เดิมธรรมเนียมไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพของชนชาวสยามมีอยู่ 2 วิธี หนึ่งคือการไว้ทุกข์ด้วย ‘สี’ ของเครื่องแต่งกาย และสองคือการ ‘โกนผม’
ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล หรือที่ใครๆ มักจะเรียกกันว่า ‘ท่านหญิงพูน’ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ที่ชื่อ ‘สีไว้ทุกข์ในสมัย ร.5’ ว่า แต่เดิม ‘สี’ ของเครื่องแต่งกาย ที่ใช้สำหรับไว้ทุกข์มี 3 สี 1) สีดำ 2) สีขาว และ 3) สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่
‘สีดำ’ ใช้สำหรับผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุแก่กว่าผู้ตาย
‘สีขาว’ ใช้สำหรับผู้เยาว์ หรือผู้ที่มีอายุอ่อนกว่าผู้ตาย
ส่วน ‘สีม่วงแก่’ หรือ ‘สีน้ำเงินแก่’ ใช้สำหรับผู้ที่ไม่ได้ญาติกับผู้ตายแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในบางโอกาสหากผู้ตายมีความสำคัญทางจิตใจมาก แม้ผู้ไว้ทุกข์จะมีฐานันดรศักดิ์ หรืออายุมากกว่าผู้ตาย ก็อาจไว้ทุกข์ด้วยการสวมชุดขาวได้บ้างเป็นกรณีพิเศษ เช่น เมื่อคราวที่เจ้าฟ้ากรมขุนศรีสุนทรเทพ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกเธอ ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ทรงเอ็นดูยิ่ง สิ้นพระชนม์ลง รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำรัสว่า “สิ้นลูกคนนี้แล้วพระเนตรมืดสี่ด้าน พระกรรณตึงสี่ด้าน” การพระศพในครั้งนั้น รัชกาลที่ 1 จึงทรงพระภูษาขาวทุกวัน หรือในงานพระเมรุของ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. 2388 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ก็ทรงพระภูษาขาว ทั้งที่ทรงเป็นสมเด็จพระราชบิดา เป็นต้น
ท่านหญิงพูน ยังทรงระบุไว้ด้วยว่า ในงานพระบรมศพที่พระมหาปราสาท เวลาที่จะไปเฝ้าพระบรมศพ ทุกคนต้อง ‘นุ่งขาว’ ไม่มีใครแต่งดำได้ในเวลางาน จะนุ่งดำได้เฉพาะเวลาอยู่บ้าน หรือไปไหนมาไหนตามปกติ
ที่ใช้เฉพาะ ‘สีดำ’ สำหรับไว้ทุกข์อย่างเช่นทุกวันนี้ เป็นเพียงธรรมเนียมที่ปรับใช้ใหม่ในยุคหลังเพื่อความสะดวกเท่านั้น ท่านหญิงสรุปปิดท้าย
แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นอย่างชื่อบทความที่ว่าของท่านหญิงพูน คือทั้งหมดนี่เป็นเรื่องสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีรากเก่าแก่มาก่อน ตามอย่างที่ตัวท่านหญิงเองก็ได้อ้างถึง รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ซึ่งก็คือ ธรรมเนียมปฏิบัติของชนชั้นสูงเสียเป็นส่วนมาก
ก็ในโลกที่ ‘ผ้า’ ยังไม่ใช่ของโหล ที่หาซื้อได้ถูกๆ แถวโบ๊เบ๊ หรือประตูน้ำ แล้วทาส หรือไพร่ฟ้าหน้าใสตาดำๆ ที่ไหนจะไปมีปัญญาปฏิบัติตามธรรมเนียมของชนชั้นปกครองกันได้ล่ะครับ?
สิ่งสำคัญสำหรับการแสดงความภักดีในธรรมเนียม ‘ไว้ทุกข์’ สำหรับไพร่ จึงเป็นเรื่องของการ ‘โกนผม’ ต่างหาก
การโกนผมนั้นเป็นการแสดงความเคารพอาลัยตามโบราณราชประเพณี ในอดีตเมื่อเจ้านายเสียชีวิต ผู้ที่สังกัดมูลนายจะต้องโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ต่อนายของตนเอง ยกเว้นแต่การสวรรคตของพระมหากษัตริย์ที่ต้องโกนผมทุกคน นอกจากนี้ เมื่อมีพระบรมราชโองการเป็นกรณีพิเศษ ก็ต้องโกนหัวทุกคนด้วย เช่น งานพระบรมศพกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาถ ซึ่งก็คือกรมพระราชวังบวรสถาน (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้น
แต่พระบรมราชโองการที่ว่าก็ยังยกเว้นสำหรับคนที่ไว้ผมเปีย ผมมวย ผมจุก และองค์พระมหากษัตริย์เอง ซึ่งก็แน่นอนว่า ผมเปีย ผมมวย นี่ไม่ใช่วัฒนธรรมของไทย พระบรมราชโองการที่ว่า ของรัชกาลที่ 1 จึงแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมอยู่ด้วย
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 ก็ทรงให้ใช้ธรรมเนียมเดิมในงานพระบรมศพ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเช่นกัน แต่ให้โกนเฉพาะพระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท รวมไปถึงข้ารับใช้ทั้งชายหญิงในสังกัดของกรมพระราชวังบวรสถาน ส่วนราษฎรทั่วไปให้งดเว้น ไม่ต้องโกนผม ซึ่งก็แสดงให้เห็นชัดเจนนะครับว่าเป็นเรื่องของความภักดีต่อมูลนายที่ตนเองสังกัดอยู่
ประกาศเกี่ยวกับงานพระบรมศพของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยรัชกาลที่ 4 ยังช่วยให้ทราบด้วยว่า การโกนผมไว้ทุกข์ยังเป็นธรรมเนียมของราษฎรโดยทั่วไป ที่บิดามารดา และสามี เสียชีวิต ของชนชาวไทยมาแต่เดิม ดังความในประกาศที่ว่า
“มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่าในการสวรรคตในพระบวรราชวังครั้งนี้ ข้าราชการแลราษฎรไพร่หลวงสังกัดพรรค์ทาส เชลยบรรดาที่มิใช่สังกัดขึ้นข้าวังหน้าทั้งชายหญิง เว้นแต่ข้าเจ้าที่สิ้นพระชนม์ แลบ่าวนายตาย แลบิดามารดาตาย แลหญิงผัวตาย แลแขกที่เคยโกนอยู่ปกติ นอกนั้นอย่าให้โกนผมเลยเป็นอันขาดทีเดียว อันผู้ใดมิทันรู้พลอยโกนผมเกินไปแล้ว ให้ผู้นั้นมาลุแก่โทษต่อจมื่นราชามาตย์โดยเร็ว ถ้าไม่มาลุแก่โทษนิ่งนอนใจเสีย มีผู้ส่อนำตัวจับมาได้จะให้ปรับไหมมีโทษแก่ผู้นั้นเป็นการล่วงพระราชอาญา ถ้ามาลุแก่โทษแล้วรับตั๋วประทับตราไปเป็นสำคัญ”
เรื่องของการโกนผมไว้ทุกข์นอกจากจะแสดงถึงความภักดีต่อสังกัดมูลนาย (ในการขณะที่การไม่โกนผมไว้ทุกข์ ก็ย่อมหมายถึงการภักดีต่อสังกัดมูลนายอีกฟากข้าง) แล้ว จึงยังแสดงถึงการช่วงชั้นทางสังคม และการลำดับญาติอีกด้วย
ธรรมเนียมการโกนผมไว้ทุกข์ให้กับเจ้านาย และพระมหากษัตริย์ทั้งหมดได้ถูกยกเลิกในสมัยรัชกาลที่ 6 (บางแหล่งข้อมูลว่า ยกเลิกมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2443 แล้ว แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันที่น่าเชื่อถือเพียงพอ) ดังความใน ‘ประกาศยกเลิกการโกนผมไว้ทุกข์’ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ที่ว่า
“อนึ่งตามโบราณราชประเพณี ในเวลาเมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการ ราษฎรทั้งหลายต้องโกนผมแทนการไว้ทุกข์ทั่วทั้งพระราชอาณาจักร แต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนารถ ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า การไว้ทุกข์ดังเช่นที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมเปนเครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมากให้ยกเลิกเสียทีเดียว”
พูดง่ายๆ ว่า รัชกาลที่ 5 ทรงมีรับสั่งเอาไว้ว่า ให้ยกเลิกการโกนผมไว้ทุกข์ เพราะเป็น ‘เครื่องเดือดร้อนอยู่เป็นอันมาก’ รัชกาลที่ 6 จึงทรงออกประกาศให้ยกเลิกประเพณีดังกล่าว
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกผมทรงมหาดไทย (หรือที่มักเรียกตามภาษาปากชาวบ้านมากกว่าว่า ทรงหลักแจว) ให้เป็นไว้ผมได้ตามสมัยนิยม ส่วนผู้หญิงก็เลิกการบังคับไว้ผมปีก มาเป็นไว้ผมยาวแทนได้แล้ว และในพระบรมราชโองการหรือประกาศซึ่งคือ ‘คำสั่ง’ ให้ปฏิบัติตามต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้พูดถึง ‘สี’ ของเครื่องแต่งกายใดๆ เลย การโกนผมไว้ทุกข์ต่างหากสำคัญยิ่งกว่า
ความสำคัญของการไว้ทุกข์สมัยนั้นจึงเป็นการการโกนผมไว้ทุกข์ แต่เรื่องการแต่งกายนั้นอาจไม่สำคัญเท่าในสมัยนี้
Illustration by Kodchakorn Thammachart