เขียนถึงเรือดำน้ำในต้นเดือนกันยายน พ.ศ.2563 ถ้าเปรียบเปรยประหนึ่งสายฝน อาจเรียกได้ว่าเข้าช่วงฝนซาค่อยๆ จางหาย แต่วันที่ 4 กันยายนถือเป็น ‘วันเรือดำน้ำ’ หากลองหยิบยกมาบอกเล่าสักนิดคงยังมิทันตกขบวนกระมัง แม้ใครๆจะผ่อนคลายน้ำเสียงเอ่ยกันแซ่ดจนแผ่วๆ ลง
ส่วนสิ่งที่ผมจงใจสาธยายอีกหลายบรรทัด ในห้วงยามที่กำลังเป็นกระแสครึกครื้น ก็ดูเหมือนมิค่อยปรากฏผู้กล่าวขาน นั่นคือเรื่องราวฉากและตัวละครอันผูกโยงกับเรือดำน้ำในวรรณกรรมไทย
ลำดับแรกสุด ขออนุญาตหวนนึกเรื่องสนุกๆ ที่เคยอ่านพบหลายปีก่อนและรู้สึกสะดุดตาไม่เบา ผมเองชอบแกะรอยการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยอินเดียจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษของ สุภาส จันทร โบส (Subhas Chandra Bose) เป็นทุนเดิม ผู้นำขบวนการอินเดียอิสระซึ่งเข้ามาเคลื่อนไหวในภูมิภาคเอเชียรวมถึงเมืองไทยและอาศัยความช่วยเหลือจากฝ่ายอักษะช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ครั้นบังเอิญเจอรายละเอียดว่าขณะสุภาสเรียกร้องเอกราชให้ประเทศของตนระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเคยมีวีรกรรมเกี่ยวข้องกับเรือดำน้ำ ก็พลันยิ่งทบทวีความใคร่ตามเสาะค้น
ในปี ค.ศ.1943 (ตรงกับ พ.ศ. 2486) สุภาส จันทร โบสตัดสินใจเสี่ยงออกเดินทางแบบลับๆ จากยุโรปมาสู่เอเชีย เขาลงเรือดำน้ำเยอรมัน (เรือ U-190) จากเมืองคีล (Kiel) เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ แล้วเปลี่ยนมาลงเรือดำน้ำญี่ปุ่น (เรือ I-29) บริเวณมหาสมุทรอินเดียห่างจากเกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) ประมาณ 400 ไมล์ หรือ 600 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 28 เมษายน ความน่าตื่นเต้นคือตอนที่นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียย้ายร่างจากเรือดำน้ำเยอรมันมายังเรือดำน้ำญี่ปุ่น เนื่องด้วยสภาวะสงคราม จึงไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสารได้ บางทีทางฝ่ายอังกฤษอาจแอบดักฟัง เรือดำน้ำทั้งสองลำเลยแล่นวนเวียนใต้มหาสมุทรอินเดีย 2 วันกว่าจะติดต่อกันสำเร็จ มิหนำซ้ำต้องให้คนว่ายน้ำจากเรือลำหนึ่งไปยังเรืออีกลำหนึ่งเพื่อเจรจาและส่งสัญญาณมือแจ้งว่าเป็นพวกเดียวกัน จากนั้นโยงเชือกระหว่างเรือดำน้ำสองสัญชาติ สุภาสพร้อมผู้ติดตามเกาะเชือกค่อยๆเคลื่อนตัวจากเรือ U-190 เข้าไปในเรือ I-29 อดทนสูดลมหายใจใต้น้ำหลายวันจนได้ขึ้นฝั่งมาดมอากาศบนเกาะเล็กๆ ตอนเหนือของเกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม
ผมพาดพิงกรณีของสุภาส จันทร โบสเพราะมุ่งหมายสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของโลกช่วงทศวรรษ 1930 และทศวรรษ 1940 ที่ภาพลักษณ์เรือดำน้ำกลายเป็นวิทยาการสำคัญ ซึ่งในเมืองไทยช่วงปลายทศวรรษ 2470 และทศวรรษ 2480 เองก็สำแดงบรรยากาศความตื่นตัวต่อเรือดำน้ำคล้ายๆกัน
พอว่าถึงเรื่องนี้ ผมปรารถนาแนะนำหนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 อย่าง ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร ผลงานของ ณัฐพล ใจจริง เนื้อหาตอนหนึ่งเปิดเผยเรื่องกองทัพเรือไทยกับการนำเข้าวิทยาการเรือดำน้ำ กล่าวคือ ปลายทศวรรษ 2470 กองทัพเรือไทยสั่งต่อเรือดำน้ำที่ประเทศญี่ปุ่น รัฐบาลคณะราษฎรนำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนายังส่งนายทหารเรือชาวไทยไปศึกษาวิทยาการเรือดำน้ำที่ญี่ปุ่น 3 ชุด ชุดแรกจำนวน 42 คน ชุดที่สองจำนวน 75 คน และชุดที่ 3 จำนวน 14 คน หนึ่งในนายทหารเหล่านี้ได้แก่ ร.อ. สวัสดิ์ จันทนี ที่แม้เขาจะเรียนไม่จบหลักสูตรเพราะล้มป่วย แต่เขาได้เขียนบันทึกประสบการณ์ชีวิตนักเรียนเรือดำน้ำในญี่ปุ่นไว้แจ่มชัด ณัฐพลจึงนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐาน
ที่จริง ความคิดทำนองว่าเมืองไทยจำเป็นจะต้องมีเรือดำน้ำ
รวมถึงการส่งนายทหารไปเรียนรู้เรื่องเรือดำน้ำใช่ว่าจะ
เพิ่งเกิดขึ้นปลายทศวรรษ 2470 สมัยรัฐบาลคณะราษฎร
หากริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 ที่มีโครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ อันคณะกรรมการประกอบด้วย นายพลเรือตรีพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ นายพลเรือตรี พระยาราชวังสัน (ฉ่าง แสง-ชูโต) และนายพลเรือตรี พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ได้จัดทำขึ้นถวายสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ซึ่งเสนาบดีทรงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุคสมัยนั้น เรือดำน้ำเรียกกันว่า ‘เรือ ส.’ ต่อมาในปี พ.ศ. 2458 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ได้ทรงจัดทำโครงการเกี่ยวกับกำลังเรือดำน้ำขึ้นมาอีก ทรงให้ชื่อ “ความเห็นเกี่ยวกับเรือ ส.”
ต้นทศวรรษ 2460 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องเรือดำน้ำ และได้ทรงพระกรุณาส่งนายนาวาตรีหลวงหาญสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน ต่อมาเป็นนายพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร) ไปศึกษาการใช้เรือดำน้ำในกองทัพเรืออังกฤษจนสำเร็จวิชา นับเป็นนายทหารที่ลงเรือดำน้ำคนแรกของไทย
อย่างไรก็ดี เมืองไทยยังมิได้จัดหาเรือดำน้ำมาเป็นของประเทศเสียทีเนื่องจากติดขัดด้วยงบประมาณ จวบจนภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ล่วงเข้าปลายปี พ.ศ. 2477 สภาผู้แทนราษฎรอนุมัติพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 นำไปสู่การจัดหาเรือดำน้ำ กองทัพเรือเรียกประกวดราคาสร้างเรือดำน้ำ ตัวแทนบริษัทชาติต่างๆ เสนอราคามาหลายชาติ ท้ายสุดทางกองทัพเรือตกลงให้บริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่นเป็นผู้จัดสร้างเรือดำน้ำเพราะเสนอราคาถูกที่สุด ทั้งยังส่งนายทหารเรือชาวไทยไปศึกษาวิชาเรือดำน้ำ ณ ประเทศญี่ปุ่น
เรือดำน้ำ 4 ลำที่ทางญี่ปุ่นจัดสร้างได้รับพระราชทานชื่อว่า มัจฉาณุ, วิรุณ, สินสมุทร และพลายชุมพล เรือคู่แรกคือมัจฉาณุและวิรุณได้ส่งมอบให้กองทัพเรือในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 โดยนักเรียนเรือดำน้ำชาวไทยผู้สำเร็จวิชาได้นำเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำเดินทางกลับจากญี่ปุ่นมาถึงกรุงเทพฯปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2481 เฉกเช่น เรือหลวงมัจฉาณุมี ร.อ. ซุ้ย กนกคุณ รั้งตำแหน่งผู้บังคับการเรือ
ข่าวคราวที่เมืองไทยจะมีเรือดำน้ำเกรียวกราวบนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ก่อกระแสตื่นตัวของนักเขียนและนักอ่านผู้หลงใหลวิทยาการหมาดใหม่แห่งปลายทศวรรษ 2470 และทศวรรษ 2480 โดยเฉพาะช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติมิใช่น้อย แน่นอนว่าฉาก ‘เรือดำน้ำ’ ย่อมมิแคล้วถูกนำเสนอผ่านงานเขียนประเภทวรรณกรรม ซึ่งสมัยนั้นยังเรียกกันว่า ‘เรื่องอ่านเล่น’
ส. บุญเสนอ หรือ เสาว์ บุญเสนอ คือยอดนักประพันธ์เอกคนหนึ่งในอดีต น่าเสียดายคนรุ่นหลังๆ ไม่ค่อยรู้จัก ทั้งที่ๆ เขาเป็นบรรณาธิการผู้ทำให้นักเขียนเยี่ยง ป. อินทรปาลิต แจ้งเกิด เป็นผู้ตั้งชื่อภาษาไทยให้ภาพยนตร์ชุดเจมส์ บอนด์ (James Bond) ว่า ‘พยัคฆ์ร้าย 007’ ขณะเดียวกัน ทำเลที่ตั้งของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยปัจจุบัน เดิมทีก็เป็นบ้านที่เขาได้ยกให้ใช้ประโยชน์
แทบจะกล่าวได้ด้วยว่า ส. บุญเสนออาจเป็นนักเขียนรุ่นแรกๆ ของไทยที่เขียนงานวรรณกรรมโดยใช้ฉากเรือดำน้ำและให้ตัวละครลงไปโลดแล่นอยู่ข้างในนั้น ที่น่าทึ่งคือเขาเขียนงานชิ้นนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนเมืองไทยจะมีเรือดำน้ำจริงๆ เสียอีก เป็นเรื่องอ่านชื่อ ‘สงครามมืด’ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ประมวญวัน เมื่อปี พ.ศ. 2479 ต่อมาจัดพิมพ์รวมเป็นเล่มในปีพ.ศ. 2480
บุคคลหนึ่งที่เคยอ่าน ‘สงครามมืด’ ของ ส. บุญเสนอ สมัยที่ยังเป็นนักเรียนมัธยมและประทับใจมากๆ ได้แก่ พลเรือเอกจริง จุลละสุขุม ต่อมาเมื่อเขาเป็นนายทหารเรือแล้วก็มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวพันกับเรือดำน้ำ ดังพลเรือเอกจริงย้อนรำลึกความทรงจำว่า
“…นวนิยายบางเรื่องที่เขียนเล่าถึงชีวิตนักเรียนนายเรือและทหารเรือก็เขียนได้น่าอ่านและใกล้เคียงความจริงมาก ผมจำชื่อเรื่องไม่ได้แต่จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าผู้เขียนใช้ปากกา “น. ปาจิณพยัคฆ์” นวนิยายอีกเรื่องหนึ่งที่ลงในหนังสือพิมพ์รายวัน “ประมวญวัน” คือเรื่อง “สงครามมืด” ผู้ประพันธ์ใช้นามปากกาว่า “ส. บุญเสนอ” เรื่องนี้ลงพิมพ์ประมาณ พ.ศ. 2479 ผมยังเรียนอยู่ในโรงเรียนอำนวยศิลป์ปากคลองตลาด จำได้ว่าพอถึงเวลาพักก็รีบเข้าห้องสมุดหาหนังสือพิมพ์ประมวญวันเพื่ออ่านเรื่อง“สงครามมืด” ต่อทุกวัน วันอาทิตย์ไม่ได้อ่านตอนหนึ่ง รู้สึกเสียดายอย่างยิ่ง ข้อที่น่าคิดก็คือเรื่องนี้เขียนขึ้นก่อนที่ไทยจะมีเรือดำน้ำประมาณหนึ่งปีเศษ”
อ้อ! ผมกระซิบกระซาบหน่อยว่า น. ปาจิณพยัคฆ์ เป็นคนเดียวกันกับนวล ปาจิณพยัคฆ์ หรือพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ ผู้แต่งเพลงชาติไทยที่เราใช้ร้องกันในปัจจุบัน
พลเรือเอกจริงเล่าเสริมต่อว่า “ผมได้อ่านเรื่อง “สงครามมืด” ของ ส.บุญเสนอ ที่พิมพ์เป็นเล่มขนาด 16 หน้ายก เมื่อปี พ.ศ 2480 อีกครั้งหนึ่งในประมาณ พ.ศ. 2490 จึงทราบว่าท่านสมมติเวลาในเรื่องของท่านเป็น “พ.ศ 2483”…” และในทัศนคติของนายทหารเรือผู้นี้ “ส.บุญเสนอ จะเป็นใครก็ตาม ผมถือว่า “ลมปากกา” ของท่านเป็น FAIR WIND ของเรือดำน้ำและทหารเรือไทย…” เพราะเสาว์ บุญเสนอถือเป็นคน “…ที่เขียนนวนิยายส่งเสริมคุณค่าของเรือดำน้ำ ที่คงความเป็นจริงได้มากที่สุด…”
‘สงครามมืด’ ถ่ายทอดเรื่องราวในสมัยที่ประเทศไทยถูกประเทศสมมติชื่อว่า ‘มีลิเซีย’ รุกรานด้วยการส่งเครื่องบินจากเรือบรรทุกเข้าโจมตีเกาะภูเก็ตพร้อมกับยกพลขึ้นบกที่กันตัง ซึ่งในตัวจังหวัดได้มีชาวมีลิเซียเข้ามาอยู่ก่อนแล้วและทำหน้าที่เป็นไส้ศึก กองทัพมีลิเซียยังส่งกำลังพลมายึดฝั่งทะเลอ่าวไทยแถวๆ จันทบุรีและระยอง ส.บุญเสนอได้กำหนดให้ที่เกาะภูเก็ต ทางฝ่ายไทยมีเรือดำน้ำอยู่ 3 ลำ คือ เรือ ส. 3, เรือ ส. 4 และ เรือ ส. 5 รวมถึงเรือยามฝั่งและเรือวางทุ่นระเบิด ตอนกองกำลังทางเรือของชาติมีลิเซียจู่โจม ผู้บังคับหน่วยทหารเรือประจำการภูเก็ตตัดสินใจส่งเรือดำน้ำ 2 ลำไปโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบิน ขณะล่องลำกลางท้องทะล ตัวละครนายเรือเอกเชย กำจร ผู้บังคับหมวดเรือดำน้ำ (กำลังอยู่ในเรือใต้ทะเล) ได้รับข่าวว่ากองทัพข้าศึกยกพลขึ้นบกที่กันตัง จึงสั่งให้เปลี่ยนเป้าหมายไปโจมตีเรือลำเลียงทหารที่จะยกพลขึ้นบกแทนและยิงถล่มจนเรือจม ตอนท้ายเรื่อง ประเทศไทยรอดพ้นจากความพ่ายแพ้เพราะมีกองทัพเรือต่างชาติมาช่วยเหลือ
อ่านเผินๆ เหมือนเป็นเพียงแค่เรื่องอ่านเล่นธรรมดาๆ ครั้นพอฉุกคิดและลองเทียบเคียงบริบททางประวัติศาสตร์ ก็ให้รู้สึกว่าพฤติการณ์ของกองทัพมีลิเซียบางด้านช่างคล้ายๆ กับพฤติการณ์ของกองทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกชายฝั่งทะเลไทยช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 นี่แสดงว่า ส.บุญเสนอไม่เพียงจินตนาการภาพเรือดำน้ำของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 ก่อนเรือดำน้ำไทยจะสร้างเสร็จสิ้นและล่องลำมาถึงกรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2481 ซึ่งเป็นไปได้ว่าเขาอาจจะศึกษาความรู้จากข่าวสารและหนังสือภาษาต่างประเทศเพื่อประกอบการเขียนนิยาย แต่ ส. บุญเสนอยังเสมือนทดลองเสนอภาพสงครามระหว่างไทยกับญี่ปุ่นไว้ล่วงหน้าเป็นเวลาราวๆ 4-5 ปีเลย
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นับแต่กลางทศวรรษ 2480 เรื่อยมา เรือดำน้ำยังพบได้ในวรรณกรรมไทยจำพวกเรื่องอ่านเล่นเชิงวาบหวาม ผมขอยกตัวอย่างงานเขียนของนักเขียนผู้ใช้นามแฝง ‘ลองเดช’ ที่มักลงตีพิมพ์งานเนืองๆในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพฯวารศัพท์
เฉกเช่นในเรื่อง ‘ผลัดกันปล้ำ’ ผู้เขียนนำเอาเรื่องเพศภายใต้บรรยากาศสมรภูมิสงครามเอเชียบูรพามาผูกเข้ากับเรื่องเรือดำน้ำ ลองเดชบรรยายถึงการที่ไทยตกลงเซ็นสัญญาเป็นฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่น ขณะนั้นฝ่ายอังกฤษสร้างเครื่อง ‘แอสติค’ สำเร็จ ซึ่งเครื่องนี้สามารถระบุได้ว่าเรือดำน้ำเข้ามาใกล้เพียงใด และมั่นใจว่าจะปราบเรือดำน้ำเยอรมันราบคาบ นาวาโทโชค สถิระนาวาแห่งราชนาวีไทยประดิษฐ์เครื่องชี้ตำแหน่งเรือดำน้ำได้สำเร็จเช่นกัน ทั้งยังระบุทิศทางชัดเจนยิ่งกว่าของฝ่ายอังกฤษ พอทางญี่ปุ่นทราบข่าวก็ส่งจารชนสาวสวยเข้ามาสืบวิธีการทำเครื่องชี้ตำแหน่งเรือดำน้ำของไทย ตัวละครนามิโกะหรือนารี ศุภเศรษฐี สาวลูกครึ่งผู้มีบิดาเป็นชาวญี่ปุ่น เธอโปรยเสน่ห์เย้ายวนเข้าหานาวาโทโชค
ตอนหนึ่งเมื่อนามิโกะเข้าไปอยู่ในห้องสองต่อสองกับนายทหารเรือ หญิงสาวฉีกเสื้อผ้าออกแล้วบอกว่าถ้านาวาโทโชคไม่ยอมบอกวิธีประดิษฐ์เครื่องจับเรือดำน้ำ หล่อนจะร้องตะโกนว่าถูกเขาปลุกปล้ำ นายทหารเรือจึงยอมบอก วันถัดมาเวลาสี่ทุ่ม นาวาโทโชคกลับจากชมภาพยนตร์ พอถึงบ้านพบว่าแม่สาวนามิโกะรออยู่ พร้อมคว้าปืนขึ้นมาจะยิงเขา เนื่องจากพ่อของหล่อนทดลองทำเครื่องจับเรือดำน้ำตามวิธีของนาวาโทโชค แต่เครื่องระเบิดจนพ่อของหล่อนถึงแก่ความตาย ราชนาวีหนุ่มกระโดดเข้าแย่งปืนแต่สู้ไม่ได้ เขาปราดเข้ากอดรัดฟัดปล้ำหล่อน นายตำรวจตามมาจับกุมนามิโกะทันท่วงที เหตุการณ์เมื่อคืนตอนนามิโกะปล้ำนาวาโทโชคและให้บอกความลับนั้น มีผู้เห็นอกเห็นใจชายหนุ่ม แต่คืนนี้เขาเป็นฝ่ายปล้ำนามิโกะแท้ๆ แต่กลับไม่มีใครเชื่อปากคำจารชนสาวเลย
หาใช่เรื่องแปลกถ้าการนำเสนอเรื่องเรือดำน้ำของไทยยุคแรกๆ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ปลายทศวรรษ 2470 และทศวรรษ 2480 มักมิวายพาดพิงถึงญี่ปุ่นบ่อยๆ เพราะเรือดำน้ำไทยยุคนั้นเป็นผลผลิตมาจากประเทศญี่ปุ่น ยิ่งตอนที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานในเมืองไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่าง พ.ศ.2484-2488 ทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พยายามเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ที่โฆษณาชวนเชื่อความยิ่งใหญ่ของชาติญี่ปุ่นออกมาเป็นภาษาไทย โดยเฉพาะหนังสือชุดมหาสงครามปัจจุบันของสำนักงานข่าวภาพเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่นายทหารเรือแห่ง ‘จักรพัดินาวียี่ปุ่น’ เป็นผู้เรียบเรียงและร่ำลือว่าชั่วเวลาไม่ถึง 7 วันก็จำหน่ายหมด เช่น สงครามเรือดำน้ำ ผลงานของนาวาโทเคนโงะ โตมินะกะ เผยให้เห็นแสนยานุภาพเกรียงไกรของเรือดำน้ำรวมถึงทหารเรือญี่ปุ่นที่ต่อสู้ห้าวหาญกับข้าศึกศัตรูจนได้รับชัยชนะ และ จิตไจนักรบ ผลงานของนาวาเอกฮิราอิเดะ ที่สะท้อนให้เห็นว่าหัวใจนักรบของทหารญี่ปุ่นเป็นเช่นไร เหตุไฉนสามารถเอาชนะศัตรูได้เสมอ
กระนั้น จุดที่ผมมองว่าน่าตรึกตรองจากการอ่านวรรณกรรมที่กล่าวถึงเรือดำน้ำ ทั้ง ‘สงครามมืด’ ของ ส.บุญเสนอ และ ‘ผลัดกันปล้ำ’ ของ ลองเดช คือเหมือนๆ น้ำเสียงผู้ประพันธ์ไม่ค่อยชี้ชวนให้ฝ่ายญี่ปุ่นเป็น ‘ฮีโร่’ แต่กลับค่อนข้างผูกเรื่องให้ดูเป็น ‘ตัวร้าย’ ควรอย่างยิ่งที่จะขะมักเขม้นค้นคว้าหลักฐานมาสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อจะได้แลเห็นมิติที่ขยับขยายประเด็นนี้ต่อไป
ปกหนังสือ จิตไจนักรบ ของนาวาเอกฮิราอิเดะ
วรรณกรรมไทยที่ดำเนินเรื่องราวโดยฉากและตัวละครพัวพันกับเรือดำน้ำ จะว่าไปยังมิค่อยพบงานศึกษาเท่าไหร่นักในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์วรรณกรรม ผมน่าจะปลื้มเปรมครามครันหากการทดลองแผ้วถางหนทางครานี้จะมีเพื่อนมาร่วมเดินเคียงสืบค้นในวันหนึ่งข้างหน้า
เอกสารอ้างอิง
เคนโง๊ะ โตมินะกะ, นาวาโท. สงครามเรือดำน้ำ. พระนคร : โรงพิมพ์ข่าวภาพ, 2486
ชูศรี กาลวันตวานิช. พัฒนาการของหนังสือปกอ่อนในประเทศไทย. ปริญญานิพนธ์อักษรศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาบรรณารักษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517
ณัฐพล ใจจริง. ตามรอยอาทิตย์อุทัย แผนสร้างชาติไทยสมัยคณะราษฎร. กรุงเทพฯ: มติชน, 2563
ลองเดช. รวมเรื่องสนุกของลองเดช. พระนคร: สำนักงานกรุงเทพฯ วารศัพท์, 2489
สาวิตรี เจริญพงศ์. สัมพันธ์สยามในนามภารต บทบาทของรพินทรนาถ ฐากูร สวามีสัตยานันทปุรี
และสุภาส จันทร โบส ในสายสัมพันธ์ไทย–อินเดีย.กรุงเทพฯ: ศูนย์อินเดียศึกษาแห่ง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2557
ส. บุญเสนอ. สงครามมืด. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2480
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือเอก จริง จุลละสุขุม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว ณ เมรุวัด
มกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2539. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์,
2539
อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร ต.ช., ต.จ.ว., ร.ด.ม., อ.ร.
(บุญมี พันธุมนาวิน) ณ ฌาปนสถานของกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม
- กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรมสารบรรณทหารเรือ, 2517
ฮิราอิเด๊ะ, นาวาเอก. จิตไจนักรบ. พระนคร : โรงพิมพ์ข่าวภาพ, 2486