ช่วงที่ผ่านมา ข้อถกเถียงอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก็คือ – การให้ ‘สิทธิ’ แก่ข้าราชการในเรื่องสำคัญๆ ของบ้านเมืองก่อนหน้าประชาชน
คนจำนวนมากบอกว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่ประกาศตัวว่าเป็นประชาธิปไตย แต่กระนั้นก็มีความเห็นที่น่าสนใจจาก พล.ต.ดร.อนุชาติ บุนนาค ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญผู้มีสร้อยห้อยท้ายชื่อว่าเป็น ‘นักยุทธศาสตร์ความมั่นคง’ ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยการสถาบันศึกษายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ (อ่านรายละเอียดความเห็นนี้ได้จากข่าวนี้ amp.mgronline.com)
คุณอนุชาติบอกว่า การที่ข้าราชการได้สิทธิก่อนประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นเรื่องธรรมดาที่ข้าราชการจะอยู่ ‘เหนือ’ บุคคลทั่วไป โดยเขาอธิบายเอาไว้ว่า โดยรากศัพท์แล้ว ข้าราชการคือคนที่ทำงานรับใช้พระราชา จึงเป็น ‘ฐานันดร’ ที่ใกล้ชิดกว่าบุคคลทั่วไป การให้สิทธิข้าราชการก่อนจึงเป็นเรื่องปกติในการจัดลำดับต่างๆ เพื่อให้เกิด ‘ระเบียบ’ ที่เรียบร้อย
ที่น่าสนใจก็คือ คุณอนุชาติให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความนี้ตอนหนึ่งว่า
“ถ้าเราไม่ยอมรับสัญญาประชาคมตรงนี้ เราจะอยู่กันไม่ได้ ถ้าเรามองแต่เรื่องสิทธิ ไม่มองเรื่องหน้าที่ ซึ่งคนไทยมักจะเป็นแบบนี้…”
กับอีกตอนหนึ่ง ที่คุณอนุชาติอธิบายว่า การที่คนออกมาถกเถียงกันเรื่องการให้สิทธิข้าราชการก่อนประชาชนนั้น เกิดขึ้นก็เพราะคนสมัยนี้ไม่มีราก ไม่เข้าใจถึง ‘วัฒนธรรมไทย’ ที่แท้จริง
“สังคมไทยเรากำลังสับสนอลหม่าน เพราะว่าเราลืมรากความเป็นมาของชาติ เนื่องจากเรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาระยะหลัง จนกลายมาเป็นปัญหาเรื่องวิธีคิดของ ‘คนรุ่นใหม่’ กับ ‘คนรุ่นเก่า’ ที่ต่อกันไม่ติด ทำให้คอนเซ็ปต์เรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมกัน มาปะปนกับเรื่องสถานะของคนในสังคม”
คุณอนุชาติอธิบายต่อในรายละเอียดว่า สังคมไทยแต่เดิมไม่ได้มีเรื่องสถานะแบบนี้มาก่อน แต่เพราะเรารับวัฒนธรรมอินเดียเข้ามาในยุคสุโขทัย ซึ่งวัฒนธรรมอินเดียนั้นมีระบบวรรณะแฝงอยู่ด้วย จึงเกิดการจัดระบบการปกครองใหม่
ระบบการปกครองนี้ก่อให้เกิดโครงสร้างอำนาจที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ลงมา จากกษัตริย์ที่เป็นศูนย์กลางอำนาจ ไล่มาถึงข้าราชการ แล้วถึงจะถึงประชาชนที่ในอดีตเรียกว่า ‘ไพร่’ ผู้ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ
คุณอนุชาติบอกว่า สิ่งเหล่านี้คือ ‘รากเหง้า’ ของระบบการปกครองตั้งแต่อดีตของไทย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระบบการปกครองของไทยไม่เคยคิดว่าผู้คนมีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว
“แต่พอช่วงหลังๆ เรารับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเยอะ ทำให้มาตีกันกับรากเหง้าของเรา ทำให้คนไม่เข้าใจ มาอ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพอย่างไม่เข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมที่แท้จริง”
ผมคิดว่าคำอธิบายของคุณอนุชาติอาจไม่น่าสนใจอะไรเลยก็ได้ ถ้าหากว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสังคมไทยช่วงที่ผ่านมาจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คุณอนุชาติว่า
แต่บังเอิญมันเป็น บังเอิญว่า – ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า มีการให้สิทธิข้าราชการก่อนประชาชนในบางเรื่อง แถมยังพบเห็นได้ทั่วทั้งประเทศ ข้าราชการบางคนก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีปฏิบัติแบบนี้ อย่างเช่นในสเตตัสเฟซบุ๊กของคุณหมอของคุณหมอรังสฤษดิ์ กาญจนวนิชย์ ก็เขียนถึงปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า
เวลาเห็น ข้าราชการ ได้อภิสิทธิ์เหนือประชาชน
ผมนี่ อายจริงๆ
ปัญหาชนชั้นเรา มันน่าเศร้า
จากข้าราชการ สองคนผัวเมีย ที่ไม่ขอใช้สิทธิ์ลัดคิวแถววางดอกไม้จันทน์
ปรากฏการณ์นี้บอกอะไรเราบ้าง?
รัฐในแบบที่ข้าราชการอยู่ ‘เหนือ’ ประชาชนอย่างชัดเจนในแง่ของโครงสร้างอำนาจนั้น เรียกว่า ‘รัฐราชการ’ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Bureaucratic Polity หมายถึงระบอบการปกครองและระบอบการเมืองที่อำนาจบริหารและอำนาจในการ ‘กำหนดนโยบาย’ อยู่ในมือของข้าราชการ
ในสมัยก่อน ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘นักการเมือง’ นะครับ เพราะว่ารัฐปกครองด้วยเจ้าผู้ปกครองที่แวดล้อมอยู่ด้วยขุนนางหรือข้าราชการเท่านั้น ลองดูตัวอย่างในซีรีส์อย่าง Game of Thrones หรือหนังจักรๆ วงศ์ๆ ทั้งหลายก็ได้ เราจะเห็นว่า ผู้มีอำนาจมีแต่ผู้ปกครองกับเหล่าขุนนางหรือข้าราชการ เป็นผู้ที่มีสิทธิกำหนดความคิดและนโยบายต่างๆ แต่ไม่มีคนอื่นๆ ที่เป็น ‘นักการเมือง’ ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน (ซึ่งโดยนัยหนึ่งก็คือตัวแทนของ ‘เสียงจากประชาชน’) เข้ามามีสิทธิในการตัดสินใจอะไรๆ ด้วย เหมือนกับรัฐสมัยใหม่
แต่กับรัฐราชการไทย อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยวิเคราะห์ไว้ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ www.matichon.co.th) ว่า ในประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้ว เราไม่ได้มี ‘รัฐราชการ’ แบบเต็มตัวสักเท่าไหร่ เพราะรัฐราชการแบบไทยนั้นเต็มไปด้วย ‘ข้อยกเว้น’ จากอิทธิพลของอะไรอื่นๆ หลายอย่าง เช่น ในช่วงปี 2490-2500 และช่วงปี 2501-2516 ที่ดูเหมือนว่ารัฐไทยจะมีท่าทีเป็นรัฐราชการ แต่ก็ไม่สามารถเป็นได้เต็มตัว เพราะต้องต่อสู้ต่อรองหรือถูกกำกับโดยอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ เช่น อำนาจของต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา (เช่น ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเวียตนาม และการต่อกรกับคอมมิวนิสม์) หรือกระทั่งอำนาจของกลุ่มคนที่เป็นเทคโนแครต (ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ)
ผมเพิ่งคุยกับนักวิชาการคนหนึ่ง เขาบอกว่าเขาดีใจที่หลังเรียนจบไม่ได้เลือกเป็นข้าราชการ แต่เลือกเป็นนักวิชาการที่อยู่นอกระบบราชการ เขาบอกว่าต่อให้นำเสนอทางแก้ปัญหาเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเขานำเสนอในฐานะที่เป็นข้าราชการคนหนึ่ง เสียงของเขาจะไม่ได้รับการ ‘ฟัง’ จากรัฐ มากเท่ากับเป็นนักวิชาการที่อยู่นอกระบบราชการ
นอกจากนักวิชาการนอกระบบราชการ (หรือเทคโนแครต) แล้ว ต้องยอมรับอีกนะครับว่ารัฐราชการแบบไทยๆ ยังพึ่งพากลุ่มคนนอกระบบราชการอีกเพียบเลย ที่หลายคนคงคุ้นหูคุ้นตาดีก็คือระบบแบบ ‘ประชารัฐ’ ที่เอารัฐไปผนวกควบรวมกับกลุ่มทุนต่างๆ นั่นไงครับ
ผมคิดว่า ยิ่งเป็นนโยบายที่แลดูเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเผด็จการมากเท่าไหร่ (เช่นล่าสุดมีการใช้มาตรา 44 กับเรื่องผังเมืองในจังหวัดภาคตะวันออก) ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอและเปราะบางของการเป็นรัฐราชการไทยมากเท่านั้น เพราะความขึงขังแบบทหารๆ พวกนี้ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ‘กลุ่มทุน’ เมื่อไหร่ ก็เชื่อได้ว่าจบเห่ (เรื่องผังเมืองในจังหวัดภาคตะวันออกนั้นเห็นชัด เพราะเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมที่มีกลุ่มทุนแฝงตัวอยู่เบื้องหลังด้วยอย่างซับซ้อน)
อุดมการณ์ของรัฐราชการไทยนั้นอ่อนแอและเปราะบางมาก เพราะมันคือระบอบการปกครองที่ ‘ยกอำนาจ’ ไปให้กับคนกลุ่มน้อยในระบบราชการที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐราชการจึงไม่มีความชอบธรรมอะไรในการ ‘ถืออำนาจ’ ไว้ ‘เหนือ’ คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม มันจึงต้องการการ ‘ค้ำจุน’ จากอำนาจอื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ให้กันและกันอีกที
นอกจากอำนาจนอกประเทศ (เช่นสหรัฐอเมริกาในยุคหนึ่ง และจีนในยุคนี้) และอำนาจเงินจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่แล้ว รัฐราชการอันเปราะบางยังต้องพึ่งพา ‘เสียง’ ของคนชั้นกลางในเมืองที่เป็นกลุ่มชี้นำกระแสการเมือง รวมไปถึงคนชั้นกลางระดับล่างด้วย โดยวิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือการควบคุมผ่านการสร้าง ‘ผี’ หรือ ‘ศัตรูร่วม’ ทางการเมืองขึ้นมาโดยผ่าน ‘อำนาจศีลธรรม’ (ในนามของศีลธรรมอันดีงามและความมั่นคงของชาติ) เพื่อให้คนเหล่านี้เห็นว่ารัฐราชการคือหัวหอกจำเป็นในการต่อสู้กับ ‘ผี’ ต่างๆ เหล่านั้น (เช่น ผีทักษิณ ผีวัฒนธรรมต่างชาติ ฯลฯ)
นั่นแสดงให้เราเห็นว่า แม้ในระบบการปกครองที่เราเห็นว่าเป็น ‘รัฐราชการ’ ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในตัวเอง ก็ยังมีความสลับซับซ้อนเชิงอำนาจอยู่มาก และเป็นรัฐราชการไทยเองในอดีตนั่นแหละ ที่ตระหนักถึง ‘ข้อจำกัดเชิงอำนาจ’ ของตัวเอง จึงต้องยอมรับและพึ่งพิงทั้งอำนาจและความรู้จากภายนอกด้วย
รัฐราชการไหนที่ไร้เดียงสาเอามากๆ ถึงขั้นพยายามแผ่แสนยานุภาพความเป็นรัฐราชการถึงระดับที่ออกมาบอกว่า – ข้าราชการต้องได้อภิสิทธิ์เหนือประชาชน (ซึ่งแปลว่าเหนือเจ้าสัวจากกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ เหนือเทคโนแครตนอกระบบราชการ หรือกระทั่งเหนือกว่าคนชั้นกลางทั่วไป) จึงน่าจะเป็นรัฐราชการที่ไม่ ‘ฉลาด’ สักเท่าไหร่นัก เพราะมีโอกาสอย่างมากที่รัฐราชการแบบนี้จะโค่นล้มพังทลายได้ง่าย เนื่องจากมันทั้งเปราะบางและไม่ชอบธรรมในตัวของมันเองอยู่แล้ว
พอมองอย่างนี้ เราจะเห็นชัดเลยว่า คำอธิบายของคุณอนุชาติว่าด้วยเรื่อง ‘รากเหง้า’ ของวัฒนธรรมไทยที่ทำให้ข้าราชการ (ใน ‘รัฐราชการ’) ต้องอยู่ ‘เหนือ’ ประชาชนนั้น เป็นคำอธิบายที่แปลกๆ ไม่น้อย
ยิ่งถ้าลองมามองเรื่องระบบชนชั้นวรรณะในสังคมไทย (ดังที่คุณอนุชาติอ้างว่าเรารับมาจากอินเดีย จนกลายกลืนเป็นรากเหง้าอย่างหนึ่งของเราไปแล้ว) ก็ยิ่งมีข้อให้โต้แย้ง เพราะลักษณะของวรรณะที่ว่า ไม่ใช่ลักษณะของศาสนาพุทธเลย แต่เป็นลักษณะเด่นของศาสนาพราหมณ์ต่างหาก
แต่เอ…เราชอบบอกว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธไม่ใช่เหรอครับ!
มีผู้วิเคราะห์เอาไว้มากมายก่ายกอง ทั้งนักวิชาการไทยและต่างประเทศ (เช่นในหนังสือชื่อ ‘พุทธโคดม’ ของ วรศักดิ์ มหัทธโนบล ที่ศึกษาเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในสมัยพุทธกาล) ว่าแก่นสำคัญอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา ก็คือการ ‘ทำลาย’ วรรณะหรือความสูงต่ำ ซึ่งในกรณีของพุทธศาสนานั้น หมายถึงความสูงต่ำที่มาจาก ‘ราก’ ที่ลึกกว่าสถานภาพข้าราชการด้วยซ้ำ เพราะเป็นวรรณะที่มีที่มาจาก ‘ชาติกำเนิด’
ตัวอย่างของหลักธรรมที่สอนให้เลิกถือชั้นวรรณะนั้นมีปรากฏอยู่หลายที่ เช่นในกัณณกัตถลสูตร จากพระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมว่า วรรณะทั้งสี่นั้น ถ้ามีคุณธรรมแล้วก็ชื่อว่าเสมอกัน พระองค์เปรียบเทียบว่า ไม่ว่าจะนำไม้อะไรมาเผาไฟ ถ้าไม้นั้นแห้งก็จะติดไฟเหมือนกันทั้งนั้น นอกจากนี้ ยังมีปรากฏในชาดกและพระสูตรอื่นๆ อีกหลายที่ เช่นสีลวีมังสชาดก, มธุรสูตร, อัคคัญญสูตร ฯลฯ (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ www.cybervanaram.net)
พอพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็ต้องย้อนกลับมา ‘ตั้งหลัก’ ด้วยการคำถามกันใหม่อีกรอบ ว่าแบบไหนกันแน่หนอ ที่พึงได้รับการยกย่องให้เป็น ‘รากเหง้า’ ของสังคมไทยที่เราแสนรักแสนเชิดชูบูชากันแน่
ต้นไม้ต้นหนึ่งๆ ย่อมมีรากงอกออกไปหลากหลายแขนง เวลาเรายืนอยู่ที่โคนต้นไม้แล้วพยายามมองย้อนกลับไปที่รากจึงเป็นไปได้ไม่น้อยที่เราจะเห็นเฉพาะรากบางรากตามจุดที่เรายืนอยู่ อย่าง ‘ราก’ เรื่องข้าราชการควรมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชนหรือไม่นี้ ถ้าบอกว่าเรามองเห็นได้แต่ ‘รากแบบพราหมณ์’ ที่มีระบบชนชั้นวรรณะแข็งตัว (Rigid) มาก และบังเอิญว่าเราอยากให้กิ่งก้านของต้นไม้เติบโตไปในทิศทางแบบนั้น เราก็คงอธิบายแบบอื่นไม่เป็น ต้องอธิบายออกมาแบบคุณอนุชาตินี่แหละครับ
แต่ถ้าเราคิดว่า ‘ราก’ ของเราไม่ใช่พราหมณ์ เดิมทีเดียวเรานับถือผี ทว่าเราได้ ‘ปฏิรูป’ ความเชื่อของเราโดยการรับเอาพุทธศาสนามาเป็น ‘ราก’ ใหม่ของเรา ความคิดเรื่องชนชั้นวรรณะอย่างที่ว่ามาก็ต้องถูกปัดตกไป เพราะนั่นไม่ใช่ความคิดหรือความเชื่อที่เป็น ‘พุทธ’ ในแบบที่เราชอบอ้างว่าเราเป็นถึงขั้นที่หลายคนเคยอยากให้รัฐธรรมนูญระบุว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ
แต่กระนั้นก็ดี ต่อให้เราอยากจะ ‘เชื่อ’ แบบคุณอนุชาติ คือเชื่อว่าข้าราชการควรอยู่เหนือประชาชน ควรมีอภิสิทธิ์สูงกว่าประชาชน เราก็ยังต้องย้อนกลับไปพิจารณา ‘ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ’ อันสลับซับซ้อนของรัฐราชการกับอำนาจอื่นๆ ด้วยนะครับ เพราะเอาเข้าจริง รัฐราชการที่ฉลาดย่อมรู้ดีว่าตัวเองไม่สามารถจะ ‘อยู่ได้’ ถ้าปราศจากการพึ่งพิงรองรับจากภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมด้วย
ที่สำคัญ กระทั่งในรายงานข่าวชิ้นเดียวกันนั้น คุณอนุชาติก็ยังบอกด้วยว่า สิ่งที่เราควรเรียนรู้จากปัญหาที่เกิดข้ึนกับการจัดงานที่จังหวัดชลบุรี (ถึงขั้นที่ประชาชนออกมารวมตัวประท้วงขับไล่) ก็คือต้องย้อนกลับมาศึกษาข้อบกพร่องในการจัดงานโดยให้คนวงนอกเป็นผู้พิจารณา แต่ปัญหาก็ที่คุณอนุชาติบอกไว้ก็คือ
“สังคมไทยอาจจะไม่กล้าทำเรื่องนี้ ถือว่าจบแล้วจบไป กลัวถ้าไปเจอข้อผิดพลาดของผู้ใหญ่ระดับสูง ก็อาจจะไม่กล้าก็ได้”
ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่า ลึกๆ แล้ว คุณอนุชาติก็คิดว่า ‘ความสูงต่ำ’ (ในคำว่า ‘ผู้ใหญ่ระดับสูง’) หรือชนชั้นวรรณะที่แฝงตัวอยู่ในสังคมไทย – ก็เป็นอุปสรรคของความก้าวหน้าอยู่เหมือนกัน นี่เป็นประโยคที่ทำให้ผมแอบเห็นประกายแสงแห่งความหวังอยู่ไม่น้อย
ที่จริงแล้ว เงินเดือนของข้าราชการล้วนแต่มาจากภาษีที่ประชาชนจ่ายให้ แต่แน่นอนว่าข้าราชการไม่ใช่ ‘คนรับใช้’ ที่ประชาชนจะจิกด่าได้ตามใจชอบหรอกนะครับ เพราะเงินภาษีของประชาชนที่จ่ายให้ข้าราชการนั้น จ่ายไปก็เพื่อ ‘ขับเคลื่อน’ ให้ระบบราชการทำงานต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวรัฐ ตัวข้าราชการ และต่อประชาชนทั่วไปด้วย ดังนั้นถ้ามองในแง่นี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือประชาชน ก็ไม่ได้มีใครต่ำหรือสูงกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนหรือเทคโนแครต ก็ไม่ได้มีใครมีค่ามากกว่าใคร
แต่คำถามสำคัญก็คือ การที่เราเห็นภาพความกระเหี้ยนกระหือรือจะ ‘ย้อนยุค’ กลับไปสู่การเป็น ‘รัฐราชการเต็มตัว’ (คือเป็นรัฐที่ ‘กำจัด’ นักการเมืองออกไปจากระบบ) และให้ความสำคัญกับข้าราชการเพียงอย่างเดียว ถึงระดับออกปากออกมาดังๆ ว่าข้าราชการมีอภิสิทธิ์เหนือประชาชน (ทั้งที่ไม่เคยมีรัฐราชการแบบนั้นอยู่จริงในสังคมไทย) มันทำให้เราเห็นความตื้นเขินหรือลึกซึ้งทางปัญญาของนักคิดอนุรักษ์นิยมอย่างไรบ้าง
ถ้าผู้สนับสนุนให้ใช้ ม.44 เข้าใจสังคมไทยน้อยกว่าผู้สนับสนุนให้ใช้ ม.17 เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว,
ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง!