กรณีของดาราชาวจีน ‘หวัง ซิง’ หรือ ซิงซิง ที่หายตัวไปบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งได้รับการช่วยเหลือมาอย่างปลอดภัยแล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ยังมีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ที่ถูกนำตัวไปทำงานให้กับขบวนการค้ามนุษย์ด้วยเช่นกัน
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือ ชะตากรรมของคนไทยเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร แล้วพอจะมีวิธีไหนที่จะช่วยเหลือพวกเขาได้บ้าง?
อย่าลืมคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
รายจากสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐฯ (USIP) ระบุว่า เมืองสแกมเมอร์บริเวณตรงข้ามชายแดน อ.พบพระ ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงต้นปี 2566 โดยกลุ่มทุนจีนสีเทาที่เข้ามาเปิดบ่อนพนันและสแกมเมอร์ออนไลน์ ร่วมกับนายทหารที่ทำงานให้รัฐบาลเมียนมา และถูกกวาดล้างไปเมื่อเดือนตุลาคม 2566 แต่หลังจากนั้นได้มีการตั้งศูนย์สแกมเมอร์ขึ้นมาใหม่ และดึงดูดนักลงทุนสีเทาให้ย้ายถิ่นฐานจากเดิมอยู่ชายแดน เมียนมา-จีน มาเป็น เมียนมา-ไทย แทน
แต่เมืองสแกมเมอร์นี้ ไม่ได้ดึงดูดเพียงนักลงทุนสีเทาให้เข้าไปลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้เสียหายที่ถูกหลอกล่อเข้าไปทำงานด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับ ‘คนไทย’ ที่กลายเป็นเหยื่อจากการโดนหลอก ด้วยความหวังที่จะสร้างความเป็นอยู่ และชีวิตที่ดีขึ้นให้กับตัวเองและครอบครัว แม้สุดท้ายแล้วจะไม่เป็นดังหวัง
ข้อมูลระบุว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อ และถูกหลอกให้ไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมา โดยข้อมูลจากเครือข่ายภาคประชาสังคมช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ ซึ่งรวบรวมตัวเลขตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2567 จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2568 พบว่า มีผู้ขอความช่วยเหลือจากการถูกหลอกไปทำงานทั้งหมด 370 คน 21 สัญชาติ และคาดการณ์ว่าจำนวนเหยื่อทั้งหมดอาจสูงถึง 6,000 คน
ในจำนวนดังนี้ กลุ่มสัญชาติที่คาดว่าจะมีจำนวนมากที่สุดคือคนจีน ที่ 3,900 คน ขณะที่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า เหยื่อในขบวนการนี้อาจมีจำนวนนับแสนคน
รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุวว่า ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นกับทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ทั้งการพาข้ามไปทำงาน การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ หรือถูกขบวนการคอลเซ็นเตอร์ลวง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ในเดือนกุมภาพันธ์ หรือต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาล
เมื่อคนไทยต้องช่วยเหลือกันเอง
ในช่วงเวลาที่มีคนไทยถูกขบวนการค้ามนุษย์ลักพาตัวไปทำงาน สิ่งหนึ่งที่ภาคประชาชนคือการช่วยเหลือกันเอง
เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข จากมูลนิธิกระจกเงา โพสต์แชร์ประสบการณ์ที่ตนเองเคยช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ประมง และคอลเซ็นเตอร์ โดยระบุว่า เหยื่อจะถูกหลอกจากการบอกข้อมูลต่างๆ ไม่หมด และถูกบังคับในภายหลัง ซึ่งเหยื่อบางรายอายุไม่ถึง 18 ปี
สำหรับขั้นตอนการช่วยเหลือจะต้องใช้การพูดคุยโดยผ่านผู้ที่มีอิทธิพลในวงการนั้นๆ ให้เข้ามาช่วยเจรจา โดยจะต้องมีการส่งตัวกลับอย่างปลอดภัยและทำเหมือนไม่มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่ตัวเหยื่อเองก็ไม่ได้อยากแจ้งความเนื่องจากเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และมีบางคนโดนข่มขู่ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวออกมาด้วย
นอกจากนี้ เอกลักษณ์ยังบอกด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคน เนื่องจากอาจมีญาติหรือคนใกล้ชิดที่ถูกหลอกเอาเงิน หรือหลอกไปทำงานด้วย
เสียงเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย
กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ จากพรรคเป็นธรรม พูดคุยกับ The MATTER ถึงตัวเลขของแรงงานไทย ที่ทำงานในเมียนมาว่า จากข้อมูลที่นับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ยังช่วยเหลือไม่ได้นั้นอยู่ที่หลักหมื่น ขณะที่ในจำนวนดังกล่าวนี้ก็ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าในจำนวนนี้เป็นการค้ามนุษย์หรือเป็นการไปทำงานจริงๆ
กัณวีร์ บอกว่า ถ้าเทียบกับกรณีคนไทย กับกรณีซิง ซิงแล้วความรวดเร็วของความช่วยเหลือต่างกัน โดยกรณีของ ซิง เขาได้หายตัวไปตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม และสามารถออกมาได้ภายใน 4 วัน
“จะเห็นว่ามาตรฐานในการช่วยเหลือ ที่พอมีรัฐบาลจีนเข้ามาเกี่ยวข้อง และเข้ามาแทรกแซงให้รัฐบาลไทยทำงานอย่างรัดกุม รัฐบาลไทยจึงติดต่อกับรัฐชนกลุ่มน้อยและสามารถดึงออกมาได้ทันที” กัณวีร์ ระบุ
“เคสของคนต่างชาติสัญชาติอื่นๆ ที่ผมเก็บข้อมูลมา ตอนนี้มี 20 สัญชาติ รวมๆ ประมาณ 6,000 คน ซึ่งอยู่ในขบวนการนี้เช่นเดียวกับคุณซิงซิงเลย แต่เราก็พยายามเรียกร้องอยู่ เรามีรูปที่พวกเขาถูกทารุณกรรม และมีพิกัดทุกอย่างรวมถึงชื่อคนที่ดูแลในฝั่งเมียนมาด้วย หากแต่มันไม่มีการแทรกแซงของรัฐบาลจีน มันเลยนิ่งไปหมด ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ที่ประธานาธิบดีของศรีลังกาออกมาพูด จึงได้มีการปล่อยตัวแรงงานออกมา 2-3 ราย ในขณะที่ประเทศไทยเองไม่มีสิทธิทำอะไรได้เลย หากไม่มีการแทรกแซงระหว่างประเทศหรือการไถ่ตัวเองออกมา” สส.พรรคเป็นธรรม อธิบาย
ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ คือการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ
กัณวีร์ บอกว่า ได้มีการพูดคุยเพื่อตั้งคณะกรรมการพิจารณากลไกต่างๆ ในการดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ, กลางน้ำ และปลายน้ำ เนื่องจากที่เราเห็นการช่วยเหลือในทุกวันนี้เป็นเพียงการช่วยเหลือแบบปลายน้ำเท่านั้น
“เราจำเป็นจะต้องป้องกันตั้งแต่ต้นน้ำ ตั้งแต่ที่เขาเข้ามาในประเทศ ฟรีวีซ่าที่เรามีกว่า 90 สัญชาติ มันจะต้องมีกลไกในการติดตามด้วยว่าเขาไปอยู่ที่ไหน ซึ่งนักท่องเที่ยวบางคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้ามไปอีกประเทศนึงแล้ว” กัณวีร์กล่าวและเสริมด้วยว่า ที่จริงแล้วประเทศไทยมีเครื่องมือ หรือมาตรการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าการบูรณาการของภาครัฐยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากมันไม่เชื่อมต่อกันกับหลายๆ หน่วยงาน
“แต่หากเรายก ‘การค้ามนุษย์’ ขึ้นมาเป็นแกนหลัก เราจะเห็นว่ามันมีช่องทางป้องกันได้เลยตั้งแต่ต้น”
.เขายังมองว่า ไทยเองไม่สามารถทำงานคนเดียวโดดเดี่ยวแบบนี้ได้ เพราะเรากำลังดีลกับมาเฟียต่างชาติระดับโลกอยู่ มาเฟียจีนเทาที่รัฐบาลจีนกำลังปราบปรามอย่างจริงจัง เราต้องทำงานร่วมกับเขา และอีกหลายๆ สัญชาติที่เข้ามาในไทยและกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รวมถึงต้องให้ประเทศต้นทางสื่อสารกับประชาชนของเขาด้วย
สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้
จากกรณีดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นการค้ามนุษย์ในประเทศเพื่อนบ้าน ที่แม้จะใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน แต่เหตุการณ์เหล่านี้ได้สร้างกระแสความกลัวประเทศไทย ซึ่งมีชาวต่างชาติหลายคน โดยเฉพาะชาวจีนที่โดนหลอกในลักษณะคล้ายกับซิง ซิง ออกมาแชร์ประสบการณ์ของตัวเองที่เคยโดนหลอกเช่นกัน
ข้อถกเถียง และกระแสความกลัวประเทศไทยนี้ กลายเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องหาแนวทางในการจัดการอย่างจริงจัง ซึ่งล่าสุด แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลจะต้องดำเนินการเรื่องนี้ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย และได้มอบหมายกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม MDES ดำเนินการในเรื่องของการปล่อยข่าวลือที่ไม่จริง และสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่เป็นความจริง
เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่เราจะต้องติดตามกันต่อไปว่า รัฐบาลไทยจะจัดการกับขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นอีก ซึ่งการพิจารณากลไกตั้งแต่ต้นน้ำดังที่กัณวีร์เสนอก็อาจเป็นวิธีที่จะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ นอกจากนี้ ยังมีการให้ความช่วยเหลือชาวไทยที่ยังคงติดอยู่ในวงจรสแกมเมอร์ที่มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้กลับบ้าน
อ้างอิงจาก