เมื่อปีที่แล้ว กองทัพไทยเพิ่งจะเพิ่มแสนยานุภาพในการรบของตนเองด้วยการไปถอยเอา ‘รถถัง’ ป้ายแดง จากประเทศจีนมา 28 คัน แต่แค่นั้นขาช้อประดับพี่ไทยจะไปหนำใจ เอ๊ย! จะเพียงพอต่อการป้องกันอธิปไตยของชาติอะไรล่ะครับ ปีนี้ก็เลยจะถอยอีก 21 คันกันแบบชิลๆ กระเป๋าสตางค์กระทรวงเดียวในประเทศที่มีงบลับอย่างกระทรวงต้นสังกัดของกองทัพไทย ท่ามกลางสารพัดเสียงสงสัยจากทั้งในและต่างประเทศว่า จะไปซื้อมาทำไหมมมม???
บ้างก็สงสัยว่า รถถังน่ะมันเป็นอาวุธสงครามที่เอาท์เอามากๆ สำหรับสงครามของโลกยุคดิจิทัล ในปัจจุบัน ที่เงื่อนไขของชัยชนะไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบุกฝ่าห่ากระสุนในสนามเพลาะได้หรือไม่ เหมือนกับสมรภูมิยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกต่อไปแล้ว การโจมตีทางอากาศ หรือขีปนาวุธต่างๆ ต่างหากล่ะ ที่สร้างแรงกดดันให้กับชาติคู่สงครามอย่างได้ผลมากยิ่งกว่า
บ้างก็งงๆ กันว่า จะไปซื้อรถถังจากชาติที่ปลอมได้แม้กระทั่ง ไข่ไก่ แถมยังโด่งดังในเรื่องของก๊อปเสิ่นเจิ้น มากกว่าที่จะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรเทคโนโลยีล้ำๆ มาทำไมกัน?
ที่สำคัญคือ ไทยเราเคยซื้อรถถังมาจากจีนแล้วนะครับ แถมไม่ได้ซื้อแค่หลักไม่ถึงครึ่งร้อยคันอย่างคราวนี้ซะด้วย เพราะเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วนั้น พี่ไทยเคยช้อปหนักถึงขนาดไปกวาดเอา รถถัง Type69 จากดินแดนต้นกำเนิดของหมีแพนด้ามาราว 100 คัน เรียกได้ว่า กวาดหมดจนไม่เหลือทิ้งไว้ในโชว์รูมซักคันเลยทีเดียว
แต่ก็เท่านั้นแหละครับ ซื้อมาแล้วก็ไม่มีสมรภูมิสงครามให้รบ เลยต้องจอดตายอยู่อย่างเหงาๆ เป็นหนังของหว่องกาไวกันทั้งกองพัน พร้อมกับสารพัดข้อถากถางจากชาวท่าแซะในทำนองที่ว่า ไม่รู้ว่ารถถังพวกนี้จอดตายเพราะไม่ได้ใช้ หรือเพราะใช้ไม่ได้กันแน่? เพราะว่ามีการนำรถถังส่วนหนึ่งที่ไปเหมาเข่งจากพี่จีนล็อตนี้นี่แหละ ไปทิ้งลงทะเลเพื่อทำเป็นปะการังเทียมมันซะอย่างนั้น
และถึงจะเป็นอย่างนั้นก็เถอะ กองทัพก็อาจจะไม่ได้คิดเห็นเหมือนอย่างพลเมืองชาวท่าแซะทั้งหลายก็ได้ เพราะอันที่จริงแล้ว รถถังนั้นก็มีบทบาท ที่สร้างเกียรติภูมิให้กับประวัติศาสตร์การรบของกองทัพไทย อยู่ด้วยเหมือนกัน
ไทยเราก็มีการนำรถถังมาใช้ในการสงครามครั้งแรก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่รถถังเป็นสุดยอดเครื่องจักรในการสงครามนั่นเลยนะครับ สมรภูมิในครั้งนั้นก็คือ สมรภูมิบ้านพร้าว ที่ระเบิดศึกกันเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2484 นู่นเลย
สมรภูมิบ้านพร้าวนับได้ว่าเป็นสงครามรถถัง (หมายถึง สงครามที่ทั้งสองฝ่ายใช้รถถังเข้าห้ำหั่นกัน) ครั้งแรกๆ ของไทย แถมคู่สงครามก็ไม่ใช่ไก่กาอาราเล่มาจากไหน เพราะเป็นกองกำลังทหารต่างชาติของฝรั่งเศส และผลการศึกในครั้งนั้น ไทยเป็นฝ่ายชนะครับ แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าผลการศึกก็คือ การรบในครั้งนี้กลับไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมากนักไปแบบงงๆ ทั้งที่เรารบชนะชาติมหาอำนาจของโลก อย่างฝรั่งเศส ที่ควรจะเป็นเรื่องให้โม้กันสนั่นทุ่งเลยนะเฟร้ยย!
ท่านผู้นำของไทยในขณะนั้นคือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ ที่มี เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นหัวหอกสำคัญ แถมยังยอมรับข้อเสนอของญี่ปุ่นที่ขอขึ้นฝั่ง และใช้ดินแดนประเทศไทยเป็นทางผ่าน ไปพม่า และอินเดียอันเป็นที่มาของเรื่องชวนรันทดอย่าง การสร้างทางรถไฟสายมรณะอันโด่งดัง ซึ่งใครหลายคนก็น่าจะรู้จักกันดี
แต่ที่ใครหลายคนอาจจะไม่รู้ก็คือว่า หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่านผู้นำของประเทศ ณ ขณะจิตนั้นอย่าง จอมพล ป. ตัดสินใจให้ทัพของญี่ปุ่นขึ้นฝั่งก็คือการที่ญี่ปุ่นเสนอว่า จะยกเขมรส่วนใน 4 จังหวัดคือ เสียมเรียบ (หรือที่คนไทยเรียกอย่างยอมไม่ได้ว่า เสียมราฐ) พระตะบอง โพธิสัตว์ และศรีโสภณ ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนในรัฐอินโดจีนในอารักขาของฝรั่งเศสให้กับไทย ถ้าไทยยอมให้กองทัพญี่ปุ่นขึ้นบก
และนี่จึงเป็นเหตุผลให้กองทัพไทยรุกเข้าไปในดินแดนรัฐอินโดจีนในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งก็รวมถึงบริเวณที่เกิดการรบกันขึ้นคือ บ้านพร้าว (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา) นั่นแหละ กองทัพไทยในครั้งนั้นจึงถูกกองกำลังทหารต่างชาติของฝรั่งเศสรุกเข้าใส่ ด้วยโทษฐานที่กองทัพไทยไปรุกล้ำอธิปไตยของเขา ซึ่งเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่น และฝ่ายอักษะทั้งหลาย รวมถึงกองทัพภายใต้คำสั่งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นะครับ
แต่ใครจะสน และฮูจะแคร์กันล่ะ ในเมื่อที่จริงแล้ว ฝรั่งเศสเองคงจะไม่พร้อมรบเท่าไรนัก เนื่องจากแผ่นดินแม่ของตนเองก็งอมพระรามไปเรียบร้อยแล้วจากการรุกของพวกนาซี จนฝรั่งเศสต้องไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ญี่ปุ่นเองก็น่าจะรู้ดีจึงได้กล้าเสนอเขมรส่วนในทั้ง 4 จังหวัดให้กับรัฐบาลไทยในขณะนั้น ส่วนท่านผู้นำของเราก็น่าจะมองเกมออก แถมยังมีพนักพิงนุ่มๆ อย่างกองทัพญี่ปุ่นในขณะนั้น (ซึ่งจำกัดความสั้นๆ ได้แค่ว่า ‘โหดสัส!’) จึงได้รุกเข้าไปเอาเขมรส่วนในทั้ง 4 จังหวัดมาเป็นของไทย จนเกิดสมรภูมิสงครามรถถังขึ้นที่บ้านพร้าว แถมเมื่อได้เสียมเรียบมาผนวกเข้าเป็นดินแดนของไทย ก็ยังเปลี่ยนชื่อจังหวัดจาก ‘เสียมเรียบ’ มาเป็น ‘พิบูลสงคราม’ (เอิ่มม คงไม่ต้องบอกนะครับว่า เปลี่ยนเป็นชื่อจังหวัดนี้ตามนามสกุลใคร?)
ผมไม่แน่ใจนักว่า คนไทยส่วนใหญ่ในยุคนั้นจะรู้สึกอย่างไรกับการที่ไทยเรา สามารถไปผนวกเอาดินแดนเขมรส่วนในทั้ง 4 จังหวัดเข้ามาเป็นของตนเองได้ในครั้งนั้น
แต่ในแง่หนึ่งชัยชนะในครั้งนั้นจึงเป็นชัยชนะในนามของฝ่ายอักษะ ที่คนไทยในยุคหลังจากนั้นมา คงจะไม่อยากจดจำมันมากนัก เพราะเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งญี่ปุ่น นาซี และฝ่ายอักษะ ที่จอมพล ป. ท่านเข้าร่วมนั้น เป็นฝ่ายแพ้สงครามนะครับ
และสังคมไทยก็ขยันที่จะผลิตซ้ำสารพัดเหตุผลต่างๆ นานาว่า ทำไมเราจึงไม่ได้แพ้สงคราม ที่จริงแล้วเราอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร คนไทยส่วนนึงจัดตั้งองค์กรเสรีไทยกันอย่างลับๆ และอีกสารพัดบลาๆๆๆ ในขณะเดียวกันพยายามทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หรือลืมอะไรที่รัฐไทยเคยกระทำในนามของฝ่ายอักษะนั่นเอง
เกียรติประวัติจากการรบด้วยรถถังที่สมรภูมิบ้านพร้าวในครั้งนั้น ก็เลยกลายเป็นเรื่องที่โม้กันได้ไม่ค่อยจะเต็มปากเท่าไหร่นัก พอๆ กับอีกหลายวีรกรรมเกี่ยวกับรถถังไทยที่ใช้กับคนในชาติเดียวกันเอง มากกว่าที่จะใช้ปกป้องอธิปไตยจากชนชาติอื่น จนไม่ค่อยน่าหยิบยกมาพูดถึงกันเท่าไหร่นัก
ดังนั้นถ้าจะเกิด ‘ปมรถถัง’ (Tank complex) ขึ้นกับผู้คนบางส่วนในกองทัพไทย จนต้องซื้อเอามาจอดทิ้งกันให้ดูหว่องๆ อยู่ในกองพัน ผมก็ไม่เห็นว่าจะแปลกอะไรเลยนะครับ ปีนึงเอาออกมาอวดเด็กๆ ทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมที บางทีก็อาจจะเป็นการบำบัดปมที่มันเกาะกินอยู่ข้างในจิตใจของพี่ๆ เขาลงได้บ้าง
ค่าบำบัดทีนึงก็แค่ไม่กี่พันล้านบาทเอ๊งง ถูกจะตายไป เนอะ?