ถ้าจะถามถึงอะไรที่เป็นไทยแท้ๆ อย่างหนึ่งที่อาจจะใช่ก็น่าจะเป็นระบบอะไรที่เมืองนอก เมืองนา เขาไม่รู้จัก แต่กลับมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษแบบเก๋ๆ ว่า ‘SOTUS’ หรือกิจกรรม ‘รับน้องใหม่’ นี่แหละ
หมุนเข็มนาฬิกากลับไปที่เมื่อรัฐสยาม (ซึ่งก็ต้องหมุนกันจนมือชาเพื่อย้อนกลับไปให้ถึงวันที่ ประเทศนี้ เมืองนี้ ยังไม่ได้เรียกว่า ไทย เลยแล้วกัน) เริ่มที่จะนำเอาประดิษฐกรรมของโลกตะวันตกที่เรียกว่า ‘การศึกษาแบบสมัยใหม่’ มาใช้โน่นเลย
และมันก็แปลว่าเราต้องหมุนเข็มนาฬิกากันไปที่ราวๆ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการจัดตั้ง ‘โรงเรียนหลวง’ ขึ้นภายใต้การดูแลของกรมมหาดเล็ก ได้นำเอาระบบที่มีชื่อเรียกแปลเป็นไทยยากๆ ว่า ‘ดรุณาณัติ’ (Fagging System) จากโรงเรียนกินนอน (ก็โรงเรียนประจำนั่นแหละ) ในประเทศอังกฤษ เข้ามาใช้นั่นเอง
ในระบบ ‘ดรุณาณัติ’ ที่ว่านี้ก็จะมีการนำเอานักเรียนชั้นปีสูงๆ (ซึ่งมักจะแปลกันว่า มีอาวุโสกว่าชั้นปีต่ำๆ แน่นอนว่า อาวุโสในที่นี่มีความหมายผิวเผินแค่ การอยู่มาก่อน เท่านั้น) ที่มีผลการเรียนดี และความประพฤติดี มาเป็นผู้ช่วยครูในการอบรมสั่งสอนและดูแลคณะนักเรียน ในภาษาอังกฤษเขาเรียกคนพวกนี้ว่า ‘Fag-master’ หรือ ‘Prefect’
ใช่ครับใช่ สำหรับใครคนไหนที่เคยอ่านหรือดูพ่อมดน้อยคนนั้นที่ชื่อว่า แฮร์รี พ็อตเตอร์ ‘Prefect’ ที่ว่านี่ก็คือ ‘พรีเฟค’ เดียวกันกับที่บรรดาพี่น้องผมแดง ตระกูลวีสลีย์ เป็นมันทั้งครอบครัวนั่นแหละ (ส่วนใครไม่เคยทั้งดูทั้งอ่าน ถ้าไปลองหาอ่านหาดู ก็เพิ่มจินตนาการในการอ่านข้อเขียนชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง)
ดังนั้น หน้าที่การใช้งานของพรีเฟคก็เป็นอย่างในนิยายเรื่องของนายพ็อตเตอร์นั่นเลย พวกเขาจะเป็นนักเรียนระหว่างชั้นปีที่ 5-7 (แล้วแต่ด้วยว่าโรงเรียนนั้นจะมีกี่ชั้นปี) ที่ถูกแต่งตั้งโดยบรรดาคุณครูหรือผู้มีอำนาจในโรงเรียน เพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับอำนาจเหล่านั้น (ซึ่งบางครั้งมันก็เกินเลยไปจนกระทั่งให้รุ่นน้อง มาเป็นอะไรที่คล้ายๆ กับคนรับใช้ส่วนตัวของรุ่นพี่นู่นเลย)
โปรดสังเกตด้วยว่า พรีเฟค เหล่านี้ถูก ‘แต่งตั้ง’ โดยอำนาจของโรงเรียนนะครับ ไม่ใช่ ‘เลือกตั้ง’ โดยคนหมู่มากของโรงเรียน และโปรดฟังอีกครั้งหนึ่งว่า ระบบการแต่งตั้งพรีเฟคที่ว่านี่ ผมหมายถึงธรรมเนียมเฉพาะที่อังกฤษและเครือจักรภพ ที่โรงเรียนมหาดเล็กของสยามเรา ไปรับเอารูปแบบของเขามาเท่านั้น ไม่ได้หมายรวมถึงระบบการแต่งตั้ง ‘หัวหน้านักเรียน’ (head girl/head boy) ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่หลายแห่งก็มีระบบการเลือกตั้ง ไม่ใช่แต่งตั้ง
อันที่จริงแล้ว การที่โรงเรียนกินนอนของฝรั่งพวกนี้ใช้คำว่า ‘พรีเฟค’ ก็น่าสนใจมากเลยแหละ เพราะเป็นชื่อเรียกตำแหน่งข้าราชการระดับสูงของพวกโรมันมาก่อน แน่นอนว่าบรรดาพรีเฟคแห่งโรมเหล่านี้ ก็ถูกแต่งตั้งด้วยอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมันอันยิ่งใหญ่ ดังนั้นการที่พรีเฟคในโรงเรียนกินนอนของอังกฤษจะมีที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่เลือกตั้งก็ไม่เห็นจะแปลกหรอกนะครับ
ตำแหน่ง ‘พรีเฟค’ ของพวกอิงเกอลันด์จึงดูจะเข้ากันกับเจตนารมณ์ของ ‘โรงเรียนหลวง’ ในสยามได้อย่างดี๊ดียยย์ เพราะโรงเรียนพวกนี้สังกัดอยู่ภายใต้กรมมหาดเล็ก ทำให้ส่วนหนึ่งของโรงเรียนหลวงในยุคนั้นบางแห่ง มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะฝึกสอนผู้เป็นนายสิบ นายร้อย ในกรมทหารมหาดเล็ก
และขึ้นชื่อว่า ‘มหาดเล็ก’ ซึ่งก็คือ ‘ข้าราชการ’ ในราชสำนัก ที่มีหน้าที่รับใช้พระเจ้าแผ่นดิน หรือรับใช้ประจำตัวเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งนั้น ก็รับประกันซ่อมฟรีได้เลยว่านะครับว่า เข้ากั๊นน เข้ากันกับระบบ ‘อาวุโส’ และระบบการ ‘แต่งตั้ง’ มากกว่าระบบการ ‘เลือกตั้ง’
จุดสูงสุดของโรงเรียนหลวงเหล่านี้คือคือการปรากฏตัวขึ้นของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถึงแม้จะสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในสมัยรัชกาลที่ 6 แล้ว แต่ก็ถือกันว่ามีรากเหง้ามาจาก ‘โรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน’ ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นพระบรมมหาราชวังมาก่อน ตั้งแต่ พ.ศ. 2442
แน่นอนนะครับว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้สืบทอดเอาเจตนารมณ์แบบพรีเฟค ที่เข้ากันดี๊ดียย์กับระบบอาวุโสแบบไทยๆ เข้าไปด้วย แถมยังได้พัฒนาไปเป็นสิ่งที่เรียกว่าระบบ ‘SOTUS’ กันที่นี่นั่นเอง
ดังนั้นใครหลายคนจึงเชื่อกันว่า คำว่า ‘SOTUS’ ก็เกิดขึ้นในจุฬาฯ นั่นแหละ เพราะอักษรแต่ละตัวในคำๆ นี้ ล้วนแต่มีความหมาย เพราะเป็นคำย่อมาจาก S คือ Seniority หมายถึงการเคารพผู้อาวุโส (แหม่ มาเป็นคำแรกเชียว), O มาจาก Order คือการปฏิบัติตามระเบียบวินัย, T คือ Tradition ก็คือการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี, U หมายถึง Unity แน่นอนว่าก็คือการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และท้ายสุดคือ S ซึ่งหมายถึง Spirit คือการฝึกจิตใจ การเสียสละกายและใจ (ดังนั้นห้ามแตกแถว ปฏิบัติ!)
และมันก็มีหลักฐานให้ชวนเชื่อว่าคำๆ นี้จะเกิดที่นี่จริงๆ เสียด้วย เพราะว่ามีการพบโคลงสี่สุภาพบทหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า ‘โคลงโซตัส’ ในหนังสือเฟรชชี่รุ่นโบราณ ที่ห้องสมุดภาควิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายความหมายของตัวอักษรแต่ละตัวในคำว่า SOTUS อย่างละเอียด แต่ปัญหาก็คือไม่มีใครทราบว่าหนังสือเฟรชชี่โบราณที่ว่านั้นโบราณขนาดไหน? หรือถ้ามีคนทราบแต่ก็ไม่เห็จะมีใครออกมาบอกอายุของหนังสือดังกล่าวเสียที
หลักฐานที่หนักแน่นยิ่งกว่าจึงอยู่ในเพลงที่ชื่อว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ’ ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2510 โดยศาสตราจารย์วิกรม เมาลานนท์ อดีตประธานศาลฎีกา (ล่วงลับ) ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชากฎหมายแก่นิสิตจุฬาฯ คณะต่างๆ (เอิ่ม! แต่อันที่จริงแล้ว ในขณะเดียวกันนั้นเอง ท่านก็เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยแบบงงๆ ว่าทำไมถึงมาแต่งเพลงให้จุฬาฯ) ซึ่งในเนื้อเพลงดังกล่าวได้พูดถึงคำว่า ‘สามัคคี’ ‘อาวุโส’ ‘น้ำใจ’ ‘ระเบียบ’ และ ‘ประเพณี’ ที่ก็คือความหมายของตัวอักษรย่อที่มารวมกันเป็นคำว่า ‘SOTUS’ เอาไว้ด้วย
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม หากลองนับจากตัวอักษรแรกสุดของข้อเขียน เรื่อยมาจนถึงบรรทัดนี้ ก็จะเห็นได้ว่าผมยังไม่ได้พูดถึงปัญหาการใข้ความรุนแรง อย่างไม่เป็นธรรม อย่างที่เป็นปัญหากันอยู่ในปัจจุบันอะไรเลยนะครับ
ถ้าอย่างนั้นแล้ว ความรุนแรงที่ว่ามันจะมีต้นตอมาจากไหนกันเอ่ย?
ระบบดรุณาณัติของโรงเรียนกินนอนของสหราชอาณาจักร ยังมีค่านิยมอีกอย่างหนึ่ง คือการนำกีฬาประเภทที่นับว่ารุนแรงในสมัยนั้นอย่าง การแข่งเรือ ฟุตบอล หรือรักบี้ (ส่วนสาวกแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ขอให้มโนถึง ‘ควิดดิช’ นั่นแหละ ใช่เลย!) เพื่อใช้ในการสร้างเสริมความเป็นชาย และดึงพลังหนุ่มออกจากความเป็นรักร่วมเพศ และการประกอบอัตกามกิจ (ใช่ครับใช่ ไทยเราไม่ใช่ประเทศแรกที่บอกกับวัยรุ่นว่า ถ้ามีความต้องการทางเพศให้ไปเตะฟุตบอล!) กิจกรรมเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็ผูกเข้ากับระบบพรีเฟค ที่เช็ครุ่นกันอย่างเคร่งครัด
และก็แน่นอนว่า การสร้างเสริมความเป็นชายเหล่านี้หลายทีก็ล้ำเส้นของการกีฬาออกไปด้วย ผู้คนจากอังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ ไอร์แลนด์เหนือ และรวมกระทั่งไอร์แลนด์ ที่ไม่นับรวมอยู่ภายใต้ผืนธงยูเนียนแจ็ค เมื่อเดินทางข้ามฟากมหาสมุทรแอตแลนติคไปยังทวีปอเมริกา ก็นำเอาทั้งการกีฬา และสิ่งที่ล้ำเส้นเกินกว่าการกีฬาต่างๆ ไปด้วย
เฉพาะที่เกี่ยวกับไทย ก็อย่างมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ (ซึ่งถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา และโลก) ก็เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่มีหลักฐานว่าแต่เดิมนั้นมีการรับน้องกันด้วยความรุนแรง อย่างการคลุกโคลนปีนเสา แถมยังถ่ายทอดอะไรอย่างนี้ ไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ที่คอร์แนลล์ไปร่วมด้วยช่วยก่อตั้งอย่าง ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดอะ ฟิลิปปินส์ (แน่นอนว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ผมคงไม่ต้องบอกว่าตั้งอยู่ที่ไหนนะ!)
ประเด็นเลยนะครับ ไอ้วิธีการรับน้องด้วยการรับน้องด้วยการคลุกโคลนปีนเสานั้นก็มีอยู่ที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของสยามประเทศไทยด้วย (น่าเสียดายที่ผมขี้เกียจพอจะไม่ไปค้นว่าทุกวันนี้ยังมีอยู่หรือเปล่า? เอาน่า เอาเป็นว่าอย่างน้อยที่สุดเคยมีก็แล้วกันนะ)
และก็คงจะเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยของไทยแห่งนี้นี่เอง ที่นำเอาวิธีการรับน้องอย่างนี้มาเข้ามาเผยแพร่ เพราะตนเองได้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ ซึ่งโด่งดังในสาขาวิชาเกี่ยวกับการเกษตรกรรม (ก็ดังพอที่จะไปช่วยสร้างวิทยาลัยการเกษตร ที่ลอสบันยอส ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งใน ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ เดอะ ฟิลิปปินส์ นั่นแหละ และก็หมายความด้วยว่าอาจารย์คน หรือกลุ่มนั้นอาจจะไม่ได้จบคอร์แนลล์ แต่จบจากลอสบันยอสนี่ก็ได้) มานั่นเอง
แต่จะให้บอกว่าเป็นอาจารย์ หรือใครคนไหนเป็นคนอิมพอร์ตเข้ามา คงจะไม่สามารถชี้เฉพาะเจาะจงลงไปได้ เพราะในช่วงสงครามเย็น (คือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) อันเป็นเวลาที่การรับน้องแบบนี้เริ่มปรากฏขึ้นในไทยนั้น มีนักศึกษาไทยที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ มหาวิทยาลัยโอเรกอน ในสหรัฐอเมริกา และวิทยาลัยเกษตรลอสบันยอส ในฟิลิปปินส์ เป็นจำนวนมาก จนไม่รู้ว่าจะมุ่งเป้าไปที่ใครเป็นพิเศษดี?
ส่วนไอ้การรับน้องที่ถูกอิมพอร์ตเข้ามานี่ ก็ไม่เคยถูกเรียกว่า SOTUS นะครับ เอาเข้าจริงแล้วฝรั่งเขาไม่รู้จักคำนี้เลยด้วยซ้ำ เพราะมันถือกำเนิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างที่ว่าไปแล้วต่างหาก
มันจึงน่าตลกสิ้นดีที่ต่อมาพวกฝรั่งเขาเห็นลักษณะการอย่างนี้ว่า ‘ป่าเถื่อน’ จึงยกเลิกไป แต่คนไทยกลับเห็นอีกอย่าง แล้วเอาเข้าไปผนวกกับกฎเกณฑ์สวยหรูเสียอย่างแนบสนิทเนียนจนไร้รอยต่อว่า การกระทำอย่างนี้นี่แหละที่จะทำให้สืบสาน ‘อาวุโส’ ‘ระเบียบ’ ‘ประเพณี’ ‘สามัคคี’ และ ‘น้ำใจ’ ที่รวมกันแล้วเรียกว่า ‘SOTUS’
จึงถือได้ว่า SOTUS เป็นประดิษฐกรรมที่ไทยเอาธรรมเนียมของฝรั่งเขามาสานต่อ และพัฒนาจนเป็นมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ขนาดที่ฝรั่งเห็นเข้าก็ยังต้องงงเหมือนกันเหอะ
อุตส่าห์พอจะหา ‘ความเป็นไทย’ ที่มัน ‘ยูนีค’ กับเขาได้ทั้งที ก็ยังเป็นเรื่องทำนองนี้เสียอีก ถ้าไม่ปลงอนิจจังแล้วจะยังไงดีล่ะครับ?