ไม่ว่า ‘เรือดำน้ำ’ ที่แปะสัญชาติ made in China อยู่ข้างตัวถัง ราคาเรือนหมื่นสองพันล้านบาทถ้วนต่อลำ จะเหมาะสำหรับการใช้งานในสภาพแวดล้อมใต้ท้องทะเลของ ‘อ่าวไทย’ หรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ อ่าวไทยนั้นถือว่ามีระดับน้ำทะเลที่ไม่ได้ลึกสักเท่าไหร่นัก
ก็อย่างที่บางคนเรียกว่าเป็น ‘ทะเลน้ำตื้น’ เลยนั่นแหละ
อ่าวไทยตื้นขนาดไหนก็ลองเทียบดูเอาง่ายๆ ว่า ในยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา (ใช่ครับใช่ โลกของเรารอนแรมทางผ่านยุคน้ำแข็งมาแล้วนับหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้นผมจึงต้องเน้นย้ำว่าหมายถึงเฉพาะยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด ซึ่งตามทฤษฎีแล้วก็คงจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แม้ศัพท์เทคนิคในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า The last glacial period ก็เถอะ) เมื่อ 110,000-11,700 ปีที่แล้ว อ่าวไทยทั้งผืนเคยเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์ (ชื่อเรียกชิคๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่แผ่นดินที่นอนนิ่ง ไม่ไหวติง อยู่ใต้น้ำอย่างทุกวันนี้เลยก็แล้วกัน
และก็ไม่ใช่เฉพาะเพียงอ่าวไทยเท่านั้นนะครับ ที่เคยเป็นพื้นแผ่นดินในช่วงยุคน้ำแข็ง เพราะอาณาเขตของพื้นแผ่นดินที่ปัจจุบันจมน้ำอยู่ที่ว่านี้ ได้เชื่อมเอาคาบสมุทรมลายู (คือภาคใต้ของไทย ประเทศมาเลเซีย กับเกาะเล็กเกาะน้อยทั้งหลายที่รายรอบอยู่ไม่ห่างจากผืนแผ่นดินใหญ่นัก) เข้าเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันกับเกาะใหญ่ไซส์พี่เบิ้มของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบันอย่าง บอร์เนียว สุมาตรา และชวา โดยแถมเอาเกาะน้อยๆ อย่าง บาหลี พ่วงติดเข้ามาในแผ่นดินผืนที่ว่าด้วย
ภูมิภาคอุษาคเนย์ของเราในยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด จึงเป็นแผ่นดินผืนเดียวกันเกือบทั้งภูมิภาค ไม่ได้แบ่งแยกเป็นภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ (mainland) และภาคหมู่เกาะ (insula) อย่างที่คุ้นชินกันในปัจจุบันนี้ จนดูราวกับเป็นดินแดนคนละแห่ง ทั้งๆ ที่มันก็เป็นที่ดินผืนเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ปัจจุบันนี้มีน้ำมาพื้นที่ลุ่มต่ำเมื่อครั้งกระโน้นหลายต่อหลายส่วนจมอยู่ใต้น้ำ จึงแบ่งแยกออกไปเป็นหมู่เกาะใหญ่น้อย โดยนักวิชาการจากสารพัดศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่างพากันเรียกเจ้าแผ่นดินใหญ่ผืนนี้ว่า ‘แผ่นดินซุนดา’ (Sundaland)
และก็เป็นเพราะดินแดนที่จมน้ำอยู่ในปัจจุบัน (แน่นอนว่าต้องรวมถึงอ่าวไทยด้วย) นี่แหละครับ ที่เป็นสะพานแผ่นดินในสมัยโบราณ ส่งผู้คนจากผืนแผ่นดินใหญ่ออกไปสู่หมู่เกาะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาะทั้งหลายที่ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน หมู่เกาะต่างๆ ในฟิลิปปินส์ และอันที่จริงแล้วแม้แต่ชนพื้นเมืองในเกาะไต้หวัน ก็เข้าไปยังเกาะแห่งนั้นได้ด้วยผืนแผ่นดินที่เรียกว่า ซุนดา เมื่ออยู่น้ำแข็งครั้งล่าสุดนี่เอง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้คนในยุคน้ำแข็งจะไม่รู้จักการต่อแพ หรือเรือเพื่อเป็นพาหนะในการข้ามน้ำข้ามทะเล โดยไม่ต้องใช้เรือดำน้ำแพงๆ เอาเสียเลย เพราะบรรดาคนพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย ที่เราเรียกว่า ‘อะบอริจินส์’ (Aborigines) สารพัดชนเผ่า รวมไปถึงบรรดาผู้คนในหมู่เกาะบนมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งหลาย นั่นก็คือผู้คนที่กระจายตัวออกไปจากผืนแผ่นดินใหญ่ ที่มีชายขอบสุดของพื้นแผ่นดินอยู่ที่บริเวณเกาะบาหลีในปัจจุบัน แล้วค่อยๆ เดินทางข้ามทะเลไปด้วยเรือขนาดเล็ก ลัดเลาะไปตามเกาะแก่งต่างๆ แล้วหยุดพักตั้งเป็นชุมชนตามหมู่เกาะเหล่านั้น จนกระทั่งน้ำทะเลหนุนขึ้นมาจากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก ในช่วงหลังยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด ซึ่งคงจะเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นในช่วงราว 11,700-10,000 ปีที่แล้ว จนทำให้หลายต่อหลายชุมชนเหล่านั้นต่างก็ติดแหงกอยู่บนเกาะกันมาจนกระทั่งถึง ณ บัดนาว
เกี่ยวกับเรื่องการอพยพของผู้คนไปตั้งถิ่นฐานอยู่บนดินแดนที่ปัจจุบันเป็นเกาะต่างๆ เหล่านี้ นักวิชาการหลายฝ่ายยังถกเถียงกันอยู่ว่า เอาเข้าจริงแล้วคนพวกนี้อพยพไปกันตั้งแต่เมื่อไหร่?
ข้อสันนิษฐานของนักโบราณคดีชื่อดังคนหนึ่งของโลกว่าเอาไว้ก็คือ คนพวกนี้เริ่มไปอยู่อาศัย และก่อร่างสร้างเมืองเป็นชุมชนเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่แล้ว (บวกลบต่อราคาได้นิดหน่อย) อันเป็นช่วงปลายถึงหลังยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดนะครับ แต่ก็มีนักวิจัยทางด้านทางด้านชีววิทยา โดยเฉพาะทางด้านยีน (gene) บางคนเสนอแย้งเอาไว้ว่า ควรจะเริ่มมีการอพยพมาตั้งแต่ 50,000 ปีที่แล้ว อันเป็นช่วงกลางของยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดโน่นเลยต่างหาก เรียกได้ว่า สำหรับกรณีนี้ยังมีปัญหาที่ต้องถกกันอีกเยอะ
แต่ไม่ว่าคนเหล่านี้จะเข้าไปตั้งชุมชนกันเมื่อ 10,000 หรือ 50,000 ปีที่แล้วก็ช่าง เพราะก็มีการพบฟอสซิลของมนุษย์โฮโม อิเร็คตัส (Homo erectus) อายุราว 1,000,000-700,000 ปีที่แล้ว (อ่านไม่ผิดหรอกครับ หนึ่งล้านถึงเจ็ดแสนปีมาแล้วนี่แหละ) ซึ่งก็บรรพชนของมนุษย์ก่อนที่จะเป็นมนุษย์สมัยใหม่อย่างเรา บนเกาะชวา ในประเทศอินโดนีเซียปัจจุบัน
ฟอสซิลของมนุษย์โฮโม อิเร็คตัส ที่พบบนเกาะชวา หรือที่มีนิคเนมไว้เรียกสั้นๆ ว่า ‘มนุษย์ชวา’ (Java man) นี้ก็แสดงให้เห็นว่า มีการเดินเท้าจาทวีปแอฟริกาโดยบรรพชนของมนุษย์เหล่านี้ เข้าไปยังพื้นที่ของเกาะชวาในปัจจุบัน มนุษย์โบราณเหล่านี้จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปได้อย่างไร ในยุคที่ยังไม่มีทั้งเครื่องบิน และเรือเฟอร์รี่ รวมไปถึงเรือดำน้ำ เมด อิน ไชน่า ถ้าไม่ใช่เดินบกผ่านทางแผ่นดินซุนดา ที่ปัจจุบันจมอยู่ใต้น้ำ และมีอ่าวไทยเป็นส่วนหนึ่งตั้งแต่สมัยโน้น
เอาเข้าจริงแล้ว มนุษย์จึงไม่เพิ่งจะใช้แผ่นดินที่ก้นอ่าวไทย เดินทางข้ามไปยังดินแดนที่เป็นเกาะแก่งต่างๆ ในปัจจุบันนี้ เมื่อยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุด ซึ่งเพิ่งเริ่มเมื่อ 110,000 ปีที่แล้ว เท่านั้นนะครับ ในยุคน้ำแข็งครั้งก่อนหน้า และครั้งก่อนหน้าขึ้นไปอีกก็มีการใช้ดินแดนเหล่านี้เป็นเส้นทางเดินทางมาก่อนแล้ว และก็คงจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะแค่กับมนุษย์เท่านั้น สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือพืชก็คงจะทำอย่างนั้นได้ด้วยเช่นกัน
อ่าวไทยจึงเป็นทะเลน้ำตื้นอย่างที่ใครเขาว่าจริงๆ นั่นแหละ แถมยังเป็นมาโดยตลอดเลยด้วย หลักฐานง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ แหล่งเรือจมในยุคต่างๆ มักจะพบในบริเวณฝั่งอ่าวไทย มากกว่าฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งก็ไม่ใช่เพราะฝั่งอ่าวไทยมีภูมิประเทศที่เชิญชวนให้เรืออับปางลงมากกว่าฝั่งอันดามันหรอกนะครับ แต่เป็นเพราะน้ำมันตื้นจนสามารถสำรวจพบเรือโบราณที่จมลงได้มากกว่าฝั่งอันดามัน ที่ทะเลโดยเฉลี่ยมีความลึกกว่ามากต่างหาก
ผลการสำรวจในปัจจุบันพบว่า ทะเลฝั่งอ่าวไทยนั้นมีค่าเฉลี่ยความลึกอยู่ที่เพียง 45 เมตร ซึ่งก็ลึกเท่ากับเพียงความสูงของตึก 11 ชั้นเท่านั้น (และถ้าต้องการจะเห็นภาพให้ชัดขึ้นก็คือระดับค่าเฉลี่ยความลึกของทะเลที่อ่าวไทย ยังไม่เทียบเท่ากับขนาดความใหญ่ยาวของอุโมงค์ในวัดพระธรรมกาย ที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นอุโมงค์ลับ เพราะอุโมงค์ที่ว่าสูงเท่ากับตึก 12 ชั้น เลยด้วยซ้ำ!) ในขณะที่จุดที่ลึกที่สุดนั้นก็ลึกราว 80 เมตร เท่านั้นเอง
แน่นอนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านยุทธศาสตร์การรบ หรือวิศวกรรมศาสตร์เกี่ยวกับเรือดำน้ำ จึงไม่รู้ว่าค่าระดับความลึกเฉลี่ยของอ่าวไทย เหมาะสมสำหรับการที่จะทุ่มงบประมาณของรัฐ เพื่อไปสอยมาเป็นของกองทัพสักสามลำหรือเปล่า? เพียงแต่ผมมีข้อสังเกตว่า ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงพระราชทานแก่ คณะรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ. 2550 เรื่องเรือใกล้ฝั่ง และเรือดำน้ำ นั้นพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการใช้งานเรือดำน้ำในไทย ดังความที่ว่า
“…เราสร้างเรือให้พอเพียง เรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งนั่นนะ มันไม่พอเพียง มันเล็กเกินไป ยังเล็กเกินไป ก็อาจจะควรจะใหญ่กว่าหน่อย แต่ถ้าใหญ่เกินไปไม่พอเพียง ถ้าเล็กเกินไปก็ไม่พอเพียง เรือที่เขาจะทำเรือดำน้ำ เรือดำน้ำดำลงไป ไปปักเลนเลย ไอ้นี่เขาโกรธ เดี๋ยวเขาโกรธเอาว่า เรือแล่นๆ ไป ดำน้ำไม่พอ ใครมาเครื่องบินเห็นแจ๋วเลยต้องไปจมเลน ถึงจะไม่เห็น แล่นๆ ไปปักเลน ถ้าอยากไปที่ๆ ลึก ก็ไปอยู่นอกเส้น ก็รู้สึกว้าเหว่ไกลกัน ไอ้เรือดูแลใกล้ฝั่งนี้ดีกว่า แต่ลำที่เราทำเราสร้างนี้ดีแล้ว แต่ควรจะสร้างต่อไปให้ใหญ่กว่านี้ ใหญ่กว่านี้หน่อย…”
ครับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็ทรงเคยมีพระราชวินิจฉัยว่า เรือดำน้ำไม่เหมาะกับการใช้งานในอ่าวไทย เพราะอ่าวไทยน้ำตื้น ‘ใครมาเครื่องบินก็เห็นแจ๋ว’ ถ้าอยากจะไม่ให้ใครเห็น ก็ต้องไป ‘จมเลน’ หรือ ‘แล่นๆ ไปปักเลน’ คือมุดลงไปใต้เลนที่ใต้ท้องสมุทร ถ้าอยากให้เรือดำน้ำอยู่ลึก ไม่มีใครเห็นก็ต้องไปอยู่นอกอ่าวไทย ที่พระองค์ทรงใช้คำว่า ‘ไปอยู่นอกเส้น’ ซึ่งก็อยู่ห่างจากเรืออื่นๆ ของกองทัพที่ดูแลชายฝั่งเสียจนชวนให้รู้สึก ‘ว้าเหว่ไกลกัน’
ผมไม่มีความเห็นเป็นการส่วนตัวว่า รัฐไทยควรจะมีเรือดำน้ำ made in China สักสามลำหรือเปล่า? เพียงแต่บอกได้ว่า ตามหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว อ่าวไทยเป็นทะเลน้ำตื้น ซึ่งก็ตื้นเสียจนพอถึงยุคน้ำแข็งแล้วก็จะกลับกลายสภาพจากทะเลเป็นแผ่นดินมันเสียทุกครั้ง