ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าอัตราการก่อการร้ายทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างหน้าตกใจ หากไม่ใช่แค่ในเชิงจำนวน ก็ในเชิงความรุนแรงและรูปแบบที่คาดการและป้องกันได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการเลือกเป้าหมายที่โดดเด่นและสร้างความหวาดกลัวได้เป็นอย่างมาก ตั้งแต่ระเบิดพลีชีพที่สนามบิน Atatruk แห่งเมืองอิสตันบูล การกราดยิงเกย์ไนท์คลับที่เมืองออร์ลันโด เหตุการณ์จับตัวประกันและสังหารคนต่างชาติที่บังลาเทศ ไปจนถึงเหตุการณ์รถบรรทุกสยองขวัญที่เมืองนีซ
นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายอีกมากมายที่ประชากรโลก ‘เคยชินแล้ว แต่ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนในเชิงความรุนแรงไปมากกว่ากัน เช่นระเบิดกลางกรุงแบกแดดที่มีคนตายไปมากกกว่า 300 คน ระเบิดพลีชีพกลางการประท้วงที่กรุงคาบูลที่คร่าชีวิตไปกว่า 80 ชีวิต และเหตุการณ์อีกนับไม่ถ้วนจากทั่วโลก
ปรากฏการณ์เหล่านี้หมายความว่าอย่างไร?
ถ้าอิงข้อมูลตามวิกิพิเดีย ในเดือนพฤษภาคม/มิถุนายน/กรกฎาคมของปีนี้มีการก่อการร้ายถึง 197 / 218 /162 ครั้งทั่วโลกตามลำดับ (ขณะที่เขียนยังไม่จบเดือนกรกฎาคมดี) เปรียบเทียบกับในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือคือเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ มีเพียงแค่ 68 และ 97 เหตุการณ์ และเพิ่มเป็น 108 และ 150 เหตุการณ์ในเดือนมีนาคมและเมษายนตามลำดับ ตรงตามเทรนด์ปกติที่เป็นทุกๆ ปี คือมีการเพิ่มของการก่อการร้ายในช่วงหน้าร้อนและลดลงในช่วงหน้าหนาว
ในบรรดาเหตุการณ์เหล่านี้ มีอัตราส่วนสูงมากที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามประเทศอันตราย คือซีเรีย อิรัก และ อาฟกานิสถาน ซึ่งถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศอันตรายอันดับ 1 3 และ 4 ตามลำดับ ใน Global Peace Index ปี 2016 (อันดับ 2 คือ South Sudan) เหตุการณ์ในประเทศเหล่านี้มีจำนวนมากกว่าที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาหลายเท่า แต่มักไม่ถูกมองเป็นการก่อการร้ายโดยตรง เนื่องด้วยภาวะสงครามที่ยาวนานต่อเนื่องมาหลายปี จนอย่าว่าแต่ชาวโลก แม้กระทั่งคนที่อาศัยแถวนั้นก็เริ่มมองระเบิดและการลักพาตัวเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันไปแล้ว
จากข้อมูลเหล่านี้ สรุปได้ว่าการที่ก่อการร้ายเพิ่มขึ้นในช่วงสองสามเดือนนี้ไม่ได้เป็นการแตกออกจากเทรนด์ปกติ แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือการก่อการร้ายในพื้นที่ปกติที่ไม่ได้อยู่ภาวะสงคราม และผู้คนไม่ได้คาดคิดให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น (หรือพูดอีกแง่ว่า ในเชิง ‘ความรู้สึก’ ชาวโลกจะรู้สึกตัวมีการก่อการร้าย ก็ต่อเมื่อมันเกิดเรื่องขึ้นในพื้นที่สงบ)
ระหว่างการเกิดเหตุในพื้นที่สงครามกับพื้นที่สงบนั้น ก็มีความแตกต่างที่สำคัญอยู่ 1 ประการ คือลักษณะและแรงจูงใจของผู้กระทำ
ในประเทศสงคราม การก่อการร้ายต่างๆ มักมีผู้รับผิดชอบชัดเจน ส่วนมากเป็นกลุ่มหรือกองกำลังที่สู้รบอยู่กับรัฐบาลในประเทศนั้นๆ หากยกเอาสามประเทศที่กล่าวมาเบื้องต้น ก็คือกลุ่มตาลิบันในอาฟกานิสถาน และไอซิสในอิรักกับซีเรีย เป็นลักษณะของกองกำลังปะทะกองกำลัง
ในขณะที่การก่อเหตุในประเทศที่อยู่ในภาวะสงบ ไม่จำเป็นต้องมีกองกำลังใดๆ เลย เป็นเพียงแค่คนคนเดียวหรือสองคนก็สามารถสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐได้ สิ่งเดียวที่ผู้ก่อการต้องการ ก็เห็นจะมีแค่ ‘แรงบันดาลใจ’ ที่มาจากอุดมการณ์ขององค์กรอย่างเช่นไอซิส ที่ทำให้คนปกติที่ไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องอะไรกับการก่อการร้ายเลย หยิบอาวุธขึ้นมาก่อเหตุได้
ผลลัพธ์ก็คือ เราอยู่ในโลก ที่มีกองกำลังขั้วตรงข้ามต่อสู้กันอยู่ในพื้นที่ที่เสียงระเบิดดังต่อเนื่องจนชาวโลกแยกแต่ละลูกไม่ออก กับพื้นที่ที่ปัจเจกบุคคลต่อสู้กับรัฐในบรรยากาศไม่ค่อยมีเสียงระเบิด ทำให้แต่ละลูกดังกังวานไปทั่วโลก
แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นแน่ๆ ไม่ว่าคุณมองจากจุดไหนของโลก ก็คือชาวโลกกำลังเคยชินกับความรุนแรงมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้เกิดจากกระบวนการซึ่งนำไปสู่ความรุนแรงที่อยู่ควบคู่กันสองระดับ และกำลังดำเนินไปพร้อมๆ กัน คือระดับการเมือง และระดับจิตใจของบุคคล
การอธิบายเหตุการณ์เหล่านี้ในเชิงการเมืองเพียงอย่างเดียว สามารถอธิบายเงื่อนไขและแรงจูงใจที่ฝ่ายต่างๆ ต้องการแบบมีเหตุมีผลได้ แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามสำคัญในเชิงความเป็นมนุษย์ได้ว่า ‘ทำไม’ ถึงมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ยินดีจะหันหน้าให้กับความรุนแรง และเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์ที่ไม่เคยมีเรื่องบาดหมางใดๆ กันมาก่อนเลย
ในหนังสือเรื่อง Friction : How Radicalization Happens to Them and Us โดย ดร.Clark McCauley และ ดร.Sophia Moskalenko, ได้กล่าวถึงเรื่องการสร้างสภาพจิตแห่งความรุนแรงไว้อย่างน่าสนใจ โดยแบ่งการ Radicalisation (สร้างความคิดแบบหัวรุนแรง) ไว้สามระดับ คือระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับสังคม
ในระดับบุคคล กล่าวถึงสภาพจิตของคนที่พร้อมจะอ้าแขนรับความรุนแรง แบ่งออกเป็น 6 ข้อ คือ
1. ตัวเองหรือคนที่รักถูกกระทำมา และต้องการแก้แค้น
2. กลุ่มของตัวเองถูกกระทำ และต้องการแก้แค้น (เช่นการยิงเจ้าที่ตำรวจที่เมือง Dallas แก้แค้นให้กับกรณีที่มีตำรวจยิงเด็กหนุ่มผิวดำเสียชีวิต)
3. โดนบิ้วผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ (อาทิเช่นกรณีกีฬาสีในเมืองไทย)
4. ความรัก (คือมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนที่หัวรุนแรงอยู่แล้ว)
5. สถานะ และความตื่นเต้น ( คือทำเอามันหรือเอาสถานะ และเอาอุดมการณ์มาอ้างอีกที)
6. การสูญเสียที่พึ่ง (จึงทำให้ต้องหันหน้าไปพึ่งอุดมการณ์ หรือกลุ่มต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้ดึงดูดให้เข้าไปหา)
ในระดับกลุ่ม คือการสร้างกลุ่มที่พร้อมจะสนับสนุนรวมไปถึงสร้างความรุนแรงในตัวบุคคล แบ่งออกเป็น 3 ข้อคือ
1. การสร้างความคิดสุดโต่งให้กลุ่ม (Group Polarization) คือการปิดกั้นความคิดจากภายนอก และสร้างมุมมองที่สุดโต่งให้กับสมาชิกกลุ่ม (ลองดูกรณีกีฬาสีเมืองไทยอีกครั้ง)
2. การแข่งขันระหว่างกลุ่ม (Group Competition) อาทิเช่นภาวะสงครามเย็น ที่แต่ละฝั่งเลือกใช้วิธีที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเหตุผลมาจากการตอบโต้กระทำของอีกฝ่าย
3. การสร้างกลุ่มที่แปลกแยกออกจากสังคม (Group Isolation) ทำให้กลุ่มกลายเป็นที่พึ่งเดียวของสมาชิกกลุ่ม และเกิดความจงรักภักดีที่อยู่เหนือเหตุและผล
ในระดับสังคม คือการสร้างสภาวะที่สังคมทั้งสังคมพร้อมจะยอมรับความรุนแรง แบ่งออกเป็น 3 ข้อคือ
1.การถูกกระตุ้น (Jujitsu Politics) คือการพร้อมจะตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง ทำให้ความความขัดแย้งยกระดับมากขึ้นเรื่อยๆ (เช่นกรณีสหรัฐฯประกาศสงครามหลังจากเกิดเหตุการณ์ 9-11)
2. การสร้างความเกลียดชัง ผ่านทางกระบวนการล้างสมองหมู่ ให้ทั้งสังคมเห็นคนกลุ่มหนึ่งหรือศัตรูไม่ใช่มนุษย์ สามารถเข่นฆ่าได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด ดังกรณีที่เคยเกิดขึ้นในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันด้า หรือสิ่งที่นาซีกระทำกับชาวยิว
3. การสร้างสภาวะของ ‘ผู้พลีชีพ’ (Martyrdom) ให้สังคมมองผู้ใช้ความรุนแรงเป็นพฤติกรรมที่ยอมรับได้ หรือถึงขั้นเสียสละ เหมือนสภาวะที่แต่ละชาติยกย่องทหารของตนเข้าสู่สงคราม หรืออย่างสิ่งที่ไอซิสกำลังทำผ่านทางการเผยแพร่อุดมการณ์ไปทั่วโลก
การสรุปปัจจัยเป็นข้อๆเหล่านี้ ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้นถึงความเปลี่ยนแปลงที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ และไม่ใช่แค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเท่านั้นที่สามารถตกไปอยู่ในกระบวนการเหล่านี้ได้ มุสลิมอาจจะตกเป็นเหยื่อสำคัญเมื่อเราพูดถึงการก่อการร้ายในปัจจุบัน แต่ความรุนแรงไม่เคยอยู่ไกลสังคมมนุษย์ และในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าคนผิวสีไหนชาติอะไรก็ล้วนแล้วแต่เคยหยิบอาวุธขึ้นมาเข่นฆ่ากันแล้วทั้งสิ้น ไม่แตกต่างกัน
แต่คำถามสำคัญที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ เราจะหยุดมันได้อย่างไร