ในเกมการแข่งขันหนึ่งที่ออกแบบขึ้นมา ทั้งกติกา สิทธิพิเศษ และรูปแบบการแข่งขันเพื่อให้ทีมตัวเองชนะ ไม่ใช่เพื่อศักดิ์ศรี ทีมผู้เล่นทีมอื่นรู้อยู่เต็มอกว่าถูกเอาเปรียบ แต่ก็ยอมกัดฟันลงแข่งด้วยแม้ว่าจะต้องเผชิญอุปสรรคทางวิบากกว่า เพราะชัยชนะที่ได้มา ไม่ได้ชนะเพียงทีมตัวหากหมายถึงชัยชนะของคนอื่นๆ อีกมากมาย เพราะผู้เล่นในเกมมีความหมายและเป็นตัวแทนให้กับผู้คนอีกจำนวนมาก แต่ไม่วายขณะอยู่บนสนามแข่งขัน เจ้าของเกมยังสามารถโกงได้อย่างไม่ต้องอายใคร ควักไอเทมลับออกมาใช้กลั่นแกล้งได้อย่างหน้าตาเฉย ผู้ที่ยอมลงแข่งขันกับเจ้าของเกมนี้จึงเป็น ‘นักสู้’ จริงๆ ทั้งแกร่งทั้งอดทน ฟันฝ่าความยากลำบากเอารัดเอาเปรียบมากมาย
กลับมาดูการเลือกตั้งไทย 2562 ดีกว่า ท่ามกลางความไม่ชอบมาพากล ผู้ไปเลือกตั้งที่น้อยอย่างน่าตกใจราวกับไม่ไว้วางใจการเลือกตั้งครั้งนี้ บัตรเลือกตั้งเสริมจำนวนมหาศาล บางเขตทหารก็เข้าไปชะโงกดูผู้อยู่ในคูหาได้ การทำให้บัตรเลือกตั้งจากต่างแดนดูไร้คุณค่า ท่ามกลางความมืดมนอนธการจนมองไม่เห็นศักดิ์ศรี ก็ยังคงมีความหวังรำไรกระพริบพรายอยู่บ้าง หนึ่งในนั้นก็คือการที่หญิงข้ามเพศยังได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. คนแรกของประเทศ นับตั้งแต่มีเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2476 และที่น่าภาคภูมิใจ เธอไม่ได้มาจากพรรคที่ได้เปรียบกว่าพรรคอื่นในการลงเลือกตั้ง
‘กอล์ฟ—ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ จากพรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศและประวัติศาสตร์การเลือกตั้งไทย เป็นหญิงข้ามเพศที่ได้รับเลือกตั้งในช่วงที่ชายหญิงข้ามเพศแห่มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคมหาชนที่ไม่เพียงจะมี พาลินี งามพริ้ง (พอลลีน) ที่เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค และดูเหมือนว่าจะส่ง LGBTQ มาลงรับเลือกตั้งมากกว่าพรรคอื่น เช่น ชวธีร์ คุปตะวาทิน จังหวัดนนทบุรี, ณัฑพร มโนใจ จังหวัดเชียงใหม่, ไอณริณ สิงหนุต, นาดา ไชยจิตต์, ชายข้ามเพศอย่าง กฤตธีพัฒน์ โชติฐานิตสกุล หรือ ‘จิมมี่’ และ ฉัฐมณฑน์ ทองสมจิตต์ จังหวัดแพร่ ขณะที่พรรคพลเมืองไทยก็มี ฐาปนี โปร่งรัศมี ผู้ชายข้ามเพศ
กอล์ฟ ธัญญ์วาริน ก็เหมือนหญิงชายข้ามเพศหลายคนที่ต้อง strong เผชิญกับความเอารัดเอาเปรียบ และเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ
คนข้ามเพศหลายคนที่สมัคร ส.ส. ก็เป็นนักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม เพียงแต่พี่กอล์ฟเธอได้เลือกภาพยนตร์เป็นเครื่องมือทางการเมือง หนังสั้นที่เธอทั้งกำกับ เขียนบท โปรดิวซ์ และแสดงเองในภาพยนตร์สั้นเรื่อง I’m fine. สบายดีค่ะ (2551) ที่ในเรื่องเธอในชุดไทยกุลสตรีขลุกอยู่ในกรงกลางวันแสกๆ ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยท่ามกลางเสียงรถราและควันจากท่อไอเสียจนเหงื่อไหลไคลย้อย แต่เธอก็หน้าชื่นพร่ำบอกทุกคนว่าตนเองไม่เป็นไรสบายดี เป็นบุคคลาธิษฐาน ‘ความเป็นไทย’ ได้อย่างประชดประชัน จนได้รางวัลรัตน์ เปสตันยี และรางวัลพิราบขาว
และอีกครั้งหนึ่งที่สาธารณชนจำได้ก็คือหนังเรื่อง แมลงรักในสวนหลังบ้าน – Insects in the Backyard (2553) เป็นการเคลื่อนไหวสิทธิเสรีภาพทางเพศผ่านศิลปะภาพยนตร์ที่เธอเขียนบท กำกับ และแสดงนำ จนได้ประเดิมเรท ‘ห’ ห้ามเผยแพร่ภายในราชอาณาจักรไทยเรื่องแรกตาม พ.ร.บ. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551
พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่เพียงนำไปสู่กลุ่มบุคคลหนึ่ง—เป็นใครก็ไม่รู้ที่ไม่ได้มีความสม่ำเสมอมาตรฐานอะไรแน่นอน—ที่มาคิดแทนประชาชนทั้งประเทศว่าใครควรได้ดูหนังละครเรื่องใด แล้วเซ็นเซอร์แก้ไขเนื้อหาหรือแบนไม่ให้ฉาย ผ่านระบบ ‘เรตติ้ง’ แต่ยังเป็นผลผลิตของเผด็จการรัฐประหาร 2549 ขณะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชนกลุ่มเครือข่ายรณรงค์เพื่อเสรีภาพของภาพยนตร์พยายามชี้แจงให้ระงับไปก่อน แต่คณะรัฐมนตรีก็สะเออะเร่งอนุมัติและประกาศใช้อย่างรวดเร็วที่สุด ภายในช่วงรัฐบาลรัฐประหาร 2549
การแบน ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม อ้างว่ามีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เพราะมีฉากร่วมเพศ บางฉากเห็นอวัยวะเพศชาย การร่วมเพศ และนำเสนอค้าประเวณี (โอ้โห…เมื่อเทียบกับหนังเรื่องอื่นในช่วงสมัยเดียวกัน อย่างหม่อมน้อยนี่มีทั้ง ชั่วฟ้าดินสลาย (2553), จัน ดารา ปฐมบท (2555-2556), แม่เบี้ย (2558) แต่ละฉากอล่างฉ่าง หัวนมใหญ่กว่าหัวคนดูอีก ฉากเซ็กซ์ก็ฟุ่มเฟือยพอๆ กับอุปกรณ์ประกอบฉากที่รีไซเคิลมาจากผลงานเรื่องเก่าๆ ของแก)
เธอฟ้องศาลปกครองจนสุดท้าย ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ ก็ได้โบยบินสยายปีกในโรงภาพยนตร์ปี 2560 หลังใช้เวลาเกือบทศวรรษต่อสู้เคลื่อนไหว ขณะเดียวกันก็ได้สร้างกรณีศึกษามาตรฐานในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผู้ชมและผู้ผลิตหนัง และวุฒิภาวะให้กับทีมพิจารณาหนังมากขึ้น ไม่ใช่นึกอยากจะแบนหนังอะไรก็ได้แล้วแต่ ‘ดุลยพินิจ’ และ ‘ศีลธรรมอันดี’ ส่วนบุคคล กลายเป็นอีกคุณูปการหนึ่งแก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์
แม้กอล์ฟจะเป็นหญิงข้ามเพศเพียง 1 นางที่ชนะการเลือกตั้งอันฉาวโฉ่เหม็นฉุนครั้งนี้ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นการขยับครั้งใหญ่ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ
เช่นเดียวกับการมี ส.ส. ผู้หญิงที่ไม่ได้ข้ามเพศรั้งแรกเมื่อปี 2492 ซึ่งเป็นเวลาถึง 16 ปี กว่าจะมีผู้หญิงได้เป็น ส.ส. นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรกปี 2476 ซึ่งในการเลือกตั้งผู้แทนครั้งแรกก็มีผู้หญิงลงสมัครเหมือนกันอย่างน้อยที่พระนครชื่อ อนงค์ บุนนาค ทว่าไม่ได้รับเลือก
ส.ส. ผู้หญิงผู้นั้นก็คือ อรพิน ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี เป็นภรรยาของ เลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของจังหวัดและเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย[1]
ไม่เพียงอรพินจะเป็นครูใหญ่โรงเรียนนารีนุกูลซึ่งเป็นโรงเรียนหญิงประจำจังหวัด และก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีอุบลราชธานี ซึ่งอาชีพครูผู้หญิงถือว่าเป็นอาชีพใหม่ที่มารองรับผู้หญิงสมัยใหม่หัวก้าวหน้าในยุคนั้น และที่สำคัญการหาเสียงของเธอยังใช้คำขวัญโฆษณาว่า “งัวงามคู่” หมายถึงวัวสองตัว เธอและสามี ที่ใช้เป็นคู่ลากเกวียน ที่มีความแข็งแรง งดงามทัดเทียมกัน รับใช้ชาวอุบลราชธานี เธอพ้นตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรเมื่อรัฐประหาร ปี 2494 และเมื่อมีการเลือกตั้ง 2495 เธอและสามีชนะการเลือกตั้งและเข้าทำงานในสภาอีกครั้งและได้อยู่ครบวาระ แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยชนะการเลือกตั้งอีกเลย จนเลิกเล่นการเมืองไป[2]
James Ockey ตั้งข้อสังเกตว่าสภาผู้แทนราษฎรไทยถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีแบบแผนหรือธรรมเนียมปฏิบัติติว่าเครือข่ายคะแนนเสียง โครงสร้างการทำงานของพรรคการเมือง และสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนเครือญาติของตนเอง ซึ่งรวมไปถึงลูกสาวและภรรยาเข้ามาในที่นั่งนั้น เพิ่มของสภาบทบาทผู้หญิงบนการเมืองภาครัฐสมัยใหม่ จึงมักผูกโยงกับความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติสถาบันครอบครัว นักการเมืองหญิงยังไม่สามารถแยกตนเองออกจากครอบครัวได้ เพราะครอบครัวยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการแสวงหาคะแนนเสียงของพวกเธอ ผู้หญิงที่สมัครเลือกตั้งจำนวนมากมักมีสมาชิกครอบครัวมีที่นั่งอยู่ในรัฐสภาแล้ว และพบว่ามักจะใช้นามสกุลร่วมกับ ส.ส. มากกว่าผู้ชายที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา ผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีก็เช่นกัน สุพัตรา มาศดิตถ์ ก็เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งพ่อของเธอ สุรินทร์ มาศดิตถ์ เคยดำรงมาก่อน เช่นเดียวกับกัญจนา ศิลปอาชา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นลูกสาวบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี[3]
แต่นั่นก็อาจเป็นข้อสังเกตของบริบททางการเมืองในอดีต ที่อะไรๆ ก็เปลี่ยนไปมากในปัจจุบัน และชีวิต LGBTQ ก็ใช่ว่าจะใช้สายสัมพันธ์แบบครอบครัวนำพาตัวเองมาอยู่ในเวทีการเมืองภาครัฐได้ เพราะเครือข่ายทางการเมืองของ LGBTQ ไม่ได้มาจากระบบเครือญาติ แต่มาจากการสร้างชุมชนที่มีอัตลักษณ์ เพศสภาพเพศวิถีร่วมกัน หรืออุดมการณ์เดียวกัน
ไม่แปลกใจเลยที่การแข่งขันของ LGBTQ จะยากกว่าผู้หญิงในการเวทีการเมืองภาครัฐ จนระยะเวลายาวนานถึง 86 ปี ของการเลือกตั้งครั้งแรก และ 70 ปีนับตั้งแต่มี ส.ส.หญิง กว่าจะได้มี ส.ส. หญิงข้ามเพศ พวกเธอต้องต่อสู้กับโครงสร้างสังคมที่ผลิตสำนึกว่าเกิดมามีเพศสรีระแบบใดก็ต้องมีเพศสภาพแบบนั้น เพศสภาพชายมีคุณค่าความเป็นมนุษย์สูงกว่าเพศสภาพหญิงและกะเทย คนข้ามเพศเป็นความผิดปรกติที่ไม่สามารถจะเป็นตัวแทนคนอื่นๆ ได้
พวกเธอต้องดิ้นรน ต่อสู้เพื่อสร้างความยอมรับคุณค่าความเป็นมนุษย์เคารพในศักดิ์ศรี เสมือนต้องลงเล่นเกมส์ที่ถูกกำหนดมาโดยมีกติกาว่าสำนึกที่ผู้ชาย คนรักต่างเพศ คนที่เพศสภาพตรงกับเพศกำเนิดมีความเป็นคนสูงกว่า เข้าถึงทรัพยากรสังคมได้ง่ายและมากกว่า แม้ LGBTQ ถูกลิดรอนสิทธิมากมาย เสียเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น แต่พวกเขาและเธอก็ยอมกัดฟันต่อสู้ลงแข่งขัน อย่างเข้มแข็งและอดทน ไม่ใช่แค่พื้นที่ทางการเมืองภาครัฐ แต่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่พื้นที่ในครอบครัว เพื่อนฝูง สถานศึกษา สถานที่ทำงาน
การที่คนข้ามเพศได้เป็น ส.ส. จึงเป็นความน่ายินดีและตื้นตันใจ เพราะเธอไม่ได้เป็นเพียงตัวแทนของคนข้ามเพศเท่านั้น แต่ยังได้เป็นตัวแทนของบุคคลอัตลักษณ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เกย์ เลสเบี้ยน แต่รวมไปถึงชายหญิงด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] นรนิติ เศรษฐบุตร. (20 กุมภาพันธ์ 2558). สส.หญิงคนแรกของไทย, เดลินิวส์
[2] เรื่องเดียวกัน.
[3] Ockey, James. (2005). Making democracy : leadership, class, gender, and political participation in Thailand.Chiang Mai : Silkworm Books, p. 60-63.