทำข่าว
แต่วินน์แย่งว่า “คุณต้องคำนึงถึงบาดแผลพวกเธอด้วย”
สุดท้ายทางสำนักข่าวระดับโลกทั้งหลาย ต่างยอมแพ้ และอ้างอิงเนื้อหาจากรายงานของเธอ พร้อมกับไปหาข้อมูลมาเอง โดยไม่มีการลงชื่อนามสกุลจริงของเหยื่อแต่อย่างใด
ผลงานของวินน์ จึงได้รับการยกย่องจากสังคมว่า เทียบเท่ากับเหตุการณ์ทีมข่าวสปอตไลท์ (Spotlight) ของสื่อบอสตัน โกลบ (The Boston Globe) นำเสนอข่าวการล่วงละเมิดทางเพศของโบสถ์คริสต์ศาสนา จนได้รางวัลพูลิเซอร์ ในปี 2003 เลย
ต่างกันเพียงว่า งานชิ้นนี้ วินน์แทบจะทำมันเพียงคนเดียว โดยไม่มีใครช่วย จึงถือเป็นวีรกรรมความกล้าหาญของเธอที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมให้ฝันร้ายเกาะกุม โดยเลือกที่จะเปิดเผยเรื่องราว และช่วยให้เหยื่อหลายคนได้มีกระบอกเสียง จนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงสำคัญในนิกายที่ครั้งหนึ่งหญิงสาวเคยศรัทธาได้
“วินน์ คือคนที่กล้าหาญอย่างมาก กับการออกมาพูด แล้วนำแสงสว่างมาขับไล่ความมืดมิดนี้”
“ดังนั้น เธอจึงควรได้รับเกียรติสูงสุด ด้วยการถูกยกย่องจากสังคม”
อ้างอิงจาก