“ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี”
ข้อความข้างต้นมาจากมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ที่มีเจตนารมณ์ให้ระบบเงินตราของรัฐสกุลเงินบาทเป็นระบบหลักเพียงระบบเดียวในประเทศไทย มาตราดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอย่างแพร่หลายอีกครั้ง หลังคณะราษฎรได้ทำคูปองเป็ดเหลืองแจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยผู้ชุมนุมสามารถนำคูปองดังกล่าวไปใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้ากับร้านค้าที่ร่วมโครงการบริเวณสถานที่ชุมนุม
เห็นท่าทีขึงขังของฝ่ายขวาแล้วก็ต้องทนกลั้นหัวเราะทั้งน้ำตา เพราะแต่ละท่านก็ดูอายุอานามไม่น้อย น่าจะเกิดทันยุคคูปองศูนย์อาหารสำหรับใช้แทนเงินสดที่มีขอบเขตการใช้งานจำกัด มีวัตถุประสงค์จำเพาะ ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งก็คล้ายคลึงกับคูปองเป็ดเหลืองที่แกนนำคณะราษฎรคงไม่ได้หวังจะใช้คูปองดังกล่าวมาแทนระบบเงินบาทไทยแต่อย่างใด
ที่สำคัญ พวกท่านก็ทำเป็นเสมือนลืมเลือนปรากฎการณ์ที่เคยถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมไทยเรื่อง ‘เบี้ยกุดชุม’ สกุลเงินท้องถิ่นซึ่งหลายคนเคยเห็นดีเห็นงามที่ใช้หมุนเวียนในบางหมู่บ้านของ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2541 ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาทักท้วงว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักกฎหมายข้างต้น ก่อนจะผลักดันให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอนุญาตอย่างมีเงื่อนไขแล้วจึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘บุญกุดชุม’ ในภายหลัง
วันนี้ผมขอรับหน้าที่ทบทวนความทรงจำอีกครั้ง ตั้งแต่เหตุและปัจจัยของการใช้สกุลเงินท้องถิ่น แล้วอภิปรายต่อยอดประเด็นคำถามที่หลายคนอาจไม่เคยสงสัย ว่าทำไมหนึ่งประเทศจึงต้องมีเงินเพียงแค่สกุลเดียว
เบี้ยกุดชุม จุดเริ่มต้นของสกุลเงินท้องถิ่นไทย
สำหรับวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียลอาจไม่คุ้นหูคุ้นตากับชื่อ ‘เบี้ยกุดชุม’ สกุลเงินท้องถิ่นไทยที่นับว่าเป็นปรากฎการณ์ทางการเงินครั้งสำคัญหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อชุมชน 5 หมู่บ้านในอำเภอกุดชุมและอำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร ถอดบทเรียนการพัฒนาชุมชนแล้วได้ผลลัพธ์คือการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านสกุลเงินของตนเองที่ใช้ได้เฉพาะในท้องถิ่นเท่านั้น
เบี้ยกุดชุมถูกนำมาใช้ไม่ต่างจากสกุลเงินบาท สามารถฝากและถอนได้โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงหนึ่งเดียวคือความเชื่อใจกันระหว่างคนในชุมชน ซึ่งหลายคนอาจฉงนสงสัยว่าทำไม 5 หมู่บ้านถึงต้องทำอะไรยุ่งยากถึงขนาดพิมพ์ธนบัตรอีกสกุลหนึ่งขึ้นมาหมุนเวียนใช้กันเอง
ความโดดเด่นของสกุลเงินท้องถิ่นคือเงินจะไม่ไหลออกนอกระบบไปไหน เมื่อมีการซื้อขายสินค้าในพื้นที่ เงินก็จะหมุนเวียนกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น แตกต่างจากการใช้เงินตราประจำชาติ เช่น สกุลเงินบาท ที่สามารถนำไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ไหนก็ได้ หรือฝากถอนที่ธนาคารใดก็ได้ นั่นหมายความว่าเงินบาทที่เข้าไปในระบบก็ไม่จำเป็นจะต้องกลับมาหมุนเวียนในชุมชน แตกต่างจากเงินกุดชุมที่ ‘จำเป็น’ ต้องใช้เฉพาะท้องถิ่นเพราะธนบัตรดังกล่าวอาจไม่ต่างจากเศษกระดาษหากอยู่นอกเขตการใช้งาน ลองนึกภาพเวลาที่นักท่องเที่ยวถือเงินร้อยดอลลาร์ในไทย แม้ว่าจะมีมูลค่ามาก แต่ก็ไม่มีร้านไหนรับชำระจนกว่าจะนำไปแลกเป็นเงินบาทให้เรียบร้อยเสียก่อน
กระแสสกุลเงินท้องถิ่นมักจะเกิดขึ้นภายหลังวิกฤติทางการเงิน เพราะชุมชนหลายแห่งมองว่าพวกเขาคือ ‘ผู้ถูกกระทำ’ จากการดำเนินงานที่ผิดพลาดโดยธนาคารกลางจนสกุลเงินแห่งชาติขาดเสถียรภาพ ทั้งที่เขาและเธอไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือส่วนได้ส่วนเสียกับการกระทำดังกล่าวแม้แต่น้อย สกุลเงินท้องถิ่นจึงคล้ายกับการแสดง ‘อารยะขัดขืน’ ต่อระบบธนาคารกลาง แล้วหันกลับมาใช้ความเชื่อมั่นในชุมชนสร้างสกุลเงินที่มีเสถียรภาพสูงกว่าเพื่อใช้กันเอง
แน่นอนครับว่ารัฐไทยผู้หลงใหลในความมั่นคง
ย่อมไม่ทนอยู่เฉยกับการถือกำเนิดของเบี้ยกุดชุม
โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยที่มองว่าการกระทำดังกล่าวละเมิดพระราชบัญญัติเงินตรา อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดความไม่สงบทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาที่อาจลุกลามในวงกว้าง หากเบี้ยกุดชุมกลายเป็นที่แพร่หลายแล้วระบบบริการจัดการเกิดพังทลายขึ้นมาจนเงินไม่หลงเหลือมูลค่า สุดท้ายภาครัฐก็ต้องเข้ามารับผิดชอบเยียวยา
เมื่อประเด็นดังกล่าวถูกจับตาจากทั้งสื่อกระแสหลักและฝ่ายความมั่นคง แม้ในภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทยจะมองว่าเจตนารมย์ของเบี้ยกุดชุม ‘ไม่ได้มีจุดประสงค์มาใช้แทนเงินบาท’ และผลักดันการอนุญาตให้ใช้โดยมีการระบุเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บุญกุดชุม’ เพื่อป้องกันความสับสน แต่กว่าจะถึงวันที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ความเชื่อมั่นซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันของสกุลเงินก็ถูกทำลายลงด้วยความหวาดกลัวว่าจะกลายเป็นผู้ต้องหา สุดท้ายสกุลเงินท้องถิ่นไทยก็หลงเหลือเพียงแต่ตำนาน
สิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจคือการที่รัฐไทยดูจะ ‘อ่อนไหว’ ไปกับทุกเรื่องที่ดูเหมือนจะกระทบความมั่นคง ทั้งที่การใช้เงินตราชุมชนไม่ได้ถูกห้ามปรามในหลายประเทศ อีกทั้งยังเป็นกรณีศึกษาว่าการใช้ระบบแลกเปลี่ยนในชุมชนหรือที่เรียกว่าสกุลเงินเสริม (Complementary Currency) ช่วยสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และลดผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น “ปอนด์บริกซ์ตัน” ของชุมชนบริกซ์ตัน ประเทศอังกฤษ หรือ “เบิร์กแชร์ส” ของชุมชนรัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
บางแห่งพัฒนานวัตกรรมโดยก้าวข้ามสกุลเงินแบบที่เราเข้าใจ โดยการแปลง ‘เวลา’ ของการทำงานอาสาสมัครช่วยเหลือคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นรับเลี้ยงเด็ก ดูแลคนชรา พาสุนัขไปเดินเล่น ให้เป็นเงินสกุลหนึ่งที่นำมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการในชุมชนได้จริง
น่าเสียดายที่ความหวาดกลัวอย่างไม่สมเหตุสมผลของรัฐไทยปิดโอกาสที่ชุมชนจะแสวงหานวัตกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเอง ทั้งที่รัฐก็รู้อยู่แก่ใจว่าสกุลเงินเล็กๆ เช่นนี้ไม่มีศักยภาพ เงินทุน หรือองค์ความรู้ที่จะมาแข็งขันกับเงินบาท ซ้ำร้ายรัฐเองก็เคยบริหารจัดการสกุลเงินผิดพลาดจนสร้างรอยแผลเป็นให้กับคนจำนวนไม่น้อยภายในประเทศ
แต่ไม่เป็นไรครับ ต่อให้รัฐบาลไทยจะสามารถ ‘ปราบปราม’ สกุลเงินของคนเล็กคนน้อยได้ประสบผลสำเร็จ แต่สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลง เมื่อสกุลเงินเข้ารหัส (cryptocurrency) อย่างบิตคอยน์อาจเข้ามาเป็น ‘คู่แข่ง’ สำคัญของสกุลเงินบาทไทยในอนาคต
ทำไมหนึ่งประเทศจะต้องมีสกุลเงินเพียงแค่สกุลเดียว?
คำถามดังกล่าวจุดประเด็นโดยนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าของค่ายเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) อย่าง ฟริดริช ฟอน ฮาเย็ค (Friedrich von Hayek) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ล่วงลับที่มีแนวคิดสนับสนุนเสรีนิยมสุดขั้วจนเรียกว่ารัฐบาลแทบไม่มีความจำเป็นในโลกอุดมคติของเขา และองคายพหนึ่งของรัฐบาลก็รวมถึงธนาคารกลางด้วย
ในหนังสือ ทลายความเป็นชาติของเงินตรา (The Denationalisation of Money) อาจารย์ฮาเย็คเสนอว่าเอกชนควรได้รับอนุญาตให้พิมพ์เงินตราของตนเองเพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างสกุลเงิน แทนที่จะใช้ระบบผูกขาดสกุลเงินโดยรัฐแล้วบังคับใช้กฎหมายให้ทุกคนในสังคมใช้เงินตราสกุลนั้นเพียงสกุลเดียว เขามองว่าการแข่งขันระหว่างสกุลเงินจะทำให้ตลาดเลือกสกุลที่มีเสถียรภาพมากที่สุดและมีความสมดุลระหว่างการแข็งค่าและอ่อนค่าเพื่อนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ผ่านการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทดลองสร้าง ‘ตะกร้าหลักทรัพย์ค้ำประกัน’ ในอุดมคติเพื่อเป็นฐานรับรองมูลค่าเงิน
จะเรียกอาจารย์ฮาเย็คว่าเป็น ‘นักเศรษฐศาสตร์ปลดแอก’
จากระบบธนาคารกลางก็คงไม่ผิดนัก
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยมองว่าระบบการเงินที่ปล่อยให้ธนาคารแต่ละแห่งพิมพ์ธนบัตรเพื่อใช้หมุนเวียนในระบบจะนำไปสู่การพิมพ์ธนบัตรที่มากเกินไป การฉ้อโกง รวมถึงเพิ่มโอกาสที่ธนบัตรของภาคเอกชนถูกพักชั่วคราวไม่ให้ใช้ชำระหนี้เนื่องจากผู้ออกธนบัตรขาดความน่าเชื่อถือ เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมเพิ่มแนวโน้มที่ประชาชนจะแห่กันไปถอนเงิน สร้างความตื่นตระหนก และทำลายเสถียรภาพของระบบการเงินในท้ายที่สุด
ส่วนภาครัฐเองคงไม่ชอบใจนัก เพราะระบบธนาคารอิสระจะทำให้เครื่องมือในกระเป๋าอย่าง ‘มาตรการทางการเงิน’ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการอัดฉีดเงินเข้าระบบ ไม่มีประสิทธิผลมากนักเนื่องจากประชาชนมีทางเลือกในการถือครองสกุลเงินอื่นซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยยั่วยวนหรือดูมั่นคงกว่า
ตามความเป็นจริงบนหน้าประวัติศาสตร์ ระบบธนาคารอิสระในสก็อตแลนด์ แคนาดา และสวีเดน ต่างก็มีเสถียรภาพพอใช้ได้ เนื่องจากตัวกลางอย่างระบบชำระเงินระหว่างธนาคารจะเปรียบเสมือน ‘ผู้คุมกฎ’ ที่ช่วยตรวจสอบถ่วงดุลป้องกันฉ้อโกงและการออกธนบัตรมั่วซั่ว ในทางกลับกัน ระบบธนาคารกลางเองก็ทำให้ประชาชนต้องผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าเนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาด เช่น การจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไทยที่นำไปสู่วิกฤติต้มยำกุ้ง หรือการปล่อยปละละเลยการให้สินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาที่นำไปสู่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
ในอดีต ข้อเสนอของอาจารย์ฮาเย็คก็ไม่ต่างจากการทดลองทางความคิด เพราะแม้แต่ระบบธนาคารอิสระที่ใช้ในบางประเทศก็ไม่ได้มีการแข่งขันระหว่างสกุลเงิน เพียงแต่เปิดช่องให้ภาคเอกชนพิมพ์ธนบัตรสกุลเงินหลักเช่นที่ฮ่องกง กระทั่งการถือกำเนิดของสกุลเงินเข้ารหัสที่ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศหนาวๆ ร้อนๆ เพราะสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้มีศักยภาพที่จะมาเป็นคู่แข่งกับสกุลเงินหลักในอนาคต เพราะอาจสามารถตอบสองโจทย์ใหญ่ของสกุลเงินคือเสถียรภาพและประสิทธิภาพได้ดีกว่าเงินสกุลที่บริหารจัดการโดยภาครัฐ
แน่นอนว่าอนาคตดังกล่าวคงยังไม่มาถึงในเร็ววัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าสกุลเงินอย่างบิตคอยน์กลายเป็นสินทรัพย์สำหรับเก็งกำไรมากกว่าจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ส่วนเงินดิจิทัลที่เน้นเสถียรภาพของอัตราการแลกเปลี่ยนอย่างลิบรา (Libra) โดยเฟซบุ๊กก็ยังไม่เปิดตัว ปัจจุบัน แม้ว่ามูลค่าของเหรียญดิจิทัลจะแตะหลักหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นั่นก็ยังถือว่าจิ๊บจ๊อยมากจนยังไม่มีโอกาสมาแทนเงินสกุลหลัก
แต่ตราบใดที่ประเทศไทยยังคงมีกฎหมายเคร่งครัดเรื่องเงินตรา สกุลเงินใหม่ที่มาในรูปแบบดิจิทัลก็คงไม่ต่างจาก ‘ภัยคุกคามต่อความมั่นคง’ ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีคิดที่แสนโบร่ำโบราณและแข็งกระด้างอย่างยิ่งสำหรับโลกปัจจุบัน อาจถึงเวลาที่เราควรจะปล่อยวาง ‘ความมั่นคง’ ลงเสียบ้าง เปิดโอกาสให้นวัตกรรมใหม่ๆ งอกงามภายในประเทศ กล้าที่จะรับความเสี่ยงเพื่อก้าวขึ้นเป็น ‘ผู้นำ’ แทนที่จะมองทุกสิ่งอย่างหวาดระแวงแล้วคอยวิ่งตามหลังเมื่อประเทศอื่นป่าวร้องว่าปลอดภัย
อ่านเพิ่มเติม
Are community currencies a better way to shop?
On the economics of currency competition
Can Currency Competition Work?