ศตวรรษที่ยี่สิบคือช่วงเวลาที่มีสีสันและนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ สงครามโลกสองครั้ง สงครามเย็น การพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน และชัยชนะของระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตย ล้วนเกิดขึ้นในห้วงเวลานี้
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก โลกเรียนรู้อะไรบ้างในร้อยปีที่ผ่านมา? สองสามวันมานี้ผมบังเอิญเจอคอลัมน์ของคุณ นิโคลัส คริสตอฟ นักข่าวมือรางวัลพูลิตเซอร์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ คุณคริสตอฟตอบคำถามนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ว่าในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา โลกอย่างที่เรารู้จักในปัจจุบัน เป็นผลมาจากบทเรียนที่นักปรัชญาจำนวนหนึ่งมอบไว้
ในบรรดาทั้งหลายทั้งปวง บทเรียนที่ถูกกล่าวถึงก่อนเพื่อน คือมุมมองเรื่อง ‘ความหลากหลายในเชิงคุณค่า’ (value pluralism) บทเรียนนี้มอบไว้โดย เซอร์อิไซอาห์ เบอร์ลิน อาจารย์วิชาทฤษฎีการเมืองระดับตำนานแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญผู้มีคนอย่าง วินสตัน เชอร์ชิล เป็นแฟนคลับพันธุ์แท้
ความหากหลายเชิงคุณค่าคืออะไร?
สรุปแบบหยาบๆ เลยนะครับ มุมมองนี้บอกว่า หากเราพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์และประวัติศาสตร์ จะพบว่าความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ หรือเรียกรวมๆ ว่า ‘ชุดคุณค่า’ ของคนนั้น มีความแตกต่างหลากหลายและขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถหาข้อสรุปสัจธรรมหรือหลักการตายตัวหนึ่งเดียว มาใช้แก้หรือตัดสินความขัดแย้งทั้งหมดนี้ได้ เมื่อธรรมชาติเป็นเช่นนี้ การทำร้ายผู้เห็นต่างเพื่อหวังให้ความขัดแย้งหมดไปจึงเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้!
ที่เรื่องนี้สำคัญ ก็เพราะในสมัยศตวรรษที่ยี่สิบที่เบอร์ลินมีบทบาทอยู่ คนจำนวนมากเชื่อว่าสัจธรรมทางการเมืองมีอยู่จริง สำหรับคนเหล่านี้ การฆ่ากันในนามอุดมการณ์ป็นสิ่งจำเป็น เพราะเชื่อว่าการสังเวยชีวิตเป็นราคาที่ต้องจ่าย หากเราอยากไปสู่โลกในอุดมคติ เพราะเชื่อเช่นนั้น ฟาสซิสต์และคอมมิวนิสต์จึงฆ่าผู้เห็นต่าง และเสรีประชาธิปไตยจึงฆ่าคอมมิวนิสต์ ทั้งหมดนี้ล้วนทำไปในนามอุดมคติอันดีงามทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นความเจริญก้าวหน้า เสรีภาพ หรือความเท่าเทียม
ในปาฐกถาเรื่อง On the Pursuit of ideal อันโด่งดังในปี 1988 เบอร์ลินชี้ว่าวิธีคิดที่เชื่อว่าสัจธรรมว่าด้วยโลกในอุดมคติหรือโลกพระศรีอาริย์มีอยู่จริง และเราต้องก้าวหน้าไปสู่จุดนั้น เป็นวิธีคิดที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยเพลโต
แน่นอนว่าความพยายามหาคำตอบดังกล่าวได้ให้กำเนิดภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย เช่น ภูมิปัญญายุครู้แจ้งอันมีรากฐานมาจากการพยายามค้นหาโลกในอุดมคติผ่านการใช้เหตุผล หรือภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์ที่มีรากฐานมาจากความเชื่อที่ว่าหลักฐานเชิงประจักษ์จะช่วยเปิดเผยสัจธรรมเกี่ยวกับโลก นอกจากนี้ ความพยายามดังกล่าวยังให้กำเนิดอุดมคติต่างๆ เช่นเสรีภาพและความเสมอภาค
แต่ความศรัทธาอย่างหมดหัวใจต่อความคิดใดความคิดหนึ่ง ก็ทำให้เราหน้ามืดตามัวจนเห็นว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ จึงพร้อมจ่ายราคาทุกอย่างเพื่อบรรลุภารกิจนั้น ดังเช่นที่ชาวฝรั่งเศสหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยชูตำรารุสโซประหัตประหาร ‘ศัตรูของประชาชน’ เพื่อความมั่นคงของเสรีภาพแห่งสาธารณรัฐ บอลเชวิคกวาดล้าง ‘ชนชั้นนายทุน’ และ ‘พวกปฏิกิริยา’ เพื่อความเสมอภาค วิธีคิดทางวิทยาศาสตร์เรื่องการวิวัฒนาการก็ทำให้ระบอบนาซีเชื่อเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว
ตัวเบอร์ลินเองผ่านเรื่องเหล่านี้มาโดยตรง ในวัยเด็ก เบอร์ลินเกิดและโตในรัสเซีย จึงมีโอกาสเห็นความโหดร้ายของการปฏิวัติโซเวียต เมื่อหนีตามพ่อแม่ออกมาจากโลกในอุดมคติของบอลเชวิค ตัวเขาซึ่งมีเชื้อสายยิวก็เผชิญกับการคุกคามของกระแสต่อต้านยิวในยุโรปภาคพื้นทวีป จนต้องเร่ร่อนหนีมาจนถึงอังกฤษในที่สุด
ไม่เพียงแต่ราคาของการทำร้ายกันแบบนี้จะแพงเกินไป เบอร์ลินชี้ว่าเอาเข้าจริง เราไม่ได้มีเหตุผลหรือหลักฐานใดๆ บ่งชี้เลย ว่าเราสามารถลดทอนหลอมรวมชุดคุณค่าอันหลากหลายที่มนุษย์ยึดถือและขัดแย้งกันอยู่ในปัจจุบัน ให้เหลือพียงคำตอบสุดท้ายอันเป็นสัจธรรมหรือสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหาหนึ่งเดียว
หากเราพิจารณาจากชีวิตประจำวัน ความหลากหลาย ความขัดแย้ง และการสนทนาระหว่างคุณค่าที่ขัดแย้งกันภายในตัวเราและระหว่างเรากับผู้อื่นต่างหาก ที่ทุกคนต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา เช่น ความยุติธรรมมักขัดแย้งกับความเมตตาและความกตัญญู หรือเสรีภาพมักขัดแย้งกับความเสมอภาค เราต้องเลือกและตัดสินใจท่ามกลางความหลากหลายเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
แล้วมนุษย์ทำอะไรได้บ้างท่ามกลางชุดคุณค่าที่หลากลายทางคุณค่า?
เมื่อความหลากหลายและความขัดแย้งเป็นธรรมชาติ สิ่งที่มนุษย์เดินดินพอทำได้ก็เหลือเพียงการพยายามตัดสินใจบนพื้นฐานการทบทวนพิจารณาชุดคุณค่าต่างๆ อย่างรอบด้าน แล้วหาทางประนีประนอมหรือทางออกให้กับความขัดแย้ง หรือด่ากันเกลียดกันก็ยังได้ ขอแค่ไม่ทำร้ายและฆ่ากันก็พอ
คำตอบที่ได้ในแต่ละครั้งก็ล้วนเปลี่ยนไปตามบริบทเวลาและสถานที่ การหาสมดุลระหว่างเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง ความเท่าเทียม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุดของมนุษยชาติ
ควรสังเกตนิดนึงนะครับ ว่าแนวคิดเรื่องการสนทนาและหาสมดุลระหว่างชุดคุณค่าตรงนี้ ทำให้วิธีคิดของเบอร์ลินแตกต่างจากพวกสัมพัทธนิยมเชิงคุณค่า (value relativism) พวกหลังนี้ เชื่อว่าคุณค่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่มีถูกไม่มีผิด เหมือนที่บางคนชอบชาบางคนชอบกาแฟ เราจึงไม่ควรยุ่งหรือเถียงกันเรื่องนี้ สำหรับเบอร์ลิน วิธีคิดแบบนี้ก็ผิดธรรมชาติเช่นกัน เพราะมนุษย์เรามีความสามารถที่จะทำความเข้าใจและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ประวัติศาสตร์เองก็สอนเราว่ามนุษยชาติสามารถเรียนรู้และหาจุดร่วมกันได้มากขึ้นเรื่อยๆ
เราในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศไทยเรียนรู้อะไรได้บ้างจากบทเรียนดังกล่าว?
ตอนนี้หลายคนกำลังเชื่อว่าการปฏิรูปหรือการอนุรักษ์คุณค่าบางอย่างของชาติเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์ จึงสนับสนุนหรือเพิกเฉยต่อการทำร้าย จับกุม หรือคุมขังคนเพื่อนร่วมชาติจำนวนหนึ่งที่เห็นต่าง เพราะเห็นว่าเป็นราคาที่ควรจ่าย เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ จะมีสถานการณ์ไหนเหมาะกับไอเดียของเบอร์ลินไปมากกว่านี้อีก
สมัยเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งเคยสรุปประสบการณ์ชีวิตมาเป็นข้อคิดที่คล้ายๆ กัน รวมถึงยืนยันว่าภารกิจศักดิ์สิทธิ์อย่าง ‘การปฏิวัติครั้งสุดท้าย’, ‘สงครามครั้งสุดท้าย’ หรือ ‘ทางออกสุดท้าย’ นั้นไม่มีอยู่จริง ผมเห็นด้วย และคิดว่า ‘การปฏิรูปครั้งสุดท้าย’ ก็คงไม่มีอยู่จริงเช่นกัน
จะให้มีการสังเวย ‘ครั้งสุดท้าย’ ได้ยังไง ในเมื่อราคาที่จ่ายมันไม่คุ้มค่า เพราะไม่ว่าเราทำอะไรลงไป เมื่อจบลง ความขัดแย้งเชิงคุณค่าระลอกใหม่ในหัวของเราและระหว่างเรากับผู้อื่นก็งอกขึ้นมาใหม่ทันที อย่างที่เบอร์ลินบอก ว่าเมื่อเราบังคับใช้ทางแก้ใดๆ สถานการณ์ใหม่ก็เกิดขึ้นพร้อมกับปัญหาต่อไปเสมอ
ดังนั้น นอกจากการป้องกันตนเองหรือทำร้ายตนเองแล้ว การใช้กำลังสังเวยคนอื่นย่อมเป็นความมักง่ายที่ไม่คุ้มค่า สิ่งที่เราพอจะทำได้ก็คือการยอมรับความแตกต่างทางความคิด แล้วหากระบวนการที่เปิดให้เราสามารถปฏิรูปร่วมกันไปเรื่อยๆ ตลอดไป
นี่คือบทเรียนที่มนุษยชาติเรียนรู้ร่วมกันจากประวัติศาสตร์ร้อยปีที่ผ่านมา บางคนอาจคิดว่าเราคนไทยนั้นเหนือกว่าหรืออย่างน้อยก็ไม่เหมือนชาวโลกเค้า แต่ส่วนตัวผมเชื่อที่เบอร์ลินพูดไว้นะครับ ว่ามีแต่เพียงเด็กที่ไม่เคยเรียนรู้ชีวิตและไม่เคยคิดใคร่ครวญในการตัดสินใจใดๆ อย่างจริงจังเท่านั้น จึงจะเชื่อว่าสัจธรรมทางความคิดมีจริงและการใช้กำลังแก้ปัญหาเป็นภารกิจศักดิ์สิทธิ์