ท่ามกลางบรรยากาศแบบเศรษฐกิจดี๊ดีย์เบอร์นี้ จึงไม่แปลกอะไรที่สำนักงานกองสลากกินแบ่งรัฐบาล (ที่เอาแต่กินผมอย่างเดียวเลย ไม่เคยเห็นแบ่งอะไรมาให้ผมอย่างชื่อสำนักบ้าง T^T) จะผุดพุทธิไอเดียออก ‘ล็อตโต้’ ซึ่งก็คือแจ็คพอตที่จะสะสมยอดเงินรางวัลต่อไปเรื่อยๆ หากว่าในงวดปัจจุบันยังไม่มีใครถูก มากวักมือๆ หยอยๆ เชื้อชวนเงินในกระเป๋าสตางค์ของประชาชน ให้ไปสมทบให้กับรัฐเพิ่มเติมอีกงวดละหลายบาทกันเสียหน่อย
โดยทางสำนักกองสลากฯ คาดหวังเอาไว้ว่า เจ้าล็อตโต้นี้จะสามารถแชร์ส่วนแบ่งการตลาดมาจาก ‘หวยใต้ดิน’ ซึ่งว่ากันว่ามีมูลค่าระดับ 5,860-5,880 ล้านบาทต่องวด หรือราวๆ 100,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว
ฟังดูตัวเลขแล้วอาจจะชวนสงสัยใจว่า ในประเทศที่เศรษฐกิจดีขนาดเอาเงินไปซื้อรถถัง และเรือดำน้ำมากองเอาไว้ดูเล่น อย่างประเทศของเรานี้ จะมีเงินที่ไหลเวียนอยู่นอกระบบมากมายมหาศาลถึงระดับนั้นได้เลยหรือ?
แต่ถ้าหากใครเคยเห็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่า รัฐของสยามประเทศไทยเคยทำเงินจากการพนัน (แน่นอนว่า หวย หรือลอตเตอรี ก็คือการพนันชนิดหนึ่ง เพียงแค่ถูกรับรองให้เล่นอย่างถูกกฎหมายโดยรัฐ และมีรัฐไทยนี่แหละที่เป็นเจ้ามือรายใหญ่) ได้มากขนาดไหนแล้ว ก็คงจะไม่ได้รู้สึกสงสัยหรือคลางแคลงใจกับเจ้าตัวเลขที่สำนักกองสลากฯ ท่านว่าไว้สักเท่าไหร่หรอกนะครับ
ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นหนังสือที่พวกพม่าสอบปากคำเจ้านายอยุธยา ที่ถูกจับไปเป็นเชลยครั้งเสียกรุง เมื่อ พ.ศ. 2310 ระบุรายได้ของกรุงศรีอยุธยาว่ามาจาก ‘อากรบ่อนเบี้ย’ (คือเงินอากรที่รัฐจัดเก็บได้จากบ่อนการพนัน) เป็นตัวเลขกลมๆ ไว้ที่ปีละ 200,000 บาทถ้วน เท่ากันพอดีเป๊ะกับ ‘อากรสุรา’ ที่อยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อนจัดเก็บได้ในแต่ละปี
และก็ถือได้ว่า ‘ภาษีบาป’ ทั้งสองประเภทนี้เป็นรายได้หลักของอยุธยาเลยทีเดียว เพราะจะมีเฉพาะก็แค่รายได้จาก อากรสวน (คืออากรที่เรียกเก็บจากการถือครองไม่ยืนต้นที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ) และค่าปากเรือ (คือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเรือสินค้าต่างชาติ ที่เข้ามาจอดในเมืองท่าของสยาม) ที่เก็บได้ปีละ 240,000 บาทเท่ากันเท่านั้น ที่มีมูลค่าที่สูงกว่ารายได้จากอากรสุรา และอากรบ่อนเบี้ย
บุคคลสำคัญของชาติ ระดับบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย อย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยได้ระบุเอาไว้ใน พระนิพนธ์เรื่องหนึ่งของพระองค์คือ ‘ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17 เรื่องตำนานการเลิกบ่อนเบี้ย และเลิกหวย’ (ก็ขนาดถูกรัฐยกขึ้นหิ้งให้เป็นพงศาวดารภาคหนึ่งเลยก็แล้วกัน ดังนั้นเรื่องการพนัน กับการเล่นหวย จะทั้งสำคัญ และทั้งเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ชาติไทยแค่ไหน ถามใจเธอดู?) ว่า มีหลักฐานของ ‘บ่อน’ ตั้งแต่ในกฎหมายลักษณะพยาน ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1894 สมัยพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้น และปรากฏหลักฐานของ ‘อากรบ่อนเบี้ย’ ในพระธรรมนูญ ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงเช่นกัน แต่ตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2167 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรมเลยทีเดียว
ดังนั้น ถ้าจะไม่หลอกตัวเองกันแล้ว ‘บ่อน’ และ ‘การพนัน’ จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับรากเหง้าของ ‘ความเป็นไทย’ มาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้วนะครับ แถมรัฐของเรายังรู้จักหารายได้จากอะไรเหล่านี้มาตั้งแต่เฉียดๆ 400 ปีเป็นอย่างน้อยโน่นเลย
(แต่ในพระราชพงศวดารภาคที่ 17 ฉบับเดียวกันนี้เอง กรมดำรงฯ ก็ทรงสันนิษฐานไว้อย่างชวนงงๆ เช่นกันว่า อากรบ่อนเบี้ยน่าจะเพิ่งมีขึ้นหลังรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์คือ ในช่วงหลัง พ.ศ. 2231 เพราะในจดหมายเหตุของราชฑูตชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์นั้น ไม่ได้พูดถึงบ่อน มีแต่การเล่นสะกา ไก่ชน และหมากรุก หรืออะไรทำนองนั้น ดังนั้นในสมัยของพระนารายณ์จึงคงยังไม่มีบ่อน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้า ‘ผู้ดี’ อย่างราชฑูตผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้ทรงสร้างพระราชวังแวร์ซายน์ และคณะเหล่านี้ จะไม่ได้ย่างกรายเข้าไปในบ่อนของชาวอยุธยาก็ไม่เห็นแปลก แถมกรมดำรงฯ ก็ไม่เห็นจะทรงอธิบายเอาไว้เลยว่า ถ้าอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ยังไม่มีบ่อนแล้ว คำว่า ‘บ่อน’ ในกฎหมายสมัยพระเจ้าอู่ทอง กับ ‘อากรบ่อนเบี้ย’ ในกฎหมายสมัยพระเจ้าทรงธรรมมันคืออะไร?)
แต่ ‘บ่อน’ และ ‘การพนัน’ ไม่ได้เป็นรายได้หลักเฉพาะในสมัยอยุธยาเท่านั้น สถานการณ์ในทำนองเดียวกันยังคงดำเนินต่อมาจนถึงสมัยกรุงเทพฯ ดังปรากฏในข้อมูลจาก จอห์น ครอเฟิร์ด ที่เข้ามายังสยามเมื่อ พ.ศ. 2364 และได้บันทึกเรื่องรายได้จากอากรของรัฐสยาม ณ ช่วงขณะจิตนั้นเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า สยามเก็บอากรบ่อนเบี้ยได้ถึงปีละ 460,000 บาท เลยทีเดียวนะครับ มากกว่าข้อมูลในคำให้การชาวกรุงเก่าเท่าตัวกว่าๆ เลยแหละ
ที่สำคัญก็คือถ้าเชื่อนายครอเฟิร์ดแล้ว อากรบ่อนเบี้ยก็ยังคงเป็นรายได้หลักของรัฐสยาม โดยมีอากรสุราตีคู่มาในมูลค่าที่เท่าเทียมกันพอดี แบบเป๊ะเว่อร์ยิ่งกว่าทรวดทรงของนางแบบซุปเปอร์โมเดลคนใดอีกเช่นเคย รายได้ทางอื่นที่ยังคงมีมูลค่ามากกว่าภาษีบาปทั้งสองประเภทนี้มีเพียงแค่ อากรสวนที่เรียกเก็บได้ถึงปีละ 520,000 บาท และค่านา (คืออากรเรียกเก็บจากการเพาะปลูกทำนา) ซึ่งนายการะฟัดระบุตัวเลขไว้สูงอย่างไม่น่าเชื่อที่จำนวน 2,295,338 บาท
แต่อากรค่านาที่รัฐเรียกเก็บจากเจ้าของที่นานั้นส่วนใหญ่จะจ่ายกันเป็นข้าวเปลือก ที่เรียกเก็บเป็นจำนวน 10% ของผลผลิตที่ได้มากกว่าที่จะเป็นตัวเงินเพียวๆ ซึ่งมักจะเรียกเก็บเฉพาะจากเมืองที่อยู่ห่างไกลกรุงเทพฯ เพื่อความสะดวกในการจัดการ อากรสุราจึงนับได้ว่าเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของกรุงเทพฯ อยู่ดีนั่นแหละ
แน่นอนว่า ‘หวย’ นั้นจัดว่าเป็นเพียงการพนันประเภทหนึ่งเท่านั้น จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า ในจำนวนเงินอากรที่รัฐในสมัยอยุธยา และกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 2 ได้รับนั้น มีเงินจากหวยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอากรบ่อนเบี้ย แต่ในความเป็นจริงแล้วในสมัยนั้น สยามยังไม่รู้จักการเล่นหวยเสียหน่อย (หรือต่อให้รู้จักแล้ว ก็ยังไม่มีการจัดเก็บอากร)
ดังนั้น ‘อากร’ ที่ได้จาก ‘หวย’ จึงเพิ่มเติมยอดเงินที่รัฐสยามสามารถจัดเก็บจากการพนัน เพิ่มขึ้นมาจากสมัยก่อนหน้าคือ อยุธยา และต้นกรุงเทพฯ ที่มีมูลค่าสูสีอยู่กับอากรสุรามาโดยตลอดนะครับ
รัชกาลที่ 4 ทรงเคยพระราชนิพนธ์ถึงมูลเหตุของการตั้ง ‘อากรหวย’ ในไทยเอาไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2375 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 น้ำน้อยข้าวแพง เศรษฐกิจฝืดเคือง คนไม่มีเงินจะซื้อข้าวกิน ต้องทำงานแลกข้าว จึงกราบทูลว่าเจ้าภาษีนายอากรไม่มีเงินจะส่ง ต้องเอาสินค้ามาใช้เงินหลวง จีนผูกปี้ก็ไม่มีเงินจะให้ต้องเข้ามารับทำงานในกรุงฯ จึงทรงสงสัยว่า คนเอาเงินไปซื้อฝิ่นมาเก็บไว้ขาย จึงโปรดให้จับฝิ่น เผาฝิ่น เป็นการใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยให้รัฐมีเงินมากขึ้นหรอกนะครับ
จีนหงพระศรีไชยบานจึงได้กราบทูลว่า เงินนั้นตกไปอยู่ที่ราษฎรเก็บฝังดินไว้มาก ไม่เอาออกมาใช้ ถ้าเป็นอย่างนี้ในเมืองจีนจะใช้วิธีตั้ง ‘โรงหวย’ ขึ้น เพื่อจะให้คนนำเงินออกมาใช้ จึงได้โปรดให้จีนหงคนนี้ ตั้งโรงหวยขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย (อย่างน้อยก็โดยถูกต้องตามกฎหมาย)
แต่หวยในสมัยนั้นไม่ได้มีหน้าตาเหมือนกับสลากกินแบ่งรัฐบาลในสมัยนี้นะครับ จีนหงได้นำเอาการพนันแบบที่เล่นกันในจีนมาจริงๆ คือ ให้เลือกแทงตัวอักษรที่มีภาพประกอบ ถ้าใครสามารถแทงถูกต้องตรงกับตัวอักษรที่ถูกเลือกเอาไว้ก่อนหน้านั้นแล้วก็ถือว่าชนะพนัน ได้รับเงิน 30 เท่าจากจำนวนที่แทงลงไป โดยในระยะแรกใช้ตัวอักษรจีน แต่ต่อมาค่อยเปลี่ยนเป็นใช้ตัวอักษรไทยจำนวน 36 ตัวอักษรแทน จึงมักจะเรียกว่า ‘หวย ก.ข.’
ข้อมูลจากพระราชพงศวดารภาคที่ 17 เล่มเดิมระบุว่า เมื่อแรกตั้งโรงหวยค่าอากรตกอยู่ราว ปีละ 20,000 บาท แต่เมื่อกิจการโรงหวยของจีนหงเป็นไปด้วยดี แต่เดิมที่จีนหงเองมีเฉพาะหวยเช้า ก็เปลี่ยนเป็นมีรอบละสองวันคือ หวยเช้า และหวยค่ำ (แต่ที่จริงหวยออกตอนเย็น) ซึ่งก็แน่นอนว่า หมายถึงจำนวนเงินอากรเข้ารัฐที่มากขึ้น แถมยังมีผู้ขอผูกอากรไปตั้งโรงหวยที่เพชรบุรี และอยุธยาอีกด้วย จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 สามารถเก็บเฉพาะค่าอากรหวยประเภทนี้ ได้ถึงปีละ 200,000 บาท
ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรเลยนะครับที่ แม้ว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกอากรหวย แต่ก็ทรงไม่สามารถกระทำได้ตามพระทัย เพราะในรัชสมัยของพระองค์นั้น เงินที่ได้รับจากอากรหวยและอากรบ่อนเบี้ยรวมกัน เฉพาะปีที่ได้มากที่สุดนั้นรวมเป็นจำนวนเงินถึง 9,170,635 บาท ซึ่งนับได้ว่าเป็นจำนวนอภิมหาศาลในขณะนั้น
มีตัวเลขที่น่าสนใจอีกด้วยว่า เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงเลิกให้มีบ่อน และการเก็บอากรบ่อนเบี้ยใน พ.ศ. 2457 แล้ว เฉพาะเงินจากอากรหวยเพียงอย่างเดียวก็มีมูลค่าสูงถึงราวปีละ 6,600,000 บาท พูดง่ายๆ ว่าเงินอากรจากหวยในยุคนั้นมีมูลค่ามากกว่าเงินอากรบ่อนเบี้ย คือการพนันประเถทอื่นๆ เสียอีก
อากรหวย และการเล่นหวย ก.ข. ถูกยกเลิกไปใน พ.ศ. 2459 ซึ่งก็ยังอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 นั่นเอง อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันดีว่า รายได้ที่ถูกนำมาทดแทนอากรหวยก็คือเงินรายได้จาก ‘ลอตเตอรี’ หรือ ‘สลากกินแบ่งรัฐบาล’ ซึ่งแม้จะถือกำเนิดขึ้นอย่างเต็มตัวในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยคณะราษฎร แต่ก็มีการออกสลากเป็นครั้งคราวอยู่บ้างมาก่อนแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5-6 ในวาระที่ตองระทมทุนเพื่อการต่างๆ
มันจึงเป็นเรื่องตลกดีนะครับว่า ในประเทศที่รายได้สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการพนันอย่างเรานั้น กลับไม่ยอมรับเรื่องพวกนี้อย่างเปิดเผย จนไม่ยอมให้เปิดมีบ่อนถูกกฎหมายในประเทศนี้ได้ (ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ว่า มันก็มีกันทั้งประเทศนี่แหละ) ในขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับการคงอยู่ของอะไรที่เรียกว่า หวยใต้ดิน แต่พอถังแตกแล้วก็ต้องมาคิดหาวิธีการแชร์ส่วนแบ่งของเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ที่อยู่ในไอ้หวยไม่ถูกกฎหมายที่ว่านี่มันเสียทุกครั้ง ทั้งที่จะเอาขึ้นมาบนดินและทำให้ถูกกฎหมายก็ได้ อย่างที่เคยมีตัวอย่างมาแล้วในอดีต ราวกลับว่าจะหลอกตัวเองกันไปวันๆ โดยไม่รู้ว่ามีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ไม่ค่อยจะยอมรับความจริงอะไรกันเท่าไหร่นัก?
อย่างไรก็ตาม ลำพังประชาชนอย่างเราๆ ก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างนี้ได้ ก็จึงทำได้แต่ ตื่นมาทุกเช้าวันที่ 1 (หรือ 2) และวันที่ 16 ของทุกๆ เดือน แล้วกล่าวทักทายกันด้วยคำที่ว่า ‘สวัสดีวันหวยแ-กครับ’ กันไปวันๆ