ความจริงเกี่ยวกับความจำอย่างหนึ่ง คือเราคงไม่สามารถจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านมาในชีวิตได้ แต่หากความรู้สึกนั้นมันเข้มข้นพอ ต่อให้นานเท่าไหร่เรากลับไม่มีวันลืม
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ร่องรอยแห่งความทรงจำนั้นยังคงอยู่กับเราเสมอ อาจเป็นของแทนใจบางอย่าง ซึ่งหลายคนเลือกจะใช้ ‘ตุ๊กตา’ ให้เป็นของแทนใจแก่กันและกัน พอนานวันเข้า เจ้าตุ๊กตาของขวัญก็เลยกลายร่างจากของขวัญเป็นกล่องบันทึกความทรงจำไปซะเฉยเลย
ธุรกิจรับซ่อมตุ๊กตาอย่าง ‘Teddy Bear Thailand’ เกิดขึ้นบนโลกใบนี้เพื่อช่วยให้กล่องความทรงจำนี้ของเรายังคงสภาพอยู่ในตุ๊กตาผ้า ให้เราโอบกอดและสัมผัสมันได้ต่อไปอีกนานเท่านาน ซึ่งเดิมทีธุรกิจนี้เกิดจากการรับตุ๊กตามาขาย แล้วกลายมาเป็นธุรกิจผลิตตุ๊กตา จนเวลาล่วงเลยมาแล้วมีลูกค้าเก่าที่เคยซื้อตุ๊กตาไปทักมาว่า “ช่วยซ่อมตุ๊กตาเก่าให้หน่อยได้ไหม?”
พีท—พีรวัส ธีระปัญญารัตน์ ผู้สืบทอดธุรกิจ Teddy Bear Thailand ต่อจากคุณพ่อก็ไม่อยากปฏิเสธลูกค้า แถมยังคิดว่าตัวเองก็มีอุปกรณ์และวัตถุดิบในการทำตุ๊กตาพร้อมสรรพอยู่แล้ว ทำไมจะไม่ทำให้ลูกค้าล่ะ?
ว่าแล้วธุรกิจซ่อมตุ๊กตาของ Teddy Bear Thailand ก็ถือกำเนิดขึ้น จากตุ๊กตาตัวแรกซึ่งเป็นตุ๊กตากบที่ซ่อมให้ลูกค้าเก่า แล้วอัดคลิปลงสื่อออนไลน์ต่างๆ จนกลายเป็นไวรัล เพราะน้องกบโดนแปลงโฉมเมคโอเวอร์ใหม่ทั้งร่างจากร่างเก่าสู่ร่างใหม่เสมือนหนึ่งได้ไปชุบชีวิตใหม่ให้มีสีสันและความสดใสขึ้นมา ต่อจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าอยากให้คุณพีทซ่อมตุ๊กตาทักเข้ามาหามากขึ้นเรื่อยๆ
คงต้องบอกว่าคุณพีทและทีมงานไม่ได้รับงานซ่อมตุ๊กตาให้ลูกค้าด้วยความประณีตเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดของการซ่อม เพราะไม่ใช่ว่าลูกค้าทุกคนจะส่งตุ๊กตาเก่ามา แล้วอยากได้ตุ๊กตากลับไปในสภาพเหมือนใหม่
บางคนส่งตุ๊กตาเก่ามา เพื่ออยากให้ตุ๊กตาตัวนั้น
ยังคงแข็งแรงและอยู่กับเขาต่อไปได้อีกนานๆ
เช่น คุณลูกสาวส่งตุ๊กตาหมีที่มีรอยเย็บปะมากมายอยู่บนตัวมาให้พีทซ่อม เธอไม่ได้อยากให้รอยปะผ้าและฝีเย็บที่คุณแม่เคยเย็บไว้หายไป เพียงแต่อยากให้น้องแข็งแรงมากขึ้น ไม่ดูอ่อนยวบไร้เรียวแรง กรณีนี้คุณพีทจะเพียงแค่ยัดใยใส่นุ่นให้น้องตุ๊กตาแข็งแรงขึ้นเท่านั้น
หรือกรณีที่คุณแม่ส่งตุ๊กตามาซ่อม เพราะสามีของเธอซื้อตุ๊กตาตัวนี้ไว้ให้เป็นของขวัญ แต่ความโชคร้ายทำให้สามีเธอเสียชีวิตไปในขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ ลูกน้อยที่เกิดมาจึงไม่เคยได้พบหน้าคุณพ่อของตัวเองเลยสักครั้ง คุณแม่เลยส่งตุ๊กตาที่เปรียบเสมือนตัวแทนของคุณพ่อมาซ่อมกับ Teddy Bear Thailand เราจึงได้เห็นภาพลูกน้อยได้นอนอยู่ในเปลคู่กับตุ๊กตาที่เป็นเหมือนตัวแทนคุณพ่อตั้งแต่แรกเกิด ต่อให้คุณพ่อไม่ได้โอบอุ้มลูกในวันที่ลูกลืมตามา แต่มวลแห่งความรักที่คุณพ่อมีต่อคุณแม่และต่อเจ้าตัวจิ๋วยังคงอบอวลอยู่อย่างนั้นในตุ๊กตาตัวนั้นไม่หายไปไหน
เราถามถึงเคสที่ยากสำหรับการซ่อมตุ๊กตากับคุณพีท คุณพีทเล่าเหมือนกันว่า หนึ่งในความยากของธุรกิจรับซ่อมตุ๊กตา คือการต้องซ่อมตุ๊กตาที่บางครั้งแทบจะไม่เหลือสภาพเดิมมาเลย
อย่างในกรณีที่คุณพ่อพาลูกออกไปทานข้าวนอกบ้านพร้อมตุ๊กตาตัวโปรด แต่ไม่รู้เพราะความน่ารักหรือน่าฟัดของตุ๊กตาตัวนั้นมันมากมายขนาดไหนกันเชียว น้องหมาจรจัดจึงมาคาบเอาตุ๊กตาตัวโปรดของน้องไปฟัดเล่นจนไม่เหลือสภาพ เนื่องด้วยเป็นตุ๊กตาตัวเก่ง คุณพ่อเลยไปตามเอาตุ๊กตาตัวนั้นกลับมาจนได้ แต่เพราะโดนฟัดมาทำให้ตุ๊กตาแทบไม่เหลือชิ้นดีนี่สิ
โชคยังดีที่คุณพ่อเคยถ่ายรูปน้องกับตุ๊กตาตัวโปรดไว้ เลยได้ส่งรูปนั้นให้คุณพีทดู เมื่อได้เคยเห็นสภาพเดิมของตุ๊กตา คุณพีทจึงเนรมิตตุ๊กตาตัวนั้นขึ้นมาใหม่ประหนึ่งคุณหมอที่รักษาคนไข้ที่ป่วยใกล้หมดลมให้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
เราถามถึงเรทราคาค่าซ่อม เพราะแต่ละชิ้นแต่ละงานเหมือนว่าจะต้องใช้เวลากับมันไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ว่าจะตั้งแต่การพูดคุยกับลูกค้าและการหาวัตถุดิบเสมือนเดิมที่สุดมาประกอบร่างให้ คุณพีทต้องคิดราคายังไง?
คุณพีทเฉลยว่า แล้วแต่กรณีไป การแก้แต่ละงานมีเรทราคาตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักพัน แล้วแต่ความยากง่าย ขึ้นอยู่กับสภาพของเดิมที่ส่งมา และแล้วแต่ความใหญ่โตของตุ๊กตาที่ต้องซ่อมออกไป “เวลาผมซ่อมตุ๊กตา บางตัวผมต้องซ่อมหลายวัน แต่ลูกค้าบางคนถึงกับจะร้องไห้เลยถ้าต้องห่างจากน้อง(ตุ๊กตา) หลายๆ วัน มันทำให้เรารู้ว่า เรากำลังดูแลของที่สำคัญของเขาจริงๆ”
เขาว่ากันว่าสิ่งสวยงามหลายครั้งมองเห็นไม่ได้ด้วยตา แต่สัมผัสได้ด้วยใจ แต่ถ้าเป็นตุ๊กตาที่ใช้เก็บความทรงจำดีๆ และช่วงเวลาต่างๆ อย่างนั้นก็หมายความว่า ความทรงจำที่ดีบางอย่าง เรากอดรัดและโอบกอดมันได้ตลอดเวลานะ