พูดกันตรงๆ สำหรับผมแล้ว Star Trek ภาคนี้อาจไม่ได้สนุกในระดับที่ผมรู้สึกสนุกกับภาคก่อนๆ นั่นคือ Star Trek (2009) และ Star Trek Into Darkness (2013) แต่กระนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า จุดที่สำคัญของ Star Trek ภาคนี้ คือการเป็นหมุดหมายหลักเพื่อจะสื่อสารต่อแฟนๆ และคนดูว่า ทิศทางของ Star Trek ต่อจากนี้จะเป็นเช่นไร
แต่ก่อน เรื่องหนึ่งที่มักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ เมื่อใครสักคนพูดถึง Star Trek (โดยเฉพาะในยุคก่อน J.J. Abrams) คือความยากในการติดตามเนื้อหาที่ขยายโครงข่ายจนใหญ่โต ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับคนดูหน้าใหม่ๆ ให้รู้สึกขลาดขยาดและจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าควรเริ่มดูจากจุดไหน ทำไมกันที่การจะเข้าใจเรื่องราวของซีรี่ย์ชุดนี้มันช่างยากเย็นเสียเหลือเกิน เรียกได้ว่าครั้งหนึ่ง Star Trek เคยถูกมองว่าเป็นยาขมที่เพียงแค่เห็นก็อยากจะถอยห่าง และผมเองก็เคยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หวาดกลัวต่อตัวยาแขนงนี้
นับเป็นโชคดีที่ว่า เมื่อ J.J. Abrams ได้รื้อกระดาน Star Trek เสียใหม่ และเปิดเรื่องราวการผจญภัยซึ่งเอื้อให้คนดูกลุ่มใหม่ๆ สามารถย่อยได้ง่ายขึ้น หากทว่าก็ยังเปี่ยมไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของการท่องอวกาศอันตื่นตา และตัวเรื่องซึ่งยังคงไว้ซึ่งความซับซ้อน แต่กระนั้นจุดหนึ่งที่ยังสังเกตเห็นในสองภาคที่เอบรามส์กำกับคือ ในส่วนของเนื้อเรื่องนั้นยังจำเป็นต้องดูตามลำดับภาคที่ถูกสร้างอยู่ กล่าวคือ ตัวเนื้อเรื่องนั้นเกิดขึ้นต่อกัน และผลกระทบในภาคหนึ่งก็สร้างผลลัทธ์อันชัดเจนต่ออีกภาค จนบางคนอาจจะไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างแจ่มชัดหากกระโดดมาดู Into Darkness โดยไม่ได้ดู Star Trek ภาคแรกมาก่อน
ความสำคัญของ Star Trek Beyond คือการทลายข้อเรียกร้องนี้ และปรับจุดยืนของแฟรนไชส์เสียใหม่นั่นคือ เลือกจะเปิดและจบเรื่องแค่เฉพาะในภาค โดยคนดูใหม่ๆ สามารถกระโดดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการผจญภัยอวกาศได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเคยดูภาคเก่าๆ มาก่อน นั่นคือ Star Trek Beyond ปรับเปลี่ยนตัวตนให้ง่ายต่อการเข้าถึงมากขึ้น คล้ายกับซีรีส์ที่จบในตอน และเปลี่ยนภารกิจไปทุกๆ ภาค คงความต่อเนื่องของซีรีย์ชุดนี้ไว้ด้วยตัวละครชุดเดิมเป็นสำคัญ
ตรงนี้เองที่มองได้ว่าเป็นการปรับกลยุทธ์ที่น่าสนใจ ทั้งยังเชิญชวนให้ภาพลักษณ์ของ Star Trek นับแต่นี้แหวกต่อกระแสของหนังบล็อคบัสเตอร์ในยุคนี้ที่นิยมสร้างออกมาเป็นภาคต่อ มีเรื่องราวที่ต่อเนื่อง และเรียกร้องเวลา และการเข้าใจถึงพื้นที่ของหนังชุดนั้นระดับหนึ่ง เห็นได้จากหนังตระกูลซูเปอร์ฮีโร่ทั้งของค่าย DC และ Marvel หรือหนังที่สร้างจากนิยายขายดี เช่น Divergent หรือ Hunger Games ในทางหนึ่ง เราอาจตีความการผลิตหนังในลักษณะนี้เป็นการตรวจสอบฐานคนดู และสร้างกลุ่มสาวกที่ชัดเจน จนเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นถึงกลุ่มแฟนคลับจำกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง และสร้างวัฒนธรรมการดูหนังในลักษณะซึ่งเรียกร้องการอุทิศเวลาและการศึกษาข้อมูล แต่จะว่าไปแล้ว การเรียกร้องเช่นนี้ไม่ใช่หรือที่ครั้งหนึ่งเคยสร้างข้อจำกัดให้กับ Star Trek
เช่นนั้นแล้ว การเลือกจบหนังเป็นภาคต่อภาคนี่เองคือการเดินหมากซึ่งสวนทางกับกระแสนิยมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในปัจจุบันอย่างตรงไปตรงมา หากก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าภาพของ Star Trek ซึ่งเคยเป็นยาขมอาจจะชะล้างออกได้เมื่อไหร่ กระนั้นแล้วโดยส่วนตัว ผมคิดว่าการเลือกนำพาหนังไปในทิศทางนี้เป็นเรื่องที่ดีและจะส่งผลต่อแฟรนไชส์ของหนังในอนาคต อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หนังจะเปิดรับต่อกลุ่มคนดูแบบ casual มากขึ้น และสร้างฐานคนดูใหม่ๆ ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
การเลือกให้ภาคนี้เป็นตัววางอนาคตของ Star Trek นั้นยังแสดงออกให้เห็นผ่านฉากในหนัง เช่น ยานเอนเทอไพรซ์ที่ถูกทำลายลงจากการโจมตีขนานใหญ่ จนส่งผลให้ลูกเรือต้องสละยานทิ้ง และแตกกระจายกันไปภายในดาวซึ่งยังไม่เคยถูกสำรวจ ก่อนที่ในท้ายที่สุดกัปตันเคิร์ก (คริส ไพน์) จะรวบรวมลูกเรือกลับมาได้อีกครั้ง และพาทีมของเขาหลบหนีออกจากดาวแห่งนั้นได้สำเร็จ การทำลายยานซึ่งเป็นเช่นสัญลักษณ์ประจำของแฟรนไชส์ชุดนี้นี่เองที่ในด้านหนึ่งก็เป็นได้ดั่งแถลงการณ์ที่แสดงถึงการก้าวข้ามอดีตและเดินทางสู่อนาคตใหม่ซึ่งไร้การยึดโยง ลูกเรือเอนเทอไพรซ์จะเดินทางไปพร้อมกับยานลำใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น พร้อมกับระลึกถึงยานซึ่งเคยเป็นบ้านที่ได้จากไป และไม่ลืมว่าอะไรคือสิ่งที่นำพาพวกเขามาสู่จุดที่แฟรนไชส์ชุดนี้ได้ยืนอยู่
หรืออย่างอีกฉากหนึ่งซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงแรกของหนังที่เราเห็นถึงความไม่แน่นอนใจในตำแหน่งกัปตันของเคิร์กถึงขนาดว่าเขาคิดที่จะสละตำแหน่งทิ้ง ด้วยรู้สึกว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นเป็นฉากเป็นตอนมากเกินไป นั่นคือเสร็จสิ้นจากภารกิจหนึ่งก็เตรียมตัวสำหรับภารกิจใหม่ วนซ้ำเช่นนี้เรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่กระนั้นแล้วเมื่อหนังดำเนินมาถึงจุดสุดท้าย สิ่งที่เคิร์กได้ค้นพบคือการได้ตระหนักถึงคุณค่า สีสัน และความสนุกของการผจญภัยที่จบไปในแต่ละครั้ง ซึ่งตรงนี้เองที่ได้กลับไปย้ำชัดถึงจุดยืนของภาคนี้ ว่านับแต่นี้ไปหากเรื่องราวแต่ละภาคจะยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เป็นภารกิจที่เริ่มต้นและจบไปก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรหากว่าแต่ละภารกิจนั้นนำมาซึ่งความตื่นเต้นท้าทาย และได้ค้นพบความเป็นไปได้อันมหาศาลของจักรวาล
และจะว่าไป การใช้ชื่อภาคว่า Beyond ก็เหมาะสมกับภาคนี้แล้ว เมื่อหัวใจสำคัญของหนังคือการพา Star Trek สู่พรมแดนแห่งใหม่ซึ่งแฟรนไชส์ชุดนี้ไม่เคยเดินทางไปมาก่อน