สองอาทิตย์ก่อนตอนเขียนเรื่องคาสิโน ผมได้แตะๆ เรื่องโรงเรียนวิชาชีพไปบ้าง พูดถึงคนที่เรียนเกี่ยวกับการทำงานในคาสิโนเพื่อเป็นดีลเลอร์โดยเฉพาะ ทั้งๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่มีคาสิโน ฟังดูแปลกดีเพราะญี่ปุ่นไม่มีงานรองรับด้านนี้ในประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้ว ยังมีอาชีพเฉพาะด้านแบบนี้อีกเยอะ ยิ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนวิชาชีพหรือการจัดสอบเพื่อเอาใบประกาศมากขึ้นเรื่อยๆ
ก่อนอื่นต้องขออธิบายสองส่วนแยกกันก่อน ‘ใบประกาศ’ ที่พูดถึงคือเอกสารที่มีหน่วยงานรัฐหรือเอกชนที่เชื่อถือได้จัดการสอบขึ้นเพื่อให้ผู้สอบเอาใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้ประกอบอาชีพต่อไป ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน แม่บ้าน คนอยากหางานเสริม หรือพัฒนาตัวเองก็สามารถสมัครสอบใบอนุญาตเหล่านี้ได้ บางกรณีก็จะมีตำราให้อ่านแล้วไปสอบอีกที ซึ่งก็น่าสนใจนะครับ เพราะช่วยให้เปิดโอกาสในการทำงานได้มากขึ้น เวลาจะไปสมัครงาน ถ้าเขาถามว่า “มีใบอนุญาตรึเปล่า?” ก็เอาใบนี้แปะหน้าให้ดูได้เลย จะได้เห็นว่ามีความรู้ด้านนี้จริงๆ นะ ไม่ใช่มามั่วเอา
ใบประกาศก็มีไว้เพื่อให้สะดวกเวลาทำงานหรือหางานใหม่นั่นล่ะครับ เพราะงานบางอย่างใช่ว่าแค่จะอาศัยประสบการณ์ในการทำงานมาอ้างอิงได้ที่ไหน ถ้ามีความรู้พื้นฐานและมีใบรับรองมันก็ช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ในโฆษณารวมใบอนุญาตต่างๆ จะบอกว่าใช้เวลาเรียนนานแค่ไหน และมีสอบช่วงไหน ใครสนใจด้านไหนก็ไปสมัครได้เลย บางอย่างเราก็คาดไม่ถึงว่ามีด้วยสิครับ มีตั้งแต่พื้นฐานเช่น ใบอนุญาตงานประชาสัมพันธ์ในโรงพยาบาลหรือคลินิก งานธุรการกิจการสถานดูแลคนชราหรือผู้ป่วย งานอสังหาริมทรัพย์ งานดูแลวัตถุอันตราย (ทำงานที่โรงงานหรือปั๊มน้ำมันได้) งานวางแผนทางการเงิน ผู้เชี่ยวชาญด้าน Microsoft Office ก็ดูจะเป็นงานเฉพาะทางไปเลย แต่ที่น่าสนใจเข้าไปอีกก็เช่น ใบอนุญาตผู้ให้คำปรึกษาเรื่องอาหารในชีวิตประจำวัน Color Coordinator หรือกระทั่งผู้ใช้สมุนไพร อย่างอันหลังนี่ก็มีเม็มเบอร์ของ Nogizaka46 ที่สอบผ่านตัวนี้และโชว์ฝีมือทำซุปสมุนไพรในรายการมาแล้วนะครับ
นั่นคือส่วนของใบอนุญาต แต่ยังมีการเรียนเฉพาะทางอีกอย่าง นั่นคือ ‘โรงเรียนวิชาชีพ’ หรือจะเรียกว่า ‘โรงเรียนเฉพาะทาง’ ไปเลยก็ว่าได้ครับ ตามภาษาญี่ปุ่นคือ 専門学校 เป็นโรงเรียนที่สอนความรู้ด้านใดด้านหนึ่งไปเลย ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยที่เรียนกว้างๆ แล้วค่อยแยกไปเรียนเอก โรงเรียนวิชาชีพเหมาะกับคนที่มีเป้าหมายว่าอยากจะทำงานด้านไหนก็ไปเรียนด้านนี้เลยโดยตรง เพราะว่านอกจากจะใช้เวลาเรียนน้อยกว่า (บางวิชาอาจจะใช้เวลาแค่ปีเดียวด้วยซ้ำ) ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียนวิชาอื่นๆ ที่ไม่ได้จำเป็นกับสายงานของตัวเอง (เช่น สมัยผมเรียนเอกภาษาอังกฤษ ก็เรียนแค่ Basic Math) ทำให้ได้วิชาที่ต้องใช้และจำเป็นในสายงานของตัวเองภายในเวลาสั้นๆ จบไปก็ทำงานได้เลย
ด้วยความที่สังคมญี่ปุ่นกระจายรายได้ชนชั้นกลางได้ดีในระดับหนึ่ง ทำให้คนที่จบโรงเรียนวิชาชีพแล้วไปทำงานตรงสายของตัวเองสามารถหารายได้ไม่แพ้คนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ในบางกรณีก็สามารถหาเงินได้เยอะกว่าด้วยซ้ำ เพราะจบมาตรงสายงานเลย ที่สำคัญคือใช้เวลาน้อยกว่า เรียนแค่ปีสองปีก็สามารถเริ่มทำงานได้ ไม่ต้องเสียเวลาในมหาวิทยาลัยหากแนวทางที่ตัวเองสนใจชัดเจนดีแล้ว และแน่นอนว่า ค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ทำให้ไม่ต้องรับภาระจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษายาวๆ เหมือนไปเรียนมหาวิทยาลัย ฝ่ายนายจ้างก็เปิดกว้างรับเด็กพวกนี้เข้าทำงาน เพราะมีทักษะตรงสาย เริ่มงานได้ไว กลายเป็นว่าค่านิยมเข้ามหาวิทยาลัยก่อน ค่อยๆ จางหายไปเรื่อยๆ
และเป็นงานทักษะเฉพาะทางนี่ล่ะครับที่ทำให้เราได้เห็นวิชาเรียนต่างๆ สารพัดสารพัน และแยกย่อยซอยยิบไปตามสายที่สนใจจริงๆ เช่นพวกกราฟิกดีไซน์ก็แยกงานสองมิติกับสามมิติไปเลย สายที่คล้ายๆ กันอย่าง Character Design ก็แยกกันออกมาต่างหาก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของญี่ปุ่น เพราะใครอยากทำงานด้านไหนก็ไปเรียนเฉพาะทางไปเลย ถ้าเรียนด้านดนตรีก็มีตั้งแต่ฝ่ายผลิตเพลง ฝ่ายระบบอัดเสียง ถ้าเป็นพวกเล่นเครื่องดนตรีก็แยกเฉพาะเครื่องไปเลย บางทีมีกระทั่งเอกการแต่งเนื้อเพลงด้วยซ้ำ ซอยกันละเอียดยิบ
เครือโรงเรียนใหญ่เครือหนึ่งที่ผมรู้จักมีโรงเรียนวิชาชีพเฉพาะทางในสังกัดมากมาย โดยแบ่งโรงเรียนตามวิชาที่คล้ายๆ กัน เช่นโรงเรียนดนตรีก็เป็นอย่างที่พูดว่าในโรงเรียนก็แบ่งวิชาเอกแยกกันต่างหาก บางคนทำงานหาเงินในวงการได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่เพราะฝึกให้เป็นโปรเฉพาะทางจริงๆ มีนักเรียนที่แต่งเนื้อเพลงแล้วศิลปินชอบใจเลยเอาไปใช้ และพอวางขาย รายรับก็เยอะกว่าค่าเรียนที่จ่ายไปหลายเท่า
ยิ่งพวกโรงเรียนเครือใหญ่ โอกาสที่จะเชื่อมต่อกับโปรในวงการก็ยิ่งมากขึ้น อย่างเช่นการดึงเอาคนดังมาเป็นอาจารย์พิเศษ เอาเข้ามาสอนเป็นครั้งคราว ทำให้โอกาสในการหางานหลังเรียนจบก็ยิ่งมากขึ้น
หนึ่งในโรงเรียนที่เครือนี้จัดตั้งขึ้นมาแล้วผมรู้สึกติดใจมากคือ โรงเรียนบริหารธุรกิจการแต่งงาน ธุรกิจการแต่งงานของญี่ปุ่นนี่ไม่เหมือนบ้านเรานะครับ บ้านเราเวดดิ้งสตูดิโอส่วนใหญ่ก็ให้เช่าชุด จัดถ่ายภาพ ทำของที่ระลึก บางเจ้าอาจจะช่วยเรื่องจัดงานด้วย แต่บริษัทจัดการเรื่องการแต่งงานของญี่ปุ่นเป็นเอเจนซี่ที่รับผิดชอบทุกเรื่อง ตั้งแต่จัดหาสถานที่ แหวน เครื่องแต่งกาย ช่างแต่งหน้า ของที่ระลึก ช่างภาพ กระทั่งพิธีกรในงาน เรียกได้ว่าครบวงจร ช่วยดูแลทุกเรื่อง ลูกค้าแค่ชี้นิ้วเอาก็พอ
แต่ถ้าจัดทำโรงเรียนสอนคนทำงานสายนี้แล้วให้จบออกไปโดยไม่มีประสบการณ์กับลูกค้าก็คงน่าเป็นห่วง เพราะว่าเป็นงานใหญ่ของชีวิต โรงเรียนเลยออกแบบให้ตัวโรงเรียนเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน ชั้นบนสุดของโรงเรียนทำเป็นห้องประชุมรูปแบบคล้ายโบสถ์คริสต์ ให้นักเรียนได้ซ้อมระบบการทำงาน ที่สำคัญคือ ก่อนจะเรียนจบ นักเรียนจะได้โอกาสจัดงานแต่งงานจริงๆ โดยรับสมัครจากคนทั่วไป ที่ต้องการจัดงานแต่งงาน แต่มีงบน้อย ก็มาเป็นลูกค้าให้นักเรียนได้ทดลองจัดงานแต่งงานจริงๆ โดยมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าปกติเพราะใช้สถานที่ของโรงเรียนเลย ถือว่า win-win กันทั้งสองฝ่าย นักเรียนได้ประสบการณ์จริงเตรียมพร้อมที่จะไปทำงาน นี่ล่ะครับคือการทำงานตรงสาย
การแยกย่อยตรงสายแบบนี้เหมาะกับคนที่มุ่งหน้าทำงานในสายที่สนใจ แต่บางทีพอไล่ดูพวกวิชาที่เปิดเรียนแล้วก็เล่นเอาอึ้งไปเลยว่า จะซอยละเอียดกันขนาดนี้เลยเหรอ ที่ผมเจอมาแล้วรู้สึกว่าแปลกดีก็อย่างเช่น การบริหารธุรกิจกอล์ฟ การบริหารธุรกิจให้บริการตกปลา การบริหารกิจการเกี่ยวกับม้า หรือตอนนี้ eSports กำลังมา ก็มีวิชาเอก eSports แบ่งตามสายไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเกม FPS หรือเกมวางแผน แถมยังมีวิชาเอกบริหารทีม eSports แยกไปต่างหากอีก
ยิ่งไปไล่ดูก็กลายเป็นว่าเจอโรงเรียนวิชาชีพหรือหน่วยงานที่เปิดสอบใบอนุญาตที่หลากหลายและแปลกกว่าที่คิดไว้เยอะ มีตั้งแต่สอบใบอนุญาตทำงานแยกเพศลูกเจี๊ยบ (เพราะดูเหมือนว่ามันจะแยกยากนะครับ ตัวผู้เขาก็ฆ่าทิ้ง ตัวเมียก็เอาไปเลี้ยงต่อเป็นไก่ไข่หรือไก่เนื้ออีกที) โรงเรียนสอนนักสืบ โรงเรียนสอนนักเขียนนิยาย แล้วยังมีย่อยเป็นสอนเขียนนิยายทางมือถือ สอนเป็นนักแสดงแอ็กชั่น สอนทำงานในธุรกิจปาจิงโกะ นี่ไม่นานมานี้ก็เห็นมีโรงเรียนเปิดสอนวิชาเอก vocaloid โดยเฉพาะเลย
การเปิดสอนวิชาที่เหมาะกับยุคสมัยและพร้อมที่จะผลิตคนเพื่อเข้าในตลาดแรงงานก็น่าสนใจ ซึ่งบางอย่างก็ดูเหมือนจะมาตามกระแสเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นคนที่สนใจในด้านนั้นก็คงต้องการความรู้เฉพาะทาง เพื่อเป็นปากทางเจาะเข้าไปในสายงานที่ตัวเองชื่นชอบ แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยหาทางไปต่ออีกที