(1)
ปี พ.ศ. 2562 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนักการเมืองลายครามจากราชบุรี ที่ชื่อ ทวี ไกรคุปต์ เพราะนอกจากตัวเขาและลูกสาวคือ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี จะตกเป็นข่าวอื้อฉาวว่าด้วยที่ดิน 1,700 ไร่แล้ว ปีนี้ยังเป็นปีที่ครบรอบ 40 ปี การอยู่บนสนามการเมืองของไกรคุปต์ผู้พ่อ
จากบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางในสภาผู้แทนราษฎรของทวีเริ่มต้นขึ้นในวัย 38 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก นับตั้งแต่มีการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ในเวลานั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งมาจากการรัฐประหาร ต้องการ ‘เปลี่ยนเสื้อ’ มาเป็นนายกฯ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ภายใต้แรงบีบจากสหรัฐอเมริกาที่ปฏิเสธผู้นำอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ และหันหัวไปสนับสนุนประเทศ ‘ประชาธิปไตย’ มากขึ้น
แน่นอน หลังการเลือกตั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งภายใต้ระบอบเผด็จการแบบไฮบริด หรือแปลเป็นไทยอย่างสวยงามว่า “ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ” ส่วนทวีก็ได้เป็น ส.ส. เขต 1 จ.ราชบุรี ครั้งแรกโดยไม่สังกัดพรรค
ณ เวลานั้น เขามีฐานะไม่ธรรมดาแล้ว จากการเป็นเจ้าของโรงงานประกอบเสาเข็ม ที่ จ.นครปฐม และตามสูตร ‘เจ้าพ่อภูธร’ ทวีก็ขยับมาเล่นการเมือง โดยเริ่มจากการไม่สังกัดพรรค ไปสู่การตั้งพรรคเฉพาะกิจที่ชื่อว่า ‘สยามประชาธิปไตย’ ร่วมกับ พ.อ.พล เริงประเสริฐวิทย์ และ สันติ ชัยวิรัตนะ โดยทวีรับหน้าที่เป็น ‘เลขาธิการพรรค’ หรือเรียกได้ว่าเป็น ‘กระเป๋าเงิน’ ด้วยตัวเอง และ ‘ดูด’ เอา ส.ส.ที่ไม่สังกัดพรรค ถึง 43 คน เข้ามาร่วมกัน โดยมีภารกิจสำคัญในเวลานั้นคือทำอย่างไรก็ได้ ให้ ‘ป๋า’ ได้เป็นนายกฯ
นั่นเป็นเวลาเดียวกับที่เกิดมรสุมในกองทัพที่ต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ จาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ เป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พอดิบพอดี และบทบาทที่สำคัญของพรรคทวี ก็คือการส่งป๋าซึ่งเวลานั้นเป็น ผบ.ทบ. ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แน่นอนทวีทำสำเร็จ และในเวลาต่อมาเขายังมีบทบาทสำคัญในการใช้ทุนส่วนตัวออกไปรษณียบัตรเพื่อ ‘ต่ออายุราชการ’ ให้ป๋ามากถึง 5 แสนใบ เพื่อขอให้ป๋าได้เป็นผบ.ทบ.ต่อไป แม้จะอายุเกิน 60 ปีแล้ว เพื่อกำราบเสียงในกองทัพให้ ‘อยู่หมัด’
นั่นแปลว่าในการประกอบสร้าง ‘ระบอบเปรม’ ให้อยู่ยาวนานถึง 8 ปี ทวีถือเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่สำคัญ
(2)
จากผลงานที่เข้าตาป๋า เพียง 1 ปีให้หลังจากการเข้ามาเป็นนายกฯ 11 มีีนาคม พ.ศ. 2524 ป๋าก็ได้ฤกษ์ปรับคณะรัฐมนตรี โดยทวีเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ปรับเข้า โดยทวีรับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลเปรม 2 โดยมี ชวน หลีกภัย ส.ส.หนุ่มอีกคนจากประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยได้รับมอบหมายให้คุมกรมทะเบียนการค้า กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ และสำนักงานพาณิชย์สัมพันธ์ ท่ามกลางเสียงบ่นของนักธุรกิจ ที่ระบุว่าทวีไม่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะพาเศรษฐกิจฝืดเคืองให้ไปต่อได้
อย่างไรก็ตาม ด้วยเสียงสนับสนุนป๋าจากสภาล่างที่ไม่มากนัก พล.อ.เปรมก็จำใจต้องตั้งทวีให้เป็นรัฐมนตรีช่วย แม้จะได้รับเสียงทักท้วงจาก ‘เทคโนแครต’ รอบตัว
ทวีให้สัมภาษณ์ครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2524 ระบุว่า “การรับตำแหน่งนี้ ถือเป็นภาระหนัก และท้าทายความสามารถ และความอยู่รอดของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง จะพยายามทำอย่างดีที่สุดเพื่อแก้ไขปัญหา”
ขณะเดียวกัน ทวียังให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ช่วงนั้นอีกว่า “ดีใจมาก ที่ได้ร่วมงานกับรัฐมนตรีชวน เพราะภาพพจน์ของรัฐมนตรีชวนนั้น ท่านเป็นคนสะอาดมาก”
ความสัมพันธ์ระหว่างทวีกับชวนนั้น ดูจะมีพัฒนาการทั้งทางบวกและทางลบในเวลาต่อมา ส่วนความสัมพันธ์กับ พล.อ.เปรมนั้น ทวีบอกว่า “ป๋ามีบุญคุณกับผมมาก ที่ให้โอกาสผมได้ทำงานทดแทนคุณแผ่นดิน”
อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของทวีกับ พล.อ.เปรม กลับไม่ได้ต่อเนื่องยาวนานนัก เพราะเพียง 1 ปีเศษหลังจากนั้น ทวีก็ลาออกจากทั้งตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่ง ส.ส. ก่อนที่ป๋ายุบสภาไม่นาน โดยมีชนักติดหลังอย่างเรื่องการเรียกรับ ‘ผลประโยชน์’ จากการอนุมัติให้ตั้งบริษัทประกันภัย 7 บริษัทติดตัวตามมาด้วย
ป๋านั่งเป็นนายกฯ ยาวนาน 8 ปี แต่ทวีเป็นรัฐมนตรีในยุคป๋าได้เพียง 1 ปีเศษ เรื่อง ‘ประกันภัย’ ก็กลายเป็นเรื่องฉาวที่ติดตัวทวีเรื่อยมา และเรื่องนี้ ก็กลายเป็นเรื่องหนึ่งที่คู่แข่งทางการเมืองโจมตีเขายับในการเลือกตั้งอีกเกือบ 20 ปีให้หลัง…
(3)
แม้จะได้เป็น ส.ส. ต่อเนื่องยาวนาน และผูกขาดพื้นที่ราชบุรีเรื่อยมา แต่ในการตั้งพรรคการเมือง ทวีกลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่นัก เขาเคยเป็นหัวหน้าพรรค ‘ประชาไทย’ ที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ หลังจากลาออกจาก ครม.ป๋าเปรม แต่ก็ล้มเหลวต้องไปยุบรวมกับพรรคชาติไทยในที่สุด
หลังจากนั้น ทวีกลายเป็น ส.ส. ที่ย้ายไปย้ายมาอยู่หลายพรรค ในช่วงท้ายของ ‘เปรมาธิปไตย’ เขาย้ายไปสังกัดพรรคกิจสังคม ซึ่งแม้จะได้ร่วมรัฐบาล แต่ก็ไม่มีรายชื่อของทวีร่วมเป็นคณะรัฐมนตรี
กว่าทวีจะได้กลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีอีกครั้ง ก็ล่วงเลยเข้าไปถึงหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ในปี พ.ศ. 2535 ในเวลานั้น เขาสังกัดพรรคความหวังใหม่ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม โดยโคจรกลับมาพบกับชวนอีกครั้ง ซึ่งในขณะนั้นชวนสวมหมวกเป็นนายกฯ แล้ว
ภาพจำติดตาในช่วงปี พ.ศ. 2537 ก็คือการที่ทวีเข้าไปมีส่วนสำคัญในการจัดการ ‘การบินไทย’ ซึ่งทวีออกมาแถลงข่าวตอบโต้กับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของการบินไทยรายวัน และเมื่อรู้ตัวว่ารัฐมนตรีอย่างเขา ตกเป็น ‘เครื่องมือ’ ของการแทงข้างหลังกันเองในการบินไทย ทวีก็เกิดอาการหน้าซีด ปากสั่น โกรธจนถึงขีดสุด
รอบนี้ ทวีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยได้ราว 2 ปีเศษ ก็ขอลาออกจากตำแหน่ง กลายเป็นตำแหน่ง ‘รัฐมนตรี’ ครั้งสุดท้ายของเจ้าตัว ก่อนจะวางมือทางการเมือง และย้ายพรรคไปสังกัด ‘ประชาธิปัตย์’ ตามคำชวนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม การย้ายไปสังกัดพรรคเก่าแก่ของทวี กลายเป็น ‘มหากาพย์’ ต่อเนื่องยาวนาน
โดยเฉพาะเมื่อ ทวีประกาศชนกับผู้ใหญ่ของพรรคซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นตัวสุเทพนั่นเอง…
(4)
กลางปี พ.ศ. 2541 ทวีซึ่งในเวลานั้นได้เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์ จ.ราชบุรี แล้วออกมา ‘แฉ’ คนกันเองอย่าง สุเทพ ส.ส.พรรคเดียวกัน ซึ่งในเวลานั้น รับตำแหน่งใหญ่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่าเกี่ยวข้องกับการ ‘ฮั้วประมูล’ ขยายสื่อสัญญาณความเร็วสูงขององค์การโทรศัพท์ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท โดยทวียังได้ทำสมุดปกขาว พร้อมกับนำใบปลิวโจมตีสุเทพแจกจ่ายไปทั่วรัฐสภาอีกด้วย
แน่นอนกำนันสุเทพย่อมไม่ยอมนักเลงหัวไม้จากราชบุรี โดยสุเทพบอกว่าทวีมีพฤติกรรมแปลกๆ พร้อมกับขุดคุ้ยอดีตว่าด้วยความไม่ชอบมาพากลของทวีกับการอนุมัติธุรกิจบริษัทประกันภัยตั้งแต่สมัยป๋า
รอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์เวลานั้น ทำให้ชวนในฐานะหัวหน้าพรรค ต้องกำราบทวีว่าหากมีอะไรก็ควรคุยกันในพรรค และการกระทำของทวีถือว่าผิดระเบียบพรรคชัดเจน ซึ่งก็ตามมาด้วยการที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ทั้งพรรครุมสกรัมทวีจนหมดที่ยืน
รอบนี้ ทวีเป็นฝ่ายแพ้อีกครั้ง โดยมีการสอบสวนภายในพรรค ระบุว่าทวีเคลื่อนไหวโดย ‘ไม่สุจริต’ และละเมิดข้อบังคับพรรค ส่วนสุเทพไม่มีความผิดอะไร
ทวีกับสุเทพยังคงขัดแย้งยาวนานหลายปีจนเมื่อ ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทย ลงเลือกตั้งในช่วงปี พ.ศ. 2544 ทวีจึงหอบข้าวของ ‘ย้ายบ้าน’ ไปไทยรักไทยอีกครั้ง โดยบอกว่าเมื่อถามประชาชนในพื้นที่ทุกคน เกือบ 100% ก็ต้องการให้ตัวเองไปสังกัดไทยรักไทยทั้งนั้น แม้โดยส่วนตัวจะไม่เคยพบกับทักษิณมาก่อนก็ตาม…
(5)
ทว่าในการเลือกตั้ง ต้นปี พ.ศ. 2544 แม้กระแส ‘ทักษิณฟีเวอร์’ จะส่งให้ไทยรักไทยชนะอย่างถล่มทลาย แต่ทวีก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นว่าเขาสอบตกให้กับ ส.ส. หน้าใหม่จากประชาธิปัตย์ อย่าง ประไพพรรณ เส็งประเสริฐ โดยช่วงที่ประไพพรรณหาเสียง ก็มี ‘ใบปลิว’ ลึกลับว่าด้วยเรื่องผลประโยชน์ของทวีกับบริษัทประกันภัย ปลิวว่อนไปทั่ว อ.โพธาราม
หลังจากความพ่ายแพ้ ทวีก็ยุติบทบาทการเมืองระดับชาติไปอย่างเงียบๆ โดยรับตำแหน่งสุดท้ายเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย พ่วงด้วยตำแหน่งองครักษ์พิทักษ์ทักษิณเป็นระยะเวลาสั้นๆ
19 มิถุนายน พ.ศ. 2544 วันที่ทักษิณแถลงปิดคดีซุกหุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยวาจาอันลือลั่นว่า ‘บกพร่องโดยสุจริต’ นั้น ทวีก็เป็นหนึ่งในฝูงชนที่รอมอบดอกไม้ให้กำลังใจทักษิณ พร้อมกับเปิดตัวบุตรสาวซึ่งเข้าประกวดนางสาวไทยและได้รับรางวัล ‘นางงามมิตรภาพ’ ในปีเดียวกันนั้นอย่าง ‘น้องเอ๋’ ปารีณา ไกรคุปต์ เป็นครั้งแรกรวมอยู่ในฝูงชนด้วย
เมื่อถึงการเลือกตั้งอีกครั้งในปี พ.ศ. 2548 ทวีในวัย 66 ก็วางมือการเมืองระดับชาติ พร้อมกับส่งไม้ต่อให้ ‘ปารีณา’ ลูกสาว ลงสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. ราชบุรีแทน และนับตั้งแต่วันนั้น ปารีณาก็เป็น ส.ส.อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องย้ายพรรคอีกหลายพรรค แบบเดียวกับทวี พ่อของเธอ แต่ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.ปารีณา ก็ดำรงแหน่งต่อเนื่อง – ยาวนานทุกครั้ง
(6)
ในช่วงชุมนุม กปปส. ทวีจะมีบทบาท ‘ใต้ดิน’ ว่าด้วยการปกป้องประชาธิปไตย และเห็นแย้งกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการรัฐประหาร ทวีก็กลายเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญ พร้อมกับอุทิศป้ายขนาดใหญ่เชียร์ประยุทธ์จับมือกับเทเรซ่า เมย์ นายกฯ อังกฤษในขณะนั้น กลาง อ.บางแพ รวมถึงส่งปารีณาไปสมัครเป็น ส.ส.ให้กับพรรคหนุนประยุทธ์ และก็เป็นปารีณาที่ได้รับชัยชนะเป็นส.ส.อีกครั้ง
แม้สังคมภายนอกจะจดจำต่อทวีและตระกูลไกรคุปต์อย่างไร และถึงแม้เขาและลูกสาวจะมีข่าวอื้อฉาวถาโถมมามากขนาดไหน แต่พื้นที่เลือกตั้งเดิมของตระกูลไกรคุปต์ ก็ยังเหนียวแน่นทุกครั้ง
ภาพจำ 4 ทศวรรษทางการเมืองของทวี จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวของนักการเมืองคนหนึ่งที่สามารถ ‘อยู่เป็น’ เคียงข้างผู้มีอำนาจได้ ไม่ว่าการเมืองจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือระบอบเผด็จการก็ตาม
การอยู่ยาว ตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม จนถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมสะท้อนให้เห็นได้ว่าครอบครัวนี้ ไม่ธรรมดาแน่นอน…