ดูจากกระแสในโซเชียลมีเดียและจำนวนผู้ชม นาทีนี้คงไม่มีอะไรที่น่าพูดถึงไปกว่า ซีรีส์เกาหลีอันดับ 1 ใน Netflix ไทยตอนนี้แล้ว ซีรีส์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเกมเอาชีวิตรอดที่ให้ผู้เล่น 456 คน มาเล่นเกมการละเล่นเกาหลีเด็กๆ แต่เงินรางวัลโตๆ ถึง 45,600 ล้านวอน ที่ผู้คนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เห็นเรื่องย่อ ตัวอย่าง จนซีรีส์จบไปเป็นอาทิตย์ก็ยังมีการพูดถึงอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่แผ่วเบา
ซึ่งตอนเริ่มดู ระหว่างดู และดูจบ จะพบได้ว่า Squid Game ดูจะไม่ใช่สิ่งใหม่นัก ถ้าเทียบกับฝั่งญี่ปุ่นที่มีทั้ง Liar Game, Alice in Borderland, Btoom!, Gantz, Battle Royale, As the Gods Will และอีกมากมายในฉบับมังงะและหนังหรือทีวีซีรีส์
แต่ก็เป็นอะไรที่น่าหยิบมาแงะแกะส่องพอสมควร น่าสนใจว่าเมื่อเกาหลีหันมาจับแนวเซอร์ไวเวิลเกมบ้างจะมีหน้าตาและรสชาติเป็นอย่างไร วันนี้เลยจะมาพูดถึงว่านอกจากความบันเทิงและความโหดสุดมุ้งมิ้งแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้บอกอะไรเราบ้าง?
(เนื้อหาต่อไปนี้ของบทความเปิดเผยเนื้อหาซีรีส์ Squid Game และเหมาะสำหรับคนที่ดูจบแล้ว)
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักกับ ซองกีฮุน รับบทโดยลีจองแจ (Lee JeongJae) ตัวเอกสไตล์ loser วัยผู้ใหญ่ที่ไม่เอาถ่าน ทั้งในแง่การใช้ชีวิตของตัวเอง ลูกของแม่ และพ่อของลูก แถมยังมีอุปนิสัยเพิกเฉยกับชีวิตตนเอง ชอบทางลัดหรืออะไรที่ได้มาโดยไม่ต้องพยายามมาก (หาเงินจากการเล่นการพนัน) แต่ลึกๆ อย่างย้อนแย้ง ก็เป็นคนซื่อ จิตใจดี มีน้ำใจ และทำเพื่อผู้อื่นมากกว่าตัวเอง พูดง่ายๆ คือครบองค์ของการเป็นตัวเอกประเภทเกมเอาชีวิตรอด
นั่นก็เพราะตัวละครประเภทนี้ให้ความรู้สึกด้อย (inferior) จนน่าเอาใจช่วย และยังรู้น้อย ทำให้สามารถหน้าที่เป็นตัวนำพาคนดูไปสำรวจเรื่องราวไปพร้อมๆ กันได้ดี
ตัวละครซองกีฮุนไม่เพียงแต่จะเป็น stereotype หรือพิมพ์นิยมของตัวเอกในเรื่องราวประเภทดังกล่าว แต่บุคลิกของเขายังเป็นจุด intersect ที่ผู้จัดแข่ง Squid Game ต้องการตัวเป็นอย่างมาก คนที่มีคุณสมบัติคือ
- ติดหนี้, เผชิญวิกฤตชีวิต, มีปัญหาส่วนตัว หรือมีเรื่องฉุกเฉิน
- เข้าตาจน ชีวิตไม่มีอะไรจะเสียหรือแย่ไปกว่านี้อีกแล้ว หรือร้อนเงิน
- ยอมทำทุกอย่างให้ชีวิตตนเองดีขึ้น
ทำให้เขาและคนอื่นๆ ถูกจับตามองและถูกเข้าหาโดยกงยู (ขอเรียกแบบนี้เลยแล้วกัน) ที่มาท้าให้เล่นเกมปากระดาษง่ายๆ ด้วยกติกาที่ชนะคือได้ แพ้คือไม่มีอะไรจะเสีย แค่ถูกตบหน้าจนกว่าจะชนะแลกกับเงิน 1 แสนวอน เป็นใครจะไม่เอาใช่มั้ย?
ผลคือ แน่นอน เขาได้เงินรางวัลไปอย่างง่ายๆถึงจะโดนตบหน้าไปหลายฉาดก็ตาม และอย่างที่เขาว่า “มี 1 ก็ต้องมี 2” หรือทฤษฎีของการได้แล้วได้อีก ยิ่งเป็นอะไรที่เราได้มาโดยรู้สึกว่าได้มาโดยทางลัด หรือมูลค่าของมันมากกว่าความพยายามที่เราเสียไปอยู่มาก ก็จะเกิดเกณฑ์ในใจ นำไปสู่การเปรียบเทียบและมีแนวโน้มจะเข้าหามันมากกว่าที่จะทำอะไรที่เหน็ดเหนื่อย แต่ผลตอบแทนน้อยกว่าที่เคยได้รับ
เป็นสาเหตุที่คนที่ได้สัมผัสแล้ว ต้องการสัมผัสอีก ราวกับพวกเขาก้าวขาเล่นเกมไปครึ่งหนึ่งตั้งแต่เกมยังไม่เริ่ม จึงไม่แปลกใจว่าคนส่วนใหญ่ที่ได้เล่นเกมปากระดาษแล้วโดนโอปป้ากงยูตบหน้า จะตัดสินใจเข้าร่วมเกมที่ใหญ่กว่าและได้เงินรางวัลมากกว่า รวมถึงการที่หลังจากโหวตเลิกเล่นเมื่อจบเกมแรกแล้ว ผู้เล่นจำนวน 187 คนจาก 201 คนตัดสินใจกลับมาเล่นเกมใหม่เช่นกัน
พูดถึงเรื่องสัญญะทางเศรษฐศาสตร์และกลไกทางสังคมที่แฝงอยู่ในซีรีส์ Squid Game การที่เกมจัดการแข่งขันที่เกาะ นับตั้งแต่ตอนที่เริ่มก็เป็นการบอกเป็นนัยแล้วว่า นี่คือการจำลองโลกทั้งใบและระบบที่ครอบอยู่ในโลกของเราเอาไว้ในสถานที่จำกัดที่มีระบบนิเวศที่เล็กกว่า เหมือนการที่เราทำการทำลองกับหนูนั่นเอง
การให้คนมาเล่นเกมกับการกำหนดตัวละครหลักประมาณ 7-8 ตัวเพื่อใช้ขับเคลื่อนเรื่องราวนั้น คือการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์กับคนดูให้เห็นว่าไม่ว่าจะโลกใบเล็กโลกใบใหญ่ จะหนีไม่พ้นกลไกทางการเงินและสัญชาติญาณในการมีชีวิตอยู่ต่อ และมักจะมีคนประเภทต่างๆ ที่ค่อนข้างจะแน่นอนหรือไม่ใช่ก็ใกล้เคียงอยู่ในสังคมแห่งการแข่งขันเอาชีวิตรอดนี้เสมอ
และจะเห็นได้ว่าฝั่งผู้จัดแข่งเกมนั้นรู้ข้อมูลของผู้เข้าร่วมที่เชิญมาหมด ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล อายุ เรียนจบไหน ทำงานอะไรที่ไหนมา ปัจจุบันทำอะไร สถานภาพสมรส ประวัติการทำธุรกรรม และสถานภาพทางการเงิน หากมองในแง่มุมของอำนาจแล้ว ข้อมูลเหล่านี้แสดงถึงความสูงต่ำของมนุษย์ในเชิงเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี มันได้มาเพราะผู้จัดแข่งมีอำนาจทางการเงิน เส้นสาย และสิทธิในการเข้าถึงมากกว่า
เปรียบเทียบก็จะเหมือนคนที่อาศัยอยู่ชั้นสูงกว่าที่มีสิทธิโดยปกติในการมองลงมาด้านล่างมากกว่า ง่ายกว่า และมองเห็นได้หมดว่าด้านล่างเป็นอย่างไร ในขณะที่คนด้านล่างถูกคุมคามภายใต้อำนาจของการถูกมองนี้ได้ตลอดเวลา
Squid Game เป็นเกมที่ไม่บอกอะไรกับผู้เล่นเลยนอกจากให้เอกสารยินยอมเข้าร่วมที่ระบุกติกาและข้อบังคับเอาไว้ว่า
ข้อ 1 ผู้เล่นไม่สามารถเลิกเล่นโดยพลการได้ระหว่างเกม
ข้อ 2 ผู้เล่นที่ไม่ยอมเล่นเกมจะต้องตกรอบ
ข้อ 3 สามารถยุติเกมลงได้หากผู้เล่นเกินครึ่งยอม
ทั้งยังย้ำนักย้ำหนากับผู้เล่นว่าพวกเขาไม่ได้ถูกบังคับมา แต่ทุกคนมาเล่นเกมนี้ด้วยความสมัครใจของตัวเอง ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ และกติกาทั้งสามข้อที่ดูเหมือนสั้นนี้ ก็ดูจะคิดมาดีแบบนี้ครอบคลุมทุกอย่างเอาไว้อย่างสมบูรณ์ราวกับบอกผู้เข้าแข่งขันไปในตัวด้วยว่า “ทางเราและตัวเกมเป็นแค่ฟันเฟือง ผู้ที่จะขับเคลื่อนกลไกของเกมคือพวกคุณต่างหาก”
และการที่ Squid Game เปิดเผยทั้งเกมและเงินรางวัลโดยไม่บอกล่วงหน้า ก็เป็นนัยสำคัญอย่างหนึ่งเช่นกัน
ตามที่ได้บอกไปว่าเกมนี้ที่จัดขึ้นบนเกาะนี้เหมือนการจำลองระบบสังคมไว้ในสถานที่หนึ่ง ในชีวิตจริงเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า มีอะไรอยู่ข้างหน้า จริงๆ มันเริ่มตั้งแต่การที่เด็กคนหนึ่งตอบครูในชั้นเรียนอนุบาลประถมว่า อยากโตไปเป็นหมอ โตไปเป็นทหาร โตไปเป็นครู แม้กระทั่งเรียนมหาลัยในคณะใดคณะหนึ่ง แล้วพอโตหรือถึงวัยเรียนจบเข้าจริงกลับลงเอยด้วยการทำงานในสายอาชีพอีกอย่างกับที่เคยบอกไว้แล้ว
การที่เกมไม่บอกใบ้ก่อน ก็เหมือนการที่ชีวิตเราไม่รู้ว่าจะเจออะไร ต้องตัดสินใจยังไง ต้องรับมือกับอะไร วางแผนยังไง จนกว่าจะถึงจุดจุดหนึ่งที่มองเห็นมันได้จริงๆ และทุกการตัดสินใจไม่ว่าจะเล็กใหญ่คือ การตัดสินใจที่ส่งผลต่อชีวิตและคนรอบข้างทั้งสิ้น
อีกทั้งเรื่องของเงินรางวัลที่ไม่เปิดเผยจนกว่าจะแข่งเสร็จในแต่ละเกมนั้น ไม่ใช่ผู้จัดแข่งกั๊ก หรือใช่ว่าไม่อยากบอก แต่เพราะพวกเขาเองก็บอกไม่ได้ว่าตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนมีมูลค่าเป็นของตัวเอง และเมื่อถูกตัดออกจากการแข่งขัน (ในที่นี้คือด้วยความตาย) ยิ่งคนเหลือน้อย จำนวนเงินก็ยิ่งมากตาม เกมเป็นแค่ฟันเฟือง เหมือนสิ่งที่เรียกว่าระบบเศรษฐกิจ สิ่งที่จะตัดสินว่ามันจะขึ้นหรือลง มีใครเจ็บตัวมากน้อย ใครได้เปรียบเสียเปรียบ ใครรอดใครไม่รอด คือผู้เล่น
Squid Game จึงเป็นการจำลองของการตะเกียกตะกายแย่งชิงในสังคม กับการโอนถ่ายทรัพยากรเงินทองหรือพลังชีวิตจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่งได้อย่างเห็นภาพที่สุด
“ทุกคนเท่าเทียมกันในเกมนี้ ผู้เล่นทุกคนแข่งขันภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน
พวกเขาทรมานจากความไม่เท่าเทียมและการแบ่งแยกจากโลกภายนอก
เราให้โอกาสอย่างเท่าเทียมและเอาชนะได้แก่พวกเขา”
ฟังแบบนี้แล้วเหมือนเกมนี้เป็นเกมที่แฟร์ ด้วยการให้ทุกคนอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือกติกาเดียวกัน ไม่ว่านอกเกมจะเคยเป็นใคร มีปัญหาอะไรกับชีวิต เคยเป็นใครมาก่อน มีหนี้เท่าไหร่ การมาเล่นเกมนี้คือการถูก set zero ให้เท่ากันหมด
แต่เรื่องของ ‘อำนาจ’ ไม่เข้าใครออกใคร และมันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคม’ เกิดขึ้น เมื่อนำคนมากกว่า 1 คนขึ้นไปมาอยู่ด้วยกันแล้ว มันจึงเกิดเป็นสังคมของผู้เล่นขึ้น และมีคนใช้พื้นที่สังคมและโอกาสบนความเท่าเทียมอย่างไม่เท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น
- เจ้าหน้าที่ชุดชมพูใส่หน้ากาก แบ่งลำดับชั้นเจ้าหน้าที่หรือทีมงานเป็นสี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม วงกลม จากลำดับสูงสุดไปลำดับต่ำสุด เปรียบได้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารยศชั้นสูงกับชั้นผู้น้อย ที่ลำดับต่ำกว่าไม่มีสิทธิ์ออกความเห็น ตั้งคำถาม หรือขับเคลื่อนใดๆ
- เจ้าหน้าที่บางคนใช้ตำแหน่งตัวเองฉวยโอกาสกอบโกยผลประโยชน์จากเกม
- ผู้เข้าแข่งขันบางคนได้สิทธิประโยชน์มากกว่าผู้อื่น เช่น หมอที่ใช้ความสามารถตัวเองช่วยผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปขายแลกกับข้อมูลเกมต่อไป ซึ่งมันทำให้เขาได้โอกาสมีชีวิตอยู่ต่อมากกว่าผู้อื่น ประหนึ่งว่าใช้เส้นสาย
ถึงหมอและเจ้าหน้าที่จะถูกกำจัดเมื่อถูกจับได้ ก็ใช่ว่าสิ่งนี้จะหมดไปหรือถูกตรวจจับได้ตลอด เมื่อเริ่มเกมใหม่ สิ่งเหล่านี้ กับเจ้าหน้าที่และผู้เล่นประเภทนี้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าในเกมที่ผ่านมาที่ซีรีส์ไม่ได้เล่า มีอะไรพวกนี้เกิดขึ้นบ้างมั้ย และมากน้อยแค่ไหน
รวมไปถึงการที่ฝ่ายผู้จัดเอง บังคับทิศทางหรือกระแสชีวิตผู้เข้าแข่งขันให้เป็นไปตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสร้างสถานการณ์บีบบังคับให้ผู้เล่นฆ่ากันเอง ไปจนถึงปิดไฟในเกมสุดท้ายเพื่อให้ผู้เล่นเสี่ยงชีวิตมากขึ้นเพื่อความสนุกตื่นเต้นที่เพิ่มขึ้น และการที่ผู้เล่น 001 หรือคุณตา GM เจ้าของเกมลงมาเล่นแล้วทำการเปลี่ยนโมเมนตัมเกมด้วยเช่นกัน เป็นเรื่องดีที่ตัวละครพระเอกรอด แต่ก็น่าคิดว่ามันแฟร์กับคนอื่นๆ หรือไม่?
สิ่งที่ซีรีส์ Squid Game มีให้นอกจากความบันเทิงคือการสอดแทรกโครงสร้างที่พูดไปทั้งหมดเหล่านี้ลงในเกมที่ขุดเอาสัญชาติญาณดิบของมนุษย์ออกมาโชว์ให้เห็นจะๆ (พร้อมกับแทรก soft power เกาหลีไปในตัว) และแสดงให้เห็นว่ามนุษย์ประเภทไหนตอบสนองกับเกมเดียวกันด้วยท่าทีอย่างไร รวมถึงความจนและความต้องการรวยของคนจนนั้นขับเคลื่อนให้ผู้คนเป็นอย่างไรได้บ้าง เหมือนรายการโทรทัศน์ที่มีให้เห็นหลายรายการที่ romanticize ความยากจนเพื่อความบันเทิงและเรตติ้ง
เอาจริงๆ เมื่อคิดอีกมุม จะบอกว่าเราเองก็ได้รับความบันเทิงและความรู้สึกเข้าอกเข้าใจ ลุ้นระทึกตื่นเต้น อึ้ง ทึ่ง เสียว อ้าปากค้าง หัวเราะ เศร้า เหงา ซึ้ง เครียด รวมถึงกดดัน จากเหล่าตัวละครไม่ว่าจะหลัก รอง หรือประกอบในแต่ละสถานการณ์ซีรีส์เรื่องนี้ หรือเสพอารมณ์ที่ได้จากมันไม่ต่างไปจากผู้จัดเกมและ VIP ที่มองดูเกมเด็กเล่นที่ผู้ใหญ่เล่นนี้อย่างสนุกสนาน ในขณะที่ผู้เล่นเอาตัวเองไปเสี่ยงชีวิตและนองเลือดเพื่อเงินรางวัลได้เช่นกัน
และดูเผินๆกับเมื่ออ่านคำโปรยของซีรีส์ที่ว่า “เกมชิงเงินรางวัลของผู้เล่น 456 คน” กับเรื่องของกลไกที่ให้ผู้เล่นกำหนดเองตามการตัดสินใจขณะเล่น Squid Game อาจดูเป็นเกมของผู้เข้าแข่งขัน แต่แท้จริงแล้วทุกเกมคือเกมของผู้จัดการแข่งขันตั้งแต่แรกแล้วต่างหาก ดังนั้นคำถามก็คือเรา ในสังคมนี้ “กำลังอยู่ในเกมอะไรและเกมของใครรึเปล่า?”