เพราะการดูละครนั้นเป็นการย้อนดูตัว เพราะงั้นไม่น่าแปลกใจเลยที่ละครหลายเรื่องจะเป็นการหยิบจับเอาด้านหนึ่งของสังคมมาบอกเล่ากัน ทีนี้ก็เหลือแค่ว่าละครแต่ละเรื่องจะหยิบเอามุมไหนของสังคมมาบอกเล่าเท่านั้นเอง
ละครส่วนหนึ่งนั้นก็เลือกที่จะบอกเล่าเรื่องบันเทิงประโลมโลก ซึ่งก็ไม่ผิดนะ เพราะถ้าโลกเรามีแต่ความจริงจังก็คงจะดูตึงเครียดไปเสียหน่อย มีอะไรให้แฟนตาซีบ้างก็ไม่เลวนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีละครอีกกลุ่มหนึ่งที่หยิบจับเอาเรื่องจริงมาตีไข่กันเล็กน้อยเพื่อให้เป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน
โดยเฉพาะละครในฝั่งเอเซียที่ชอบหยิบจับเอาอาชีพต่างๆ มาทำเป็นซีรีส์ให้ติดตาม บางทีก็เอาอาชีพยอดนิยมมาถ่ายทอดในอีกมุมหนึ่ง หรือไม่ก็เอาอาชีพลับแลเฉพาะถิ่นมาบอกเล่าแบบน่าสนใจ จนทำให้เราอยากลองโดดเข้าไปประกอบอาชีพนั้นบ้างสักครั้ง แต่ต้องอยู่รอดปลอดภัยจนจบเรื่องนะ และเราขอหยิบยกเอาตัวอย่างละครจำนวนหนึ่งที่เล่าเรื่องอาชีพอย่างสนุกสนานจนทำให้คนดูไม่ต้องหลับต้องนอนมาแนะนำกัน
Atelier – อาชีพช่างทำชุดชั้นใน
หาดูง่ายๆ ได้ทาง Netflix
ละครที่เกี่ยวข้องกับเสื้อผ้านั้นมีอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าเป็นเรื่องชุดชั้นใน high-end ที่เซ็กซี่และมีสไตล์นั้นอาจจะไม่มีให้เห็นเท่าไหร่ และ Atelier ก็บอกเล่าโลกที่เรื่องมากในความงดงามแถมยังเป็นอาภรณ์ที่อยู่ในร่มผ้านับตั้งแต่การออกแบบ ยาวไปจนถึงขั้นตอนการตัดเย็บ การเลือกนางแบบที่มาใส่ชุด จนถึงขั้นตอนการทำการตลาดของกลุ่มสินค้าแนว niche ขั้นสุด
ละครเรื่องนี้ค่อยๆ ตัดเย็บแนวคิดของคนทำงานแบรนด์ชุดชั้นใน high-end ใส่คนดูที่อาจจะไม่เข้าใจว่าทำมั้ยทำไม สาวเจ้าหลายคนต้องแคร์อาภรณ์ตัวจ้อยนี้ จนเข้าใจว่านี่คือความงามแบบหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่ใส่มัน และนำเสนอมันออกมาได้อย่างเย้ายวนแต่ไม่ปลุกเร้า
นอกจากเรื่องการตัดเย็บที่ลงรายละเอียดแบบน่าสนใจ ละครเรื่องนี้ยังสอนแนวคิดการดูแลลูกค้าทั้งแบบไหลตามน้ำ หรือการดูแลลูกค้าแบบถึงลูกถึงคน ซึ่งอันนี้คนดูอาจจะหยิบไปปรับใช้ในการงานของตัวเอง
อีกส่วนที่เราว่าเพลิดเพลินตาก็คงเป็นเครื่องแต่งกายของตัวละครหลากหลายในเรื่อง โดยเฉพาะชุดของเจ้าของแบรนด์ Emotion กับนางเอกที่ค่อยๆ ปรับตัวจากสาวเฉิ่มสนิทเป็นสาวแต่งตัวเป็น
Hibana : Spark – นักเล่นมันไซ
หาดูง่ายๆ ได้ทาง Netflix
ส่วนตัวแล้วเคยคิดว่าเรื่องที่บอกเล่าได้ยากที่สุดให้คนอื่นเข้าใจก็คือ การบอกเล่าเรื่องตลกให้คนต่างวัฒนธรรมฟัง แบบมุกสไตล์สามช่านี่ฝรั่งมาเจออาจจะไม่ขำ หรือมุกแนวเหยียดแต่ไม่เหยียดของ Louis C.K. ก็อาจจะไม่คลิกกับคนทั่วโลก
ดังนั้นซีรีส์ที่กล้าจับเอาอาชีพเฉพาะถิ่นอย่าง นักแสดงมันไซ หรือถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ ตลกที่เล่นกันสองคนแบบญี่ปุ่น มาให้คนดูได้รับชมนี่ถือว่าเป็นเรื่องแปลกเลยทีเดียว ละครหยิบเอานิยายชื่อดังในญี่ปุ่นมาตีความ
เนื้อเรื่องของละครติดตามชีวิตนักเล่นมันไซสองคนนับตั้งแต่การจับคู่กันในช่วงแรก จนถึงจุดที่พวกเขาได้รับความนิยม แน่นอนว่าช่วงแรกมุกของคู่หูคู่นี้ไม่เอาอ่าวเอาเสียเลย แต่เรื่องก็ทำให้เห็นถึงความพัฒนาของการเขียนบทมันไซ การรอจังหวะตบ-การชงมุก และเมื่อเอามาเล่าแบบดราม่าๆ สไตล์ญี่ปุ่นทำให้ละครดูจับต้องได้มากขึ้นจนเข้าใจความลำบากกับความสุขในการทำอาชีพนี้
ว่าไปแล้วก็พาลให้นึกถึงคำพูดของดาวตลกสักคนหนึ่งที่เคยบอกว่าชีวิตของพวกเขาไม่ตลกแต่อุดมไปด้วยความจริงจังที่อยากทำให้คนหัวเราะขึ้นมาเลย
Quiz From God – แพทย์นิติเวช
หาดูง่ายๆ ได้ทาง Netflix
ปกติซีรีส์แนวสืบจากศพมักจะมาจากฝั่งอเมริกา แต่ในฝั่งเกาหลีใต้ก็เคยทำละครแนวนี้มาเหมือนกัน แถมยังมีให้ชมกันถึง 4 ซีซันแล้วด้วย กับ Quiz From God ที่จับเอาแพทย์เฉพาะทางหลากหลายคนมารวมทีมกันเพื่อชันสูตรศพที่ตายแบบคลุมเครือในคดีต่างๆ และหลายครั้งหมอกลุ่มนี้ก็ต้องร่วมมือกับตำรวจในการสืบค้นภาคสนาม
ถึงจะภาพจะไม่เหมาะกับการดูไปกินข้าวไป (ต้องขอบคุณ ศพประกอบฉากกับคลิปการเสียชีวิตที่จำลองซะจริงจัง ถึงจะพยายามไม่ให้เห็นภาพเต็มๆ แล้วก็เถอะ) ส่วนเนื้อเรื่องนั้นอาจจะไม่ได้เป็นคดีเข้มข้นดุดันเท่าตอนบอกเล่าสาเหตุการตายมากนัก แต่ก็ทดแทนด้วยความดราม่าที่มากกว่าฝั่งฝรั่ง
โอเคล่ะ ความโม้ของเรื่องก็ยังต้องมีอยู่บ้าง เพื่อให้ไขปริศนาได้ตามวิสัยละครแนวนี้ พร้อมด้วยมุกตลกหน้าตายที่แทรกไว้ทำให้ดูได้เพลินๆ อยู่เหมือนกันนะ
Good Doctor – กุมารแพทย์
หาชมง่ายๆ ได้ทาง iFlix
ละครเกี่ยวกับหมอนี่มีเยอะมากจริงๆ ครับ อย่างของเกาหลีใต้ก็มีทั้ง General Hospital, Medical Top Team หรือ Descendants of the Sun ก็พอนับได้ และถ้าจะไปไกลถึงการเป็นหมอเถื่อนก็มี Yong Pal อีกเรื่อง
แต่ครั้งนี้เราขอหยิบเอาเรื่อง Good Doctor มาพูดถึง ไม่ใช่เพราะความละเอียดเรื่องการแพทย์ที่หลายคนบอกว่าเรื่องนี้อาจจะสู้เรื่องอื่นๆ ไม่ได้ แต่เพราะการเล่าเรื่องให้พระเอกเป็น ออทิสติก ซาวองก์ (Autistic Savant) หรือ ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้มีอาการออทิสซึมที่มีอัจฉริยภาพในด้านหนึ่งมาเป็นตัวเอก ซึ่งในเรื่อง พระเอกมีทักษาะความจำที่แม่นยำ ทำให้เขาผ่านด่านการสอบเป็นแพทย์ได้ด้วยคะแนนดี แต่ยังไม่มีทักษะสื่อสารแบบคนปกติเต็มตัวนัก บททดสอบของเขาคือกุมารแพทย์ที่ต้องดูแลเด็กซึ่งทำการเข้าถึงได้ยากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งเรื่องอารมณ์และอาการที่ยากเย็นกว่าปกติ
ละครทำการบอกเล่าอาการออทิสซึมของพระเอกได้อย่างดี รวมกับความยากในการดูแลรักษาเด็กที่กลายเป็นว่าอาจจะยากกว่าผู้ใหญ่ในหลายๆ เคสเสียอีก และถึงหลายคนจะบอกว่าข้อมูลด้านการแพทย์อาจจะไม่แน่นเท่าเรื่องอื่น แต่ก็มีการแจ้งข้อมูลยากๆ ขึ้นมาให้ชมเป็นระยะๆ ด้วย
และอาจจะเพราะสไตล์เรื่องที่ไม่ซ้ำใครมาก่อน ทำให้เรื่องนี้ถูกเอาไปรีเมคเป็นซีรีส์ฉบับอเมริกาด้วย
I Can Hear Your Voice – ทนายอาสา
หาดูง่ายๆ ได้ทาง viu
ถ้าพูดถึงทนายแล้ว หลายคนคงนึกซีรีส์ญี่ปุ่น Legal High กับทนายฝีมือดีนิสัยเสียแต่ว่าความชนะได้ตลอดแถมยังมีบทละครที่ตอกหน้าคนดูจนหน้าหงายอยู่บ่อยๆ
แต่ที่เราจะขอมาแนะนำในวันนี้เป็นซีรีส์เกาหลีที่ติดแฟนตาซีไปบ้างอย่าง I Can Hear Your Voice ที่บอกเล่าการเป็นทนายอาสา ผู้รับเงินจากรัฐที่จะต้องรับงานว่าความให้กับคดีที่ผู้ต้องสงสัยไม่มีเงินว่าจ้างทนาย นางเอกของเราเป็นทนายแบบนอกคอกเพราะประสบการณ์ในสมัยวัยรุ่นของเธอ แถมยังมาสมัครเป็นทนายอาสาและตัดสินใจทำคดีแบบขอไปทีเพื่อรักษารายได้ของตัวเอง จนกระทั่งพระเอกที่อ่านใจได้เข้ามาในชีวิตของเธออีกครั้งหลังจากที่เขาเคยพบกับเธอเมื่อตอนเด็กๆ
เรื่องเลือกเล่าอาชีพที่ควรจะเสียสละตนเองได้อย่างน่าสนใจ แถมยังอัดข้อมูลในการพิสูจน์คดีทางกฎหมายขั้นพื้นฐานผ่านคำพูดของตัวละครต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ และยังใส่มุมมองที่ทำให้เราเห็นว่า คนที่พยายามบิดข้อกฎหมายให้เข้าข้างตัวเองมีอยู่ในทุกหนแห่งไม่ใช่ว่าจะมีเป็นคนมีเงินหรือคนยากไร้ก็ตาม
ส่วนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ กับดราม่าส่วนตัวก็มีอยู่ไม่ขาดสายแถมยังเข้มข้นไม่น้อยกว่าคดีในศาลแม้แต่น้อย
Jimi ni Sugoi! Koetsu Girl: Kouno Etsuko / Pretty Proofreader – นักพิสูจน์อักษร
ตอนพูดถึงการ์ตูนที่เล่าเรื่องอาชีพเราเคยพูดถึงเรื่อง Juhan Shuttai มาแล้ว ซึ่งในฉบับละครก็ดีงามไม่แพ้ฉบับหนังสือการ์ตูนเลย แต่เราอยากจะหยิบยกเอาละครอีกเรื่องหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังและอาจจะสุดโต่งในการทำงานของวงการสิ่งพิมพ์ แต่มันคืองานที่ขาดไปไม่ได้เลยในโลกฟากนี้ อย่าง ‘ผู้พิสูจน์อักษร’ นั่นเอง
นางเอกในเรื่องนี่จริงๆ แล้วนางเป็นสาวสวยไฮแฟชั่นแต่งตัวไม่ซ้ำกันที่อยากทำงานนิตยสาร Lassy ในแผนกนิตยสารแฟชั่น แต่ปรากฎว่าเธอดันโดนจับยัดให้ไปอยู่ในแผนกตรวจอักษรซะงั้น ซึ่งพอดี๊พอดีเธอดันมีพรสวรรค์ (หรือจะเรียกว่าความจุกจิกส่วนตัวดี) ทำให้เธอทำงานในแผนกนี้ได้อย่างดี แต่ก็ยังขอแต่งตัวไม่ซ้ำแบบเหมือนเดิมนะ
ในเรื่องนี้ ทำให้เห็นความสำคัญของงานตรวจอักษรที่ไม่ใช่แค่จ้องคำผิดแล้วก็เอาปากกาแดงคู่ใจขีดฆ่าทิ้งไปแก้ใหม่เท่านั้น หลายทีหน้าที่ของคนตรวจพรู๊ฟยังลากไปถึงการปรับคำ ปรับแต่งประโยค ให้ถูกต้องเหมาะสมตามบริบท แถมการเป็นพรู๊ฟก็ต้องใช้ความรู้อะไรมากกว่าหลักภาษาเท่านั้น ซึ่งในเรื่องแสดงให้ดูแบบติดตลกอยู่หลายที อย่างการพูดถึง คาเฟ่โอเลต์ กับ คาเฟ่ลาเต้ ที่คล้ายกันแต่ต่างกันมาก แบบหนึ่งใช้นมร้อนกับกาแฟปกติ ส่วนอีกแบบต้องใช้นมร้อนตีฟองกับเอสเพรสโซ่ หรืออีกจุดในเรื่องทำแบบสุดโต่งคือการที่พิสูจน์อักษรทำโมเดลบ้านขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่าคดีฆาตกรรมในนิยายทำได้ถูกต้องตามการเล่าเรื่องหรือไม่
ออกตัวก่อนนะครับว่าพิสูจน์อักษร์ในชีวิตจริงเท่าที่เจอมา ไม่ได้สุดโต่งแบบในละคร แต่ความเฮี้ยบและความตั้งใจจริงของคนในอาชีพนี้ไม่แตกต่างอะไรกับที่ละครนำเสนอเลย
Ghost – ตำรวจด้านการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ละครเกี่ยวกับตำรวจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เท่าไหร่นะ แบบบ้านเรายังเคยมี ‘เหตุเกิด ที่ ส.น.’ เลย (…อย่ามองผมหงอกบนหัวผู้เขียนเลย!) แต่ในยุคที่อาชญากรรมบนโลกไซเบอร์มีมากขึ้นทำให้เราสนใจละครจากเกาหลีใต้เรื่องนี้ขึ้นมา
Ghost หรือ Phantom เล่าเรื่องของกลุ่มตำรวจที่ชำนาญคดีในโลกไซเบอร์ที่แตกต่างจากคดีหยุมหยิมทั่วไปที่สามารถห้ามปรามหรือจับกุมได้ซึ่งหน้า และด้วยการทำงานที่เหมือนจะสวนทางกับตำรวจทั่วไปทำให้พวกเขาต้องมีเรื่องราวไม่ใช่กับแค่คนร้ายเท่านั้น แต่ยังต้องงัดข้อกับตำรวจกันเองที่ยังไม่ไว้ใจการสืบคดีด้วย
แต่ในเรื่องเลือกทีจะเล่าคดีหลักคดีใหญ่เป็นเรื่องหนึ่งจนทำให้รายละเอียดในการจับกุมคนผ่านคดีอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ลงลึกน้อยไปนิด แต่มันก็ยังทำให้เราต้องระวังอยู่ดีว่าเรื่องที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตนั้นสามารถสาวกลับได้อย่างไม่ยากเย็นนักและเราก็คงหวาดระแวงพี่มาร์คขึ้นอีกเยอะว่าจะเอาข้อมูลในโลกไซเบอร์ไปทำอะไรเกินเลยหรือไม่
Hanzawa Naoki – นายธนาคาร
ก่อนหน้านี้เราพูดถึงเรื่อง Legal High ไว้นิดหน่อย (ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราแนะนำให้ดูนะ) ซึ่งในเรื่องนั้นได้ Sakai Masato เป็นนักแสดงนำ และเราคิดว่าเราควรจะแนะนำซีรีส์อีกเรื่องหนึ่งที่นักแสดงคนนี้แสดงนำและเป็นเรื่องราวสายอาชีพแถมยังสร้างปรากฏการณ์ไว้อีกมากมาย
Hanzawa Naoki เป็นการดัดแปลงเอานิยายมาสร้างเป็นละครที่บอกเล่าตัวเอกชื่อเดียวกัน ผู้มุ่งมั่นจะเป็นนายแบงก์แต่กลับพลาดท่าทำให้เขาต้องปล่อยกู้ให้ธนาคารไปมากถึง 500 ล้านเยน และสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ใช่การคิดหนี หรือการเบี่ยงประเด็นแต่เป็นการสู้ยิบตา แถมยังบอกด้วยว่าเขาจะหาเงินก้อนนี้่มาคืน แล้วการหักเหลี่ยมเฉือนคมของนายธนาคารก็ดำเนินขึ้น
เนื้อเรื่องที่ตึงเครียด ภาพที่ตัดต่ออย่างดุดัน กับการแสดงที่ออกมาจริงจังของนักแสดง กับการเล่าทริกทางการเงินของธนาคารให้เข้าใจง่ายขึ้น กับบทที่เปิดโอกาสให้ตัวละครที่เป็นชั้นผู้น้อยสามารถต่อสู้กับหัวหน้าผู้ใช้อำนาจข่มมาตลอด ทำให้ละครได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเนื้อเรื่องที่น่าจะจบอย่างเรียบง่ายกลับมีการพลิกผันในทิศที่คาดไม่ถึง
ถึงจะเป็นละครที่พูดเยอะมากๆ แต่ตอนนั่งดูกลับรู้สึกอะดรีนาลีนหลั่งไหลราวกับดูกีฬาอันดุเดือดเสียอย่างนั้น และเมื่อดูจบแล้วหลายคนคงจดจำรอยแฝงนัยของพระเอกในเรื่องไปอีกหลายวันทีเดียว และด้วยฉากจบที่มีความ ‘อารมณ์ค้าง’ อยู่เยอะ ทำให้มีข่าวลือว่าจะมีภาคต่อของเรื่องนี้ออกมาหลายต่อหลายครั้ง แต่จะมีจริงเมื่อไหร่นี่เราก็เดาไม่ถูกเหมือนกัน
Attention Please – แอร์โฮสเตส
ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากผลงานการ์ตูนที่จบมาพักใหญ่แล้วของผู้วาดคำสาปฟาโรห์ที่ยังไม่จบเสียที เรื่องเกี่ยวกับสาวสไตล์ทอมบอยที่อยากเปลี่ยนชีวิตจากการเป็นนักร้องนำวงร็อคอินดี้ที่ดันสอบสัมภาษณ์สายการบิน JAL ผ่านซะงั้น
แต่ความลำบากของเธอเกิดขึ้นตอนที่ผ่านการสัมภาษณ์ไปแล้วต่างหาก เพราะว่าสิ่งที่รออยู่คือการฝึกฝนให้หญิงสาวธรรมดากลายเป็นแอร์โฮสเตสที่เป็นหน้าตาของสายการบิน ซึ่งเรื่องนี้ก็บอกเล่าสาระหลายอย่างของการเป็นพนักงานสายการบินได้อย่างแม่นยำเพราะละครเรื่องนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่าง Fuji TV กับสายการบิน JAL
เนื่องจากละครเรื่องนี้เคยถูกสร้างมาก่อนแล้วครั้งหนึ่งในปี 1970 ก่อนที่จะกลับมาสร้างใหม่ในปี 2006 ถึงจะเก่าไปบ้างแต่เราเชื่อว่าสาระหลายอย่างในเรื่องไม่ได้ตกยุคไปเท่าไหร่นะ
นี่ก็แค่ละครส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่เราหยิบมาพูดถึงกัน และพาลนึกเสียดายว่าทำไมเราต้องหาละครเหล่านีจากนอกประเทศมารับชมกัน แล้วเราก็ได้แค่คาดหวังว่าเราจะได้เห็นละครไทยที่เอาเนื้อเรื่องมาจากสายอาชีพมากขึ้น จากที่ตอนนี้มีแค่ปีละสองถึงสามเรื่องเท่านั้นเอง