ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจในการปกครองกับสำนึกรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ (accountability) ในระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่พูดถึงกันมานับรอบไม่ถ้วนแล้ว เอาแบบสั้นๆ เลยก็คือ การมีอำนาจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในทางสาธารณะ และ/หรือส่งผลกับตัวสาธารณะ ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวอำนาจและผลของการใช้อำนาจนั้นตามมาด้วย ยิ่งมีมากก็ยิ่งต้องรับผิดชอบมากและถูกตรวจสอบมาก ง่ายๆ เท่านั้นเองครับ และตอนนี้ผมคิดว่าเราสามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้อย่างเต็มสูบกันแล้ว เพราะรัฐบาลนี้เค้ายังอ้างเองอยู่เลยว่าตัวเองนั้นเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ต้องว่ากันตามเงื่อนไขและหลักการแบบประชาธิปไตยอะนะครับ
ราวๆ ช่วงหนึ่งปีกว่าๆ ที่ผ่านมา มีคำอธิบายยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบใหม่อย่างหนึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่นักวิเคราะห์การเมืองของสหรัฐอเมริกาครับ นั่นก็คือ ‘ความหน้าด้าน หรือไร้ยางอาย’ ในฐานะที่เป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักการเมืองฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมที่ต้องทำงานในกลไกของระบอบประชาธิปไตย ที่ปัจจุบันนี้พลังและความสามารถในการ ‘ตรวจสอบ’ นั้นก้าวหน้าไปมากแล้ว ใช่ครับ นักวิเคราะห์ทางการเมืองเหล่านี้มองความไร้ยางอายนี้ในฐานะ ‘ยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์’
บางคนกระทั่งเรียกความหน้าด้านไร้ยางอายนี้ว่าเป็น ‘พลังพิเศษ’ (superhero power) ของทรัมป์เลยทีเดียว
สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าต้องยอมรับกันก็คือ นับตั้งแต่การกำเนิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียนั้น นอกจากมันจะทำให้ปฏิสัมพันธ์ของ ‘ผู้ส่งสารและผู้รับสาร’ เปลี่ยนไปจากทางเดียวกลายเป็นสองทางแล้ว มันยังเพิ่มอำนาจของการตรวจสอบพร้อมทั้งปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลด้วย ข้อมูลที่เป็นข่าวถูกกระจายอย่างรวดเร็วและบันทึกคาไว้ในระบบตลอดเวลา ไม่ต้องมานั่งรอดูผู้ประกาศเล่าให้ฟัง ที่หากพลาดไปก็อาจจะไม่รู้เรื่องเลย แถมการรับส่งข้อมูลที่เป็นสองทางนั้นก็ทำให้ตัวผู้รับสาร กลายเป็นผู้ให้ข้อมูล ทั้งในทางการวิพากษ์ การคัดกรอง หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสื่อหลักได้ด้วย ไม่ต้องพูดถึงกลไกของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ปัจเจกแต่ละคนแทบจะทำหน้าที่กึ่งสำนักข่าวด้วยตัวเองได้ โดยเฉพาะเพจที่มีคนตามมากๆ หรืออินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ที่เป็นที่นิยมยิ่งมีแนวโน้มจะทำให้คนเห็นข้อมูลมากมายขึ้นจากเดิมมาก ว่ากันอย่างถึงที่สุด ภายใต้กลไกของ ‘อำนาจและการตรวจสอบได้’ นั้น การตรวจสอบได้มันเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองขึ้นมาสูงมากจนยากจะมีเรื่องใหญ่ๆ ที่หลุดลอดต่อไปได้อีก
ลักษณะดังกล่าวนี้เองทำให้นักการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมที่ไม่คุ้นชินกับ ‘ความใหม่และระดับของการตรวจสอบขนาดนี้’ (ที่ผมใช้คำว่า ‘โดยเฉพาะฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม’ ก็เพราะนักวิเคราะห์ที่เสนอไอเดียนี้เขาว่ามาแบบนี้นะครับ) เลยต้องพัฒนากลวิธีใหม่ขึ้นมา นั่นคือการสู้พลังการตรวจสอบด้วยความไร้ยางอาย ซึ่งมีคนเขียนถึงมากมายทั้งโดย Washington Post[1], American Enterprise Institute (AEI)[2] และหนึ่งในชิ้นที่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจขึ้นมาอีกหน่อยจากงานอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันนี้ก็คือ บทความใน Cambridge Globalist ที่ชื่อ ‘A Broken Shame Machine: the Shameful State of Political Shamelessness’ ครับ[3] ความน่าสนใจที่เพิ่มขึ้นมาของงานชิ้นนี้คือ เขาได้พยายามแสดงให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของยุทธศาสตร์ของความไร้ยางอายนี้ก็คือ ‘การพยายามที่จะไม่ยอมรับว่าเสียใจในการตัดสินใจของตน’ (rarely admitting to regretting) ที่อาจจะผิดพลาด ส่งผลร้ายแรงกับประเทศ หรือเป็นที่โดนก่นด่าประณามอย่างมืดฟ้ามัวดินนั่นเองครับ
ลักษณะดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไร? มันมีความหมายว่า ยุทธศาสตร์ของความไร้ยางอายนี้ คือ ยุทธศาสตร์ที่กำลังจงใจ ‘ถอดเอาสำนึกรับผิดชอบออกจากหลักการอันเป็นพื้นฐานในฐานะกลไกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย’ นั่นเอง คือ ผมมีปัญหาเสมอเวลาจะต้องแปลคำว่า accountability เป็นภาษาไทยครับ เพราะคำนี้ไม่ได้มีเซนส์ของความรับผิดชอบเฉยๆ แบบคำว่า responsibility และก็ไม่ใช่ความหมายว่าตรวจสอบได้เฉยๆ อย่างคำว่า check หรือ inspectable ด้วย เป็นอะไรที่ดูจะรวมๆ เอาสองคำนี้เข้าไว้ด้วยกัน มันคือ ‘สำนึกต่ออำนาจที่ตนเองมีอยู่ และรับรู้ว่าจะต้องมีความรับผิดชอบต่ออำนาจนั้นและสังคม เพราะฉะนั้นจึงยินดีให้สังคมคอยตรวจสอบอำนาจและการใช้อำนาจที่ตนมีอยู่ด้วย และหากถูกตรวจแล้วว่าเป็นไปในทางที่ผิดก็พร้อมจะแสดงออกเพื่อแสดงถึงการยอมรับในความผิด’ ประมาณนี้ครับ นั่นแหละ มันจึงไม่ใช่ความรับผิดชอบเฉยๆ และไม่ใช่การตรวจสอบเฉยๆ ด้วย แต่รวมความหมายของความพร้อมใจ (consent) ต่อการตรวจสอบ, ความตระหนักรู้ (awareness) ของอำนาจที่ตนถือครอง และความเสียใจ (regret / regretfulness) ในฐานะสำนึกของตนเองที่มีต่อความผิดในการใช้อำนาจของตนด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีการใช้คำว่า “นาย A ขอแสดง accountability ต่อการกระทำ xyz ของตน ด้วยการนู่นนั่นนี่” เป็นต้น
คำว่า accountability เลยไม่มีคำแปลไทยแบบเป๊ะๆ ชัดๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกตินะครับ เพราะภาษาอยู่คู่กับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตด้วย บางคำในภาษาไทยก็หาในภาษาอังกฤษตรงๆ ไม่ได้ คำนี้ในภาษาอังกฤษก็ยากที่จะหาในภาษาไทยได้ ผมเลยใช้แบบยาวๆ ไปว่า ‘สำนึกรับผิดชอบและการตรวจสอบได้’ ไปแบบอึนๆ ทีนี้ไอ้การถอดเอาความเสียใจออกไปเสียจาก accountability นี้เอง มันทำให้บทบาท (role) และความคาดหวัง (expectation) ที่เราจะมีต่อคนที่ทำงานการเมือง หรือถือครองอำนาจของสาธารณะนั้น ‘เปลี่ยนไป’ ด้วย ว่าอีกแบบก็คือ นักการเมืองที่มีอำนาจ ปะทะกับการตรวจสอบด้วยความรู้สึก ‘ไม่ยี่หระ’ กับผลของการตรวจสอบ ไม่ว่าผลการตรวจสอบหรือหลักฐานต่างๆ จะบ่งชี้อย่างไรก็ตาม “กูไม่แคร์ซะอย่าง มึงจะทำไม?” (ประมาณนี้)
คงไม่ต้องบอกนะครับว่าพบได้อย่างชัดเจนกับกรณีของรัฐบาลไทยเองด้วย
ที่อาศัยความมั่นใจไร้ยางอายเข้าสู้กับคำถาม ข้อสงสัย และการตรวจสอบมาโดยตลอด อย่างเรื่อง GT200 ที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นของลวงโลก ก็ใช้วิธีรับมือด้วยการซุยๆ ไปวันๆ ว่ามันช่วยทางจิตใจและวัดคุณค่าเป็นเม็ดเงินไม่ได้, นักข่าวสอบถามเรื่องเฮลิค็อปเตอร์ที่สั่งซื้อมาใหม่ แต่กลับบินไม่ได้ ก็ตอบอย่างไร้ซึ่งความเสียใจในการกระทำของตนใดๆ ว่า “เฮลิคอปเตอร์บินไม่ได้ แต่ประสิทธิภาพดีอยู่” (คือยังไง กูงงเองก็ได้), หรือกรณีคลาสสิกที่เราจำกันได้ดีอย่างกรณี ‘นาฬิกาของเพื่อนป้อม’ ที่จะกี่หมื่นคำถามกี่ล้านข้อสงสัย ก็ไม่อาจจะสะเทือนแผ่นพื้นผิวหน้าของป้อมได้
ล่าสุดนี้เองก็ไม่พ้นกรณีของธรรมนัส ที่เรารู้กันดีครับ ทั้งข้อสงสัยเรื่องความพัวพันในคดียาเสพติดระดับร้ายแรงอย่างการขนเฮโรอีนข้ามชาติไปออสเตรเลีย หรือข้อสงสัยเรื่องใบปริญญาเอกปลอมหรือหากไม่ปลอมก็น่าจะมาจากมหาวิทยาลัยลวงโลกที่บางครั้งเราเรียกกันว่าเป็นมหาวิทยาลัยแบบ ‘จ่ายครบจบแน่’ นั่นเองครับ ซึ่งจากที่มีการตรวจสอบล่าสุด ก็มีแนวโน้มสูงมากว่าจะเป็นแบบนั้นนะครับ[4] ตรงนี้ผมขอออกตัวไว้ก่อนเลยนะครับว่า ผมไม่มีปัญหาใดๆ เลยกับการไม่จบปริญญาเอกจริงๆ ผมกระทั่งไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดให้นักการเมืองต้องจบปริญญาตรีขึ้นไปเสียด้วยซ้ำ แต่ปัญหาของเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องตัวปริญญาบัตรโดยตรง แต่มันอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจที่ประชาชนมีต่อตัวคนที่มีอำนาจในการบริหารเงินภาษีของพวกเขา และมีอำนาจในการออกคำสั่งทางการปกครองกับพวกเขาได้ ว่า ‘ถ้ากับเรื่องแค่ใบปริญญาเอก ซึ่งไม่ได้จำเป็นอะไรเสียด้วยซ้ำ แต่ยังตอแหลกันแล้ว เรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่านี้ จำเป็นกับตัวมึงยิ่งกว่านี้ จะไม่ยิ่งเชื่อไม่ได้หรือ?’ อย่างกรณีการพัวพันกับคดีเฮโรอีนนี่ร้ายแรงกว่ากรณีใบปริญญาแน่ๆ ครับ
นอกจากนี้แล้ว ยังไม่ต้องรวมถึงบทบาทของ ‘นักดริฟต์แห่งแผ่นดิน วิษณุ เครืองาม’ ด้วยที่ทำให้ยุทธศาสตร์ความหน้าด้านนี้หาทางลงได้ แม้บ่อยครั้งจะลงอย่างทุลักทุเลเสียเหลือเกิน หน้าที่หลักของวิษณุในยุทธศาสตร์ทางการเมืองแบบนี้ก็คือ การหาช่องทางที่ฟังดูแล้วไปได้กับหลักการ หรือเป็นไปได้ในทางกฎหมายที่จะทำให้ปัญหาที่โดนกระหน่ำจากการตรวจสอบอยู่จบอยู่แค่ระดับการขาดไร้ซึ่งสำนึกแต่ยังไม่ผิดกฎกติกาหรือหลักการ (ทั้งที่หลายๆ ครั้งมันก็ผิดแหละ แต่ก็ดริฟต์จนมันไม่ผิดให้ได้) คือ พอทำให้จบอยู่แค่ที่การขาดสำนึก หรือความเสียใจต่อการกระทำของตน มันจึงไม่ใช่ ‘ความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบอีกต่อไป’ เป็นแค่ทางเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้
ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเป็นอย่างที่เห็นนะครับ เราลองนึกดูก็ได้ว่า หากเหตุการณ์แบบเฮลิค็อปเตอร์, GT200, นาฬิกา, ข้อสงสัยเรื่องค้ายากับปริญญาปลอม เกิดขึ้นที่อื่นในโลกที่เค้าทำตามหลักการประชาธิปไตยจริงๆ จะเป็นอย่างไร? ไม่ต้องพูดถึงประเทศญี่ปุ่นที่บ้าคลั่งใน accountability เลยก็ได้ครับ ในเคสของไทยเอง เราก็พบกรณีของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ลาออกเมื่อจนมุมจากการตรวจสอบและแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองแบบนี้มาแล้วทั้งสิ้น อย่างเคสของวิฑูร นามบุตร ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้สมญานาม ‘รัฐมนตรีปลากระป๋องเน่า’ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ มีปลากระป๋องที่รับบริจาคมาแล้วส่งต่อให้ผู้ประสบภัย ปรากฏว่าปลากระป๋องนั้นเน่า คนรับของซวย แต่กรณีนี้ หากจะว่ากันแบบตรงไปตรงมาแล้ว ความผิดต่อตัวคนเป็นรัฐมนตรีนั้นถือว่าน้อยมากนะครับ เพราะรัฐมนตรีก็ไม่ได้ไปนั่งเช็กปลากระป๋องทุกลังที่ส่งไปอยู่แล้ว แต่ในฐานะผู้บังคับบัญชาก็ต้องรับผิดชอบไป และหากเอาเคสเรื่องปลากระป๋องเน่านี้ไปเทียบกับกรณีนาฬิกา, เฮลิค็อปเตอร์, หรือ GT200 แล้ว น้ำหนักคนละเรื่องเลย และอันนี้คือการตรวจสอบในระดับสังคมด้วย
แต่มาวันนี้ ยังมีใครอีกไหมที่ยังคาดหวังว่าเราจะได้เห็นตู่ ป้อม วิษณุ สมคิด หรือธรรมนัสออกมาแสดง ‘สำนึกรับผิดชอบทางการเมือง’ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต? ผมเชื่อว่าไม่มีแล้ว หรือหากมีก็น้อยมากที่จะคาดหวังอะไรลักษณะนี้จากคนเหล่านี้ได้ แต่นี่อย่างไรเล่าที่แสดงถึงความสำเร็จของยุทธศาสตร์ความไร้ยางอายนี้ด้วยว่า ‘การทำตัวไร้ยางอายและหน้าด้านแบบซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ สุดท้ายมันไปถอดถอนกลไกสำคัญเรื่อง accountability ได้สำเร็จจริงๆ’ ไม่เพียงเท่านั้น คนจำนวนมากก็ดูจะยอมรับกับการกระทำของรัฐบาลได้อีกด้วย อาจจะเป็นด้วยข้อเท็จจริงว่ามนุษย์ทุกคนไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด ทุกคนเคยทำผิดพลาดกันมาหมดทั้งนั้นแหละครับ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมหรือยินที่จะยอมรับในการกระทำของตน ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลแบบนี้จึงเป็นแบบอย่างอันดีให้พวกเขา ‘ลอยหน้าลอยตาทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องแคร์โลกได้ หรือไม่ต้องรักษามาตรฐานไม่ต้องสนใจในคำพูดของตนเอง’ อย่างก่อนหน้านี้มีสุดยอดด็อกเตอร์คนหนึ่งออกมาพูดเรื่องแรงกิ้งมหาวิทยาลัย คุยโวอวดมากมาย และไปแซะมหาวิทยาลัยที่คนนั้นคนนี้ของฝั่งประชาธิปไตยจบมา แต่เท่าที่ผมรู้ แกเงียบกริบไปเลยกับกรณีของธรรมนัส … คุณไม่ถามถึงแรงกิ้งและตรวจสอบมหาวิทยาลัยของธรรมนัสบ้างล่ะครับ?
และอีกอย่างหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นประโยชน์จากการใช้ยุทธศาสตร์ความไร้ยางอายนี้ก็คือ ผลในแง่ของการดึงความสนใจคนให้มารุมก่นด่ากับเรื่องความหน้าด้านหน้ามึนนี้ในช่วงเวลาที่ปัญหาใหญ่กว่ากำลังเกิดขึ้น อย่างเรื่องใบปริญญาของธรรมนัสก็ดึงความสนใจไปจากเรื่องน้ำท่วมอีสานได้ไม่น้อยเลย
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตอนนี้ ที่ราวๆ หนึ่งถึงสองสัปดาห์สัปดาห์ก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคอีสาน มีคำสั่งกระทรวงมหาไทย ที่ มท.0808.2/ว. 5164 (ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2562) ตามรูป ซึ่งเป็นคำสั่งที่อนุญาตให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเอาเงินสะสมมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งหากได้ลองอ่านรายละเอียดของคำสั่งนี้ดูก็จะพบว่า แทบจะเรียกว่าให้เอาไปแจกได้อย่างฟรีสไตล์ เพราะใช้ได้ทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและอะไรต่างๆ นานา ฟังดูก็อาจจะไม่มีอะไรแย่นักใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วเงินสะสมตัวนี้เป็น ‘งบห้ามแตะ’ เพราะเป็นงบที่จะเก็บเอาไว้ใช้เวลาที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่น เวลาที่ทางท้องถิ่นมีการลงทุนขนาดใหญ่และงบประมาณรายปีไม่เพียงพอ ก็นำงบส่วนนี้มาเสริม แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นงบส่วนที่เก็บเอาไว้เป็นงบฉุกเฉินเวลาเกิดภัยพิบัติต่างๆ จะได้นำมาใช้ช่วยเหลือคนในพื้นที่ได้ในทันที เพราะบางทีส่วนกลางอาจจะขยับได้ไม่ทันท่วงที แต่นั่นแหละครับงบส่วนนี้ดันถูกปลดล็อกก่อนเวลาน้ำท่วมใหญ่เลย ไม่ต้องนับว่าตอนประยุทธ์ลงพื้นที่ตรวจสอบในจังหวัดอุบลเนี่ย ถึงขนาดเกณฑ์คนไปเตรียมต้อนรับ และมีการซ่อมถนนให้สวยงามรอรับนายกรัฐมนตรีในเวลาที่น้ำท่วมทั้งจังหวัดอยู่ด้วย ซ่อมถนนนี่ไม่ใช่ซ่อมทางขาดเพื่อไปช่วยคนนะครับ แต่ซ่อมถนนส่วนที่เป็นหลุมบ่อให้สวยงามแก้มก้นอันบอบบางของนายกเมื่อนั่งรถผ่านจะได้ไม่บาดเจ็บ คำถามคือ accountability จากเหตุการณ์ลักษณะนี้จะยังสามารถ ‘คาดหวัง’ ได้อยู่ไหม? และกี่ครั้งแล้วที่เหตุการณ์แบบนี้ถูกกลบเกลื่อนไปด้วยยุทธศาสตร์ความหน้าด้านอื่นๆ?
ผมเขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าคนเป็นนักการเมืองจะต้องเป็นคนดีศรีสยาม ต้องใสสะอาดบริสุทธิ์ไม่เปื้อมลทินใดๆ นะครับ ไม่เลย โนโนโน แต่พร้อมๆ กันไป สำนึกต่อตัวอำนาจที่ถือครองอยู่ก็ต้องมีด้วย และการตระหนักเสมอว่าอำนาจในมือที่มีอยู่มีผลกับประเทศทั้งประเทศ สังคมโดยวงกว้างทั้งหมด ย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับคนที่จะเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะคนที่จะเป็นรัฐบาลกุมอำนาจการบริหารในระบอบประชาธิปไตย เพราะหากขาดซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็แปลว่าคุณไม่พร้อมที่จะทำงานในระบอบการปกครองนี้เท่านั้นเอง ใช่แล้วครับ เราไม่ได้ต้องการคนดีมาบริหารบ้านเมือง แต่เราต้องการคนที่พร้อมและเข้าใจในกลไกของระบอบประชาธิปไตยต่างหาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู beta.washingtonpost.com
[2] โปรดดู www.aei.org
[3] โปรดดู cambridgeglobalist.org
[4] โปรดดู matichon.co.th/politics/news_1669930