1
เรื่องตลกที่ขำไม่ออกอย่างหนึ่งของสังคมไทยก็คือ คน ‘ชั้นนำ’ ในสังคมไทยจำนวนหนึ่ง (ซึ่งอาจเป็นจำนวนมากเสียด้วย) มักจะบอกว่า – สังคมไทยไม่มีชนชั้น หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ปิดกั้นทางชนชั้น รวมทั้งไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ชนชั้นกลางส่วนใหญ่จะรังเกียจชนชั้นนำใหม่แล้วแย่งอำนาจไป ‘คืน’ ให้กับชนชั้นนำเก่า
ความคิดแบบนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเพศ เพราะก็เป็นสังคมไทยเดียวกันนี้แหละครับ ที่ชอบบอกว่าเรา ‘เปิดกว้าง’ เรื่องเพศกันอย่างเหลือเกิน เราไม่ได้กีดกัน ไม่ได้เหยียดหยามเพศอื่นๆ แต่ก็เห็นๆ กันอยู่นะครับว่าเป็นยังไง
วิธีคิดทั้งเรื่องเพศและเรื่องชนชั้นแบบ ‘ลักปิดลักเปิด’ คือยอมรับในบางแง่ ไม่ยอมรับในบางแง่ (เช่นเหยียดเพศ เหยียดความต่ำของชนชั้นอย่างไม่เป็นทางการ แต่พอเป็นทางการก็บอกว่าฉันเปิดรับทุกเพศทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียม ฯลฯ) มันทำให้เกิดอาการคลุมเครือ เมื่อไม่ยอมรับ – ก็พูดไม่ได้ว่ามี, เมื่อพูดไม่ได้ว่ามี – ก็มองไม่เห็นปัญหา, เมื่อมองไม่เห็นปัญหา – ก็ไม่ต้องพูดเรื่องการแก้ปัญหา, เพราะคิดว่ามันไม่มีอยู่แล้ว
อย่ากระนั้นเลย เลิกคุยเรื่อง ‘ชนชั้น’ ในสังคมคลุมเครืออย่างสังคมไทยเถอะครับ อยากชวนคุณไปดูว่า แล้วในสังคมประชาธิปไตยที่มีชนชั้น และตระหนักรู้ถึง ‘สำนึกเรื่องชนชั้น’ อย่างสังคมอังกฤษนั้น เขามองเรื่องนี้กันยังไงบ้าง
BBC เคยถึงขั้นทำ The Great British Class Calculator เพื่อให้คนมาลองทำแบบทดสอบ จะได้รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ใน ‘คลาส’ ไหน กันเลยทีเดียวนะครับ (ลองไปทำดูได้ที่นี่ www.bbc.com) เขาจะถามเรื่องรายได้ คนที่คุณวิสาสะด้วยในสังคม กิจกรรมต่างๆ ที่คุณทำในชีวิต แล้วก็จะบอกออกมาเลยว่าคุณเป็นคนชนชั้นไหน
ชนชั้นในอังกฤษนี่ ไมค์ ซาวาจ (Mike Savage) จาก London School of Economics ได้แบ่งไว้ (ในหนังสือชื่อ Social Class in the 21st Century) แบบ ‘ชัดๆ’ เป็น 7 ชนชั้น คือ
-Elite : นี่คือชนชั้นที่รวยที่สุดและมีอภิสิทธิ์ที่สุด จะไปเรียนในโรงเรียนเอกชนชั้นสูง เป็นพวกมีวัฒนธรรม ฟังเพลงคลาสสิก ไปดูโอเปร่า อะไรทำนองนี้
-Established Middle Class : คือพวกชนชั้นกลางที่รวยๆ รวยรองลงมาจากกลุ่มบน ทำงานดีๆ มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลาย
-Technical Middle Class : เป็นชนชั้นกลางที่เพิ่งรวยใหม่ คลุกคลีอยู่กับวัฒนธรรมประเภทที่เพิ่งเกิดใหม่ เช่น วัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย ทำงานที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือความรู้ต่างๆ เป็นหลัก
-New Affluent Workers : กลุ่มนี้คือชนช้ันกลางที่ฐานะโอเค มีความสนใจทางวัฒนธรรมบ้าง ถือว่าอยู่กลางๆ ที่สุด ถึงจะรวย แต่ก็มีพื้นเพมาจากชนชั้นแรงงาน (Working Class)
-Traditional Working Class : กลุ่มนี้เป็นแรงงานที่เก่าแก่ที่สุด มักจะมีที่อยู่ของตัวเอง แต่ไม่ค่อยตามวัฒนธรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่าไหร่ เขายกตัวอย่างคนที่ทำงานขับรถบรรทุก แม่บ้านทำความสะอาด และช่างไฟ
-Emergent Service Workers : กลุ่มนี้รายได้ไม่สูง แต่ชอบเสพกิจกรรมทางวัฒนธรรมดีๆ อาจเป็นฮิปสเตอร์ที่รายได้ไม่เยอะ และทำงานในภาคบริการ (ถ้าเป็นไทยๆ ก็น่าจะอย่างที่เราชอบล้อๆ กันว่า ‘รสนิยมสูง รายได้ต่ำ’ อะไรทำนองนั้น)
-Precariat : เป็นกลุ่มที่จนและขาดแคลนทรัพยากรที่สุด มักอยู่รวมกลุ่มกันและมีความสนใจทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางหลากหลาย แต่กว่า 80% ไม่มีที่อยู่เป็นของตัวเอง
ซึ่ง The Telegraph วิเคราะห์เอาไว้ว่า กลุ่มที่หมกมุ่นกับเรื่องชนชั้นที่สุดโดยเนื้อแท้แล้วก็คือกลุ่ม Elite (ที่มีอยู่ราว 6% ของคนทั้งประเทศ) นี่แหละ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็กลับเป็นกลุ่มนี้นี่เอง ที่ชอบบอกว่าตัวเองไม่สนใจเรื่องชนชั้น
ว้าย! ทำไมเหมือน!
2
นักเขียนอังกฤษยุคเก่าคนหนึ่ง คือ แนนซี่ มิตฟอร์ด (Nancy Mitford) เคยเขียนเรื่องชนชั้นของคนอังกฤษเอาไว้ในปี 1954 โดยเธอแบ่งคนอังกฤษออกเป็นพวก U กับ non-U โดยคำว่า U หมายถึง Upper Middle Class พูดอีกอย่างก็คือเป็นพวก ‘ชนชั้นสูง’ กับพวกที่ ‘ไม่ใช่ชนชั้นสูง’
งานเขียนของเธอทำให้เพื่อนพ้องในแวดวงสังคม (ที่แน่นอนว่าเป็นชนชั้นสูง) เกิดอาการพรั่นพรึง บอกเธอว่าเรื่องบางเรื่องก็ไม่ควรจะเขียนถึง ต่อให้เราเห็นอยู่ตรงหน้าก็ตามที อย่างเช่นเรื่องที่สังคมอังกฤษมีชนชั้นสูงต่ำ และมีอคติทางชนชั้นหรือการเหยียดทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
นั่นคือความเห็นในปี 1954 แต่กระทั่งในปัจจุบัน คนอังกฤษส่วนใหญ่ก็ยัง ‘แสร้งทำ’ เป็นว่าเรื่องความต่างของคลาสในอังกฤษนั้นไม่ได้มีอยู่จริง แต่ความดัดจริตแสร้งทำเป็นไม่เห็นคลาสนี้ ก็ทำให้หลายคนเกิดอาการ ‘ลำไย’ ขึ้นมา ตัวอย่างเช่น Kate Fox นักเขียนของหนังสือพิมพ์หัวสีอย่าง Dailymail ที่คงรำคาญเต็มแก่ เธอเลยเขียนบทความชี้ให้เห็นว่าคนอังกฤษนั้น ‘บ้า’ เรื่องคลาสกันแค่ไหน (ไปดูได้ที่ www.dailymail.co.uk) โดยหยิบยกเรื่องราวต่างๆ ในเชิงวัฒนธรรมและภาษามาชำแหละ
สำหรับคนไทย เราอาจจะแบ่งแยกคลาสต่ำสูงกันโดยดูว่า ใครขับรถยนต์ยี่ห้ออะไร หรูหราราคาแพงแค่ไหนใช่ไหมครับ คุณฟ็อกซ์เธอบอกว่า ในอังกฤษก็เป็นคล้ายๆ แบบนั้นเหมือนกัน (แต่ ‘ซับซ้อน’ กว่าของไทยเรานิดหน่อย) เธอบอกว่า ถ้าไปเจอชนชั้นสูงชาวอังกฤษ ให้ลองถามเขาว่า ขับรถยนต์ฟอร์ดมอนเดโอ (Ford Mondeo) หรือเปล่า
หลายคนที่ถูกถามแบบนี้อาจจะโกรธ เพราะในอังกฤษ คำว่า Mondeo Man (ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันมาในยุคหนึ่ง แต่ตอนนี้อาจจะเลิกใช้ไปบ้างแล้ว) เป็นคำแบบสุภาพๆ ที่ใช้เรียก ‘ชนชั้นกลางระดับต่ำ’ ที่ธุรกิจอยู่ในย่านชานเมือง (Lower-Middle-Class-Suburban Salesman) คือไม่ได้หมายถึงต้องเป็นแบบนั้นเสียทีเดียว แต่มี ‘ลักษณะทางสังคม’ (Social Category) แบบนั้น คำว่า Mondeo Man จึงมีนัยหยามเหยียด
คำถามถัดมาก็คือ อ้าว! แล้วพวกชนชั้นสูงนี่ขับรถอะไรกันหรือ แพงระยับแค่ไหนเชียว
คำตอบที่คุณอาจประหลาดใจก็คือ คนที่พิจารณาว่าตัวเองเป็น ‘ชนชั้นสูง’ จริงๆ อาจจะขับรถที่ราคาถูกกว่าฟอร์ดมอนเดโอก็ได้นะครับ เพราะเรื่องคลาสในอังกฤษนี่ไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาหรือเงินมากเท่า ‘ความชั้นสูง’ คนที่คิดว่าตัวเองอยู่ ‘สูง’ กว่าชนชั้น Mondeo Man มักจะขับรถเล็กๆ ถูกๆ เช่น เปอโยต์มือสอง เรโนลต์ โฟลค์สวาเกน เฟียต หรือวอกซ์ฮอล ซึ่งแม้ราคาถูกกว่า แต่จะรู้สึกว่าตัวเอง ‘สูง’ กว่าคนที่ขับรถมอนเดโอคันใหญ่กว่า เร็วกว่า และนั่งสบายกว่า
เพราะนี่คือการเสพและแสดง ‘สัญญะ’ ของคนชั้นสูง ที่ไม่เห็นว่าเงินสำคัญ!
รถเมอร์เซเดสเบนซ์ที่คนไทยบูชาก็เข้าข่ายนี้เหมือนกันนะครับ ชนชั้นสูงอังกฤษจะเห็นว่าเบนซ์เป็นรถของ ‘นักธุรกิจชนชั้นกล๊างกลาง’ (Midle-Midle Business Class) แต่ไม่ใช่ชนชั้นสูงผู้ทรงภูมิ (Upper-Middle Intelligentsia) โดยคนเหล่านี้ถ้าจะใช้รถหรู ก็จะเลือกออดี้มากกว่า ในขณะที่รถอย่างจากัวร์นั้น ถูกมองว่าเป็นรถเจ้าพ่อ ประเภทเป็นเจ้าของที่ดินในชุมชนแออัด (Slum Landlords) หรือร่ำรวยมาจากธุรกิจผิดกฎหมาย – อะไรทำนองนั้น (ซึ่งต้องบอกเอาไว้วก่อนว่า – นี่คือสิ่งที่เกิดในอังกฤษ และคุณเคท ฟ็อกซ์ เขาแยกแยะมานะครับ คนที่ใช้เบนซ์หรือจากัวร์ในไทยอย่าได้มาโกรธกันเชียว!)
นอกจากรถยนต์แล้ว สัตว์เลี้ยงก็บ่งบอก ‘ชนชั้น’ ได้เหมือนกันนะครับ ชนชั้นสูงน้ัน จะเลี้ยงหมาอย่างลาบราดอร์, โกลเดนรีทรีฟเวอร์, คิงชาลส์สแปเนียล หรือสปริงเกอร์สแปเนียล ซึ่งถือเป็น ‘หมาหรู’ แต่ถ้าเป็นชนชั้นล่างลงมาหน่อย จะเลี้ยงอัลเซเชียน, พุดเดิ้ล, ชิวาว่า, บูลเทอเรีย หรือว่าร็อตไวเลอร์ (ซึ่งก็เป็นอีกครั้งที่ต้องเน้นย้ำว่า – นี่คือสิ่งที่เกิดในอังกฤษ และคุณเคท ฟ็อกซ์ เขาแยกแยะมานะครับ คนรักหมาในไทยไม่เกี่ยว!)
แต่ที่ตลกยิ่งไปกว่านั้นอีกก็คือ วิธีกินแยมของคนอังกฤษก็บ่งบอกได้เหมือนกันนะครับ ว่าเป็นคนที่มาจากชนชั้นสูงหรือต่ำ
คนอังกฤษนั้นชอบกินแยมมาร์มาเลดหรือแยมส้มกับขนมปังปิ้งเป็นอาหารเช้า แต่ถ้าเป็นชนชั้นสูง มักจะชอบกินแยมประเภทที่หั่นเป็นชิ้นหนาๆ ใหญ่ๆ สีเข้มๆ มีรสชาติออกขมๆ ปน (เพราะว่ามีเปลือกส้มอยู่ในมาร์มาเลดด้วย) แบบที่เรียกว่า Oxford Marmalade หรือ Dundee Marmalade (ในกรณีของสก็อตแลนด์) ยิ่งแยมสีเข้ม หั่นชิ้นใหญ่ และมีรสขมเท่าไหร่ ก็ยิ่งแปลว่าคนกินนั้น ‘สูงส่ง’ มากเท่านั้น เพราะพวกชนชั้นล่างมักจะชอบกินแยมสีอ่อนๆ หั่นชิ้นเล็กๆ เนื้อเนียนๆ ละเอียดๆ ดังนั้น ใครชอบกินแยมแบบไหน จึงบ่งบอกได้ด้วยว่าสังกัด ‘คลาส’ ไหนในสังคม
เคท ฟ็อกซ์ ยังเล่าถึง ‘บาปต้น 7 ประการ’ (ซึ่งจริงๆ ก็คือคำพูด 7 คำ) ที่ใช้บ่งบอกคลาสของคนพูดได้ ได้แก่
1. คำขอโทษ : เธอบอกว่า เวลาจะพูดว่า “ขอโทษทีนะ เมื่อกี้พูดว่าอะไร” (หรืออะไรทำนองนี้) คนชั้นสูงจะใช้คำว่า Sorry? หรือ Pardon? นำ แต่ถ้าเป็นคนชั้นล่าง จะพูดว่า What? (หรือบางทีก็ Wha’? แบบไม่ออกเสียง t) น่าจะคล้ายๆ กับคนไทยที่พูดว่า “ขอโทษนะครับ/คะ” กับ “ฮะ (ซึ่งนิยมเขียนให้ถึงกึ๋นกันว่า – ห้ะ) อะไรนะ!”
2. ห้องน้ำ : คำนี้คนชั้นสูงในอังกฤษจะพูดว่า Lavatory หรือ Loo ส่วนคนชั้นกลางๆ ลงมาหน่อย ก็จะใช้คำเลี่ยงๆ ประเภทที่อยากทำให้ดูสุภาพ เช่น Bathroom, Gents, Ladies, Poder Room ซึ่งคนชั้นสูงจะเห็นว่าเป็นเรื่อง Pretentious หรือเสแสร้งแกล้งสุภาพ แต่ถ้าใครใช้คำว่า Toilet แล้วไซร้ แปลว่าเป็นชนชั้นแรงงานแน่แท้ทีเดียว (ซึ่งก็ทำให้ผมประหลาดใจนิดหน่อย เพราะเคยอ่านพบบทวิจารณ์ครอบครัวของ เคท มิดเดิลตัน ว่าบ้านของเธอยังเรียกส้วมว่า Loo อยู่เลย โดยมีนัยว่า คำว่า Loo ยังไม่สูงส่งเพียงพอจะเข้ามาอยู่ร่วมในราชวงศ์)
3. ผ้าเช็ดปาก : ถ้าเป็นคนชั้นสูงจะใช้คำว่า Napkin ถ้าเป็นคนชั้นล่าง จะเรียกว่า Serviette (ซึ่งถ้าเป็นคนไทย เราคงเป็นคนช้ันสูงกันหมด เพราะเข้าใจว่าแทบไม่มีใครรู้จักคำว่า Serviette หรอกนะครับ)
4. มื้ออาหาร : อันนี้ก็คล้ายๆ ข้อ 3 เหมือนกัน (คือคนไทยคงเป็นคนชั้นสูงกันหมด) เขาบอกว่า คนชั้นสูงจะใช้คำว่า Lunch กับอาหารกลางวัน ส่วนคนชั้นล่างจะเรียกมื้อกลางวันว่า Dinner และเรียกอาหารเย็นว่า Tea โดยคนชั้นซู้งสูง (คือสูงกว่าพวกชนชั้นกลางระดับสูง) แทบจะไม่ใช้คำว่า Dinner เลย จะใช้คำว่า Supper มากกว่า และคำที่ไม่ใช้แน่ๆ ในคนระดับสูง ก็คือคำว่า Dinner Party เรื่องมื้อน้ำชาก็เหมือนคนชั้นสูงจะเรียกมื้อที่เสิร์ฟตอนบ่ายสี่โมงว่า Tea มีแต่คนชั้นล่างที่เรียกว่า Afternoon Tea (จึงยิ่งไม่ต้องไปพูดถึง High Tea กันเลยทีเดียว เพราะ High Tea คือมื้อน้ำชาเสิร์ฟบนโต๊ะสูงๆ แบบไม่มีที่นั่งด้วยซ้ำไป)
5. โซฟา : คนชั้นสูงจะเรียกโซฟาว่าโซฟา (Sofa) แต่ถ้าเป็นคนชั้นล่าง จะเรียกว่า Settee หรือ Couch
6. ห้องนั่งเล่น : คนชั้นล่างจะเอา Settee ใส่เข้าไปในห้องที่เรียกว่า Lounge หรือ Living Room ในขณะที่คนชั้นสูงจะเอาโซฟาของตัวเองใส่ไว้ในห้องที่เรียกว่า Sitting Room หรือ Drawing Room แต่จริงๆ จะเรียกอย่างไร มันก็คือห้องเดียวกันนั่นแหละครับ
7.สุดท้ายคือของหวาน : คนชั้นสูงจะไม่ถามแขกว่า “ใครอยากได้ Sweet หลังอาหารไหมคะ” แต่จะเรียกของหวานด้วยคำว่า ‘พุดดิ้ง’ (Pudding) ในขณะที่คนชั้นล่างจริงๆ จะใช้คำว่า Afters (หมายถึงของกินหลังอาหาร) โดยคำที่ดูเหมือนจะ ‘ปลอดภัยทางคลาส’ ที่สุด คือคำว่า Dessert ซึ่งเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากคนอเมริกัน จึงมีเครื่องบ่งชี้ทางชนชั้นน้อยที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีคำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น การเรียกพ่อกับแม่ว่า ‘มัม’ และ ‘แด๊ด’ ก็เป็นเรื่องของคนชั้นล่าง ถ้าชั้นสูงต้องเรียกอย่างที่เจ้าฟ้าชายชาลส์ใช้เรียกควีน คือ ‘มัมมี่’ (Mummy) หรือคำว่าน้ำหอม คนชั้นล่างจะเรียกว่า Perfume ส่วนคนชั้นสูงจะเรียกว่า Scent อีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ ขนาดของมื้ออาหาร คนชั้นล่างจะเรียกว่า Portions แต่คนชั้นสูงจะเรียกว่า Helpings
จะเห็นได้เลยนะครับว่าสังคมอังกฤษนั้น แบ่งแยกเรื่องชนชั้นกันอย่างถึงพริกถึงขิงจริงๆ เรื่องชนชั้นยังมีอิทธิพลสูงมากในสังคมอังกฤษ และคนอังกฤษก็ค่อนข้างยอมรับเรื่องนี้ จึงมีการวิเคราะห์ให้เห็นอย่างถึงกึ๋นลงลึกไปถึงระดับของภาษาและการใช้ถ้อยคำอันเป็นเรื่องพื้นฐานทางวัฒนธรรม
คำถามก็คือ – แล้วในสังคมปฏิเสธตัวเองอย่างสังคมไทยล่ะ, เราจะเริ่ม ‘คิด’ เรื่องนี้กันเมื่อไหร่
3
ไมเคิล ยัง (Michael Young) นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษ เคยเขียนเอาไว้ว่า
The soil grows castes; the machine makes classes.
เขาเปรียบเทียบการแบ่งชนชั้นในสมัยโบราณนานนม (อย่างในอินเดียที่แบ่งคนออกเป็น ‘วรรณะ’ และคนที่ไม่ได้อยู่ในวรรณะทั้ง 4 ก็คือจัณฑาล ซึ่งในปัจจุบันหลายคนคงรู้ข่าวประธานาธิบดีคนใหม่ของอินเดียที่มาจากวรรณะจัณฑาลแล้ว) กับการแบ่งชนชั้นในสมัยใหม่ ซึ่งทำให้เราเห็นว่า ‘ระบบชนชั้น’ (Class System) ไม่ได้มีแบบเดียว แต่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
ในอังกฤษและโลกประชาธิปไตย ระบบชนชั้นหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้วได้เปลี่ยนแปลงไปจากระบบชนชั้นแบบวรรณะอย่างเห็นได้ชัด ระบบชนชั้นแบบอุตสาหกรรม (Industralised Class Systyem) มีลักษณะเฉพาะ คือยึดโยงตัวเองอยู่กับระบบทุน ซึ่งในตอนแรกคือทุนทางเศรษฐกิจ แต่แล้วก็ค่อยๆ ขยายตัวมากินความถึงทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมอีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ ข้อถกเถียงหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ‘ระบบชนชั้น’ กำลังมาถึงทางแพร่งที่อาจเป็นไปได้สองทาง ทางหนึ่งก็คือยึดโยงอยู่กับระบบทุนแบบเดิม แล้วทำให้ระบบชนชั้นแบบหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม – หยั่งรากลึกย้อนทวนกลับไปหาระบบชนชั้นแบบ ‘วรรณะ’ (คือให้ความสำคัญกับทุนทางวัฒนธรรมอย่างชาติกำเนิด ฯลฯ มากขึ้นเรื่อยๆ) กับอีกทางหนึ่ง คือตอนนี้เรากำลังเผชิญหน้ากับ ‘ทุน’ (ผ่านระบบทุนนิยมหรือ Capitalism) ที่กำลังเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงของระบบทุนนี้ อาจทำให้ระบบชนชั้นในอนาคตต้องเปลี่ยนแปลงไปอีกแบบหนึ่ง, หรือไม่ – อย่างไร
แบบสอบถามของ BBC ว่าคุณสังกัดชนชั้นอะไร – มีคนเข้าไปทำมากถึง 7 ล้านครั้ง นั่นแสดงให้เห็นว่า สังคมอังกฤษคือสังคมเข้าใจว่าตัวเองมีระบบชนชั้น เป็นสังคมที่ตระหนักว่าการกินแยมอะไร เลี้ยงหมาพันธุ์ไหน ขับรถอะไร เป็นเครื่องบ่งบอกได้ว่าใครเป็นคนชั้นสูง ชั้นกลาง หรือชั้นต่ำ
เมื่อเป็นสังคมที่ตระหนักถึงระบบชนชั้นของตัวเอง จึงมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ว่าจุดด้อยจุดแข็งของระบบชนชั้นตัวเองเป็นอย่างไร และควรต้องก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไรให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ของโลกที่เปลี่ยนไป
คำถามก็คือ – แล้วสังคมที่คลุกคลีอยู่กับชนชั้นและการเหยียด แต่ขาดความสามารถในการมองให้เห็นสิ่งนี้ พร้อมทั้งปฏิเสธมันอย่างนุ่มนวลชวนฝัน,
จะทำความรู้จักตัวเองเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างไรกัน?