นับแต่การลืมตาดูโลกครั้งแรกจวบจน 5 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 คาร์ล มาร์กซ (Karl Marx) จะอายุครบ 200 ปีเต็ม ส่วนชายชาวไทยอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ แม้ 5 พฤษภาคมมิใช่วันเกิดเพราะนั่นเป็นวันเสียชีวิต (จิตรถูกล้อมยิงตายในชายป่าเมื่อ พ.ศ. 2509) แต่ถ้าเขายังโลดแล่นลมหายใจอยู่ตราบปี พ.ศ.นี้ อายุย่อมย่างตัวเลข 88 แล้ว (จิตรเกิด 25 กันยายน พ.ศ. 2473)
หากจะหาสิ่งใดแสดงความรำลึกต่อวาระพิเศษข้างต้น สำหรับผมคงไม่แคล้วนำเสนอข้อมูลแปลกๆ เกี่ยวกับนักคิดทั้งสองซึ่งคนส่วนมากมิค่อยล่วงรู้ ขณะเดียวกัน ก็มิอาจปฏิเสธได้หรอกว่าอยากรู้จนตัวสั่นระรี้ระริก มัวรอช้าอยู่ทำไมล่ะฮะ เริ่มต้นกันเลยสิ!
พอเอ่ยขานชื่อคาร์ล มาร์กซ์ ภาพจำอันผุดพรายขึ้นมาท่ามกลางความนึกคิดใครหลายคนคือชายชาวเยอรมันหนวดเครารกรุงรังผู้เคยมีช่วงชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1818-1883 บทบาทและชื่อเสียงของเขานั้นตราตรึงในฐานะนักคิดและนักทฤษฎีสังคมการเมืองซึ่งเปี่ยมล้นอิทธิพลทางภูมิปัญญาต่อมนุษยชาติ กระทั่งนำโลกขับเคลื่อนไปสู่กระแสเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
แน่ล่ะ ตามโฉมหน้าประวัติศาสตร์ นาม ‘มาร์กซ’ ผูกโยงเคียงคู่ลัทธิคอมมิวนิสต์เสมอกาล
เมืองเทรียร์ (Trier) ลุ่มแม่น้ำไรน์เป็นบ้านเกิดของมาร์กซ บิดาประกอบอาชีพทนายความ และเขาเติบโตในครอบครัวชาวยิวชนชั้นกลางค่อนข้างยึดแนวทางเสรีนิยม ครั้นเมื่อครอบครัวนี้ลงหลักปักฐาน ณ แคว้นปรัสเซีย (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเยอรมัน) จึงเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ประจำถิ่นอย่างนิกายโปรเตสแตนต์ มาร์กซเองเข้ารับพิธีแบ๊ปติสต์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ อย่างไรก็ดี อุปนิสัยช่างคิด ชอบตั้งคำถาม และรักการเรียนรู้ส่งผลให้เขาเป็นเด็กฉลาดที่มีมุมมองผิดแผกไปจากคนอื่นๆ
ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกิมนาซีอุม (Gymnasium) ซึ่งลักษณะทำนองเดียวกับโรงเรียนเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว มาร์กซได้เข้าศึกษาต่อวิชากฎหมาย ณ University of Bonn คนหนุ่มจากเมืองเทรียร์ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมต่างๆ นานา รื่นเริงร้องรำตามร้านเหล้าบาร์เบียร์ คร่ำครวญบทกวี เดินทางท่องเที่ยวและพบปะผู้คนหลากหลาย มิพักต้องสงสัยเลยว่าผลการเรียนของเขาจะตกต่ำลง ฉะนั้น ปีถัดมาพ่อของมาร์กซ์จึงให้บุตรชายย้ายไปเรียน Frederick William University แทน (ตอนหลังมหาวิทยาลัยนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Humboldt University of Berlin) ที่กรุงเบอร์ลิน มาร์กซเบนเป้าหมายทางนิติศาสตร์มาลุ่มหลงวิชาปรัชญา ประวัติศาสตร์ และทฤษฎีทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะแนวความคิดของเกออร์ก วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกิล (Georg Wilhelm Friedrich Hegel) นักปรัชญาเลื่องชื่อชาวเยอรมัน เขาถึงขั้นสมัครสมาชิกกลุ่มนิยมเฮเกลรุ่นใหม่ (Yong Hegelians) สร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้เป็นบิดายิ่งนัก จดหมายหลายฉบับถูกส่งมาจากทนายความชาวยิวเตือนลูกชายไม่ให้ยุ่งเกี่ยวการเมือง มิหนำซ้ำ หญิงสาวคนรักของมาร์กซอย่างเจนนี ฟอน เวสต์ฟาเลน (Jenny von Westphalen) ยังส่งเสียงปรามๆ เรื่องที่เขาพัวพันการเมืองผ่านเนื้อความจดหมายรักหวานชื่นเช่นกัน
มาร์กซร่ำเรียนจนคว้าปริญญาเอกในปี ค.ศ.1841 เขียนวิทยานิพนธ์ว่าด้วยนักปรัชญากรีกโบราณ แต่เขามีเหตุให้ไม่สามารถเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยได้เลยยึดอาชีพนักเขียนนักหนังสือพิมพ์แทน อันที่จริง การเขียนหนังสือคือความถนัดของชายหนุ่มคนนี้ ตอนอยู่ในรั้วโรงเรียนกิมนาซีอุมเขาเคยเขียนบทนิพนธ์สอบจบปีสุดท้าย (ค.ศ. 1835) เรื่อง ‘Reflections of a Young Man on The Choice of a Profession’ ชี้ชวนให้เห็นภาวะครุ่นคิดตรึกตรองของคนหนุ่มต่อการเลือกอาชีพ ทั้งยังเคยเขียนบทความชิงรางวัลระดับมัธยมปลายชื่อ ‘Religion: The Glue That Binds Society Together’ ซึ่งพยายามวิเคราะห์ศาสนาด้วยมุมมองเศรษฐกิจและสังคมการเมือง
กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 มาร์กซร่วมกับฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels) เพื่อนหนุ่มเขียน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) ถ่ายทอดน้ำเสียงแรงปรารถนาต่อสู้แห่งชนชั้นกรรมาชีพจะโค่นล้มระบบเดิมที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบและสถาปนาระบบใหม่ที่ปราศจากชนชั้น แม้จะเป็นเพียงแผ่นพับสั้นๆ แต่ทรงพลานุภาพทางความคิดครามครัน ประหนึ่งต้นธารและคัมภีร์บันดาลความเคลื่อนไหวของนักปฏิวัติก่อแรงกระเพื่อมทั่วโลก
ใช่เพียงแค่ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ อันลือลั่น ผลงานหนังสือสำคัญที่สุดของมาร์กซได้แก่ Das Kapital หรือ ว่าด้วยทุน (The Capital) พิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรก ค.ศ. 1867 ซึ่งบ่งชี้และวิพากษ์ระบบทุนนิยมอย่างถึงแก่น เขาทุ่มเทแรงใจแรงกายมหาศาลเพื่อเขียนหนังสือดังกล่าวให้ลุล่วงเสร็จสิ้น แต่ในห้วงยามพากเพียรนั้น มาร์กซต้องคลุกคลีอยู่กับโรคที่สร้างความทรมานให้เขายิ่งนัก นั่นคืออาการฝีฝักบัว (Carbuncle) ตรงลูกอัณฑะ ฝีแบบนี้เกิดขึ้นเพราะติดเชื้อแบคทีเรียลุกลามเป็นก้อนแผลหนอง แค่ผุดขึ้นตามแผ่นหลังลำคอก็เหลือทนแล้ว แต่ฝีเจ้ากรรมของมาร์กซดันมาผุดขึ้นที่อวัยวะบริเวณซอกขาหนีบเสียอีก พอขยับตัวลุกนั่งที โอ้โห ลองนึกภาพตามแทบน้ำตาไหลครับ แหม เจ็บปวดแทน
มาร์กซเขียนจดหมายถึงเองเงิลส์พรรณนาความทุกข์จากลูกอัณฑะ และเพื่อให้ความป่วยไข้บรรเทาลงบ้างทางความรู้สึก เขาจึงเฉไฉไปเอ่ยอ้างฉากเซ็กส์ในบทกวีฝรั่งเศสประกอบการรำพัน ยังไม่หมดหรอก ระหว่างเขียน Das Kapital โรคตับอักเสบเรื้อรังก็คอยบั่นทอนร่างกายยอดนักคิดแทบย่ำแย่
ฟังดูไม่น่าเชื่อแต่ก็เป็นไปดังเช่นที่ผมเล่า คุณผู้อ่านอยากอ่านเพิ่มเติม เชิญชวนไปเลาะสายตาจากหนังสือ Karl Marx: An Intimate Biography ของซาอูล เค. พาดอฟเวอร์ (Saul K. Padover) ทุกวันนี้อาจหาอ่านยากสักหน่อยครับ
ไหนๆ เผยเรื่องโรคภัยขณะเขียนงานของคาร์ล มาร์กซแล้ว ชวนให้ใคร่แนะนำใครอีกคนผู้เผชิญชะตากรรมเหมือนๆ กัน กระทั่งชื่อก็ฟังคล้าย เขาคือกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) นักประพันธ์รางวัลโนเบลชาวโคลอมเบีย
ในความสังเกตของผู้อ่านนวนิยายของมาร์เกซเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) หลายคน อาจสะดุดสายตาเข้าบ้างกับการกล่าวเน้นถึงแผลซอกรักแร้ของตัวละครพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยาอยู่บ่อยหน ทำไมต้องเป็นแผลที่ซอกรักแร้? ความจงใจของมาร์เกซนั่นล่ะคำตอบ ตอนกำลังขะมักเขม้นเขียนงานชิ้นนี้ ได้ป่วยเป็นแผลหนองในซอกรักแร้ซึ่งเจ็บปวดมาก ปวดแล้วปวดอีกไม่สิ้นสุด ภาษาสเปนจึงเรียกอาการด้วยชื่อ ‘โกลอนดรีนอส’ (golondrinos) แปลว่า นกนางแอ่น เพราะผู้ป่วยจะไปไหนมาไหนต้องยกแขนตลอดเวลาแบบนกนางแอ่น มาร์เกซหยิบยกเอาโรคของตนเองสอดใส่ไว้ในรายละเอียดของพันเอกบูเอนดิยา และพอเขียนให้ตัวละครมีแผลบวมในรักแร้อย่างหนักหน่วง บังเอิญแผลในซอกรักแร้ของเขาก็พลันหายดีทันที นี่มิใช่ผมพูดอำเล่นๆ นะฮะ ‘กาโบ’ (อีกชื่อเรียกขานของมาร์เกซโดยชาวละตินอเมริกัน) เปิดอกพูดไว้เลยผ่านบทสัมภาษณ์ลงพิมพ์ในนิตยสาร Playboy ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1983 (แหม ใช่จะมีเพียงภาพแม่กระต่ายสาวๆ หรือ ‘บันนี่’ (Bunnies) ให้ชื่นชมอย่างเดียว เกร็ดสนุกๆ ของนักเขียนก็มีนะจ๊ะ)
มูลเหตุที่ผมหยิบยกกรณีของคาร์ล มาร์กซและกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซมาสาธยาย จึงมิใช่อะไรอื่นนอกจากสะท้อนให้เห็นว่ากว่างานเขียนชิ้นเอกอุแต่ละชิ้นจะประสบความสำเร็จเกรียวกราวระดับโลกได้ บางที ผู้เขียนต้องเผชิญโรคภัยไข้เจ็บประหลาดๆ คอยราวีอย่างแสนสาหัส
ทีนี้ว่าถึงเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์กันเถอะ จิตรคือนักคิดนักเขียนชาวไทยคนสำคัญช่วงทศวรรษ 2490-2500 ผลงานของเขาสร้างอิทธิพลทางความคิดแพร่หลายต่อนักอ่านในด้านต่างๆ ทั้งเชิงโบราณคดี วรรณกรรมและบทเพลง การเมืองและประวัติศาสตร์ หนังสือของจิตรที่อยู่ในความทรงจำใครต่อใครก็อย่างเช่น โฉมหน้าศักดินาไทย, ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ และ สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ยังมีงานเขียนตีพิมพ์กระจัดกระจายเยอะแยะ ทั้งข้อเขียนและกาพย์กลอนเสนอแนวคิดต่อสังคม
ปัจจุบันพบเห็นการเขียนบอกเล่าเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ค่อนข้างมากและขยายแง่มุมกว้างขวาง ผมเองคงเอ่ยอ้างมาทั้งหมดในที่นี้มิได้ แต่ประเด็นหนึ่งซึ่งถูกโหยหาอยากรู้บ่อยๆ ทว่ายังไม่ค่อยพบข้อเขียนแถลงไขให้กระจ่างเท่าใดนักคือรายละเอียดความรักของจิตร อาจจะน่าสนใจก็ได้ถ้าเราลองตามแกะรอยคร่าวๆ ว่าจิตรเคยหลงรักผู้หญิงคนไหนบ้าง
อ้อ ควรบอกด้วยว่า จิตร ภูมิศักดิ์กับคาร์ล มาร์กซดูเหมือนมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นทางแนวความคิดและจิตวิญญาณ ต่อให้ทั้งสองเกิดกันคนละประเทศคนละช่วงยุคสมัยก็ตามที แน่นอนจิตรออกตัวนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ ภายหลังเขาถูกคุมขังด้วยข้อหาคัดค้านรัฐบาลช่วง พ.ศ. 2501-2508 เมื่อได้รับอิสรภาพแล้วจึงเดินทางเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ย้อนไปสมัยที่จิตรยังเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาเคยแอบขโมยหนังสือ Das Kapital ผลงานของมาร์กซจากหอสมุดกลางประจำสถาบันของตนมาอ่านไว้คนเดียว เพื่อนของจิตรอย่างประวุฒิ ศรีมันตะยืนยันความจริงข้อนี้ได้ดี
เดี๋ยวๆ ผมขอวกมาจดจ่อที่เรื่องความรักของจิตรดีกว่า ส่วนใหญ่แล้วมักยินเสียงเล่าทำนองนักคิดชาวไทยผู้นี้ไม่สนใจผู้หญิง ตอนหลังเขายังเขียนวิพากษ์ผู้หญิงค่อนข้างแรงเสียด้วย เห็นได้จากท่วงทำนองบทร้อยกรองที่ต่อว่าหญิงไทยซึ่งใช้ชีวิตตามแบบฝรั่งอเมริกัน แต่งกายยั่วยวนกามารมณ์ช่วงทศวรรษ 2490-2500
วิทย์ วิศทเวทย์เพื่อนร่วมมหาวิทยาลัยคนหนึ่งที่เคยไปกินสุกี้ยากี้เนื้อพร้อมจิตร (สมัยนั้นสุกี้ยากี้เนื้อชุดละ 15 บาท ราคาแพงมาก เป็นไปได้ว่าพวกเขาไปกินกันหลายคนต่อหนึ่งชุด) ก็ให้ความเห็นว่าจิตรน่าจะไม่ค่อยสนใจเรื่องผู้หญิงนัก แต่กระนั้นวิทย์ยังเสริมอีก“..ก็มีผู้หญิงชอบเขานะครับ ผมก็ไม่ทราบว่าชอบเพราะอะไรด้วยซ้ำ เพราะเขาก็หน้าบาก แล้วก็หน้าตาก็ไม่ได้หล่ออะไร ความจริงถึงแม้จะไม่ได้ชมตัวเอง เขาก็หล่อน้อยกว่าผมด้วยซ้ำไป แต่ที่ผมจำได้ก็คือมีผู้หญิงมาตอมคุณชายเยอะ อันนี้ผมจำได้ติดตาเลย จำหน้าได้ทุกคนที่มาตอมเขา แต่ว่าจิตรนี่ ผมแปลกใจที่มีคนชอบเขา คนที่ชอบเขาอยู่รุ่นเดียวกับผมด้วย ผมว่ามีคนชอบเขา อาจจะชอบเพราะอธิบายเก่ง เป็นนักการเมืองคงไม่ใช่ อาจจะเพราะว่าเรียนเก่งแล้วก็พูดอะไรฉะฉาน…”
นั่นเป็นคำบอกเล่าของเพื่อนหนุ่มที่เผยให้เห็นชีวิตช่วงเรียนคณะอักษรศาสตร์ แล้วน้ำสียงของจิตรเองล่ะ? จากการอ่านบันทึกประจำวันของเขาระหว่าง พ.ศ. 2489-2490 พบข้อมูลว่าตอนอายุ 16 ย่าง 17 ขณะเป็นนักเรียนมัธยมได้ปรากฏหญิงสาวคนหนึ่งอยู่ในความสนใจ เธอชื่อเวียน เกิดผล ดังถ้อยความในบันทึกประจำวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2490 “วันนี้รู้สึกแปลกใจตัวเอง นึกชอบผู้หญิงคนที่มาเย็บเสื้อที่บ้านชื่อ เวียน เกิดผล ที่จริงเคยชอบใจรักมานานแล้ว ตั้งแต่อยู่เมืองพระตะบอง ดูท่าทางเป็นคนซื่อดี” ไล่สายตามาดูบันทึกประจำวันที่ 2 พฤษภาคมปีเดียวกันก็เจอการเอ่ยถึงเธออีกหน “วันนี้ไปเอานาฬิกาที่บ้านคุณวง คุณวงยังไม่กลับจากกรุงเทพ คุยอยู่กับ เวียน ประเดี๋ยวหนึ่ง สังเกตดูท่าทางจะชอบเราเหมือนกัน วันนี้พูดกันมากที่สุดตั้งแต่รู้จักกันมา พอลาแม่เขาแล้ว หันไปลาเขา เขายกมือไหว้ ยืนมองเราจนลับตา เคยสังเกตหลายหนแล้ว”
จิตรยังเคยเผชิญความวาบหวิวจากผู้หญิงด้วย เขาเขียนไว้ในบันทึกประจำวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ว่า “ผู้หญิงในชีวิตฉันๆไม่เคยแตะต้องเลย ถึงแม้จะถูกยั่วยวนขนาดหนักมาถึง 4-5 ครั้งจากสาวบริสุทธิ์ แม่หม้าย สาวมีผัว ออกจะแปลกที่ผู้หญิงมายั่วคนอย่างฉัน ฉันไม่เคยแสดงเจ้าชู้ แต่ทำไมเขาแก้ผ้าให้ฉันดูได้ สาวแท้ๆมีผัว แต่งกับผัวสองสามวันมาเกี้ยวยั่วฉันอีก เปิดนม เปิดต้มอันเพิ่งถูกมือเชยมาสองสามวันให้ฉันเห็น – ให้ดูทีเดียว …เปิดออกมาอวด พูดยั่วยวนทั้งวาจาท่าทาง แม่ม่ายมานอนกอดฉัน เอานมมาแนบอกฉัน ขามาก่ายฉัน นี่ยังไง …ฉันทนได้ ฉันไม่ยอมแพ้อำนาจฝ่ายต่ำ ใครเล่าที่มีชีวิตประหลาดอย่างฉันเล่ามาบ้าง”
หญิงสาวชื่อเวียนคงจะวนเวียนในอารมณ์เสน่หาของจิตรสมัยวัยรุ่นพอดู และเป็นความรู้สึกหลงรักทางใจมากกว่า เพราะเขาน่าจะไม่ปลื้มเปรมต่อการแตะเนื้อต้องตัวระหว่างชายหญิง ญาติใกล้ชิดของจิตร (ซึ่งน่าจะเป็นพี่สาว) ยืนยันว่า “อ๋อ เวียนนั่น… จิตรเขาเคยชอบพอครั้งหนึ่ง ตอนหลังก็ห่างๆไป ก็เหมือนที่จุฬาฯ จิตรเคยมาพูดว่าชอบผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง แต่ไม่กล้าเข้าไปสร้างความหวังให้กับฝ่ายหญิงมาก เพราะคิดว่าตัวเองจน ผู้หญิงก็รู้ๆ มองท่าก็รู้ว่ารักกัน แต่เมื่อผู้ชายไม่มาพูด ก็เลิกกันไป ฝ่ายหญิงก็แต่งงานไป…”
ทางด้าน ‘ผู้หญิงคนหนึ่ง’ ซึ่งเคยรักชอบกันกับจิตรเมื่อเรียนอยู่จุฬาฯ นั้น อาจสอดคล้องคำบอกเล่าของวิทย์ ชวนให้ผมนึกถึงจดหมายรักแปดฉบับของจิตร ภูมิศักดิ์ที่เคยนำลงพิมพ์ในวารสารอ่าน ฉบับเดือนตุลาคม 2559 หญิงสาวผู้รับจดหมายเธอชื่อสมพร เป็นนิสิตรุ่นน้อง คุณผู้อ่านท่านใดสนใจสามารถไปดูจากวารสารเล่มที่ผมบอกนะครับ สำนวนภาษาของจิตรชวนฝันอยู่ไม่น้อย ทั้งๆ ที่ตอนเป็นวัยรุ่น เขาเคยกล่าวว่า “ฉันไม่อยากอ่านจดหมายรักแร่กอะไร” ในหนังสือพิมพ์เริงรมย์เล่มละ 10 สตางค์ เพราะเขายังไม่อยากจะรัก ถ้าจะรักก็เขียนจดหมายรักได้โดยไม่ต้องจำแบบอย่างจากในหนังสือพิมพ์หรอก
สืบเนื่องด้วยครบรอบ 200 ปีคาร์ล มาร์กซและ 88 ปีจิตร ภูมิศักดิ์ ผมคงขออนุญาตหยุดพักการเขียนเพียงเท่านี้ก่อน เรื่องราวสนุกๆ ของนักคิดทั้งสองคนนั้น ต่อให้เล่ายืดยาวอย่างไรก็ยังมีแง่มุมแปลกๆ รอคอยการตรวจสอบจากผู้สนใจค้นคว้าไม่สิ้นสุด สบโอกาสคราวหน้าผมอาจมีอะไรมาให้ตื่นเต้นอีก คุณผู้อ่านโปรดเตรียมหทัยไว้ระทึก!
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กวีการเมือง (จิตร ภูมิศักดิ์).รวมบทกวีและงานวิจารณ์ศิลปวรรณคดี. เชียงใหม่ : แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่, 2517
- กองบรรณาธิการ. ‘ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นของจิตร ภูมิศักดิ์ จากปากคำของ “ญาติผู้ใกล้ชิด’ ใน โลกหนังสือ 2, ฉ. 8 (พฤษภาคม 2522) น. 65-67
- กองบรรณาธิการ. ‘บันทึกประจำวันในวัยเยาว์ของจิตร ภูมิศักดิ์ (พ.ศ. 2489-2490)’ ใน โลกหนังสือ 2, ฉ. 8 (พฤษภาคม 2522) น. 43-63
- มาร์เกซ, กาเบรียล การ์เซีย. หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดียว. แปลโดย ปณิธาณ-ร.จันเสน.พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2547
- เลนิน, วลาดิมีร์ อิลยิช. คาร์ล มาร์กซ์. เชียงใหม่: แนวร่วมนักศึกษาเชียงใหม่, 2517
- สเตฟานอฟ, อี. คาร์ล มากซ์ ประวัติย่อ (Karl Marx, Biography). แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาราษฎร์, 2518
- อุชญาสิตาส แคราสสิเม่. ‘ซอกรักแร้ของมาร์เกซ และการกลายเป็นนกนางแอ่นของพันเอกออเรลิยาโน บูเอนดิยา’ ใน ประชาไท (9 March, 2015) สืบค้นจาก https://blogazine.pub/blogs/aootyasitas2015/post/5279
- ไอดา. ‘เบ็นที่รัก, Re: จิตร ภูมิศักดิ์กับจดหมายรักแปดฉบับ’ ใน อ่าน ฉบับ อ่าน-อาลัย (ตุลาคม 2559). น.10-103
- Dreifus, Claudia. ‘Playboy Interview: Gabriel García Márquez.’ Playboy (February 1983), 65-77, 172-178
- Padover, Saul K. Karl Marx: An Intimate Biography. New York: McGraw-Hill, 1978
- กองบรรณาธิการ. ‘จากโซ่ตรวนถึงความตาย วาระสุดท้ายแห่งชีวิต จิตร ภูมิศักดิ์’ ใน ถนนหนังสือ 3, ล.11 (พฤษภาคม 2529)
- กองบรรณาธิการ. ‘ฟื้นความหลังจิตร ภูมิศักดิ์’ ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, ฉ.7 (มิถุนายน 2546 – พฤษภาคม 2547) น. 10-26
Illustration by Yanin Jomwong