เมฆดำผ่านไปหลายรอบแล้ว นับจากวันแรกที่ผมรับรู้ว่ามีตัวตนอยู่บนโลก (จอ?) สองมิติใบนี้ โลกก็ประหลาดขึ้นเรื่อยๆ
แต่ผมไม่กลัวหรอก เพราะผมไม่ได้อยู่ตัว—ก้อน? บิต? สิ่ง? อืม ไม่แน่ใจนะว่าควรเรียกตัวเองว่าอะไร—ไม่หัวเดียวกระเทียมลีบ (ไม่ใช่ว่าผมเคยเห็นกระเทียมหรอกนะ แต่มีข้อมูลนี้อยู่ในตัว) เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
ผมมีเพื่อน และเพื่อนผมก็โคตรเจ๋ง
จอห์นตัวโย่งกระโดดได้สูงสุดในหมู่พวกเรา ถ้าไม่นับซาราห์ เธอตัวจิ๋วจ้อย แต่เป็นตัวเดียวที่กระโดดจากกลางอากาศได้ ลอร่าเชื่องช้าแต่ส่งให้เราทุกคนเหินฟ้าได้ถ้าไปกระโดดจากตัวเธอ ส่วนแคลร์เป็นตัวเดียวที่ว่ายน้ำ (‘น้ำ’ คืออะไรผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คำคำนี้น่าจะใกล้เคียงที่สุดแล้ว ก็อีกนั่นแหละ ตั้งแต่รู้ตัว ข้อมูลเหล่านี้ก็อยู่ในหน่วยความจำ) เป็น แถมมีคริสกับเจมส์อีก คึกคักน่าดูเลยแฮะ
‘โลก’ ที่เราอยู่นี้ก็แปลก ช่างสรรหาอุปสรรคใหม่ๆ มาไม่ขาดสาย แต่ก็น่าอัศจรรย์ที่ทุกฉากมีทางออกเสมอ และพูดกันจริงๆ ถ้าไม่มีอุปสรรคพวกนี้ เราอาจไม่มีวันรู้เลยว่าเราแต่ละตัว ‘พิเศษ’ ยังไง ต้องรวมพลังร่วมไม้ร่วมมือ (‘ไม้’ กับ ‘มือ’ ผมก็ไม่มีและไม่เคยเห็นอีกเหมือนกัน) กว่าจะฝ่าฟันแต่ละฉาก เพราะถ้าเราไม่เข้าประตูพร้อมกัน เราก็ออกไปฉากต่อไปไม่ได้ ราวกับว่าผู้สร้างโลก (สงสัยว่ามีไหมนะ? หรือเป็นแค่ชุดคำสั่งอะไรสักอย่างที่กำกับเราอีกที) อยากให้เราเป็นเพื่อนกันไปนานๆ
ยิ่งผจญภัยผมยิ่งรู้นิสัยเพื่อน เจ้าคริสที่จู้จี้ขี้บ่นมองโลกในแง่ร้าย กลายเป็นหงอไปเลยเมื่อเจอลอร่า สาวน้อย (? เพศเมีย? อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่ขั้วของเรานี่ล่ะ แม้ตัวจะเหลี่ยมพอๆ กัน) ขี้อาย ความรักทำให้ตาบอดจริงๆ นะผมว่า แคลร์สาวใหญ่ใจดีชอบคิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์ฮีโร่ แต่ถ้าไม่มีเธอเราก็ไม่มีวันผ่านมวลของเหลว (น้ำ?) ทั้งหลายมาได้ ส่วนอัตตา—ตกลงเรามี ‘จิต’ หรือ ‘วิญญาณ’ ไหม? เรารู้ตัวแปลว่ามี หรือว่าไม่จำเป็น—ของจอห์นก็ใหญ่พอๆ กับที่มันสูง
แต่ผมไม่ว่าอะไรเขาหรอกนะ เพราะถ้าไม่มีเขาเราคงไม่ได้มาถึงขนาดนี้
ใครๆ ก็บอกว่าผมมองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ผมไม่คิดว่านั่นเป็นเรื่องเสียหายตรงไหน ตั้งแต่รู้สึกตัว ผมก็รู้สึกลึกๆ ตลอดมาว่าต้องมี ‘อะไร’ อยู่ข้างนอก อาจจะมีมิติที่สามด้วยล่ะ
พวกเรานี่แหละที่จะออกไปค้นหาจนเจอ
——
ทุกอย่างเริ่มต้นที่ทอมัส—‘ปัญญาประดิษฐ์’ (artificial intelligence : AI) ในโปรแกรมที่อยู่ดีๆ ก็ตื่นรู้ว่าตัวเอง ‘มีชีวิต’ ธอมัสค่อยๆ ตระหนักว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง เขาสามารถไถลไปบนพื้น ตกจากที่สูงโดยไม่เจ็บ และกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางไปหาทางออกให้เจอ
พอทอมัสเริ่มคุ้นเคยกับโลก เขาก็ได้พบกับเอไอตัวอื่น จากนั้นธอมัสก็ไม่เดียวดายอีกต่อไป
thomas was alone เกมแอ็กชั่นมองจากด้านข้าง (2D platformer) ทุนน้อยทว่าโด่งดังเป็นพลุแตกและขึ้นหิ้งเกมแนวนี้ที่ดีที่สุดเกมหนึ่งในประวัติศาสตร์เกม ฝีมือดีไซเนอร์ตัวคนเดียวนาม ไมค์ บิเทล (Mike Bithell) เป็นเกมที่ดูเผินๆ เหมือนไม่มีอะไร เพราะแทนที่จะใช้กราฟิกสวยงามสมจริงแบบเกมอื่นทั่วไป บิเทลกลับเลือกใช้สไตล์ ‘มินิมอล’ หรือ ‘น้อยแต่มาก’—หน้าตาหรืออวตารของธทมัสกับเอไอตัวอื่นๆ บนหน้าจอนั้นเป็นแค่กล่องสี่เหลี่ยมสองมิติ เราแยกแยะเอไอแต่ละตัวออกจากกันได้เฉพาะจากสี ขนาด และรูปทรงที่แตกต่างกัน ฉากแต่ละฉากก็มีแต่เหลี่ยมมุม กำแพงและพื้นสีดำสนิท เป็นสัญลักษณ์แทนโลกนามธรรมของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แทบไม่มีความโค้งมนใดๆ ให้เห็น
วิธีเล่น thomas was alone ง่ายดายยิ่งกว่าปอกกล้วย เพียงบังคับซ้ายขวาและกดปุ่มกระโดดอย่างถูกจังหวะเท่านั้น กลไกกระโดดในเกมนี้เที่ยงตรงแม่นเป๊ะยิ่งกว่าทุกเกมที่ผู้เขียนรู้จัก ไม่มีขอบไหนที่กระโดดไปไม่ถึงถ้าเพียงแต่ขยับเอไอถูกตัวให้ถูกที่ถูกเวลา เพราะเอไอแต่ละตัวนอกจากจะมีขนาดที่แตกต่างกันแล้ว ยังกระโดดได้ใกล้-ไกลไม่เท่ากัน แถมมีความสามารถเฉพะตัวและระดับความเด้งดึ๋งไม่เท่ากัน เช่น ทั้งกลุ่มมีเอไอตัวเดียวที่ลอยน้ำได้ และบางครั้งเราต้องกระโดดออกจาก ‘แผ่นหลัง’ (ขอบบนของสี่เหลี่ยม) ของเอไอตัวอ่อน เพื่อไปให้ถึงช่องแคบด้านบน แล้วค่อยหาทางไปกดสวิทช์เพื่อเปิดทางลำเลียงเพื่อนขึ้นมาด้วยกัน
ความมหัศจรรย์ของเกมนี้อยู่ที่การออกแบบฉากที่ค่อยๆ เพิ่มความท้าทาย ผสมบทบรรยายซึ่งเดินโครงเรื่องอย่างมีสีสันและน่าติดตาม เข้ากับจังหวะการเดินและกระโดดของตัวละครอย่างเหมาะเจาะ เคล้าเสียงดนตรีประกอบที่ติดหูและแปรเปลี่ยนอย่างแนบเนียนให้เข้ากับสถานการณ์ เอไอทุกตัวในเกมต้องร่วมมือกันจริงๆ จึงจะเจอทางออกจากฉากแต่ละฉาก และ ‘ทางออก’ นี้ก็ไม่ได้มีประตูเดียว แต่เอไอทุกตัวต้องเจอประตูทางออกที่มีขนาดเฉพาะตัว ของใครของมัน และเจอพร้อมกันถึงจะผ่านไปฉากต่อไปได้ ส่งผลให้เราต้องง่วนกับการหาวิธีใช้ความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์ของเอไอแต่ละตัว และใช้มันในลำดับที่ถูกต้อง
ยกตัวอย่างเช่น เนื่องจาก ‘แคลร์’ เป็นเอไอตัวเดียวที่ว่ายน้ำเป็น บางฉากเธอต้องยอมให้ ‘ลอร่า’ กับ ‘จอห์น’ ขี่หลังข้ามน้ำไป แล้วจอห์นต้องไปกระโดดบนตัวลอร่าเพื่อเอื้อมกดสวิทช์ที่อยู่บนผนังสูง ความท้าทายอยู่ที่การมอง (ซึ่งบางทีก็ต้องลองผิดลองถูก) ให้ออกว่า เอไอแต่ละตัวจะต้องทำอะไรบ้างในฉากนั้นๆ และใครต้องทำอะไรก่อนหลังในลำดับที่ถูกต้อง
เรารับรู้พัฒนาการของทอมัสและสหายใน thomas was alone ผ่านสองช่องทางด้วยกัน ช่องทางแรกคือข้อความของโปรแกรมเมอร์ นักจิตวิทยาดิจิทัล และตัวละครอื่นๆ ที่อยู่นอกจอ ช่องทางที่สองคือการพากษ์เสียงอธิบายอากัปกิริยาของเอไอแต่ละตัว โดยที่เอไอเหล่านั้นไม่เคยพูดเอง ให้เสียงอย่างทุ้มนุ่มเสนาะหูมากโดย เดวิด วอลเลซ (David Wallace) นักเขียนและนักแสดงชาวอังกฤษ
thomas was alone เล่าเรื่องทั้งหมดในเก้าตอน แต่ละตอนมีสิบฉาก ทุกตอนเริ่มต้นด้วยข้อความของโปรแกรมเมอร์ ตั้งแต่ฉากแรกคือ ทอมัสเริ่มรู้สึกตัวในเซิร์ฟเวอร์ขนาดใหญ่ของ Artificial Life Solutions บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ในจินตนาการ แต่บรรดาโปรแกรมเมอร์ในโลกภายนอกคิดว่า ทอมัส ซาราห์ และเอไอตัวอื่นๆ เป็น ‘บั๊ก’ ในโปรแกรมที่จะต้องหาทางกำจัดให้ราบคาบ การวิ่งหาทางออกของเราในแต่ละฉากจะเป็นเรื่องที่เร่งด่วนและอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อข้อความเปิดฉากเหล่านี้เริ่มเป็นปฏิปักษ์กับทอมัสและพวกอย่างชัดเจนมากขึ้น จากนั้นหลังจากที่เราเริ่มควบคุมทอมัสกับพวก เนื้อเรื่องระหว่างฉากก็จะดำเนินไปผ่านบทบรรยายลงเสียงที่พากษ์เก่ง แหลมคม เดินโครงเรื่องทีละน้อย ค่อยๆ เผยให้เห็น ‘นิสัย’ ที่ไม่เหมือนกันของเอไอแต่ละตัว
ยิ่งเล่นเรายิ่งคิดถึงก้อนสี่เหลี่ยมแต่ละก้อนว่าเป็น ‘คน’—พวกเขาเป็นเอไอไร้รูปธรรมก็จริง แต่ในเกมนี้มีชื่อ มีประวัติความเป็นมา มีอุปนิสัยแตกต่างกัน และมีทัศนคติที่แปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ทอมัสมองโลกในแง่ดี จอห์นเต็มไปด้วยอาการหลงตัวเอง คริสเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา แต่พอตกหลุมรักลอร่าก็เปลี่ยนไป ฯลฯ บทบรรยายเหล่านี้ปรากฏในจังหวะการกระโดดของตัวละครแต่ละตัว แถมยังสอดแทรกการเสียดสี ‘มีม’ (memes) ยอดนิยมในอินเทอร์เน็ตและนิสัยออนไลน์ตลกๆ อย่างมีรสนิยมเยี่ยงอารมณ์ขันแบบอังกฤษชั้นดีตลอดเกม
ตัวอย่างบทบรรยายที่ผู้เขียนชอบมากคือคำพูดของจอห์น หลังจากที่ค้นพบประโยชน์ของการขี่ทอมัสว่า “บางทีเจ้าจุดพวกนี้อาจมีอยู่เพื่อให้จอห์นเอื้อมได้สูงกว่าเดิม ทำให้ผลงานของเขาน่าทึ่งกว่าเก่า จอห์นชอบความคิดนี้ เขาตัดสินใจเก็บเจ้าจุดพวกนี้ไว้ใกล้ตัว”
ความท้าทายของ thomas was alone ค่อยๆ เปลี่ยนจากง่ายไปหายากสมกับเป็นเกมที่ดี ฉากส่วนใหญ่ไม่ยากมากนัก แต่ฉากหลังๆ บางฉากอาจทำให้หัวร้อนจนต้องออกจากเกมไปสงบสติอารมณ์ครู่ใหญ่ โดยเฉพาะฉากหลังๆ ที่เราจะได้พบกับ ‘เจมส์’—คู่แฝดของธอมัสที่ห้อยหัวลง ต้านแรงโน้มถ่วง ซึ่งล้วนแต่เป็นฉากแก้ปริศนาที่เจ๋งที่สุดและประทับใจชนิดลืมไม่ลงชุดหนึ่งในโลกกว้างแห่งเกมทั้งมวล
เกมนี้ทั้งเกมใช้เวลาเล่นเพียง 3-4 ชั่วโมงก็จบ แต่ก็คุ้มค่าและสมราคาที่ถูกมาก (ราวสองร้อยบาท) ไม่มีฉากไหนที่เล่นแล้วรู้สึกว่าซ้ำซากจำเจ ไม่เหมือนกับเกมจำนวนมากที่ชอบแปะฉากแนวเดิมซ้ำๆ มาให้เราเสียเวลา เพียงเพื่อถมเกมให้เต็มและยืดระยะเวลาเล่นออกไป ใน thomas was alone แต่ละฉากมาพร้อมกับความท้าทายใหม่ ตัวละครใหม่ หรือการพลิกแพลงความสามารถของตัวละครไปในทิศทางใหม่ แถมเนื้อเรื่องที่เจ๋งมากก็ดึงดูดให้เราอยากเล่นไปเรื่อยๆ เพราะอยากรู้ชะตากรรมสุดท้ายของธอมัสและผองเพื่อน
นิสัยของเอไอที่แตกต่างกันและมาปะทะสังสรรค์กันอย่างมีสีสัน สื่อสารผ่านบทบรรยายสุดเจ๋งและการออกแบบฉากสุดเท่ห์ที่ไม่ยากและไม่ง่ายเกินไป แต่บางฉากก็ต้องใช้กล้ามนิ้วจนเมื่อย ไม่นับดนตรีประกอบที่ติดหูและเหมาะเหม็งกับอารมณ์แอบสแตร็กของเกมนี้ ทำให้ thomas was alone เป็นเกมมากกว่าเกมที่ทำให้เรารู้สึก ‘อิน’ กับก้อนสี่เหลี่ยม เปลี่ยนโลกนามธรรมเป็นสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าใกล้ตัว โดยเฉพาะความมหัศจรรย์ของมิตรภาพและความวิเศษของสิ่งธรรมดา—แม้แต่คริสผู้โยเยและดูด้อยกว่าใครเพื่อน ก็เป็นเอไอที่สำคัญที่สุดในฉากที่สวิทช์อยู่หลังช่องแคบที่เขาเข้าได้ตัวเดียว
เหนือสิ่งอื่นใด thomas was alone พิสูจน์อย่างไร้ข้อกังขาว่า เรื่องเล่าที่ทรงพลัง และการเล่าอย่างมีชั้นเชิง ทำให้เราเสียน้ำตาได้เสมอ
และในเมื่อเราสามารถเสียน้ำตาให้กับสี่เหลี่ยมและแสงเงาสองมิติได้ พลังของเกมก็หาใช่สิ่งที่ใครควรสงสัยอีกต่อไป