ตอนเด็กๆ ละครหลังข่าวเรื่องหนึ่งที่ผมชอบดูเป็นบ้าเป็นหลัง คือละครที่นำแสดงโดย คุณนิรุตติ์ ศิริจรรยาและคุณดวงใจ หทัยกาญจน์ (สมัยที่ทั้งสองท่านเป็นหนุ่มสาวสวยใสและได้รับความนิยมพอๆ กับ ณเดชน์ และ ญาญ่าในปัจจุบัน)
ละครเรื่องนี้มีชื่อว่า ‘ผู้กองยอดรัก’ (และมีภาคต่อชื่อ ‘ยอดรักผู้กอง’)
ในวัยเด็ก ผมติดละครเรื่องนี้งอมแงมขนาดถูกแม่ดุ เพราะพอถึงเวลาละครมาก็ต้องวิ่งไปรอดู ไม่ยอมช่วยทำงานบ้านใดๆ ทั้งสิ้น
ละครเรื่องนี้สร้างจากนวนิยายของ กาญจนา นาคนันทน์ ฉบับที่ผมดูสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2522 (ซึ่งไม่ใช่ฉบับแรก) และหลังจากนั้นก็มีการนำมาสร้างอีกหลายครั้งในหลายช่อง โดยล่าสุดสร้างเมื่อปี 2558 โดยมีเต๋อ – ฉันทวิชช์ และมาร์กี้ – ราศรี เป็นนักแสดงนำ
ถามว่า – ละครเรื่องนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
คำตอบก็คือ นี่เป็นเรื่องของ ‘ทหารเกณฑ์’ คนหนึ่งซึ่งตามท้องเรื่องเป็นคนที่เรียนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ จึงไม่ใช่ทหารเกณฑ์ธรรมดาๆ ทั่วไป แต่เป็นทหารเกณฑ์ที่มีอาวุธคือ ‘ความรู้’ และเมื่อเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์แล้ว เขาเกิดไปปิ๊งกับ ‘ผู้กองสาว’ (ที่มีพ่อเป็นนายทหารระดับพันเอก) ก็เลยพยายามทุกวิถีทางที่จะเข้าไปเป็น ‘ทหารรับใช้’ ในบ้านของผู้กอง (แสดงว่า ‘สมัครใจ’ เข้าไปอยู่) ซึ่งพอเข้าไปอยู่ในบ้านแล้ว ก็เกิดเรื่องต่างๆ นานา ทำให้ตัวเอกของเราที่มีอาวุธคือความรู้ (และที่จริงก็มีเงินด้วย) สามารถเอาชนะใจผู้กองได้ สุดท้ายก็ต้องเปิดเผยตัวว่าไม่ได้เป็นแค่ทหารรับใช้ธรรมดาๆ แต่มี ‘รูปทอง’ ซ่อนอยู่ข้างใน ผลลัพธ์ก็คือการจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง และมีภาคต่อมาอีกสองภาค
เรื่อง ‘ผู้กองยอดรัก’ นี่ที่จริงแล้วพล็อตใหญ่ก็คือเรื่อง ‘สังข์ทอง’ นั่นแหละครับ กล่าวคือตัวเอกซ่อนตัวอยู่หลังรูปเงาะแต่ภายในเป็นทองคำเนื้ออร่าม เมื่อค่อยๆ ถอดรูปออกมา ในที่สุดก็เห็นถึง ‘คุณค่า’ ที่อยู่เบื้องหลัง เข้าข่าย ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ อย่าตัดสินคนที่รูปกายภายนอก – อะไรทำนองนั้น
แต่กระนั้นละครอย่าง ‘ผู้กองยอดรัก’ ก็มีความซับซ้อนของวิธีมองโลกอยู่ไม่น้อยนะครับ จากท้องเรื่องที่เล่ามา เราจะเห็นได้เลยว่าถ้าตัวเอกไม่ได้มีอาวุธคือความรู้อยู่แล้ว ที่สุดเขาก็อาจถูก ‘กด’ (Oppress) ลงไปเป็นแค่ ‘ทหารรับใช้’ คนหนึ่งที่อาจไม่สลักสำคัญอะไรในความเป็นมนุษย์เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะฐานะ ‘เบี้ย’ ตัวล่างสุดขององค์กรมหึมาอย่างกองทัพ
แต่บังเอิญว่าตัวละครใน ‘ผู้กองยอดรัก’ นั้นผู้ ชมรู้ว่าเขามี ‘รูปทอง’ ซ่อนอยู่ข้างใน และรู้อยู่ลึกๆ (จากชื่อเรื่องและจากการรับรู้ว่าพลทหารคนนี้เป็นพระเอก) ว่าที่สุดแล้ว ทหารรับใช้คนนี้ที่เข้าไปอยู่ในบ้านของพันเอกคนนี้ จะไม่ถูกกระทืบหรือถูกซ้อมจนตายคาตีนแล้วเอาศพไปนั่งยางเผาควันโขมงอยู่กลางทุ่งที่ไหน ทว่าที่สุดแล้วจะเอาชนะใจได้ทั้งตัวผู้กองที่เป็นลูกสาว คุณนายที่เป็นเมียและแม่ของบ้านร วมไปถึงพันเอกที่เป็นพ่อของผู้กอง โดยใช้รูปทองที่ซ่อนอยู่ข้างใน ด้วยเหตุนี้ ผู้ชม (โดยเฉพาะผู้ชมอย่างผมในตอนเด็กๆ) จึงเกิดอาการ ‘พาฝัน’ (Romanticized) ไปกับเนื้อเรื่อง สนุกสนานไปกับไหวพริบที่ตัวทหารรับใช้ล้อเลียนทั้งคุณนายและพันเอก (ที่พล็อตเรื่องแสดงให้เห็นเป็นนัยว่ามีระดับของความฉลาด ‘ต่ำ’ กว่าทหารรับใช้ที่เป็นพระเอกของเรา – จึงเป็นการเติมเต็มจินตนาการให้ผู้ชมเข้าไปอีกขั้น) โดยไม่ต้องหวาดเกรงหรือเสียวไส้ไปกับ ‘ความจริง’ ที่ว่า ทหารรับใช้ในค่ายทหารจริงๆ จะต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมอะไรบ้าง
การที่ละครเรื่องนี้มีการสร้างซ้ำๆ เสพซ้ำๆ ผลิตซ้ำๆ มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี (อย่างน้อยก็ตั้งแต่ 2515 ถึง 2558 ซึ่งเท่ากับมากกว่า 43 ปี) ย่อมแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมองภาพ ‘ทหารรับใช้’ ได้ ‘โรแมนติก’ ขนาดไหน
ย้อนกลับไปในวัยเด็กของตัวเอง ต้องบอกคุณก่อนว่า พ่อของผมก็เป็นนายทหารด้วยเหมือนกัน และดังนั้น – เช่นเดียวกับนายทหารอื่นๆ ในสมัยนั้นและเช่นเดียวกับที่สังคมมองภาพ ‘ทหารรับใช้’ แบบเดียวกันกับภาพใน ‘ผู้กองยอดรัก’ ที่บ้านของผมจึงมี ‘ทหารรับใช้’ อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม่ของผมเป็นคนที่ดูแลทหารรับใช้อย่างให้เกียรติ แม่จึงไม่ได้ใช้งานทหารรับใช้เหล่านั้นให้ซักผ้าถูบ้านอะไรทำนองนั้น ในวัยเด็ก แม่บอกผมว่าให้เรียกทหารรับใช้เหล่านั้นว่าพี่ เคารพพวกเขาในฐานะคนที่ทำงานร่วมกันกับพ่อ งานส่วนใหญ่ที่พวกเขาทำที่บ้านเป็นงานช่วยเหลือพ่อซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงเ ช่น ขับรถ หรือทำงานอื่นๆ ผมจึงรู้สึกมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า พี่ๆ ทหารรับใช้เหล่านี้ไม่ใช่ ‘คนรับใช้’ ของใคร พวกเขาเพียงแต่มาช่วยงานพ่อเท่านั้น และเมื่อพ้นการเกณฑ์ทหารไปแล้ว หลายคนก็ยังไปมาหาสู่อยู่เสมอ มีอยู่คนหนึ่งเปิดกิจการรถเช่า ซึ่งผมก็ยังใช้บริการเขาอยู่จนถึงทุกวันนี้
แต่ก็อย่างที่รู้กันอยู่ (โดยเฉพาะจากข่าว) ว่าทหารรับใช้หลายคนไม่ได้พบกับสภาวะแบบนี้ พวกเขาต้องไปทำอะไรอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวและไม่ใช่ภาระหน้าที่เลย เราจะพบว่า ทหารรับใช้จำนวนมากต้องซักกางเกงในให้คุณนาย ซักถุงเท้าให้ลูกๆ ช่วยงาน ‘อาชีพเสริม’ ของครอบครัวนายทหารพวกนี้ เช่น เลี้ยงไก่ เลี้ยงม้า รวมไปถึงทำงานก่อสร้าง ขุดดิน ขุดบ่อปลา ถูบ้าน ฯลฯ อันเป็นงานที่เทียบเท่ากับคำว่า ‘รับใช้’ (แบบฟรีๆ) จริงๆ
คำถามถัดมาก็คือ – ก็แล้วทำไมทหารรับใช้เหล่านี้ถึง ‘ยอม’ ทำโดยไม่ปริปากบ่น?
ผมเข้าใจว่า สมัยก่อนโน้นชีวิตในค่ายทหารอาจจะย่ำแย่และโหดหินมากโดยเฉพาะในต่างจังหวัดห่างไกล หรืออยู่ในพื้นที่อันตราย ผมมีโอกาสติดสอยห้อยตามพ่อเข้าไปในค่ายทหารต่างอำเภออยู่เนืองๆ จึงได้เห็นว่าสภาพความเป็นอยู่ในค่ายทหารสมัยโน้นย่ำแย่แค่ไหน และการลงโทษในค่ายทหารนั้นโหดหินขนาดไหน ภาพที่จำติดตาก็คือการขังทหารเกณฑ์ที่ทำผิดวินัยอยู่ในคอกแคบๆ สูงแค่เอว คนที่เข้าไปอยู่ในนั้นต้องงอก่องอขิงอยู่นานหลายวันตามที่ถูกลงโทษ แล้วคอกที่ว่าไม่ได้อยู่ในร่มนะครับ แต่อยู่กลางสนามไม่ว่าฝนตกแดดเปรี้ยงอย่างไรก็อดทนอยู่อย่างนั้น ซึ่งในบางเรื่อง พ่อก็สั่งให้ยกเลิกเสียเพราะมันแลดูโหดร้ายเกินไป
ตอนเด็กๆ ผมเคยคุยกับพี่ๆ ‘ทหารรับใช้’ หลายคนถึงการเป็นทหารรับใช้พวกเขาบอกผมคล้ายๆ กันว่า พวกเขาสมัครใจจะมาเป็นทหารรับใช้ด้วยตัวเอง พวกเขาอยากเป็นและการจะได้เป็น ‘ทหารรับใช้’ นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแทบทุกคนแย่งกันเป็น นายทหารจึงต้องเลือกว่าจะเอาใครบ้างไม่เอาใครบ้าง
คำตอบของพวกเขาทำให้ผมประหลาดใจมาก เพราะผมคิดว่าโดยทั่วไปแล้วคงไม่มีใครอยากไปรับใช้ใคร แต่พี่ๆ ทหารรับใช้อธิบายให้ฟังว่า การเป็นทหารรับใช้ดีกว่าทำงานอยู่ในค่ายทหารมาก โดยเฉพาะสภาพความเป็นอยู่ พวกเขาบอกว่า แม้จะต้องเสี่ยงกับการมาซักกางเกงในหรือถูบ้าน แต่งานที่ต้องพบเผชิญก็ยังเบากว่าสภาพการณ์ในค่ายทหาร เช่น ถ้าออกมาอยู่ข้างนอก ก็ยังมีบางวันที่ได้นอนตื่นสายบ้าง ความเคร่งเครียดก็น้อยกว่า การต่อรองกับ ‘คุณนาย’ ที่บ้าน ย่อมง่ายกว่าต่อรองกับจ่าในค่ายทหาร ที่สำคัญก็คือยังได้ออกไปไหนมาไหนบ้าง เพราะส่วนใหญ่การเป็นทหารรับใช้แปลว่าได้เข้ามาอยู่ในค่ายทหารในเมือง หรือไม่ถ้านายทหารมีบ้านอยู่นอกค่ายทหาร ก็ได้อยู่นอกค่ายไปเลย ชีวิตจึงเบาและสบายกว่าการอยู่ในค่ายทหารมากนัก
คำอธิบายของพวกเขายิ่งทำให้ผมรู้สึกเศร้าเข้าไปอีก
เศร้า – ที่ตอนนั้นในฐานะเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง, ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเปลี่ยนอะไรได้เลย
ต้องย้ำด้วยนะครับ ว่านั่นคือเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งสภาพการณ์ในค่ายทหารอาจเลวร้ายย่ำแย่กว่าปัจจุบันนี้มากก็ได้แต่คำถามก็คือ – แล้วถ้าหากว่าสภาพการณ์ไม่ได้เปลี่ยนไปล่ะ…
หนังสือพิมพ์มติชนเคยย้อนกลับไปดู ‘ราก’ ของการมีทหารรับใช้ ซึ่งเท่าที่ปรากฏเป็นหลักฐานก็คือใน ‘กฏเสนาบดีกระทรวงกระลาโหมพ.ศ.2455’ ซึ่งแม้จะเก่าแก่ขนาดนั้น แต่สาระสำคัญว่าด้วยทหารรับใช้ก็คือ (อันนี้ลอกมาจากข่าวเลยนะครับ เพราะข่าวสรุปจากกฎหมายที่ว่าอีกที และกฎหมายดังกล่าวใช้ภาษาที่ค่อนข้างโบราณ)
-ทหารที่ได้รับคำสั่งให้ไปอยู่กับนายทหารสัญญาบัตรเรียกว่า ทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร
-เฉพาะนายทหารสัญญาบัตรซึ่งมีหน้าที่ปกครองทหารในกรมกองทหารเท่านั้น ที่จะมีทหารรับใช้ได้
-นายทหารผู้ช่วยพลรบ ถึงแม้ประจำอยู่ในกรมกองทหาร ก็มิให้มีทหารรับใช้
-สำหรับหลักเกณฑ์ในการเลือกทหารไปเป็นทหารรับใช้นั้น กำหนดว่าจะต้องเลือกกับพวกที่ได้ฝึกสั่งสอนมาแล้วครบหนึ่งปี มีนิสัยดีมั่นคง
-และถ้าเป็นไปได้ควรเอาแต่ผู้ที่สมัครใจ โดยเวลาจัดให้ไป ให้ลงในคำสั่งกรม
-ในข้อที่ 54 ระบุว่า ทหารรับใช้มีหน้าที่ปฏิบัตินายทหารที่ตนไปอยู่ด้วย และรับใช้บุตร ภรรยา ของนายทหารผู้นั้น ในกิจการบ้านเรือนทุกประการ
-ทหารรับใช้ต้องแต่งเครื่องแบบทหารตามข้อบังคับ จะแต่งกายอย่างอื่น เช่นแต่งเครื่องแต่งกายสำหรับคนใช้ธรรมดา หรือแต่งเครื่องแบบคนขับรถไม่ได้เป็นอันขาด
กระทั่งกฎหมายที่เก่าแก่ขนาดปี 2455 ก็ยังฟังดู ‘เป็นเหตุเป็นผล’ (Make Sense) มากพอควร เช่น เน้นย้ำว่างานที่ทำคือการเป็นทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร ต้องเป็นการสมัครใจ ฯลฯ จะมีข้อที่แปร่งๆ อยู่บ้าง ก็คือการต้องรับใช้รวมไปถึงบุตร ภรรยา ของนายทหารผู้นั้นในกิจการบ้านเรือน ซึ่งก็น่าจะเป็น ‘ราก’ ที่กินความยาวมาจนถึงการ ‘ซักกางเกงในคุณนาย’ มาจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม คำถามที่น่าถามที่สุดต่อเรื่อง ‘ทหารรับใช้’ (ซึ่งต่อมากลายเป็น ‘ทหารบริการ’ แต่ยังมีเนื้อหาสาระเดียวกัน) คือคำถามที่ สฤณี อาชวานันทกุล ตั้งเอาไว้ในสเตตัสของเธอว่า
ระเบียบ “ทหารบริการ” ของกองทัพในข่าวนี้ น่าจะขัดอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29 ว่าด้วยการขจัดแรงงานบังคับทุกรูปแบบ ซึ่งไทยให้สัตยาบันเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว (และเมื่อไม่นานมานี้มีการออกอนุสัญญาเสริม ให้ทันกับลักษณะการใช้แรงงานบังคับสมัยใหม่) อีกทั้งระเบียบนี้น่าจะขัดกับเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายใหม่ว่าด้วยการขจัดแรงงานบังคับ ที่กระทรวงแรงงานกำลังยกร่างด้วย (ใช้คำว่า “เจตนารมณ์” เพราะยังไม่เห็นร่างกฎหมาย ไม่แน่ใจว่านิยามแรงงานบังคับจะครอบคลุมถึงทหารด้วยหรือไม่ แต่ตามหลักการแล้วต้องครอบคลุมทุกคนไม่เกี่ยงอาชีพ)
(หมายเหตุ อนุสัญญา ILO มียกเว้น “การรับราชการทหาร” ไว้ว่า ไม่ถือว่าเป็น “แรงงานบังคับ” แต่จะต้องเป็น “ลักษณะงานของทหารอย่างแท้จริง” ซึ่งระเบียบทหารบริการนี่ไม่ใช่แน่ๆ เพราะสามารถสั่งให้คนไปเลี้ยงไก่ ซักผ้าให้เมียนาย รดน้ำบ้านนาย ฯลฯ ซึ่งชัดเจนว่าไม่ใช่งานของทหารตรงไหน)
ถ้าไปดู ‘ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับ’ จะเห็นว่าประเทศไทยให้สัตยาบันในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2512 โน่นแล้ว โดยคำว่า ‘แรงงานบังคับ’ (หรือ Forced Labour หรือในบางที่ก็ใช้ว่า Unfree Labour) หมายถึงการจำเป็นต้องใช้แรงงานเพราะถูกบังคับด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่นถ้าไม่ใช้แรงงาน จะต้องถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ถูกลงโทษ ต้องเผชิญกับความรุนแรง ฯลฯ โดยในกฎหมายนี้ให้นิยามเอาไว้ว่าหมายถึง ‘งานหรือบริการทุกชนิด ซึ่เกณฑ์เอาจากบุคคลใดๆ โดยการขู่เข็ญลงโทษ และซึ่งบุคคลดังกล่าวนั้นมิได้สมัครใจที่จะทำเอง’
คำถามก็คือสภาวะ ‘ทหารรับใช้’ คือ Forced Labour หรือเปล่า?
แม้พี่ๆ ทหารรับใช้ในวัยเด็กของผมจะบอกว่าพวกเขา ‘สมัครใจ’ จะมาเป็นทหารรับใช้เอง จึงดูคล้ายกับพวกเขาไม่ได้ถูกบังคับ (และสภาพการณ์แบบนี้ก็อาจยังเป็นอยู่จนถึงปัจจุบัน) แต่คำถามก็คือ การ ‘สมัครใจ’ นั้นวางอยู่ฐานของการ ‘หนี’ สภาพการถูกบังคับอีกแบบหนึ่งหรือไม่ และถ้าเป็นอย่างนั้น แปลว่าความสมัครใจนั้นคือความสมัครใจที่แท้จริงหรือเปล่า
นอกจากคำถามนี้แล้ว ยังมีคำถามที่น่าถามต่อไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ แล้วสภาพการเป็น ‘ทหารเกณฑ์’ หรือการถูกเกณฑ์ทหารโดยที่บางคนไม่ได้สมัครใจเล่า มันคือ Forced Labour ด้วยไหม? แม้จะเป็น Forced Labour ที่มีวัตถุประสงค์ต่างกันกับการไปซักกางเกงในให้คุณนายผู้พันก็ตามที
ถ้าเราเห็นว่า ทหารรับใช้ไม่ควรถูก ‘บังคับใช้แรงงาน’ ให้มาทำงานบ้านโดยไม่สมัครใจ ก็แล้วเรา – ในฐานะคนในชาติส่วนหนึ่ง, ควร ‘บังคับใช้แรงงาน’ ด้วยการเกณฑ์ ‘ชายไทย’ (ที่หลายคนอาจไม่ได้สมัครใจ) มาเป็นทหารเกณฑ์ด้วยหรือเปล่า และถ้าเป็นเช่นนั้นเราต่างอะไรกับคุณนายเหล่านั้นมากแค่ไหน และหากคิดเช่นนี้ ก็จะนำไปสู่คำถามถัดไปว่า – หรือกระทั่งการเกณฑ์ทหารเอง ก็ควรถูกยกเลิกไปพร้อมกับการบังคับให้ทหารไปเป็น ‘ทหารบริการ’ หรือ ‘ทหารรับใช้’ ด้วยหรือเปล่า
‘ทหาร’ ไม่ควรถูก ‘เกณฑ์’ มาเป็นทหารแต่ควร ‘สมัคร’ มาเป็นทหารด้วยศักดิ์ศรี ความพร้อม ความตั้งใจ และความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในตัว – ไหม?
ด้วยเหตุนี้เริ่มต้นจาก ‘ผู้กองยอดรัก’ อันสุดแสนโรแมนติกและให้ภาพงดงามชวนติดตา มจึงได้นำทางเรามาสู่คำถามสำคัญนี้อันเป็นคำถามที่อาจตอบได้หลากหลาย
โดยคำตอบของเรา – ก็จะสะท้อนให้เราเห็นได้ในที่สุด, ว่าเราอยู่ในสังคมแบบไหน และเรามีส่วนสร้างให้สังคมเป็นแบบไหน