จูงมือคุณพ่อไปกินข้าว นึกถึงวันเวลาที่คนๆ หนึ่งฟูมฟักดูแลเราจนกระทั่งทุกวันนี้
มองไปที่พ่อเรา พ่อคนอื่น และพ่อในละคร เรามักมีภาพของคุณพ่อที่เป็นอุดมคติบางอย่าง คุณพ่อที่เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นช่างประจำบ้าน เป็นชายผู้เข้มแข็งที่นำพาครอบครัวเล็กๆ ไปสู่ความอบอุ่น แต่ดูเหมือนว่าพ่อของใครต่างก็มีลักษณะเฉพาะ มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ดุบ้าง ขี้เล่นบ้าง เข้มงวดบ้าง ใจดีบ้าง เป็นคนๆ หนึ่งที่อาจจะไม่ได้เป็นอุดมคติอย่างที่โลกนี้วาดให้ แต่ก็เป็นคนที่มีความสำคัญกับชีวิตเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าคุณพ่อของเราจะยังคงอยู่กับเราหรือไม่ก็ตาม
ในโลกทุกวันนี้เราเริ่มมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คน คำว่า ‘ครอบครัว’ เองก็เต็มไปด้วยความแตกต่าง และบทบาทของ ‘พ่อ’ เองก็มีลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น เรามีคุณพ่อที่กลายเป็นคุณแม่ คุณพ่อที่ตั้งท้องลูกได้ด้วยตัวเอง แต่ความสำคัญคือในที่สุดแล้ว ไม่ว่าพ่อและครอบครัวจะเป็นอย่างไร การให้ความอบอุ่นและดูแลกันและกันในนามของ ‘ครอบครัว’ ก็ยังเป็นแกนหลักที่ทำให้ครอบครัวและสมาชิกเติบโตและอยู่รอดในโลกใบนี้ต่อไปได้
เมื่อพ่อกลายเป็นแม่
เพศสถานะเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและลื่นไหล ยิ่งในสังคมที่ ‘เพศ’ เป็นสิ่งที่มากำกับกะเกณฑ์ตัวตนของผู้คน เราคาดหวังให้ผู้ชายเป็นพ่อคน ในที่สุดด้วยแรงกดดันและความคาดหวังของสังคม ผู้ชายคนหนึ่งจำฝืนตัวเอง แต่งงานมีครอบครัว แต่คนเราจะฝืนและบังคับตัวเองอย่างไร้สุขไปเพื่ออะไร เราจึงพบว่ามีคุณพ่อจำนวนไม่น้อยที่ออกมายอมรับเพศสถานะและความปรารถนาของตัวเองหลังจากที่กลายเป็นพ่อคนไปแล้ว ปีที่ผ่านมาเรามีพอลลีน งามพริ้ง แกนนำกลุ่มเชียร์และผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลที่เปิดใจและตัดสินใจแปลงเพศเป็นผู้หญิง ทุกวันนี้พอลลีนก็ยังคงทำหน้าที่พ่ออยู่ ลูกชายกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของพ่อของตัวเองว่า “ผมไม่มีปัญหาเลย ไม่ว่าเค้าจะเป็นแบบไหน ภายนอกปาป๊าจะเป็นแบบไหนก็ได้ เพราะผมชอบเค้าที่การกระทำ ความคิด เค้าสอนผมให้เดินไปในทางที่ถูก”
เมื่อพ่อไม่รักผู้หญิงอีกต่อไป
นักวิชาการทางเพศสถานะศึกษา (gender studies) บอกว่าบางครั้งเพศ – การเป็นผู้ชาย/ผู้หญิง – เป็นพ่อ/เป็นแม่ – เป็นสภาพบังคับ วันหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ชายคนหนึ่งจะค้นพบว่าตัวเองเป็นเกย์ ความรักที่มีให้ผู้หญิงที่สร้างครอบครัวมาด้วยกันอาจไม่ใช่อย่างที่คิด เรามีเรื่องราวของผู้ชาย/พ่อ ที่ต้องประสบกับความขัดแย้งในตัวตนและสถานภาพของตัวเอง ครอบครัวจะเป็นอย่างไรต่อไปถ้าชายคนนั้นไม่อาจทำหน้าที่พ่อที่รักแม่ได้อีกต่อไป หลายๆ คู่จึงไปสู่การตกลงและปรับเปลี่ยนสถานะของ ‘ความเป็นพ่อแม่’ จำนวนไม่น้อยที่ยังคงความเป็นครอบครัวและดูแลกันไปในฐานะคู่ชีวิต (partnership)
คุณพ่อเลี้ยงคู่
‘ครอบครัว’ ไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อ-แม่-ลูก (และหมาตัวหนึ่ง) อีกต่อไป ไม่ว่ารูปแบบความสัมพันธ์แบบไหนต่างก็ประกอบขึ้นบนความรักและสร้างความอบอุ่นได้ไม่ต่างกัน ในโลกยุคใหม่เรามีครอบครัว พ่อ-พ่อ (และแม่-แม่) เกิดขึ้นมากมาย คู่รักเกย์จำนวนมากสามารถที่จะมีสมาชิกตัวน้อยในครอบครัวได้ไม่ว่าจะด้วยการรับเลี้ยงดูหรือใช้วิทยาการเพื่อให้กำเนิดเลือดเนื้อของตัวเอง ภาพครอบครัวน่ารักๆ เช่นครอบครัวของ Neil Patrick Harris ในที่สุดเราคงปฏิเสธไม่ลงว่าชายหนุ่มสองคนและลูกๆ ทั้งสองนั้น ไม่ใช่ภาพของครอบครัวที่น่ารักและอบอุ่น ในทางวิทยาศาสตร์เองก็มีงานยืนยันว่าเด็กๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูโดยครอบครัวเกย์ไม่ได้มีผลเชิงลบอะไร
คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว
Pew Research Center รายงานไว้ในปี 2013 ว่า 8% ของครอบครัวในสหรัฐเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว และแนวโน้มของครอบครัวคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ (และแน่นอนว่าอัตราคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เพิ่มขึ้นด้วย) แปลว่าสถาบันครอบครัวภายใต้การแต่งงานแบบที่เราคุ้นเคยอาจไม่ใช่รูปแบบความสัมพันธ์หลักอีกต่อไป คำว่าคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวนี้ก็กินความในหลายรูปแบบ การใช้ชีวิต หลักๆ แล้วคือชายหนุ่มที่อยู่ลำพังและดูแลสมาชิกตัวน้อยในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อทางสายเลือด หรือการรับเลี้ยง การดูแลด้วยตัวเองอาจจะเป็นการหย่าร้าง แยกกันอยู่ การสูญเสียคู่ชีวิตไป หรือบางคนอาจไม่ผ่านการแต่งงานแต่มีลูก
คุณพ่อตั้งท้อง
เมื่อเพศคือความลื่นไหล จึงมีผู้หญิงที่กลายเป็นผู้ชาย เป็นครอบครัวเกย์อีกรูปแบบที่ผู้หญิงแปลงสภาพกลายเป็นผู้ชาย แต่ด้วยความต้องการเฉพาะ เธอเลือกที่เก็บคุณสมบัติพิเศษคือความสามารถในการตั้งครรภ์และให้กำเนิดไว้ เรามีครอบครัวที่ทรานส์เมน คือผู้ชายข้ามเพศ มีสถานะเป็นผู้ชายของครอบครัว แต่เลือกที่จะตั้งท้องและให้กำเนิดลูก เป็นทั้งคุณพ่อและผู้ให้กำเนิดไปพร้อมกัน
คุณพ่อวัยใส
โดยทั่วไปแล้วเรามักคาดหวังให้คนเป็นพ่อค่อนข้างมีวุฒิภาวะและมีวัยวุฒิพอสมควร แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด เราก็จะมีครอบครัววัยรุ่นที่มีลูกและต้องเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ มีคุณพ่อที่มีลูกตั้งแต่ตอนที่ตัวเองยังเป็นวัยรุ่นแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกของตัวเองว่า ในการดิ้นรนนั้นประกอบไปด้วยทั้งความเจ็บปวดและความภาคภูมิใจ การมีลูกเร็วมากๆ ในที่สุดก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวเอง เช่น คนเป็นพ่อก็ต้องใช้เวลาวัยรุ่นของตัวเองไปกับการเช็ดอ้วก แต่เมื่อผ่านมาได้ก็ถือว่าเป็นความทรงจำที่เอาชนะมาได้ จริงๆ แนวคิดเรื่องความพร้อมของการเป็นพ่อคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อตอนไหน ก็ถือเป็นเรื่องท้าทายและทุกคนมีความเป็นมือใหม่เนอะ เป็นกำลังใจและขอบคุณคุณพ่อทุกคนในวันพ่อปีนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก