1
คุณคิดว่า การ ‘เลือก’ เชิงยุทธศาสตร์ หรือ strategic voting (หรือบางทีก็เรียกว่า tactical voting) มีความเป็นประชาธิปไตยมากแค่ไหน?
ถ้ายังจำกันได้ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ เมื่อหลายปีก่อน วลี “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” นั้นแพร่หลายไปทั่ว และส่งผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก ‘ฝั่งหนึ่ง’ ได้รับชัยชนะเหนือ ‘อีกฝั่งหนึ่ง’ ไป
คำถามก็คือ กลยุทธ์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” จัดเป็นการเลือกเชิงยุทธศาสตร์ หรือ strategic voting ด้วยไหม?
และถ้าเป็น—มันมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยเพียงไร?
2
ในระดับโลก ผลการเลือกตั้งใหญ่คร้ังหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเข้าข่าย strategic voting อย่างชัดเจน ก็คือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาครั้งล่าสุด ที่ผู้คนไปโหวตเลือก โจ ไบเดน ไม่ใช่เพราะอยากได้ไบเดนใจจะขาด หรือเห็นด้วยกับนโยบายของเขาอย่างที่สุด แน่นอนว่าคนแบบนั้นก็มีอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไปโหวตเลือกไบเดน เพราะไม่ต้องการให้ทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีก
ส่วนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้ หลายคนบอกว่ากลยุทธ์ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” นั้นใช้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะตอนนี้ไม่ได้มีคู่แข่งหรือแคนดิเดตเพียงสองคนชัดๆ แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ในบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ นั้น สามารถแบ่งออกเป็น ‘สองฝั่ง’ ใหญ่ๆ ได้อย่างชัดเจน
แต่ประเด็นก็คือว่า ในสองฝั่งที่ว่านี้ ถ้าถามว่ามีอะไรเป็น ‘เส้นขีดแบ่ง’ ระหว่างฝั่ง ก็อาจจะตอบยากอยู่สักหน่อย เพราะเราเอาอะไรมาเป็นเส้นบรรทัดฐานแบ่งให้ชัดได้ยาก จะบอกว่าคือความเป็นรอยัลลิสต์หรือ—ก็ไม่เชิง เพราะทั้งสองฝั่งไม่มีใครบอกว่าไม่เอาสถาบันอย่างที่ชอบร่ำลือกัน ส่วนจะบอกว่าฝั่งหนึ่งนิยมชมชอบระบอบทักษิณ—ก็เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด ไม่อย่างนั้นคงไม่เกิดกรณีติ่งส้มติ่งแดงทะเลาะกันแรงๆ ให้เห็นหรอก
การแบ่งออกมาเป็นสองฝั่งที่เห็นกันอยู่ หากลงลึกไปในรายละเอียด เราจะเห็นว่า มีความซับซ้อนจนอธิบายให้ชัดเจนจริงๆ ได้ไม่ง่ายนัก โดยส่วนตัวคิดว่าต้องการทั้งนักรัฐศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ นักพฤติกรรมศาสตร์ และนักประสาทวิทยา—ที่จะต้องทำงานร่วมกันเพื่ออธิบายปรากฏการณ์แบ่งแยกเป็นสองฝั่งนี้ด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม แม้คำพูดที่ว่า “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” จะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาใช้ (เนื่องจากความซับซ้อนของแต่ละ ‘ฝั่ง’ ทำให้บอกไม่ได้แน่ชัดว่า ‘เรา’ กับ ‘เขา’ คือใครแน่ๆ) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิดปรากฏการณ์ strategic voting ขึ้นมา
เคยมีบทความหนึ่งน่าสนใจมาก ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2019 เป็นงานของ เดเมียน โบล (Damien Bol) กับ ทอม เวอร์ธี (Tom Verthé) จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่คิงส์คอลเลจลอนดอน (King’s College London) มีชื่อว่า ‘Strategic Voting Versus Sincere Voting’ ซึ่งเป็นการจับคู่การโหวตเชิงกลยุทธ์ เข้ากับการโหวตแบบ ‘จริงใจ’
เขาบอกว่า คนเราไม่ได้โหวตเลือกพรรคหรือตัวบุคคลที่ตัวเอง ‘ชอบที่สุด’ เสมอไป แต่บางครั้งเราเลือกโหวตคนอื่น เพราะอยากจะทำสิ่งที่เรียกว่า maximize my influence หรือใช้ ‘อำนาจ’ ที่ตัวเองมี เพื่อส่งอิทธิพลไปยัง ‘ผลลัพธ์’ ของการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะไม่ได้เลือกคนที่ตัวเองต้องการจริงๆ ก็ตามที
ที่จริงแล้ว การโหวตเชิงกลยุทธ์มีได้หลายรูปแบบ แบบที่น่าจะเกิดขึ้นกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้ คือการโหวตที่เรียกว่า compromising voting หรือบางครั้งก็เรียกว่า useful voting คือเป็นการโหวตโดยมองไปยังผลลัพธ์สุดท้ายว่าน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุด คนที่โหวตแบบนี้มักจะเป็นนักปฏิบัตินิยม คือไม่ได้สนใจ ‘อุดมการณ์’ (โดยเฉพาะอุดมการณ์ทางการเมือง) ของตัวเองมากเท่าประโยชน์สุดท้ายที่จะได้รับ มันคือการโหวตให้กับคนที่ตัวเองคิดว่ามีโอกาสชนะมากที่สุด โดยคนคนนั้นมีอะไรบางอย่างสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตัวเองประมาณหนึ่ง แม้จะมีคนที่อุดมการณ์สอดคล้องต้องกันมากกว่า แต่หาก ‘คาดเดา’ หรือ ‘เชื่อ’ ไปว่าคนคนนั้นจะไม่ได้รับเลือกตั้ง ก็สู้หันมา ‘เทคะแนน’ ให้อีกคนที่มีโอกาสชนะมากกว่าไม่ดีหรือ อย่างน้อยที่สุด ฝั่งที่มีอุดมการณ์ไม่ตรงกันเลยก็จะไม่ได้คะแนนเสียงนี้ไป
ลักษณะการโหวตแบบนี้ มักจะไม่เกิดขึ้นกับระบบการเมืองแบบสองพรรค หรือมีสองฝ่ายชัดเจน (ถ้ามีสองฝ่ายชัดเจน ก็จะเป็นวิธี “ไม่เลือกเรา เขามาแน่”) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับระบบตัวแทนแบบสัดส่วน (proportional representation) (ซึ่งจริงๆ ในการเลือกตั้งใหญ่ของเราก็มี เช่นในระบบปาร์ตี้ลิสต์) และแม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้จะไม่ได้เป็นแบบนั้น (เพราะเลือกผู้ว่าฯ เพียงหนึ่งเดียว) แต่การที่แต่ละ ‘ฝั่ง’ มีตัวแทนหลายคนที่มีหลากเฉดสีอุดมการณ์และหลากพื้นเพที่มา ก็เลยมีส่วนทำให้เกิดการโหวตเชิงกลยุทธ์แบบนี้ขึ้นมา
ส่วนการโหวตแบบ “ไม่เลือกเรา เขามาแน่” นั้น อาจจัดได้เป็นทั้งการโหวตเชิงกลยุทธ์ หรือเป็นการโหวตแบบ ‘จริงใจ’ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีสิทธิโหวตนั้น เลือกกาคนที่ตัวเองเชื่อและชอบ หรือเลือกกาคนที่ตัวเองไม่เชื่อไม่ชอบ (สักเท่าไหร่) เพียงเพราะไม่อยากให้คู่แข่งอีกคนหนึ่งได้คะแนนเสียงไป
นอกจากนี้ การโหวตเชิงกลยุทธ์ยังมีได้อีกหลายแบบ โดยขึ้นอยู่กับระบบเลือกตั้งว่าเป็นแบบไหนด้วย เช่น bullet voting คือการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียวในระบบเลือกตั้งที่สามารถเลือกได้หลายคน เพราะจะได้ไม่ต้อง ‘เผื่อแผ่’ คะแนนโหวต (หรือเผื่อแผ่ ‘อำนาจ’ ของตัวเอง) ไปให้คนอื่นที่ตัวเองอาจจะไม่ชอบ หรือการโหวตแบบที่เรียกว่า mischief voting ที่มักจะเกิดขึ้นในระบบเลือกตั้งแบบสองรอบ (two-round voting หรือ runoff voting) เป็นการเลือกโหวตคนที่ ‘อ่อนกว่า’ โดยไม่ได้ตั้งใจจะให้คนคนนั้นได้ แต่ให้คนที่อ่อนกว่าเข้ารอบแรกมา โดยหมายจะเขี่ยคนที่แข็งกว่าลงไป แล้วค่อยจัดการคนที่อ่อนกว่าทีหลัง เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนที่ตัวเองต้องการ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า การโหวตเชิงกลยุทธ์มีความสลับซับซ้อนไม่น้อย ขึ้นอยู่กับระบบเลือกตั้งว่าเป็นอย่างไร แล้วคนก็พยายามหาวิธีรณรงค์ให้เกิดการโหวตเชิงกลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการ
คำถามก็คือ—แล้วการโหวตเชิงกลยุทธ์มีปัญหาตรงไหน?
3
ในบทความ ‘What is tactical voting and why is it bad for democracy?’ โดย ซาบีน แม็กกินลีย์ (Sabine McKinley) ที่อยู่ในเว็บ electoral-reform.org.uk บอกเอาไว้ว่า การโหวตเชิงกลยุทธ์นั้นมีปัญหาสำคัญอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือมัน ‘อาจ’ ทำให้คนเราเลือกโหวตตัวแทนหรือพรรค ที่เราไม่ได้ ‘เห็นพ้อง’ กับนโยบายของเขาได้
จริงอยู่ คะแนนเสียงเป็นของเรา และเรามีสิทธิใช้มันในการโหวตอย่างไรก็ได้ จะโหวตแบบจริงใจ ซื่อๆ ใสๆ ไร้เดียงสา ชอบอุดมการณ์ ความคิด หรือแม้กระทั่งชอบ ‘แบรนดิ้ง’ ของนักการเมืองคนไหนหรือพรรคไหนก็มอบคะแนนเสียงให้เขาไป หรือจะโหวตแบบ ‘นักกลยุทธ์’ ที่ดีดลูกคิดรางแก้วมาแล้วอย่างเพียบพร้อม คิดคำนวณเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตัวเองต้องการ พร้อมกับรณรงค์ให้คนอื่นๆ คิดเหมือนตัวเอง จะได้ได้ผลลัพธ์ที่ ‘ดีที่สุด’ ออกมาก็ได้
แต่บทความนี้บอกว่า การโหวตเชิงกลยุทธ์โดยไม่ได้เลือกคนที่ตัวเองชอบจริงๆ นั้น ปัญหาก็คือมันจะไม่ได้ ‘สะท้อน’ ความต้องการของเราออกมาจริงๆ ซึ่งในแวบแรก เราอาจยินดีกับผลการเลือกตั้งนี้ในฉับพลันทันที เพราะอย่างน้อยที่สุด คนที่เราไม่ชอบหน้าก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา แต่สุดท้ายแล้ว คะแนนเสียงของเราก็ได้ ‘เท’ ไปให้คนที่เราอาจไม่ได้ชอบมากที่สุด ในขณะที่คนที่เราชอบมากที่สุด หรือมีอุดมการณ์บางอย่างต้องตรงกับเรา—กลับอาจได้คะแนนเสียงน้อยถึงน้อยมาก และหากน้อยถึงระดับหนึ่ง สุดท้ายทั้งตัวเขาและแนวคิดนั้นๆ ก็อาจหายไปจากการเมืองเลยก็ได้
ในแง่หนึ่ง การโหวตเชิงกลยุทธ์จึงมีส่วน ‘ทำลาย’ ประกายแห่งอุดมการณ์ใหม่ๆ บางอย่าง จนอาจไม่มีโอกาสได้เกิดหรือ ‘ถูกมองเห็น’ ด้วยซ้ำ เพราะถูกการโหวตเชิงกลยุทธ์ที่คิดคำนวณมาแล้วอย่างดีกดทับจนไม่สามารถมีพลังแห่งคะแนนเสียงที่มากพอมาหนุนเสริมเพื่อนำเสนอความคิดนั้นๆ ออกมา
มีคำอธิบายการโหวตเชิงกลยุทธ์อีกคำอธิบายหนึ่งที่วางอยู่บนฐานของทฤษฎีเก่าแก่ยุค อดัม สมิธ ที่เรียกว่า rational choice theory ซึ่งถ้าฟังดูเผินๆ คำว่า rational อาจจะดูดี เหมือนคนคนนั้นได้ใช้ ‘เหตุผล’ กับการเลือกของตัวเอง แต่ที่จริงแล้ว rationality คือการ ‘หาเหตุผล’ มารองรับหลังตัดสินใจไปแล้วมากกว่าจะครุ่นคิดพิจารณาถึงเหตุและผล แล้วค่อยตัดสินใจทีหลัง
คำอธิบายนี้บอกว่า ในการโหวตเชิงกลยุทธ์ ผู้ลงคะแนนเสียงนั้นกำลังใช้ ‘เหตุผล’ (ในแบบ rationality) เพื่อเป็น ‘เครื่องมือระยะสั้น’ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง (ที่ก็เป็นผลลัพธ์แบบ ‘ระยะสั้น’ อีกเหมือนกัน) (เรียกว่า short-term instrumentally rational) เพราะคือการลงคะแนนเสียงเพื่อให้เกิดผลกระทบ (impact) เพียงครั้งเดียวกับการเลือกตั้งเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้น โดยทั่วไป หากมีการโหวตเชิงกลยุทธ์มากๆ สุดท้ายเราจะไม่ได้รับรู้ถึงความต้องการที่แท้จริงและหลากหลายของผู้คนมากเท่าที่อาจจะเป็นหากทุกคนสามารถเลือกตั้งกันได้โดยใช้วิธี sincere voting หรือใช้ระบบเหตุผลที่เรียกว่า value rationality (ซึ่งถูกนำมาจับคู่กับ instrumental rationality อย่างที่พูดไปข้างต้น)
แต่ก็อีกนั่นแหละ—ในความบิดเบี้ยวของสังคมที่สำนึกเผด็จการซ่อนรูปคอยบ่อนทำลายประชาธิปไตยทั้งแบบซึ่งหน้าและลับล่อ ก็เป็นไปได้เช่นกันที่การโหวตเชิงกลยุทธ์อาจเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เราต้องการขึ้นมาได้
เพียงแต่เราต้อง ‘ตระหนัก’ ให้ได้ว่า ผลลัพธ์ที่ว่า เป็นเพียงผลลัพธ์ระยะสั้น และหากมันเกิดจากการโหวตเชิงกลยุทธ์ ก็ไม่ได้แปลว่าผลโหวตนั้นคือ ‘สัจธรรม’ หรือความต้องการของสังคมทั้งหมดจริงๆ เพราะมันเพียงแต่เกิดขึ้นเพื่อป้องกันสิ่งที่ชั่วร้ายกว่าไม่ให้ผุดเกิดขึ้นมาครองอำนาจเท่านั้น ประชาธิปไตยที่แท้จริง—คือการ ‘ต้อง’ ทำให้เสียงเล็กเสียงน้อยที่จำเป็นต้องหุบปากลงชั่วคราวเพื่อการต่อสู้ครั้งใหญ่, ได้แสดงตัวออกมาให้ได้ในท้ายที่สุด
ประชาธิปไตยไม่ใช่กระบวนการส่งเสียงดังผ่านการลงคะแนนเชิงกลยุทธ์เพื่อกลบเสียงเล็กๆ ให้มิด และไม่ใช่การประกาศด้วยท่าทีแข็งกร้าวว่าคนอื่นๆ ต้องทำตามที่ตัวเราเองทำเท่านั้นถึงจะถูกต้อง การเลือกตั้งอาจคือพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยไม่เคยเท่ากับ ‘แค่’ การเลือกตั้งเท่านั้น มันไม่ได้ ‘ง่าย’ แค่นั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องร่วมกันคิดและสร้างให้เกิดขึ้น เหมือนที่นักคิดจำนวนมากได้คิดและส่งต่อความคิดเรื่องนี้กันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว—เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นโลกและสังคมที่เหมาะสมกว่า
เราจะเลือกโหวตแบบไหน—จะใช้กลยุทธ์หรือโหวตตามความต้องการที่แท้จริงของเราก็ได้ เพียงแต่เรื่องสำคัญก็คือ เราต้อง ‘เข้าใจ’ ตัวเองให้ได้, ว่าเรากำลังใช้ rationality แบบไหนในการเลือกโหวตวิธีนั้นๆ และสุดท้ายแล้ว มันจะส่งผลในระยะยาวอย่างไร
วันอาทิตย์นี้—ไปโหวตเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กัน จะโหวตแบบไหนก็เป็นเรื่องของคุณ แต่พึงรำลึกไว้ว่า ไม่ว่าจะโหวตแบบไหน ทุกอย่างมีความซับซ้อนซ่อนอยู่เบื้องหลังเสมอ
Illustration by Kodchakorn Thammachart