ในสถานการณ์ COVID-19 เรามักจะพูดถึงความสูญเสียหรือความเครียดในแบบของผู้ใหญ่ เช่น ต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รายได้หดหาย ถูกเลิกจ้าง หรือต้องรับมือกับวิถีการเข้าสังคมที่ไม่เหมือนเดิม แต่เราอาจลืมไปว่าสถานการณ์ที่กินเวลายืดยาวมาเกือบ 2 ปีนี้ ก็เขย่าโลกของเด็กจนสั่นคลอนได้เหมือนกัน
จริงๆ แล้วความสูญเสียมีได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นสูญเสียคนรัก คนสำคัญ หรืออะไรที่เป็นรูปธรรมอย่างเงิน บ้าน หรือรถ แต่การสูญเสียชีวิตประจำวันที่เคยมีความสุข ความสนุก เสียงหัวเราะ หรือเพื่อนฝูง ก็นับว่าเป็นความสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ได้เหมือนกัน หากสิ่งที่ว่ามานั้นคือโลกทั้งใบของใครบางคน นั่นก็คือ ‘เด็กๆ’
ผู้ใหญ่อาจจินตนาการได้ไม่ทั้งหมดหรอกว่า เด็กในยุคนี้รู้สึกทุกข์ทรมานยังไงบ้างกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ที่ชัดเจนเลยก็น่าจะเป็น ‘การเรียนออนไลน์’ ที่ถึงแม้ผู้ใหญ่ทุกคนจะเคยเป็นเด็กมาก่อน แต่ก็คงไม่เคยเผชิญกับการเรียนในรูปแบบนี้แน่ๆ เพราะสมัยนั้นเราได้นั่งเรียนในห้อง ยกมือถามตอบคุณครูได้อย่างง่ายดาย พักเที่ยงก็ไปกินข้าว เตะบอล พอเลิกเรียนก็ไปนั่งเล่นที่ม้าหินอ่อนกับเพื่อนๆ ซึ่งมีความสนุกแบบเด็กๆ ที่คอยพยุงให้ไม่เครียดกับการเรียนมากเกินไป
แต่เด็กในยุคโรคระบาดนั้นไม่ใช่ พวกเขาต้องเพ่งโฟกัสกับการเรียนในหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน อุปสรรคหลายๆ อย่างจากการเรียนทางไกล รวมถึงการปรับเกณฑ์ใหม่ในการสอบหรือการให้คะแนน ก็ทำให้ความกดดันในการเรียนที่เดิมมีมากอยู่แล้ว เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณไปอีก ไหนจะขาดกิจกรรมนันทนาการ ไม่ได้เจอเพื่อนๆ ไม่ได้ปลดปล่อยความเครียดจากการเรียนการสอบ ต้องยอมรับเลยว่าการเรียนรู้ที่มีการปฏิสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริง ช่วยให้พวกเขาผ่านวัยเรียนรู้ไปได้อย่างราบรื่นและมีสมดุลที่ดีกว่า
แม้สถานการณ์โรคระบาดใหญ่จะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และเมื่อเกิดขึ้นไปแล้วก็มีผลกระทบตามมามากมาย ซึ่งรู้ดีว่าเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปเตรียมตัวให้เด็กๆ หรือลูกๆ ล่วงหน้าได้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง เราสามารถใช้สถานการณ์นี้ฝึกให้พวกเขารับมือได้ดีขึ้นเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เพราะต่อจากนี้ไป ‘ความไม่แน่นอน’ คงเป็นสิ่งที่แน่นอนไปแล้วบนโลกใบนี้
บอกความจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่จะอยากมอบโลกที่สวยงามให้แก่ลูกๆ อยากให้พวกเขาได้เติบโตท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ห่างไกลจากสิ่งร้ายๆ ที่อาจสร้างความบอบช้ำในใจพวกเขา แต่สถานการณ์ตอนนี้เต็มไปความเสี่ยง อันตราย และสิ่งที่ไม่แน่ไม่นอน แถมผลกระทบที่เกิดขึ้นก็เห็นได้อย่างชัดเจนจนอยากที่จะปฏิเสธ ซึ่งพวกเขาเองก็เป็นคนอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม เพราะเมื่อสภาพการเงินของครอบครัวขัดคล่อง หรือผู้ปกครองคนใดคนหนึ่งของพวกเขาป่วย แน่นอนว่าบางอย่างในชีวิตของพวกเขาก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
โดยธรรมชาติเด็กเป็นวัยที่มาพร้อมกับคำถามและความสงสัย และช่วงนี้พวกเขาก็คงจะมีคำถามมากเป็นพิเศษ แต่หลายครั้ง ผู้ใหญ่จะหลีกเลี่ยงการอธิบายสถานการณ์ยากๆ ด้วยการใช้ศีลธรรมหรืออะไรที่เป็นนามธรรมมากเกินไป เช่น ถ้าเหยียบหนังสือจะบาปนะ ถ้าดื้อผีจะมาหลอกนะ หรือใช้การข่มขู่ไปเลย เช่น ถ้าไม่ตั้งใจเรียนจะต้องไปทำไร่ทำนา ซึ่งการอธิบายแบบนี้ นอกจากไม่ใช่การชี้ให้เห็นถึงสาเหตุและผลกระทบที่ชัดเจน ยังทำให้เด็กเติบโตไปพร้อมกับความเชื่อหรือภาพจำแบบผิดๆ หรือหากเป็นการเลี่ยงที่ตอบคำถาม เช่น ไม่รู้ ไว้โตก่อนค่อยรู้ หรือเด็กเกินไปยังไม่ถึงเวลา ก็อาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่าการที่พวกเขาเลือกไปรับข้อมูลจากที่อื่น ซึ่งอาจผิดพลาดและถูกบิดเบือน ข้อมูลนั้นจะทำให้เกิดปัญหาตามมายังไงบ้าง
ผู้ปกครองควรเตรียมพร้อมในการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา พร้อมค่อยๆ อธิบายให้ฟังอย่างใจเย็น เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ คือส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ที่จะเป็นประชากรของโลก โลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของความสูญเสียและความไม่มั่นคง แม้ว่าเราอยากจะช่วยให้พวกเขาค้นพบแสงสว่างท่ามกลางอุโมงค์ที่มืดมิดนี้มากแค่ไหน แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอุโมงค์อีกมากมายหลายแห่งที่พวกเขาต้องเดินลอดไปในยามที่โตขึ้น ซึ่งขณะเดียวกับที่มองหาแสงสว่าง เราอาจจะต้องสำรวจและทำความรู้จักกับความมืดมิดนี้ไปด้วย เพื่อที่จะปรับตัวและรับมือได้ดีขึ้น เพราะการสอนให้พวกเขารู้จักกับความไม่แน่นอน หรือสิ่งที่อาจจะเป็นภัยต่อพวกเขา ก็เป็นวิธีดูแลเช่นเดียวกับการมอบสิ่งดีๆ ให้
เป็นพื้นที่สบายใจให้กับเด็กๆ
เป็นเด็กจะไปเครียดอะไร? ด้วยภาระหน้าที่ของเด็ก ผู้ใหญ่บางคนอาจคิดว่าความเครียดของพวกเขานั้นไม่มีอยู่จริง หรือหาอะไรเล่นแป๊บเดียว เดี๋ยวก็คงลืมไปหมดแล้ว แต่ความเครียดของเด็กนี่แหละ คือสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามมากที่สุด เพราะการที่คนคนหนึ่งอยู่ในวัยที่ควรจะรายล้อมไปด้วยเสียงหัวเราะหรือความสนุกสนาน แต่วันหนึ่งเขากลับเต็มไปด้วยความเครียดหรือความหม่นหมอง สิ่งที่เขาเจอมาคงจะหนักหนาเอาการพอสมควร
ซึ่งการเก็บความรู้สึกเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ไม่มีโอกาสได้ปลอดปล่อยหรือระบายออกมา ก็เหมือนกับเป็นการเดินทางไกลที่แบกกระเป๋าใบใหญ่เอาไว้บนบ่า และแน่นอนว่าในระยะยาว ไม่ว่าจะด้านสุขภาพหรือด้านจิตใจ ก็คงไม่เกิดผลดีนัก แต่ถ้าหากเราลองนั่งลงข้างๆ และโยนคำถามไปว่า “เป็นอะไรหรือเปล่า?” “รู้สึกยังไงบ้าง?” หรือ “มีอะไรอยากเล่าให้ฟังมั้ย?” เราจะพบว่าประตูบานหนึ่งได้ถูกเปิดออก เพื่อต้อนรับเด็กๆ ให้เข้ามานั่งพักและวางสัมภาระที่แบกเอาไว้ พวกเขาอาจจะเล่าอะไรที่เมื่อมองจากมุมผู้ใหญ่นับว่าเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วมาก แต่อย่าลืมว่าแม้จะเป็นกระเป๋าใบเดียวกัน แต่เมื่อคนแบกขนาดตัวไม่เท่ากัน ก็ย่อมรู้สึกถึงความหนักเบาแตกต่างกันอยู่แล้ว
หลังจากที่เปิดโอกาสให้เขาได้พูดออกมา เราก็ควรรับฟังอย่างไม่ตัดสิน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่ เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และพร้อมจะสนับสนุนพวกเขาในยามที่ยากลำบากจริงๆ
ปล่อยให้พวกเขาได้เป็นเด็ก
สุดท้าย อย่าลืมข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาก็ยังคงเป็นเด็กคนหนึ่งอยู่ดี หากสถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ยากเกินกว่าที่พวกเขาจะทำความเข้าใจ หรือนำพาความโกรธ ความกลัว ความเศร้า ความกังวล หรือความหงุดหงิดใจมาให้ เราควรปล่อยพวกเขาให้ดำเนินความรู้สึกเหล่านั้นไปตามธรรมชาติ พร้อมกับยืนยันให้รู้ว่าเป็นเรื่องที่โอเคมากๆ กับการที่พวกเขารู้สึกแบบนั้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
หรือบางครั้ง พวกเขาอาจมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการนำเอาความรู้สึกเหล่านั้นออกมา เราอาจจะช่วยพวกเขาได้ด้วยการพาทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายหรือสร้างสรรค์ เพื่อให้พวกเขาได้สื่อสารกับตัวเอง จนสามารถปลดปล่อยความรู้สึกเชิงลบออกมาได้ในที่สุด
เพราะเมื่อวันหนึ่งพวกเขามองย้อนกลับไปยังเรื่องราวร้ายๆ พวกเขาจะจำได้ว่าช่วงเวลานั้นมีอะไรที่เป็นความสุขคอยพยุงให้ผ่านพ้นมาได้ เช่นเดียวกับที่จำได้ว่าความรู้สึกแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นทิ้งอะไรไว้เตือนใจพวกเขาบ้าง และหากมันเกิดขึ้นอีกครั้งในอนาคต พวกเขาจะรับมือกับมันอย่างไรในวันที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งแล้ว
เด็กก็คือมนุษย์ทั่วไป พวกเขาสามารถเรียนรู้และเติบโตได้จากเหตุการณ์ที่ทั้งดีและร้าย แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ตัวเล็ก เราจึงไม่สามารถคาดหวังให้พวกเขาทำใจยอมรับความบอบช้ำภายในระยะเวลาอันสั้นได้ สุดท้ายเราคงต้องปล่อยให้พวกเขาได้แสดงความรู้สึกออกมาอย่างจริงใจ และเรียนรู้อะไรบางอย่างจากความรู้สึกเหล่านั้น โดยมีเราคอยสังเกตและสนับสนุนอยู่ข้างๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก