คุณสามารถผ่านพ้นการอยู่เฉยๆ ในห้องอันว่างเปล่าโดยไม่มีกิจกรรมอื่นใด เป็นเวลา 6-15 นาทีได้ไหม?
เราอาจคิดว่า ‘การไม่ทำอะไรเลย…แค่นั่งคิดเฉยๆ’ ฟังดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามบนโลกนี้ แต่เมื่อคุณถูกรับมอบหมายให้หยุด หรือห้ามทำอะไรเลยจริงๆ นั่งอยู่ในห้องอันว่างเปล่าที่มีแต่ตัวเอง คุณอาจพบว่ามันยาก ทรมาน และน่าเบื่อกว่าที่คิด
‘ความคิดขณะว่าง’ การเพ้อละเมอระหว่างวัน (daydreaming) ได้ถูกสำรวจศึกษามากขึ้นในนักวิทยศาสตร์แวดวงประสาทวิทยาและจิตวิทยา โดยเริ่มจากคำถามที่ว่าแค่ความคิดเฉยๆ สามารถสร้างความเพลิดเพลินได้ไหม? คนเราสามารถคิดเพื่อความสุขและสุนทรีย์ (Think for Pleasure) ได้ยากกว่าที่คิด
หากความคิดอย่างเดียวสามารถสร้างความบันเทิงได้จริง การนั่งคิดเฉยๆ คงทำให้เรามีความสุขและพอใจได้โดยไม่ต้องสรรหากิจกรรมอื่นๆ มาเติมเต็มให้ชีวิตอันว่างเปล่า
แค่คิดเฉยๆ ไม่ได้เหรอ: การนั่งเฉยๆกับความคิดตัวเองนั้นยากกว่าที่คิด
งานวิจัย Just think: The challenges of the disengaged mind โดย Timothy Wilson และคณะ จาก Harvard University ได้ให้นักศึกษาอยู่ในห้องคนเดียวโดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ กลุ่มแรกมีกิจกรรมให้ทำเล็กๆน้อยๆ และอีกกลุ่มมอบหมายให้นั่งเฉยๆ คนเดียว อยู่กับความคิดตัวเอง ในห้องโล่งว่างไม่มีนาฬิกาอยู่ในห้อง หลังจากนั้นก็วัดระดับความเพลิดเพลิน (Level of Enjoyments) จาก 11 การทดลอง สามารถสรุปได้ดังนี้
1. กลุ่มตัวอย่างไม่ได้เพลิดเพลินกับการใช้เวลา 6-15 นาทีในห้องว่างๆ โดยไม่มีอะไรให้ทำนอกจากคิด
2. กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนความเพลิดเพลินกับการ ‘ทำกิจกรรมน่าเบื่อซํ้าซาก’ มากกว่า ‘แค่คิดมโนเฉยๆ’
3. กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก (มักเป็นเพศชาย) เลือกการโดนช็อตด้วยไฟฟ้าเบาๆ มากกว่าอยู่เฉยๆ คนเดียวกับความคิดตัวเอง
เหตุใดการอยู่เฉยๆ ที่ดูไม่ลำบาก ไม่เหนื่อย ไม่เจ็บ ไม่ต้องใช้พลังงานและความพยายามอะไรเลย ในเวลาเพียง 6-15 นาที กลายเป็น task ที่ทำได้ยากกว่า และทรมาน คนเรามีแนวโน้มที่จะอยู่ไม่สุข ซึ่งการอยู่เฉยๆ อาจไม่สุขจริงๆ ก็ได้
แม้ถูกตั้งข้อกังขาว่า นี่เป็นความพยายามที่ยิ่งใหญ่เกินไปหรือเปล่าที่จะศึกษาความเบื่อหน่ายด้วย 11 การทดลอง ซึ่งความพยายามที่จะเข้าใจว่าทำไมคนจึงชอบการมีอะไรทำมากกว่าไม่ทำยังถูกขยายและทดลองซํ้าๆ เพราะงานศึกษาโดย Wilson เกิดในประเทศอเมริกา จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมที่ชอบความตื่นเต้นและบันเทิง กระตือรือล้น ทะเยอทะยาน จึงเกิดการศึกษาต่อยอด Cross-Cultural Consistency and Relativity in the Enjoyment of Thinking Versus Doing เพื่อดูแนวโน้มพฤติกรรมนี้ในวัฒนธรรมอื่นๆ อีก 11 ประเทศ โดยหวังพบความแตกต่างในวัฒนธรรมเรื่องความพึงพอใจที่จะ ‘ทำอะไรก็ได้’ มากกว่า ‘อยู่เฉยๆ’
เราอาจเดาว่าคนเอเชียตะวันออกได้รับการศึกษาด้านสมาธิมากกว่า คงเพลิดเพลินกับการอยู่กับความคิดมากกว่าคนตะวันตก แต่ผลการทดลองพบว่าไม่ว่าจะในวัฒนธรรมและประเทศไหน กลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มยินดีที่จะ ‘ทำอะไรก็ได้’ มากกว่า ‘ไม่ทำอะไร’ เมื่อมีตัวเลือกอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่นเน็ต หรือ ดูวีดีโอ มาเปรียบเทียบ
สำหรับนักคิดทั้งหลาย อาจเป็นเรื่องน่าฉงนแต่เมื่อลองคิดว่าจริงๆ คนเรามักยอมเล่นมือถือมากกว่าอยู่เฉยๆ เพราะมันง่ายกว่า การคิดเพื่อความสุขดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ในชีวิตจริงกลับใช้ความพยายามมากกว่า
งานศึกษาเรื่องการคิดเพื่อความเพลิดเพลิน ในปี 2017โดย Sarah Alahmadi ในประเทศซาอุดิอารเบีย แต่พบว่ากลุ่มตัวอย่างในการทดลองเพลิดเพลินมากขึ้นหากได้รับมอบหมายให้คิดเพื่อความสนุกมากกว่ามอบหมายให้คิดอะไรก็ได้ เพียงมีตัวช่วยคิดหรือหาจุดประสงค์บางอย่างก็สามารถทำให้คนนั้นสนุกขึ้นที่จะคิด สามารถเพลิดเพลินมากขึ้น สิ่งนี้อาจนำไปใช้ต่อในการศึกษาหรือการบรีฟงานได้ กล่าวคือ การบอกให้คนอื่นคิดอะไรก็ได้นั้นไม่ได้ทำให้เพลิดเพลิน แต่ในความเป็นจริงเขากลับต้องใช้ความพยายามมากกว่าการบอกให้คิดอย่างมีเป้าหมายบางอย่าง
ดังนั้นการสร้างความหมายหรือจุดประสงค์บางอย่างให้กับการคิดอาจทำให้คนสนุกในการคิดมาขึ้น และสำหรับนักคิดหลายๆ คนที่รู้สึกว่าคนอื่นบนโลกทำไมถึงไม่ชอบคิด จำไว้ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่บนโลก การมีอะไรบางอย่างให้ทำ แม้จะเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อก็เป็นตัวเลือกที่น่ารื่นรมย์กว่าการอยู่เฉยๆ หรือคิดเรื่อยเปื่อยอย่างไร้จุดหมาย ซึ่งการบอกให้คนอื่นคิดเพื่อความสุนทรีย์อาจไม่ใช่ธรรมชาติของคนส่วนใหญ่ และอาจทำให้พวกเขาเลี่ยงการคิด ไปเปิดทีวี หรือเล่นมือถือแทน
Dolce Far Niente – ความหอมหวานของการไม่ทำอะไรเลย
การที่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นเบื่อหน่ายง่ายและมีแนวโน้มที่จะทำอะไรมากกว่าไม่ทำ อาจดีและก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ หรือสิ่งบันเทิงใหม่ๆ การอยากทำนู่นทำนี่ ทำให้มนุษย์ไม่อยู่กับที่หรือแค่จมไปในความคิดก็สุขใจ Wilson ไม่ได้ต้องการเสนอว่า มนุษย์ทั่วไปนั้นพยายามเลี่ยงการคิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้ง (Contemplation) จนยอมที่จะโดนไฟฟ้าช็อตดีกว่าต้องอยู่เฉยๆ กับความคิดของตัวเอง ซึ่งงานวิจัยนี้ถูกนำไปตีความว่าคนเราคงไม่ชอบคิดและไม่ชอบอยู่กับตัวเองมากๆ
แต่ Wilson เสนอว่า โดยปกติแล้ว การควบคุมความคิดของตัวเองนั้นทำได้ยาก ต้องอาศัยการฝึกฝนทางจิตใจ และฝึกทำสมาธิ หากไม่ได้รับการฝึกฝน คนทั่วไปยอมเลือกทำอะไรก็ได้มากกว่านั่งอยู่กับความคิดของตัวเอง แม้กิจกรรมนั้นจะไม่น่าทำก็ตาม จิตใจที่ยังผ่านการฝึกฝนนั้นอาจไม่พร้อมจะอยู่กับตัวเอง และมีงานศึกษาที่พบว่าคนที่มีประสบการณ์การนั่งสมาธินั้นส่งผลให้มีแนวโน้มจะเพลิดเพลินกับการอยู่กับตัวเองและความคิดได้มากขึ้น ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่ดีในการอยากเรียนรู้การทำสมาธิ ฝึกฝนและเข้าใจศิลปะของการไม่ทำอะไร
ในภาษาอิตาเลียน มีแนวคิดที่เรียกว่า Dolce Far Niente อันแปลได้ว่า ‘ความหอมหวานของการไม่ทำอะไร’ (Sweetness of Doing Nothing) หรือการมีความสุขจากการการไม่ทำกิจกรรมใด สำหรับบางคนที่ชีวิตไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่างอาจต้องใช้เวลาฝึกฝนและเรียนรู้การไม่ทำอะไร หรือการคิดเฉยๆ ลงบ้าง
แม้ฟังดูขี้เกียจเพราะไม่สร้างผลิตผลทางเศรษฐกิจ การฝึกฝนที่จะมีความสุขจากการไม่ทำอะไรเลยนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดแต่ อาจช่วยลดและผ่อนคลายความตึงเครียดในชีวิตลงได้
การคิดเพื่อความเพลิดเพลินเป็นเรื่องที่ทำยากในคนทั่วๆ ไป แม้คุณคิดว่า คงจะดีหากสามารถสุขได้ด้วยใช้เพียงความคิดก็คงง่าย สบาย และประหยัดดีไม่ต้องดิ้นรนอาศัยปัจจัยอื่นหรือหากิจกรรมทำเพื่อฆ่าเวลาให้หมดไป เพียงแค่คิดถึงอนาคต อดีต หรือฝันหวานจินตนาการถึงแฟนตาซีก็เพลิดเพลินแล้ว เพ้อละเมอฝันกลางวันก็สุขได้ แต่การจมไปในความคิดมากเกินไปอาจรบกวนชีวิตประจำวันของเราได้ อาการนี้ถูกเรียกว่า Maladaptive Daydreaming หรือ Daydreaming Disorder ฝันหวานเป็นเรื่องดี แต่หากฝันกลางวันตลอดเวลาอาจทำให้ลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน จากการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 77 คนจากหลากหลายประเทศ พบว่าคนที่มีอาการนี้หมดเวลาในชีวิตไปกับการเพ้อฝันเฉลี่ยถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน พวกเขามักหลุดหลงเข้าไปในความคิดของตัวเองอย่างควบคุมไม่ได้จนเรื่องฝันกลางวันทดแทนชีวิตจริงไปเลย การคิดฝันมากไปก็อาจทำให้ชีวิตลำบากเหมือนกัน
แม้การ ‘ไม่ทำอะไร’ จะเป็นแนวคิดที่น่าดึงดูดในชีวิตที่มีภาระหน้าที่มากมาย แต่เมื่อถึงคราวจริงๆ คนเรามักเลือกทำอะไรบางอย่างมากกว่าไม่ทำเสมอ ความว่างที่เราฝันเมื่อมาถึงอาจทำให้รู้สึกเบาหวิวเกินไป เกิดความรู้สึกว่างเปล่าแทนที่จะเป็นสุข
เราเป็นคนนึงที่มักมีปัญหาเวลาอยู่กับคนอื่น เช่นไปเที่ยวกับเพื่อน เพราะชอบการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากอยู่เฉยๆ คิดนู่นนี่ เพื่อพักผ่อน แต่กลับดูเป็นเรื่องประหลาดและน่าเบื่อสำหรับเพื่อนที่ไปด้วย การได้รู้ถึงงานศึกษาของ Wilson นี้เลยช่วยทำให้เข้าใจว่าคนอื่นมักต้องการทำกิจกรรมอะไรบางอย่างมากกว่าแค่นั่งเฉยๆ ความว่างนั้นทำให้รู้สึกยากและไร้ความหมายมากกว่าสุขใจสำหรับใครหลายๆคน
เมื่อมีคนถามเราว่า หากมีอีกชีวิตหนึ่ง ชีวิตนั้นจะทำกำลังทำอะไรอยู่? แม้จะไม่มีประโยชน์อะไรมากนักแต่เป็นคำถามที่สนุกดี เราต่างมีแฟนตาซีในทางเลือกและชีวิตที่เราไม่ได้ใช้ ฉันมักจะตอบว่า ตัวเองในจักรวาลคู่ขนานจะเป็น Margot หญิงสาวผู้อ่านหนังสือและดูทีวีอยู่ในอ่างนํ้าตลอดวัน โดยไม่ทำอะไรเลย ในหนังเรื่อง Royal Tenanbaum (2001) ในชีวิตที่วุ่นวายที่ต้องมีกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ถูกคาดหวังและได้รับมอบหมาย
การไม่ทำอะไรอาจนำไปสู่ความความว่างเปล่าเบาหวิวอันทนทานได้ยาก อย่างที่ปรากฏอยู่ในหนัง Somewhere (2010) กำกับโดย Sofia Coppola มี Johnny Marco ตัวละครหลักที่เป็นดาราดังเพศชายผู้ติดกับอยู่ใน existential crisis ระหว่างพักรักษาตัวอย่างการบาดเจ็บใน Chateau Marmont เรื่องดำเนินไปอย่างเงียบเชียบและเชื่องช้า ขณะที่เขาอยู่ในชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อและไร้จุดหมาย แม้จะสุขสบายและมีชื่อเสียงก็ตาม
การอยู่เฉยๆ อาจเป็นเพียงแฟนตาซีที่เมื่อเกิดขึ้นจริงอาจน่าเบื่อ การไม่มีอะไรทำอาจและทำได้ยากกว่าก็ได้ อยู่เฉยๆ ได้ไม่กี่วันก็อาจเฉาไป เราคงต้องหาอะไรทำกันต่อไปเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าของชีวิต เติมตารางด้วยกิจกรรมต่างๆ จนเวลาผ่านพ้นไป
แล้วคุณล่ะ สามารถอยู่เฉยๆ คนเดียว กับความคิดของตัวเองได้นานแค่ไหน? 🙂
อ้างอิงข้อมูลจาก
Just think: The challenges of the disengaged mind
Is thinking really aversive? A commentary on Wilson et al.’s “Just think: the challenges of the disengaged mind”
Cross-Cultural Consistency and Relativity in the Enjoyment of Thinking Versus Doing
People with “Maladaptive Daydreaming” spend an average of four hours a day lost in their imagination
You can do it if you really try: The effects of motivation on thinking for pleasure