แม้จะยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นว่าตกลง teaser กับ trailer นั้นแตกต่างกันอย่างไรแน่ แต่การมีอยู่ของ ‘ตัวอย่างหนัง’ มีความสำคัญแน่ๆ ในความเป็นปราการด่านแรกๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อตั๋วเข้าไปดูหนังสักเรื่อง แถมดูสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคสมัยที่ค่าตั๋วแพงกระฉูด และช่องทางการเสพสื่อเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็ว
ในฐานะที่ขาหนึ่งในการประกอบอาชีพของตัวเองคือการเป็นคนตัดต่อ และถ้าให้แยกย่อยไปกว่านั้นคือมีขาของการเป็นคนตัดต่อตัวอย่างหนังด้วย ก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นงานในสายตัดต่อที่ท้าทายสุดๆ เพราะไม่ใช่แค่การตัดต่อตามสคริปต์ แต่คือการประสานงานกันของทั้งทักษะการสรุปความ, รื้อโครงสร้าง, ประกอบมันกลับไปใหม่, คิดก๊อปปี้ฯ ให้ฮุค และหาจุดขายให้หนังน่าดู
นี่จึงไม่ใช่งานที่ต้องใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว เพราะอย่าลืมว่าปลายทางคือเรากำลังจะขายของ ดังนั้นวิธีคิดในเชิงการตลาดก็ถูกเรียกร้องให้คนทำงานนี้มีมากพอๆ กัน
อันที่จริงแล้ว ความแตกต่างระหว่าง teaser กับ trailer คือ teaser เป็นตัวอย่างสั้นๆ ที่มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเล่าคอนเซ็ปต์คร่าวๆ และประกาศตัวว่ากำลังจะมีหนังเรื่องนี้ออกมา ส่วน trailer คือตัวอย่างขนาดยาวที่เล่าเรื่องย่อของหนังอย่างที่เราคุ้นเคยกัน แต่ในตอนนี้
เส้นแบ่งของทั้งสองสิ่งเริ่มพร่าเลือนขึ้นทุกที หนังหนึ่งเรื่องสามารถตัดตัวอย่างออกมาได้เป็นล้านแบบ วิธีคิดในการทำงานจึงเลื่อนไหลไปได้เรื่อยๆ ตามยุคสมัย จากที่เคยเล่าตัวอย่างกันแบบฮาร์ดเซลพอๆ กับโฆษณาโทนาฟ ก็เปลี่ยนกลายเป็นการเล่าเรื่องย่อที่มีลีลาเชิงโครงสร้างมากขึ้น
จนมาถึงล่าสุดที่นิยม ‘ตัดหลอก’ กันในระดับที่ไม่ต้องใช้ฟุตเทจในหนังอย่างเดียวแล้ว ใช้ซีนที่ตัดทิ้งออกไปในหนังจริงด้วยก็ได้ หรือถ้ากลัวสปอยล์นักก็ทำซีจีใหม่ให้เข้าใจกันคนละแบบกับหนังจริงไปเลย!
แต่จากที่เคยสัมผัส หลายครั้งการใช้ฟุตเทจหรือฉากตอนที่ไม่ได้มีอยู่ในเนื้อหนังจริงมาใส่ในตัวอย่าง ก็ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจให้เป็นแบบนั้นแต่แรกเสมอไป หลายครั้งที่ต้องเริ่มตัดต่อตัวอย่างโดยที่ตัวหนังเต็มยังตัดต่อไม่เสร็จ เนื้อหนังในเวอร์ชั่นที่คนตัดตัวอย่างได้รับมาจึงอาจยังไม่ใช่เวอร์ชั่นสุดท้าย – สามารถถูกเอาไปตัดให้สั้นลงได้อีก หรือเปลี่ยนบางช่วงไปใช้เทคอื่นแทนได้ – รู้ตัวอีกทีช็อตที่ใช้ในตัวอย่างก็อันตรธานไปจากหนังจริงแล้ว อันนี้ทางเราก็ไม่ได้ตั้งใจ
การตัดตัวอย่างแบบสับขาหลอกคนดูก็เป็นสิ่งที่ตัวเองตั้งคำถามมาโดยตลอดเช่นกัน เพราะแม้จะส่งผลดีในแง่ของการมอบประสบการณ์สดใหม่ไม่ซ้ำให้กับผู้ชมยามที่เข้าไปดูหนังเต็ม แต่ก็เป็นงานยากยิ่งที่จะสร้างสมดุลระหว่างการหลอกกับความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวหนังเป็นจริงๆ จนถึงกับต้องมานั่งนิยามกันใหม่ว่า ‘การหลอก’ ‘การโกง’ และ ‘การเล่าไม่หมด’ นั้นแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้ตัวเองปิดจ๊อบไปได้อย่างสวยงาม
ซึ่งทั้งหมดก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาว่าตกลงแล้วเราต้องเล่าอะไรแค่ไหนกันแน่วะ? ใส่ประโยคนี้เข้ามาเพิ่มแล้วคนจะเดาตอนจบได้ไหม? โอเค งั้นเราเอาประโยคนี้ไปวางอยู่กับภาพอีกช่วงให้กลายเป็นความหมายใหม่ดีกว่า แต่เดี๋ยว! พอเปลี่ยนล็อกนี้ให้กลายเป็นหลอกแบบนี้ ไอ้ครึ่งหลังที่ทำไปแล้วไม่สอดคล้องกันอีก จะรื้อข้างหลังใหม่หรือคิดก๊อปปี้ฯ มาช่วยเปลี่ยนประเด็นแบบไหนดีกว่ากัน? โว้ย! – จบลงด้วยการเดินออกไปซื้อกาแฟแล้วเถียงกับตัวเองต่อไป
แต่ภายใต้ภาวะ burn Out คิดไม่ออกบอกไม่ถูก ก็ยังคงมีท่าไม้ตายรอเราอยู่ ที่หากกดสูตรติดปุ๊บ มันจะกลายเป็นงานที่พอไปวัดไปวาได้ออกมาทันที อย่างที่น่าจะเคยเห็นกันอยู่บ่อยๆ เวลาเราดูตัวอย่างหนัง เช่น…
- ตั้งคำถามกับคนดูไปเยอะๆ ดึงประสบการณ์ร่วมของเขาออกมาให้ได้…
“คุณเคยไหม…ที่จะแอบรักใครสักคน”
“คุณเคยไหม…ต้องทำใจกับการสูญเสีย”
“คุณเคยไหม…รู้สึกว่ามีอะไรจับตามองอยู่”
บางทีตัวอย่างเรื่องเดียวถามคำถามเยอะยิ่งกว่าเกมโชว์ อันนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน หรือบางทียัดเยียดกันมาโต้งๆ เลยก็ได้ว่า “ทุกที่มีคนตาย” จบ ทุกคนต้องกลัว ทุกคนกลัวสิ กลัว!
- เริ่มต้นไม่ถูก ไม่รู้จะทำยังไงดี เราเอาภาพตัวละครหลักมาวางแล้วพากย์ทับไปเลยแล้วกัน “สวัสดีครับ ผมชื่อ… ชีวิตของผมนั้น…” โอเค จบ ไปต่อได้แล้ว
- โยนคำถามใหญ่ลงไปสักอย่างตอนช่วงกลาง แล้วหลังจากนั้นก็ยำภาพประกอบเพลงรัวๆๆๆ
- ตัวอย่างหนังตลก ถ้ากลัวจบไม่อิ่มพอ หลังขึ้นชื่อเรื่อง ต่อด้วยมุกแถมท้าย 1 มุก ก่อนขึ้นวันฉาย
เราก็ไม่ได้รังเกียจท่าบังคับอะไรเหล่านี้เลย แถมยังใช้กันอยู่เป็นประจำด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างมาตรฐานที่ว่า คือลีลาและวิธีการใส่รายละเอียดภายในนั้นว่าจะหาความสดใหม่ได้แค่ไหน – อย่างที่กำลังเป็นเทรนด์ในยุคสมัยนี้คือการเล่นท่าให้ภาพ เสียง และดนตรีประกอบสอดคล้องหรือล้อไปในบีทเดียวกัน – และหากมีโอกาสทำได้ การหาวิธีฉีกตัวเองออกจากโครงสร้างเหล่านี้โดยที่งานยังน่าสนใจอยู่ก็เป็นสิ่งที่พึงทำ
แต่ก็ใช่ว่าเราหาทางฉีกแล้วผลลัพธ์จะออกมาเวิร์กเสมอไป เพราะปัจจัยอันยิ่งใหญ่ที่สุดคือหนังแต่ละเรื่องมีเงื่อนไข มีข้อจำกัดว่าเราจะทำอะไรกับมันได้มากน้อยแค่ไหน และความลำบากใจที่สุดในอาชีพคนตัดตัวอย่าง คือการที่เราดูตัวหนังแล้วรู้สึกว่ามันแย่มาก แย่จนไม่อยากให้คนได้ดูหนังเรื่องนี้ พี่เจ็บปวดมาแล้ว แต่เราดันต้องตัดตัวอย่างออกมาให้ดีและน่าดูเพื่อให้คนอยากเข้าไปดู จนเกิดเป็นภาวะย้อนแย้งสูงมากจนอยากร้องไห้
ฉะนั้น นอกเหนือไปจากทักษะต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว การปิดตาลงข้างหนึ่งในบางวาระ แล้วมองหาแง่งามในสิ่งที่อาจดูเหมือนไม่มีอะไรเลยก็เป็นสิ่งที่สำคัญเหมือนกัน หรืออาจจะสำคัญที่สุดด้วย เพราะอย่าลืมว่าเรากำลังเดินไต่เส้นด้ายบางๆ ระหว่างศิลปะกับโฆษณา ดังนั้นขอจงมุ่งหน้าเพื่อรอรับเช็คช่วงปลายเดือนกันต่อไป
FYI
- ในระยะหลังๆ การทำ Teaser ในความหมายดั้งเดิมจริงๆ คือการเรียกน้ำย่อย ประกาศเพียงแค่ว่ากำลังจะมีหนังเรื่องนี้ออกมาเพียงแค่สั้นๆ ไม่ต้องเล่าเรื่องเยอะ นั้นได้รับความนิยมน้อยลง อาจเป็นเพราะมีช่องทางสื่ออื่นๆ ทำหน้าที่นั้นแทนมากขึ้นแล้ว ดังนั้น Teaser ในยุคสมัยนี้จึงเล่าเรื่องมากขึ้นจนบางครั้งมีความทับซ้อนกับ Trailer อยู่พอสมควร หรือหนังหลายเรื่องก็เลือกที่จะไม่มี Teaser ไปเลย
- คำว่า Teaser หรือ ‘ทีเซอร์’ มีที่มีจากคำว่า Tease หรือการ ‘ยั่วเย้า’ กระตุ้นความสนใจของคนแบบหยอดนิดหยอดหน่อย ส่วน Trailer อ่านว่า ‘เทรลเลอร์’ มีที่มาการเรียกจากรถพ่วงหรือรถเทรลเลอร์ เปรียบเสมือนว่าเทรลเลอร์หนังคือส่วนที่พ่วงต่อมาด้วยในการฉายหนังเรื่องหนึ่ง
- ส่วน Thriller อ่านว่า ‘ทริลเลอร์’ มีความหมายคือหนังแนวตื่นเต้นระทึกขวัญ จึงอยากให้ชาวเน็ตที่ใช้ผิดเข้าใจโดยทั่วกันเสียทีว่า ‘เทรลเลอร์’ กับ ‘ทริลเลอร์’ คือคนละอย่างกันนะครับ ขอร้อง ไหว้ละครับ
- ความยาวของ Trailer ณ สมัยนี้โดยเฉลี่ยจะมีความยาวไม่เกิน 30 นาที โดยถือเป็น ‘ข้อบังคับที่รู้กัน’ ระหว่างค่ายหนังกับโรงหนังในไทยด้วยว่าหากยาวเกินไปกว่านี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์