สเวตลานา อีโอซีฟอฟนา สตาลีนา ลูกคนสุดท้องและลูกสาวคนเดียวของ นาเดชดา อัลลีลูเยวา ภรรยาคนที่สองของ โจเซฟ สตาลิน หนึ่งในผู้นำที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์โซเวียตกับการเสียชีวิตของพลเรือนหลายล้านคนในยุคสมัยของเขา
การเป็นลูกสาวของสตาลินใช่ว่าจะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่นดั่งกลีบกุหลาบในเครมลิน ถึงแม้สตาลินจะเรียกเธอว่า “little sparrow” หรือ “นกกระจอกตัวน้อย” และมอบของขวัญพร้อมความสบายให้เธอมากมาย แต่ภายใต้สิ่งเหล่านั้นกลับมีโศกนาฏกรรมและความขัดแย้งในครอบครัวมากมายที่ครอบงำอยู่
เมื่อสเวตลานาอายุได้ 6 ขวบ เธอได้รับแจ้งว่าแม่ของเธอเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบ แต่สุดท้ายแล้วเธอก็มารู้ภายหลังว่าเป็นการฆ่าตัวตายจากการทะเลาะกับสตาลินในงานเลี้ยงอาหารค่ำฉลอง 15 ปี การปฏิวัติเดือนตุลาคม หลังจากนั้นไม่นาน สตาลินได้สั่งให้ทหารจับกุมป้า ลุง และอาอันเป็นที่รักของสเวตลานา ในข้อหาฐานเป็น ‘ศัตรูของประชาชน’ ในช่วงที่เรียกว่า ‘The Great Purge’ หรือ ‘Great Terror’
The Great Purge คือนโยบายทางการเมืองแสนโหดร้ายนำโดยจอมเผด็จการโซเวียต โจเซฟ สตาลิน เพื่อกำจัดสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยของพรรคคอมมิวนิสต์และใครก็ตามที่เขาคิดว่าเป็นภัยคุกคาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่ามีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 750,000 คน ในระหว่างการกวาดล้างครั้งใหญ่นี้ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างราวปี ค.ศ.1936–1938 และผู้คนอีกกว่าล้านคนถูกบังคับส่งไปยังค่ายแรงงาน การดำเนินการที่โหดเหี้ยมและนองเลือดนี้ทำให้เกิดความหวาดกลัวและส่งผลกระทบไปทั่วประเทศเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายแล้ว ป้า ลุง และอาของสเวตลานา ถูกประหารชีวิตไม่นานหลังจากถูกคุมขัง สมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวรวมไปถึงเพื่อนๆ ของเธอหลายคนถูกคุมขังเป็นเวลาหลายปี
ส่วนพี่ชายแท้ๆ ของสเวตลานาเสียชีวิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรัง พี่ชายต่างมารดาของเธออีกคนก็ถูกจับโดยพวกนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อมาถูกประหารชีวิต เพราะสตาลินปฏิเสธที่จะตอบรับคำเสนอแลกเปลี่ยนนักโทษระหว่างลูกชายของเขาที่ถูกจับ กับนายพลของเยอรมันที่สตาลินจับได้
ในช่วงปี ค.ศ.1941 ระหว่างการปะทุของสงครามโลกครั้งที่ 2 สตาลินกลับยังสามารถหาเวลามาจัดการกับทุกช่วงขณะในชีวิตการงานและชีวิตด้านความรักของสเวตลานาได้ สตาลินสั่งห้ามไม่ให้เธอไปเรียนวิชาวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยมอสโกอีกต่อไป หลังจากพบว่าเธอนั้นแอบไปมีแฟนชาวยิวที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ขณะไปเรียนอยู่ที่นั่น แน่นอนว่าสตาลินคงไม่ทำเพียงแค่นั้น เขาตบเข้าที่หน้าเธอสองครั้ง ความเจ็บปวดนี้หนักหนาสาหัสน้อยกว่าแฟนของเธอมาก เพราะเขาถูกลงโทษด้วยการจับกุมตัวไปใช้แรงงานยังค่ายแรงงานในแถบอาร์กติกอันหนาวเหน็บ
สเวตลานาพบรักครั้งที่สองกับหนุ่มชาวยิวคนใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นในวิทยาลัย ครั้งนี้เธอต้องการแต่งงานกับเขาอย่างจริงจัง สเวตลานารบเร้าพ่อของตนเองจนเขายอมอนุญาตให้ทั้งสองแต่งงานกันโดยไม่เต็มใจนัก เพราะข้อแม้ของสตาลินคือจะไม่มีวันเจอหน้ากับสามีของลูกตนเองเป็นอันขาด แต่สุดท้ายแล้วความสัมพันธ์นี้ก็จบลงด้วยการหย่าร้าง
ไม่กี่ปีต่อมา สเวตลานาตกลงปลงใจแต่งงานอีกครั้งกับลูกชายของเพื่อนที่สนิทที่สุดคนหนึ่งของสตาลิน แม้ครั้งนี้สตาลินจะปลาบปลื้มและดีใจเพียงใด แต่มันก็จบด้วยการหย่าร้างที่ไม่สวยงามเช่นเดียวกับครั้งแรก เหตุการณ์นี้สร้างความอับอายให้เธอเป็นอย่างมาก สเวตลานาตัดสินใจหนีจากอดีตของตนเองด้วยการเปลี่ยนนามสกุลจากสตาลีนาเป็น อัลลีลูเยวา ตามนามสกุลเดิมของแม่ของเธอ
หลังจากที่สตาลินเสียชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1953 ด้วยวัย 74 ปี รัฐบาลยังคงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวทุกอย่างของสเวตลานาไม่ต่างอะไรกับพ่อของเธอเอง เช่น การปฏิเสธที่จะให้เธอนั้นไปแต่งงานกับ บราเจชซ์ ซิงห์ คอมมิวนิสต์ชาวอินเดียที่พบรักกันที่กรุงมอสโกในปี ค.ศ.1960
ทั้งสองรักกันโดยมิอาจแต่งงานได้เป็นเวลา 6 ปี ซิงห์ก็เสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจในปี ค.ศ.1966 ทางการโซเวียตจึงยอมให้สเวตลานาที่เคยเดินทางออกนอกประเทศเพียงครั้งเดียว เดินทางไปยังประเทศอินเดีย เพื่อนำอัฐิของคนรักกลับไปโปรยลงในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ยังบ้านเกิดของเขา
เย็นวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ.1967 เพียงสองวันก่อนเที่ยวบินกลับไปยังมอสโกตามกำหนดของสเวตลานาที่ให้คำมั่นสัญญากับรัฐบาลว่าจะกลับตามกรอบเวลา เธอกลับตัดสินใจว่าพอแล้วกับชีวิตแบบนี้ และนั่งแท็กซี่จากเกสต์เฮาส์ของสถานทูตโซเวียตในกรุงนิวเดลีไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกาที่อยู่ใกล้เคียงกัน เธอเดินเข้าไปยื่นคำร้องขอลี้ภัยทางการเมืองอย่างเป็นทางการกับสหรัฐอเมริกา
สเวตลานาบอกกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาว่าเธอเป็นลูกสาวของโจเซฟ สตาลิน แต่กลับไม่มีใครเชื่อเธอ นักการทูตมากมายพยายามสืบหาความจริงว่าเธอนั้นเป็นลูกสาวของสตาลินจริงหรือไม่ พวกเขาตรวจสอบกับวอชิงตันรวมถึงซีไอเอ แต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนที่มีประวัติแม้แต่นิดเดียวของลูกสาวเผด็จการประเทศคู่แข่งคู่แค้น
แต่อย่างไรก็ตามสถานทูตก็ตัดสินใจที่จะช่วยเหลือเธออยู่ดี โดยประทับตราหนังสือเดินทางของสเวตลานาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวและพาเธอไปที่สนามบินเพื่อขึ้นเที่ยวบินที่เร็วที่สุดที่พาเธอหนีไปยังประเทศอื่นเพื่อหลบหนีทางการโซเวียตก่อน—ซึ่งกลับกลายเป็นกรุงโรม ประเทศอิตาลี
เวลาผ่านไปไม่กี่วันโซเวียตก็รู้ตัวว่าสเวตลานาได้หายตัวไป และมันก็สายเกินแล้วไปที่จะนำตัวเธอกลับมายังโซเวียต พวกเขาไม่รู้ว่าเธอนั้นหายไปที่ประเทศไหน
สเวตลานาพยายามซ่อนตัวด้วยการเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่หยุด เธอเดินทางจากประเทศอิตาลีไปยังเมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพื่อรอการรับอนุญาตให้เข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการ พวกเขายังคงถกเถียงกันว่าควรให้เธอเข้ามาหรือไม่ บางคนไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้เธอลี้ภัยเข้ามายังสหรัฐอเมริกา เพราะกลัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียตจะเลวร้ายลงถึงขั้นแตกหัก
แต่สุดท้ายแล้ว ประธานาธิบดี ลินดอน บี. จอห์นสัน แห่งสหรัฐอเมริกาก็ตัดสินใจรับเธอเข้ามาด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม วันที่ 21 เมษายน ค.ศ.1967 เครื่องบินสเวตลานาก็ได้เดินทางมาถึงสนามบินนานาชาติ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ที่กรุงนิวยอร์ก นักข่าวและสื่อมวลชนจำนวนมากมารอทำข่าวการลี้ภัยในครั้งนี้แม้ว่าทางการจะปกปิดเรื่องแค่ไหนก็ตาม
สามวันต่อมาสเวตลานาตัดสินใจแถลงความรู้สึกของเธอต่อสื่อมวลชน
เธอเริ่มต้นด้วยการประณามว่าพ่อของเธอว่าเป็น
“สัตว์ประหลาดศีลธรรมและจิตวิญญาณ”
และเผาหนังสือเดินทางโซเวียตโชว์ต่อหน้าสาธารณะ
ความรู้สึกของสเวตลานาในตอนแรกหลังจากลี้ภัยมาเธอบอกว่าราวกับ “บินได้อย่างอิสระเหมือนนก” ชีวิตในสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะเหมาะกับเธอ เธอกลายเป็นพลเมืองสหรัฐอเมริกา และร่ำรวยจากการตีพิมพ์หนังสือเรื่องราวความทรงจำของเธอและพ่อเป็นจำนวนสองเล่ม
สเวตลานาเปลี่ยนชื่อของตนเองเป็น ลานา ปีเตอร์ส ที่ฟังดูอเมริกันมากขึ้น และแต่งงานในประเทศสหรัฐอเมริกาครั้งแรกกับเพื่อนร่วมงานของ แฟรงก์ ลอยด์ ไรต์ สถาปนิกคนดังคนหนึ่งของโลกในศตวรรษที่ 20 แน่นอนว่ามันไม่ต่างอะไรกับการแต่งงานครั้งอื่นๆ ก่อนหน้านี้ของเธอ ที่จบลงอย่างรวดเร็วด้วยการหย่าร้าง
วันเวลาผ่านไป สาธารณชนก็เริ่มลดความสนใจในตัวเธอ อาชีพงานเขียนของลานาเริ่มแย่ลงเรื่อยๆ รวมถึงเธอยังใช้ทรัพย์สมบัติที่เคยมีไปจนหมดสิ้น การย้ายถิ่นฐานเฉลี่ยปีละหนึ่งถึงสองครั้งทำให้เธอไม่ค่อยมีเพื่อน เธอย้ายกลับไปกลับมาระหว่างรัฐแอริโซนา นิวเจอร์ซีย์ แคลิฟอร์เนีย และวิสคอนซิน รวมถึงหลายประเทศในยุโรป
จนในปี ค.ศ.1984 ลานาได้ตัดสินใจย้ายกลับไปที่สหภาพโซเวียตโดยให้เหตุผลว่าเธอไม่เคยรู้จักอิสรภาพทางตะวันตกเลยแม้แต่วันเดียว และอยู่ในฐานะเป็นสัตว์เลี้ยงของซีไอเอ
สองปีถัดมาเท่านั้น ลานากลับหักหลังสหภาพโซเวียตอีกครั้ง เธอเดินทางกลับมายังสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1986 และปฏิเสธคำกล่าวด้านลบของสหรัฐอเมริกาที่เธอเคยพูดไปครั้งก่อนทั้งหมด ลานาใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกาจนถึงวาระสุดท้ายของเธอ หลังจากถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ ลานากลับตัดสินใจใช้ชีวิตในช่วงปีสุดท้ายของเธอที่บ้านพักคนชราในรัฐวิสคอนซินถึงแม้เธอจะมีลูกถึงสามคนในช่วงชีวิตการแต่งงานสามครั้ง ก่อนที่จะเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวด้วยวัย 85 ปี ในปี ค.ศ.2011
“คุณไม่สามารถเสียใจกับชะตากรรมของคุณ แม้ว่าฉันจะเสียใจที่แม่ของฉันไม่ได้แต่งงานกับช่างไม้”—สเวตลานา อีโอซีฟอฟนา อีลลีลูเยวา
อ้างอิงข้อมูลจาก